๐ อย่าได้วาจาเพี้ยงเขาฮอขมขื่น คำปากอย่าได้ตื้นคือหม้อปากแบน
อย่าได้แสนแพนหน้าวาจาเว้าอ่ง ฝูงพี่น้องพงษ์เชื้อชิบ่มี ๐
(วรรณคดี “ย่าสอนหลาน”)
ดร.ปรีชา พิณทอง อธิบายว่า “เพี้ยง คือ เสมอ เหมือน แสนแพนคือทำหน้าตาสวยงาม การพูดจานั้นเป็นได้ทั้งส่วนดีและส่วนเสีย พูดจาไพเราะประสานสามัคคี พูดในสิ่งที่เป็นความสุขความเจริญเช่นนี้เป็นคำที่ควรพูด ส่วนคำใดที่พูดแล้วคนฟังรังเกียจเดียดฉันท์ แม้แต่คนที่รักใคร่พอใจก็ไม่อยากฟัง การพูดก็อย่าพูดทนงองอาจทำให้ผู้ฟังขี้เดียด คนพูดทนงตัว หยิ่งตัว จะขาดเพื่อนสนิทมิตรสหายที่รักใคร่นับถือกัน” (“ไขภาษิตโบราณอีสาน” ดร.ปรีชา พิณทอง หน้า ๓๐๔)
คำโบราณสอนไว้ ให้ระมัดระวังคำพูดคำจา
สมัยโบราณพูดจากัน แม้ได้ยิน แพร่หลายในวงแคบ ยังต้องมีความระมัดระวัง
มาสมัยนี้ ผู้คนสามารถเขียนแสดงความคิดเห็นแพร่กระจายกันได้ง่ายได้กว้างอย่างโซเชียลมีเดีย ยิ่งต้องระมัดระวังกันมากขึ้น
ทุกเรื่องทุกราวมันโยงใยถึงกันได้หมด บางสิ่งดูไม่เกี่ยวเนื่องกัน แต่เพียงคำพูดจาก็อาจส่งผลสะเทือนถึงกันได้ เช่น “ตีหัวปลาสะเทือนหัวนาค” (ภาษิต โดย ดร.ปรีชา พิณทอง)
“ปลากับนาคเป็นสัตว์น้ำด้วยกัน ถ้าเราไปจับปลาก็สะเทือนถึงนาค เพราะนาคเมื่อคนจับปลาได้ วันหนึ่งก็ต้องจับนาค ในทำนองเดียวกัน เราจะดุด่าว่ากล่าวลูกหลานหรืออบรมสั่งสอนเขา ก็ให้มองหน้ามองหลัง คนเรามีพ่อมีแม่ แหมีจิตมีจอม หากพูดจาอะไรออกไปจะเป็นการข้วมหูหินปีนหัวกั่ว ทำให้เกิดความบาดหมางกันในระหว่างญาติพี่น้องก็อย่าทำ” (“ไขภาษิตโบราณอีสาน” โดย ดร.ปรีชา พิณทอง หน้า ๘๑)
“ทางอีศาน” พยายาม “เขียน” แต่เรื่องดี มีประโยชน์ต่อส่วนรวม สร้างมิตรให้มาก “ฟันเฮือไว้หลายลำแฮท่า หม่าเข้าไว้เต็มบ้านทั่วเมือง” (วรรณคดี “เสียวสวาสดิ์”)
“ทางอีศาน” ยินดีน้อมรับคำแนะนำเสมอครับ