ก้อยไข่โพ๊ะ : แหย่ไข่มดแดงในป่า หาปลากั้งน้อย ไปทำก้อยไข่โพ๊ะ
เดือนสามลมวี่เดื่อนสี่ลมวอย พัดดอกฮังน้อยหอมไกล ลมแล้งพัดมาคราใดให้นึกถึงเยาว์วัย ที่พ่อแม่พาไปกินข้าวป่า แหย่ไข่มดแดงที่ต้นหว้าพร้อมหาปลาค่อกั้งใหญ่น้อย ไปทำก้อยไข่โพ๊ะ
ก้อยไข่โพ๊ะ คือก้อยไข่มดแดงที่โป่ะบนปลาค่อกั้งเผา ที่เผาโดยใช้กาบกล้วยมาโอบรอบตัวปลาก่อนนำไปเผาไฟ เรียกว่าเผาแบบ “หีบกาบกล้วย” โพ๊ะคือการวางอาหารอย่างหนึ่งที่ค่อนข้างแห้งโป่ะบนอาหารอีกอย่างหนึ่ง ลักษณะค่อนข้างแห้ง ต่างจากฮาด ซึ่งหมายถึงราด คือเป็นลักษณะของการนำอาหารที่เหลวราดลงไปบนอาหารอีกอย่าง
ต้นฤดูแล้ง โรงเรียนปิดเทอมแล้ว เป็นเวลาของการศึกษาในโรงเรียนชีวิต นับเป็นช่วงเวลาที่เด็กบ้านนามีความสุขที่สุด เพราะมีกิจกรรมอื่นๆที่น่าสนใจมากมาย หนึ่งในนั้นคือการไปกินข้าวป่าที่นาโคกตีนภู พ่อบอกช่วงนี้มดแดงวางไข่แล้ว พ่อจะพาพวกเรา ไปแหย่ไข่มดแดง และหาปลาค่อกั้งมาทำก้อยไข่โพ๊ะกินกัน
แหย่ฮังมดแดง
เช้าวันหนึ่งเรามาถึงนาโคกในเวลาค่อนสาย พ่อเดินนำไปยังใต้ต้นหว้าใหญ่ ที่นั่นมีรังมดแดงมากมาย เล็กใหญ่สลับกัน พ่อใช้ ”กะต่าปากก้วง” คือ ตะกร้าปากบาน มัดติดกับปลายของ “ไม้ส่าว” คือ ไม้ไผ่ขนาดยาว แล้วยกขึ้นไปแหย่ที่รังของมดแดง พ่อสอนว่าเพราะเป็นช่วงต้นของฤดู มดอาจจะยังไม่วางไข่มาก ต้องเลือกรังที่มีเยื่อสีขาวหุ้มระหว่างใบไม้ ถ้ามีเยื่อนั่น แสดงว่าในรังมีไข่แล้ว ให้ใช้ปลายไม้ส่าว แหย่เข้าไปตำแหน่ง 45 องศา แล้วค่อยๆเอามือเคาะไม้ ให้ไข่ค่อยๆร่วงลงในกระต่าปากกว้างที่รองอยู่ ไม่ให้แหย่ทะลวงรังเลย เพราะมดแดงจะตกใจ แล้วจะดุร้าย มันจะไต่ตามไม้ส่าวลงมากัดคนแหย่ แต่ถ้าค่อยๆเคาะ มดจะมีโอกาสไต่ไปตามใบไม้รอบข้างอย่างระมัดระวัง และไม่ร่วงลงมา ไม่ทำให้มด“แคะ” ซึ่งหมายถึง กลัวจนหนีขึ้นไปอยู่ปลายไม้สูง รอบต่อไปเราจะลำบากในการแหย่ไข่มดแดง
แหย่เสร็จเป็นรังแล้ว พ่อก็จะเอาไข่มดในกะต่านั่นเทลงในถังที่มีน้ำสะอาดอยู่ครึ่งหนึ่ง ส่วนแม่ก็ใช้ “หัวหูก” หมายถึงเศษจากการทอผ้าที่ยังติดอยู่ที่ “กี่ทอผ้า” เอาไปแกว่ง ในน้ำที่พ่อเทมดที่แหย่มาได้ลงไป แม่มดแดงจะได้สลบและติดขึ้นมาตามหัวหูก จำเป้นต้องใช้หัวหูกเพราะจะมีความสากแม่มดแดงจะเกาะติดดี ทำแบบนี้จนแยกแม่มดออกจากไข่จนหมด สิ่งที่เราได้มีทั้ง “แม่เป้ง”คือนางพญามด “แม่นาง” คือตัวอ่อนของนางพญา “ไข่ต่ง”คือไข่ที่เต่งตึงสมบูรณ์จะกลายเป็นแม่นางและพญามดต่อไป “ไข่ผาก”คือไข่ที่จะกลายไปเป็นมดงาน และไข่มดดำ ซึ่งจะเจริญเติบโตเป็นมดดำ แม่บอกว่า ห้ามเอาแม่มดเทลงน้ำเดี๋ยวปลากิน และห้ามวางไว้ในที่แดดจัดเดี๋ยวมดตาย ต้องวางในที่ร่ม แห้ง และใกล้โคนต้นเดิมที่สุด เพื่อมันจะได้ฟื้นได้ไว ต้องพูดขอขมาแม่มดที่ทำให้เจ็บ และขอบคุณที่ไข่ให้เราได้กินเป็นอาหารด้วย
หาปลาค่อกั้ง
หลังจากได้ไข่มดแล้ว พ่อก็จะพาเราไปหาจับปลาค่อกั้ง หน้าตาของปลาชนิดนี้เหมือนปลาช่อนปกติแต่ตัวสั้นกว่า ปลายครีบปลายหางมีสีส้มแดง มักอาศัยอยู่ตามแอ่งน้ำบนซอกภูเขา จึงเรียกว่าปลาช่อนภูเขา แต่น้ำในแอ่งมักจะสีขุ่นทำให้ไม่ทราบว่ามีความลึกเท่าไร หรือมีตัวอะไรบ้างที่อยู่ในแอ่งนั้น พ่อจึงห้ามใช้มือล้วงเด็ดขาด แต่จะใช้ “แม่นาง” หรือ “แม่เป้ง”ของมดแดง ที่ไปแหย่มา เกี่ยวกับเบ็ดไม้ไผ่แล้วหย่อนลงไปในแอ่งน้ำ ไม่นานปลาก็ฮุบเบ็ด ทำแบบนี้ไปเรื่อยๆ ได้ปลา4-5 ตัวก็เพียงพอแล้วสำหรับ “พาสวย” หรือสำรับมื้อกลางวันของบ้านเรามื้อนี้แล้ว
อาหารป่าต้องปรุงแบบป่า
เมื่อได้วัตถุดิบมาครบ ทั้งไข่มดแดงและปลาค่อกั้ง พ่อก็จะเดินหายเข้าไปในป่า และกลับออกมาพร้อมกับ ดอกและยอดผักติ้วเต็มหัวหมวก บวบเล็กๆ 4-5 ลูก พร้อมทั้งใบ “กล้วยอีออง” ซึ่งหมายถึง กล้วยน้ำว้า กาบกล้วยและเชือกกล้วย แม่ล้างปลาค่อกั้ง ขอดเกล็ดควักไส้บั้งห่างๆ ทาเกลือ แล้วล้างน้ำให้สะอาด จากนั้นห่อด้วยใบตอง ก่อนจะเอากาบกล้วยมาโอบมัดไว้อีกรอบ แล้ววางในกองไฟที่พ่อก่อเตรียมไว้รอแล้ว และทำหีบแบบเดียวกันแต่ด้านในใส่บวบเล็กๆย่างไว้ทานคู่กับก้อยไข่โพ๊ะ ระหว่างนั้นแม่จะให้ช่วยล้างใบตองไว้รองอาหาร และล้างผักติ้วรอไว้ ส่วนแม่เองก็ล้างไข่มดแดงให้สะอาด เลือกแบ่งไข่งามๆ ห่อเก็บใส่ใบจาน หรือใบของต้นทองกวาวไว้ไปฝากปู่ครึ่งหนึ่ง ที่เหลือ ห่อใบจาน หมกไฟพอให้สุก รอให้เย็น หั่นหอมแดงเป็นแว่นบางๆใส่ลงไป โรยเกลือนิด ใส่น้ำปลาร้าต้มสุกสักหน่อย ชิมรสให้พอดี แล้วแบ่งออกไว้ให้ลูกสาวสักหน่อย ก่อนใส่พริกป่น ส่วนข้าวคั่วและใบสะระแหน่นั้นไว้เคล้าตอนท้าย ข้าวคั่วจะได้ไม่อืด ผักจะสดเขียวและกลิ่นจะได้หอม ผ่านไปสัก20นาที ปลาก็เริ่มส่งกลิ่นหอม แสดงว่าสุกได้ที่แล้ว แม่เตือนให้ทุกคนรีบล้างมือให้สะอาด มานั่งล้อมวงรอ เพราะเมนูนี้ต้องทานขณะร้อนๆ
