ต้นไม้กลิ่นเหม็น

           เคยไหมครับ ไปในป่า ในทุ่งนา แล้วได้กลิ่นแปลก ๆ ของต้นไม้ เหม็นบ้าง หอมบ้าง มีทั้งรู้จักและไม่รู้จัก พืชที่คนเรานิยมว่ามีกลิ่นหอม ก็ถูกนำมาปลูกมาเลี้ยง จนกลายเป็นไม้ประดับตามบ้านเรือน ส่วนที่คนบอกว่าเหม็น ก็มักถูกละเลยหรือถึงขั้นตัดฟันทำลายไปก็มี ลองมาดูต้นไม้กลิ่นเหม็นสักห้าอย่างเป็นไร

เครือตดหมา   จำเป็นในการทำข้าวโป่ง ข้าวเกรียบ ของชาวอีสาน เอาหัวหั่นเป็นแว่นแล้วตำให้ละเอียดแช่เอาน้ำ นำน้ำนั้นไปเป็นส่วนผสมทำข้าวโป่งหรือข้าวเกรียบ ข้าวเกรียบดิบเมื่อนำไปวางบนตะแกรงตากแดดจะไม่ติดตะแกรง ขอบคุณภาพจาก http://www.kasetporpeang.com/forums/index.php?topic=33873.0

            เหม็นอันดับที่ห้า หญ้าตดหมา     

            มีพืชอยู่ ๕ ชนิดที่คนไทยเรียกว่า ตดหมา หรือตดหมู ได้แก่ เถาตดหมา (Merremia tridentata (L.) Hallier f.)  ตดหมา (Saprosma latifolia Craib) ตดหมาต้น หรือตดหมูต้น (Saprosma consimile Kurz) ตดหมู (Saprosma longicalyx Craib) และ หญ้าตดหมา (Paederia pilifera Hook. f.)  แต่ชนิดหลังสุดกลิ่นเหม็นสมดังชื่อเป็นหญ้าตดหมา บางถิ่นเรียก ตดหมูตดหมา พังโหม หรือย่านพาโหม พืชชนิดนี้ยังแยกย่อยออกเป็นอีก ๒ สายพันธุ์ ซึ่งมีลักษณะทั่วไปคล้ายกันมาก ที่สำคัญคือ เหม็นเหมือนตดเหมือนกัน

            หญ้าตดหมา เป็นไม้เถาพบตามป่าโปร่งและที่รกร้างตามหัวไร่ปลายนา เถามีสีเขียว พอโตเต็มที่จะใหญ่กว่าไม้ขีดไฟเล็กน้อย มียางสีขาว ก้านใบและก้านดอกมีขนสั้น ๆ ปกคลุม ใบรูปหอก กว้างยาวเทียบเคียงกับนิ้วมือได้ ปลายใบแหลม ขอบใบเรียบ ดอกเป็นช่อที่ยอด และตามซอกใบ ดอกย่อยจำนวนมาก กลีบดอกเชื่อมติดกันเป็นหลอด ปลายแยกเป็น ๕ แฉกมีขอบหยัก กลีบด้านนอกเป็นสีม่วงจาง ๆ ด้านในเป็นสีม่วงเข้ม ออกดอกในฤดูแล้ง ผลรูปไข่หรือกลม แบน ภายในมีเมล็ด ซึ่งจะงอกเป็นต้นใหม่ได้ง่ายในช่วงต้นฤดูฝน

            เมื่อเด็ดใบของหญ้าตดหมามาขยี้ จะได้กลิ่นเหม็นอันเป็นที่มาของชื่อพืช ชาวบ้านที่ถางไร่ฟันป่าไปโดนเถาไม้นี้ ล้วนรู้ดีว่า กลิ่นอันไม่พึงประสงค์นั้นไม่ได้เกิดจากคนใดคนหนึ่งในหมู่พวกเขา จึงไม่ต้องเสียเวลาโทษกันให้วุ่นวาย

            แต่ก็ใช่ว่าไม้เถาใบเหม็นนี้จะไร้ประโยชน์เสียเลย  ผู้ที่ไม่รังเกียจกลิ่นตดจาง ๆ ของใบอ่อน อาจนำมากินสด หรือต้ม ลวก กินกับลาบ จิ้มกับน้ำพริก หรือปรุงเป็นแกงก็ยังได้ นอกจากนี้ยังขุดเอารากมาต้มน้ำดื่ม แก้ท้องอืดท้องเฟ้อได้อีกด้วย

