ผิดที่ผิดทาง ผิดจังหวะ การนำเสนอที่ขาดทักษะ
การทำอะไรผิดที่ผิดทาง ตามคำโบราณว่า “ผิดฝั่งผิดฝา” โดยขาดการไตร่ตรอง หรือรู้เท่าไม่ถึงการณ์อาจเกิดผลเสียมากกว่าผลดี จะโดยเจตนาหรือไม่ก็ตาม คนโบราณจึงเตือนให้เอาใจเขามาใส่ใจเรา คือให้ประเมินความรู้สึกของคนอื่นด้วย หรือจะพูดให้เป็นวิชาการหน่อยก็คือ “การนำเสนอที่มีทักษะ” จึงน่าจะนำมาเป็นแง่คิดในข้อเขียนฉบับนี้ เพื่อเป็นการแลกเปลี่ยนเรียนรู้
ปัจจุบันมีรายการบันเทิงโทรทัศน์หลายรายการ ที่มีทีมงานผู้ดำเนินรายการไปเยี่ยมบ้านดารา หรือศิลปิน นักร้อง หมอลำ คนดัง สัมภาษณ์ถึงประวัติชีวิต พื้นฐานบ้านเกิดเมืองนอน รวมถึงรสนิยม ตบท้ายด้วยการทำอาหารโปรดเลี้ยงทีมงานผู้ดำเนินรายการ ที่ทำเช่นนี้ จุดประสงค์ของรายการคงอยากเห็นความเป็นอยู่และรสนิยมการกินของผู้ถูกสัมภาษณ์
เคยดูโทรทัศน์รายการหนึ่ง ผู้ดำเนินรายการเขาไปเยี่ยมสัมภาษณ์ นักร้องหมอลำสาวเสียงพิณ — “จินตรา พูนลาภ” ตบท้ายด้วยอาหารพื้นเมืองอีสาน จินตราก็โชว์ตำส้มตำเหยาะปลาร้าสูตรของตัวเอง พร้อมเสิร์ฟ ข้าวเหนียว ไก่ย่าง ให้ทีมงานกินอย่างเอร็ดอร่อย
เมื่อไม่นานมานี้ มีอีกรายการหนึ่ง ทีมงานดำเนินรายการ ๔ คน ไปเยี่ยมหมอลำดังยุคใหม่คนหนึ่งชมบ้านหลังใหญ่ในกรุงเทพ มีสระว่ายน้ำอยู่หน้าบ้าน ดูดีเหมาะสมกับความมีชื่อเสียงของตัวเจ้าของบ้าน การสัมภาษณ์ประวัติวิถีชีวิตก็เหมือนศิลปินดัง ๆ ของอีสานส่วนมากนั่นแหละ เป็นชาวนา ฐานะไม่ดี จึงดิ้นรนมาเป็นศิลปิน ทุกอย่างเป็นไปด้วยดี มาถึงช่วงสุดท้ายสำคัญของรายการ เจ้าของบ้านต้องเตรียมอาหารโปรดไว้เลี้ยงต้อนรับผู้ดำเนินรายการ หมอลำสาวคนดังก็แนะนำข้าวเหนียวส้มตำ และ “หมกฮวก” ผู้ดำเนินรายการทั้ง ๔ คนเป็นคนเกิดในกรุงเทพ ฯ ไม่เคยเห็นไอ้ตัวเล็ก ๆ ในจาน จึงถามว่านี่อะไร สาวหมอลำตอบว่า คือ “ฮวก” ก็คือลูกอ๊อดนั่นแหละ แถมใช้ช้อนตักตัวฮวกไปวางในจานของเพื่อน ๆ ทุกคนนั่งเฉย บางคนเอนตัวหนี และแต่ละคนก็ไม่มีใครกินข้าวมื้อนั้น
ในฐานะเป็นผู้ชมทางบ้านและเป็นคนอีสานเอาใจช่วยลุ้นให้การสัมภาษณ์ผ่านไปด้วยดี แต่มาเสียฟอร์มเอาตอนสุดท้าย เรียกว่าตายตอนจบ เข้าใจว่าหมอลำสาวคงอยากเสนออาหารพื้นเมืองอีสานที่แปลกไปให้ผู้ดำเนินรายการลองชิม แต่เป็นการนำเสนอที่ลึกเกินไป เป็นอาหารที่คนภาคกลางไม่รู้จัก เป็นการนำเสนอที่รู้เท่าไม่ถึงการณ์ ว่าอาหารพื้นเมืองอีสานหลายอย่างที่คนภาคกลางไม่กล้ากิน รสนิยมของคนเราไม่เหมือนกัน อย่าว่าแต่หมกฮวกเลย ปิ้งกบ ปิ้งเขียด เด็กอีสานรุ่นใหม่นี้ยังไม่กล้ากิน ถ้าเป็นส้มตำ ไก่ย่าง ปิ้งปลา แกงผักหวานใส่ไข่มดแดง คงพอได้