กินก้อยไข่โพ๊ะ
พ่อเปิดหีบกาบกล้วยออกแกะกาบกล้วยที่ไหม้ไฟด้านนอกออกเหลือกาบรองด้านใน แม่รีบเทก้อยไข่มด โพ๊ะลงไปบนปลาเผานั่น กลิ่นหอมของปลาเผาที่ว่าหอมมากแล้ว กลิ่นก้อยไข่มดที่โพ๊ะลงไปกลับหอมกว่า ยิ่งทำให้หอมรวมล้ำย้ำยวนใจมากยิ่งขึ้น ทั้งกลิ่นปลา กลิ่นพริกป่น ข้าวคั่ว ปลาร้า สะระแหน่ที่โดนไอร้อนจากหีบกาบกล้วย เป็นกลิ่นหอมที่มีเอกลักษณ์มาก ยากจะลืมเลือน
แม่สอนว่าเวลากินก้อยไข่โพ๊ะ ต้องใช้ใบจาน หรือใบทองกวาวจีบเป็นกรวยตักน้ำดื่มก่อนสักนิด เพราะใบจานกินน้ำแซบ หมายถึง ใบจานกินน้ำอร่อย เพราะมีกลิ่นเฉพาะ ทำให้เราอยากกินอาหาร และการดื่มน้ำทำให้ปากเราสะอาด ลิ้นจะได้เปิดรับรสได้ดีขึ้น ก่อนใช้ข้าวเหนียวปั้นแน่นๆ คุ้ย หรือ จับให้โดนทั้งเนื้อปลาและก้อยไข่มดส่งเข้าปากพร้อมกัน แล้วกินดอกผักติ้วสดรสเปรี้ยวนิดๆตามติดเข้าไป พอลิ้นเริ่มรับรสเข้มก็กินบวบย่างตามเข้าไปแก้กัน รับรองอร่อยแบบลืมไม่ลง กินข้าวไปได้สองสามคำพ่อนึกขึ้นได้ รีบตักแบ่งอาหารใส่ใบตองเล็กๆ ไปวางไว้ใต้ต้นไม้ใหญ่ข้างๆพร้อมทั้งตะโกนเสียงดังลั่นโคกว่า……. “มากินข้าวสวยเด้อ”
สิ่งที่พ่อทำเป็นอะไรที่แปลก ดูแล้วรู้สึกสงสัยขึ้นมาในใจ จึงถามพ่อไปว่า พ่อเอาข้าวไปวางให้ใคร แล้วเรียกใครมากินข้าวกลางวันกับเรา พ่อบอกว่า พ่อมอบอาหารส่วนหนึ่งให้ผีสางเทวดา เพื่อเป็นการขอบคุณที่มอบอาหารล้ำค่าให้เราได้กิน ไข่มดแดง ปลาค่อกั้ง ไม่ใช่อาหารที่หาทานได้ง่ายๆ เป็นอาหารที่หายาก ต้องเพียรพยายามและอดทน ต้องขอบคุณที่ธรรมชาติแบ่งปันให้เรา และเราก็ต้องเรียนรู้อยู่กินด้วยเคารพเช่นกัน
เรียนรู้อยู่กินเป็นนิรันดร์
กินอิ่มแล้วแม่ ไปดูแม่มดแดงที่โคนต้นหว้าใหญ่ ว่าฟื้นหมดหรือยัง ปรากฏว่า มดแดงกองใหญ่หายไปเกือบหมดแล้ว แม่บอกว่างั้นเราก็กลับบ้านได้ ภารกิจฟื้นชีพมดแดงก็จบลง เมื่อเราได้ใช้ประโยชน์จากธรรมชาติ เราก็ต้องเรียนรู้ที่จะอยู่กินกับธรรมชาติ นั่นคือลมหายใจของหมู่เฮา เฮาฮักธรรมชาติ ธรรมชาติก็ฮักเฮา นั่นคือสิ่งที่พ่อกับแม่พยายามสื่อสารตลอดกิจกรรมการกินข้าวป่านั่น อาหารท่ามกลางธรรมชาติมื้อนั้นช่างหอมล้ำ… หอมกลิ่นอาหาร หอมกลิ่นดอกฮังบานที่ลมแล้งพัดผ่าน แล้วพามา หอมกลิ่นอีสานบ้านนา หอมนักหนากลิ่นฮักบ้านเฮา…อิ่มอุ่นละมุนฮัก บอกฮักด้วยพาข้าว