บัวผุด ที่อำเภอเขาพนม จังหวัดกระบี่
ขอบคุณภาพจาก  http://www.onschannel.com/varieties/view/2004

            เหม็นอันดับที่สี่ บัวผุด

            ไม้กลิ่นเหม็นชนิดนี้ แท้จริงแล้วเป็นพืชจำพวกกาฝาก ซึ่งดูดกินสารอาหารจากพืชชนิดอื่น บัวผุด (Rafflesia kerrii Meijer) มีรูปเป็นดอกไม้ขนาดใหญ่คล้ายถ้วยหรืออ่าง กว้างกว่า ๑ ศอก มีกลีบขนาดใหญ่ ๕ กลีบ ผุดขึ้นจากพื้นดินที่มีรากหรือลำต้นของไม้เถาที่ชาวบ้านเรียกว่า ย่านไก่ต้ม (Tetrastigma spp.) ไม้กลิ่นเหม็นนี้ ไม่มีกิ่งก้านหรือใบ ตรงก้นดอกภายในถ้วยเป็นแท่งคล้ายฝักบัว มีก้านเรียวแหลมคล้ายหนามหลายอันยื่นยาวออกมา ดอกบัวผุดบานอยู่เพียง ๔ – ๕ วัน ส่งกลิ่นเหม็นคล้ายเนื้อเน่า เพื่อดึงดูดแมลงมาช่วยผสมเกสร     

เล่ากันมาว่าดอกบัวผุดนี้ เอามาต้มน้ำดื่มเป็นยาบำรุง ลดไข้ และแก้ปวดหลัง แต่นอกจากรายงานฤทธิ์ต้านอนุมูลอิสระของสารสกัดดอกบัวผุด ซึ่งเป็นฤทธิ์ที่พบได้ในพืชเกือบทุกชนิดแล้ว ก็ไม่มีรายงานฤทธิ์ทางเภสัชวิทยาอื่นใดเลย

            ในประเทศไทย พบบัวผุดเกิดขึ้นเองเฉพาะในพื้นที่ป่าฝนทางภาคใต้ โดยเฉพาะอย่างยิ่งที่อุทยานแห่งชาติเขาสก จังหวัดสุราษฎร์ธานี เป็นแหล่งชมบัวผุดแหล่งใหญ่ที่สุด มีบัวผุดทยอยบานให้ชมทั้งปี แต่ที่ป่าดิบชื้นภาคเหนือ มีพี่น้องวงศ์เดียวกันแต่คนละสกุลของบัวผุด ชื่อ กระโถนฤๅษี (Sapria himalayana Griff.) เป็นพืชกาฝากที่มีรูปลักษณ์ วิสัย และกลิ่นเหม็น คล้ายคลึงกับบัวผุดอย่างยิ่ง แต่มีขนาดเพียงไม่เกินฝ่ามือเท่านั้น และกลิ่นเหม็นจากปากกระโถนก็ไม่รุนแรงเท่า อาจเป็นเพราะฤๅษีกินแต่ผักหญ้าหมากไม้หรืออย่างไร จึงทำให้อุจจาระในกระโถนไม่ค่อยเหม็น ก็แล้วแต่จะคิดจะสร้างเรื่องกันไป

            ทั้งบัวผุดและกระโถนฤๅษี มีเกสรตัวผู้และเกสรตัวเมียอยู่คนละดอกกัน การผสมเกสรจึงเป็นไปได้เมื่อดอกทั้งสองบานพร้อมกันเท่านั้น ความยากลำบากในการผสมเกสร ผนวกกับการเหยียบย่ำทำลายของนักท่องเที่ยว ทำให้ไม้กลิ่นเหม็นทั้งสองชนิดนี้เสี่ยงต่อการสูญพันธุ์เป็นอย่างยิ่ง

