ในประโยคทางการที่เขียนถึงสภาพองค์รวมของประเทศ มักเขียนระบุกันว่า “…การเมือง เศรษฐกิจ สังคมและวัฒนธรรม” หรืออาจเพิ่มเติมรายละเอียดเข้าไปอีกเช่น “…การเมือง เศรษฐกิจ สังคม สิ่งแวดล้อม การสาธารณสุข ศิลปะและวัฒนธรรม”
สังเกตไหมว่า คำว่า “วัฒนธรรม” เป็นคำหลัก แต่มักห้อยอยู่ท้ายประโยค ซึ่งนั่นเป็นความจริงที่คนส่วนใหญ่ไม่ได้ให้ความสำคัญ แถมยังด้อยค่า เห็นได้ชัดเวลาจัดสรรตำแหน่งรัฐมนตรีประจำกระทรวงต่าง ๆ กระทรวงวัฒนธรรมจะอยู่อันดับท้าย ระดับเดียวกับกระทรวงที่เกี่ยวข้องกับการศึกษา ทั้ง ๆ การศึกษาคือหัวใจสำคัญของการพัฒนาคนเพื่อสร้างชาติ
ศัพท์บัญญัติ “วัฒนธรรม” ถอดถ่ายมาจากภาษาอังกฤษ “Culture” ซึ่งหมายถึงความเปลี่ยนแปลงทั้งทางที่ดีขึ้นและเสื่อมลง ความเข้าใจของผู้คนอาจหมายเพียงการเจริญเติบโตดีงามขึ้นด้านเดียว โดยเมื่ออดีตมีการเสนออีกคำหนึ่งขึ้นมาเทียบเคียงคือ “พฤติธรรม” แต่ถึงบัดนี้เป็นคำที่จางหายไปแล้ว
จริง ๆ คำว่า Culture กินความถึงการแสดงออกทั้งรูปธรรม นามธรรม ความคิดจิตใจของความเป็นมนุษย์ เป็นคน การรู้จักอาหารการกิน รู้จักต้นไม้ใบหญ้า สิงสาราสัตว์ รู้จักวิถีฮีตคองที่บรรพชนสร้างสมมา รู้จักธรรมชาติ รู้เรื่องที่ต้องขลำ รู้สิ่งที่ควรทำ ทั้งหมดนั้นจะทำให้เรามีจิตวิญญาณ มีทักษะในการใช้ชีวิต ทำให้คนเรารู้จักตนเอง เคารพตนเอง เคารพผู้อื่น และโอบอ้อมอารีต่อมวลสรรพสิ่ง
เมื่อเข้าใจวัฒนธรรม เป็นคนมีวัฒนธรรมจะสามารถร่วมกันพัฒนาเปลี่ยนแปลงทุกสิ่งไปในทางที่ดี การเมืองก็จะเป็นประชาธิปไตย สังคมก็เป็นธรรม เศรษฐกิจของผู้คนทุกสาอาชีพก็มั่นคง สังคมก็ยั่งยืน รวมถึงการสาธารณสุข ธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมต่าง ๆ ทุกองคาพยพต่างงอกงามและเต็มเปี่ยมด้วยสันติสุข
เมื่อจะเล่าบอกถึงสภาพรัฐชาติโดยองค์รวม การเขียนประโยคที่ถูกต้องจึงเริ่มที่ “ศิลปวัฒนธรรม การสาธารณสุข ธรรมชาติ สิ่งแวดล้อม การเมือง เศรษฐกิจและสังคม” หรือจะเพิ่มคำสำคัญเข้าในประโยคตามความต้องการที่จะเน้นเพื่อส่งเสริมพัฒนาตามลำดับก่อนหลังก็ย่อมได้
….
คอลัมน์ บทบรรณาธิการ
ราคาเล่มละ ๑๕๐ บาท
สมัครสมาชิก ครึ่งปี ๙๐๐ บาท
สมาชิกรายปี ๑,๕๐๐ บาท (จากราคาเต็ม ๑,๘๐๐ บาท)
ตลอดชีพ ๑๕,๐๐๐ บาท (ได้รับหนังสือย้อนหลัง)
สอบถามเพิ่มเติม/สั่งซื้อเข้ามาได้ทุกเวลาทาง
inbox หนังสืออีศาน m.me/166200246799901
line id : @chonniyom (มี@) คลิก https://lin.ee/amxqtvW