เหมือนกับอาหารไทยที่ไปเป็นที่นิยมของคนทั่วโลก เพราะผู้นำเสนอเข้าใจรสนิยมของผู้บริโภค “ต้มยำกุ้ง” ทำให้ฝรั่งกินแรก ๆ ต้องรสชาติอ่อนไม่เผ็ด ต่อมาฝรั่งชอบแล้ว ค่อยเพิ่มความเผ็ดจนคนฝรั่งชอบกินเผ็ดไปเลย
ไม่ต่างอะไรกับการนำเสนอศิลปะวัฒนธรรมอีสาน ไปโชว์ให้คนที่ไม่เคยสัมผัสได้รู้จัก ต้องประเมินเอาใจเขามาใส่ใจเรา รู้รสนิยมของเขาก่อน มากน้อยแค่ไหน ต้องรู้ว่าไปโชว์ที่ไหน เมื่อไหร่ เวลาแค่ไหน ต้องคัดแต่ของดีจุดเด่น ค่อยซึมซับสอดแทรกไม่ใช่ยัดเยียด สร้างค่านิยมทีละน้อย จนผู้เสพผู้บริโภคสนิทใจ
เคยดูรายการโทรทัศน์ เขานำวงดนตรีพิณแคนพื้นเมืองอีสานมาบรรเลงกับดนตรีสากล ตั้งใจดูและเอาใจช่วย พิธีกรรายการสัมภาษณ์หัวหน้าวงที่นำดนตรีพื้นเมืองอีสานมาบรรเลงกับดนตรีไทย และดนตรีสากล ขอให้โชว์การบรรเลง พอเริ่มบรรเลงเปิดตัวด้วยเสียงแคนเป่าลำล่องอ้อยอิ่งช้าเนิบนาบอยู่นานจนคนดูอึดอัด จึงเข้าบรรเลงเต็มวงด้วยทำนอง “เต้ยโขง” และอืดยืดยาดยังไม่มัน หมดเวลาพอดี การนำเสนอขาดทักษะ กร่อย จืด
วงดนตรี “พิณแคนประยุกต์ทิดโสลำเพลิน” ที่ผู้เขียนตั้งขึ้นมาเพื่อเผยแพร่ศิลปะการแสดงของภาคอีสาน มีช่วงการโชว์ฟ้อนเซิ้ง “ศรีโคตรบูรณ์” ครูผู้ฝึกฟ้อนก็ใส่เต็มที่ คิดท่ารำหลายท่าหลายสเต็ปใช้เวลาโชว์เกือบ ๒๐ นาที ผู้เขียนเห็นว่าการฟ้อนโชว์บนเวทีแสดงสดถ้ายาวไปผู้ชมจะเบื่อ สั้นไปก็เสียดาย จึงให้ตัดท่ารำออกไปบ้างเหลือเวลาไม่เกิน ๑๐ นาที คนดูกำลังเพลิน ๆ ก็จบ ยิ่งไปโชว์ทางโทรทัศน์ยิ่งต้องย่อลงมาเอาแต่ท่าเด็ด ๆ ๖ – ๗ นาที มัวรำยืดเยื้อก็อาจโดนตัดเพราะเวลาเขาน้อย
ต้องหัดเป็นคนช่างสังเกต ปรับตัวปรับการแสดงไปตามความนิยมของผู้ชม “วงดนตรีพิณแคนประยุกต์ทิดโสลำเพลิน” จะรับงานแสดงในแถบจังหวัดภาคกลาง การนำวงดนตรีไปเปิดการแสดงที่อำเภอไหน จังหวัดอะไร ผู้เขียนจะต้องศึกษามาก่อนว่า แถวนี้มีคนเชื้อสายลาวอยู่เยอะไหม เช่นตำบล “ปากพลี” ตำบล “สาริกา” จังหวัดนครนายก มีคนลาวเวียง ลาวพวน อยู่เยอะ ก็จะให้วงเล่นลำกลอน ลำยาว ลำล่องมากหน่อย ชาวบ้านชอบ หรือไปแสดงแถวสระแก้ว ชลบุรี ที่มีพี่น้องชาวอีสานอพยพมาอยู่เยอะ ก็ให้โชว์ลำเพลินเยอะ ๆ ถ้าไปแสดงในถิ่นคนภาคกลางเยอะ ก็โชว์เพลงลูกทุ่งเยอะ โชว์ศิลปะอีสานพอให้ยั่วน้ำลาย
ทุกครั้งของการแสดง ก่อนจบจะเป็นการโชว์ “ลำเพลินเมดเลย์” นักร้องหมอลำคนดังของวงทั้งชายหญิงออกมาลำ โชว์พิณ แคน และขบวนฟ้อนเซิ้ง หางเครื่องชายหญิงเต็มเวที คึกคักสนุกส่งท้ายประมาณ ๑๐ – ๑๕ นาที คนดูกำลังสนุกก็จบลงทันที ดนตรีขึ้นเพลงสรรเสริญพระบารมี คนดูนั่งงง ยกนาฬิกาขึ้นดู เวลาเกือบตีหนึ่งแล้ว เพราะดูเพลินตั้งแต่ต้นจนจบไม่รู้ตัว สร้างความชื่นชอบประทับใจแก่ผู้ชมแฟน ๆ ได้รู้ว่าศิลปะการแสดงของภาคอีสาน สนุกเร้าใจได้ความบันเทิงเต็มที่ และคุ้มค่า…ด้วยการนำเสนอที่ไม่น่าเบื่อ