อุตพิต ชื่อวิทยาศาสตร์ Typhonium trilobatum Schoot. จัดอยู่ในวงศ์ ARACEAE
ชื่อท้องถิ่นอื่นๆ อีกว่า บอนแบ้ว (เชียงใหม่), มะโหรา (จันทบุรี), อุตพิษ อุตตพิษ (ไทย), ขี้ผู้เฒ่า (อีสาน) เป็นต้น บางตำราเขียนว่า “อุตพิด”  ขอบคุณภาพจาก http://frynn.com

เหม็นอันดับที่สาม  ดอกอุตพิต

อุตพิต (Typhonium trilobatum (L.) Schott) เป็นพืชหัวในวงศ์เดียวกับบอนและเผือก มีหัวหรือเหง้าซึ่งเป็นส่วนของลำต้นอยู่ใต้ดิน ช่อดอกเป็นแท่งประกอบไปด้วยดอกขนาดเล็กจิ๋วจำนวนมาก ห่อหุ้มด้วยใบประดับขนาดใหญ่สีม่วงแดง ทำนองเดียวกับดอกหน้าวัวหรือพืชจำพวกบอนอื่น ๆ  แทงโผล่พ้นดินออกมาก่อน จากนั้นไม่นานจึงแทงใบเดี่ยวที่มีก้านใบสีเขียวยาวราวครึ่งศอก และแผ่นใบขนาดฝ่ามือ หยักเว้าเป็น ๓  พู ขอบใบเรียบ เมื่อใบประดับของช่อดอกคลี่ออก ก็เป็นเวลาเดียวกับที่ดอกขนาดจิ๋วนั้นบานเต็มที่ ส่งกลิ่นเหม็นคล้ายกลิ่นอุจจาระที่น้อยคนจะทนทานได้

            ในสมัยก่อน อุตพิต (บางตำราเขียนว่า อุตพิด) เป็นพืชที่พบได้ทั่วไป ตามที่ลุ่มรกร้าง หัวอุตพิตไม่มีกลิ่นเหม็นเหมือนดอก หมอพื้นบ้านใช้เป็นเครื่องยาร่วมกับสมุนไพรอื่น ๆ ตำพอกผิวหนังเพื่อกัดหัวฝีหนองให้หลุดลอก และช่วยสมานแผล  งานวิจัยในสัตว์ทดลองยังชี้ว่า สารสกัดจากใบอุตพิตมีฤทธิ์ระงับปวด บรรเทาอาการอักเสบ และแก้อาการท้องเสีย กล่าวกันว่า หัวอุตพิดที่ปรุงสุกแล้ว ใช้รับประทานได้ แต่ก่อนจะขุดเอาหัวขึ้นมาทดลอง ใครเล่าจะสามารถผ่านด่านกลิ่นคล้ายอาจมของช่อดอกอุตพิดไปได้

แก้งขี้พระร่วง มีชื่อเรียกต่างกันแต่ละท้องถิ่น เช่น กล้วย (จันทบุรี) ขี้พระร่วง มันปลาไหล (นครราชสีมา) เช็ดก้นพระ
เจ้า (น่าน) เช็ดขี้พระเจ้า (เชียงใหม่) ตะคาย มะหาดน้ำ เยื้อง หม่อนดง ตายไม่ทันเฒ่า (ภาคใต้) ขอบคุณภาพจาก http://www.dnp.go.th/pattani_botany

            เหม็นอันดับที่สอง ไม้แก้งขี้พระร่วง           

เพียงได้ยินชื่อก็พอนึกได้ว่าไม้นี้มีกลิ่นเหม็นเหมือนอะไร หากเมื่อดมแล้ว ยังจับต้องเนื้อไม้เข้าอีก คราวนี้คงต้องล้างไม้ล้างมือกันให้หมดสิ้นกลิ่นขี้กันเลยทีเดียว ไม้แก้งขี้พระร่วง ( Celtis timorensis Span.) บางที่ก็เรียกเพียง ขี้พระร่วง บางที่หนักไปกว่านั้น เรียก เช็ดก้นพระเจ้า หรือ เช็ดขี้พระเจ้า แม้ชื่อสามัญของไม้นี้ในภาษาอังกฤษก็ยังเรียก Stinkwood อันแปลว่าไม้กลิ่นเหม็น เป็นไม้ยืนต้นผลัดใบ กระจายพันธุ์ในเขตร้อนของเอเชีย พอโตเต็มที่จะสูงราวบ้านสองชั้น เปลือกต้นเรียบ สีเทา กิ่งอ่อน ก้านใบและช่อดอกมีขนนุ่มสั้นคลุม ใบเดี่ยว รูปรีหรือรูปไข่ กว้างยาวราวฝ่ามือเด็ก ปลายใบเรียวแหลม โคนใบเบี้ยว มน ถึงสอบกว้าง มีเส้นใบที่ดูคล้ายใบอบเชย ต่างกันตรงที่ขอบใบของอบเชยเรียบ แต่ขอบใบของไม้แก้งขี้พระร่วง มีทั้งเรียบและหยักแบบฟันเลื่อย ผิวใบเกลี้ยง ดอกมีขนาดเล็ก ออกเป็นช่อตามซอกใบ ผลสุกมีสีแดง กลมยาว แบบปลายนิ้วมือ

หมอพื้นบ้านใช้เนื้อไม้ปรุงเป็นยาถ่ายพยาธิ รักษาโรคตับ แก้ตัวเหลือง นิ่ว และบำรุงประสาท รายงานวิจัยในสัตว์ทดลองชี้ว่า สารสกัดจากใบมีฤทธิ์ระงับการซึมเศร้า และป้องกันตับอักเสบ

            เล่าสืบต่อกันมาว่า ไม้ต้นนี้กำเนิดขึ้นจากไม้ชำระก้นหลังจากถ่ายทุกข์ของพระร่วงเจ้า (บางที่ว่าเป็นพระพุทธเจ้าเสียด้วยซ้ำ) คราวเมื่อเสด็จมาเที่ยวป่า

            ส่วนที่เหม็นของพืชชนิดนี้คือ เนื้อไม้ ดิบก็เหม็น แห้งก็เหม็น ยิ่งเปียกน้ำยิ่งเหม็น เผาไฟก็ยังเหม็น เหม็นอึดเหม็นทนขนาดนี้ หมอผีบางท่านจึงใช้เป็นไม้ไล่ผีปอบ ด้วยหวังว่าปอบก็คงเหม็นกลิ่นไม้นี้เช่นเดียวกับคน

ดอกบุกคางคก

            เหม็นอันดับที่หนึ่ง ดอกบุกคางคก

บุก เป็นพืชพื้นบ้านเขตร้อน มีประมาณ  ๑๗๐ ชนิดทั่วโลก ในประเทศไทยพบขึ้นเองในป่า ในทุ่ง ของทุกภาค มีหัวใต้ดิน กลม หรือกลมแป้น ขนาดตั้งแต่เท่ากำปั้นไปจนถึงโตกว่าศีรษะ มีลำต้นงอกเป็นก้านเดี่ยว สูงได้ตั้งแต่ไม่กี่คืบจนถึงท่วมศีรษะ ส่วนปลายแยกเป็นแฉกก้านใบกล้ายซี่ร่ม บุกมีดอกที่ดูคล้ายดอกหน้าวัว  ระยะเวลาที่บุกเจริญเติบโตมีก้านมีใบ เป็นคนละปีกับช่วงที่มีดอก

            บุก ใช้เป็นอาหารได้ หากต้องทำให้สุกด้วยความร้อนก่อน เนื่องจากในทุกส่วนมี  สารแคลเซียมออกซาเลท ที่ทำให้คัน ระคายเคืองอย่างยิ่ง ส่วนที่อยู่เหนือดินทั้งหมดเมื่อต้มทิ้งน้ำแล้วจิ้มกินกับน้ำพริกได้ ส่วนหัวบุก ปอกเปลือกแล้ว ชาวบ้านใช้ฝากระป๋องนมเจาะรูด้วยตะปูเล็ก ๆ หลาย ๆ รู ขูดเนื้อแป้งลงในน้ำ ต้มให้เดือด ใส่เกลือเล็กน้อยเพื่อเพิ่มรสชาติ กวนให้เข้ากันจนเดือด ใส่ปูนขาวละลายน้ำพอประมาณ แป้งในเนื้อบุกจะจับตัวกันเป็นก้อนวุ้นสีน้ำตาล เมื่อทิ้งให้เย็นสามารถตัดเป็นก้อนเล็ก ๆ และนำไปปรุงอาหารได้หลายชนิด

            การแพทย์พื้นบ้านระบุว่า หัวบุกมีรสเบื่อเมา คัน กัดเสมหะเถาดาน แก้เลือดจับเป็นก้อน หุงกับน้ำมัน ใส่บาดแผล กัดฝ้าและกัดหนองดี           

            หัวบุกมีแป้งชื่อ กลูโคแมนแนน ที่ร่างกายไม่สามารถย่อยได้ ดังนั้น การรับประทานหัวบุกจึงอิ่มแบบไม่ได้พลังงาน นอกจากนี้ แป้งบุกยังเป็นเส้นใยอาหารที่ดูดน้ำและสารพิษตกค้าง เพิ่มการบีบตัวของลำไส้ ระบายกากอาหารที่หมักหมม ทำให้ทางเดินอาหารสะอาด

            ดอกบุกบางชนิดกินได้ แต่ดอกบุกบางชนิดมีกลิ่นเหม็นเหมือนเนื้อสัตว์เน่า แม้ชื่อสามัญของไม้นี้ในภาษาอังกฤษก็ยังเรียก Corpse flower อันแปลว่า ดอกไม้ซากศพ ในประเทศไทยที่จัดให้เป็นไม้เหม็นอันดับหนึ่ง คือ ดอกบุกคางคก (Amorphophallus paeoniifolius (Dennst.) Nicolson) แม้ว่าส่วนหัวบุก สามารถนำมาต้มมาแกงกินได้ ให้รสโอชาไม่แพ้เผือกมัน แต่ยามมีดอก กลิ่นที่เหมือนหมาเน่านั้น ทำให้นึกรังเกียจจนต้องขุดย้ายไปปลูกไกลบ้านไกลคน

            กลิ่นที่คนเราบอกเหม็น มีหลายแบบ เหม็นเขียว เหม็นเน่า เหม็นหืน เหม็นตุ ฯลฯ แต่ที่คนเรารังเกียจอย่างยิ่ง คงเป็นเหม็นเน่าและเหม็นเหมือนขี้ ดังไม้กลิ่นเหม็นข้างต้น สิ่งมีชีวิตทั้งพืช สัตว์ คน ล้วนมีองค์ประกอบที่เป็นธาตุพื้นฐานแบบเดียวกันคือ  คาร์บอน ไฮโดรเจน ออกซิเจน และไนโตรเจน กลิ่นเนื้อเน่า กลิ่นอุจจาระ หรือแม้กระทั่งกลิ่นน้ำอสุจิที่เกิดจากสารประกอบของธาตุเหล่านี้ เรียกรวมว่า สารประกอบเอมีนส์ (Amines)

            เที่ยวป่าครั้งต่อไป ถ้าได้กลิ่นอุจจาระก็อย่าเพิ่งโทษใคร ได้กลิ่นศพก็อย่าเพิ่งตกใจ อาจเป็นกลิ่นของต้นไม้ก็ได้ หรือถ้าได้กลิ่นอสุจิ ก็อย่าเพิ่งรีบร้อนตื่นเต้น อาจเป็นกลิ่นของพืชก็ได้เช่นกัน

***

คอลัมน์  ผักหญ้าหมากไม้  นิตยสารทางอีศาน ปีที่ ๓ ฉบับที่ ๓๕ |มีนาคม ๒๕๕๘

.
ราคาเล่มละ ๑๐๐ บาท
สมัครสมาชิก ครึ่งปี ๖๐๐ บาท
หนึ่งปี ๑,๑๐๐ บาท
ตลอดชีพ ๙,๕๐๐ บาท (ได้รับหนังสือย้อนหลัง)
.
สั่งซื้อ// ชำระเงิน // สอบถามเพิ่มเติม ได้ทาง
inbox หนังสืออีศาน m.me/166200246799901
line id : @chonniyom (มี@) คลิก https://lin.ee/amxqtvW
อีบุค ที่ www.mebmarket.com
โทร. 086-378-2516
บริษัท ทางอีศาน จำกัด
244/539 รามอินทราซอย 5 แขวงอนุสาวรีย์ เขตบางเขน กทม. 10220

Related Posts

อู่อารยธรรมอีสาน “อุบลราชธานี” เมืองนักปราชญ์
อีสานในนิมิต
น้ำหมากนาว
WP2Social Auto Publish Powered By : XYZScripts.com