เรียน บ.ก.ทางอีศาน

ขอบคุณที่เปลี่ยนชื่อคอลัมน์ของผมใน “ทางอีศาน” เป็น “ส่องซอด” (Enlighten) ชอบครับ เพราะคำนี้มีที่มาและความหมายดีมาก

หลายปีนานมาแล้ว วันหนึ่งผมขึ้นเวทีอภิปรายบรรยายร่วมกับ “พ่อเล็ก กุดวงศ์แก้ว” ผู้นำอินแปง ผู้ซึ่งจะพูดเป็นภาษากะเลิง หรือภาษาอีสานแนวหนึ่งโดยไม่ผสมไทย เขาบอกว่า “ผมได้ยินคนพูดคำว่าวิสัยทัศน์มาบ่อยมาก ไม่เข้าใจแปลว่าอะไร ผมคนบ้านนอกจบแค่ ป.๔ แต่เมื่อฟังบ่อยเข้าก็เลยคิดเองว่า อ้อ มันคือสิแป๋ว่า ส่องซอด นั่นเอง” แล้วแกก็หัวเราะดังตามสไตล์คนอารมณ์ดี

พ่อเล็กชอบเรื่องเล็ก ๆ เรื่องหนึ่งที่ผมเล่าเวลาไปบรรยายร่วมกัน วันหนึ่งผมไปเยี่ยมบ้านที่สกลนครตอนพ่อแม่ยังอยู่ น้องสาวกับลูก ๆ อยู่กับพ่อแม่ เช้าวันหนึ่ง “ตาล” หลานสาวคนเรียน ป.๓ ถามผมตั้งแต่ยังไม่ได้ล้างหน้าว่า “ลุง อะไรเอ่ย ชื่อน่ากลัวแต่ตัวน่ารัก” ผมยังงัวเงียและคิดไม่ออกตอบไปว่า “จั๊ก” (ไม่รู้) หลานสาวมองหน้า “ลุงเป็นด็อกเตอร์ได้ไง แค่นี้ก็ไม่รู้”

พ่อเล็กที่นั่งข้าง ๆ ผมหัวเราะลั่นด้วยความชอบใจ ใคร ๆ นึกว่า คนจบด็อกเตอร์เป็นน้อง ๆ เทวดา สัพพัญญูรู้หมด แต่แค่คำถามเด็ก ป.๓ ก็ตอบไม่ได้ (“ผีเสื้อ”)
คงเป็นผมหรือเปล่าก็ไม่รู้ที่เป็นคนนำคำว่า “ส่องซอด” เข้าสู่สังคมไทย โดยให้เครดิตที่มาว่าพ่อเล็ก

อีกเหตุผลหนึ่งที่ผมชอบ “ส่องซอด” เพราะคิดถึงคำว่า “Aufklaerung” ในภาษาเยอรมัน ที่โดดเด่นที่สุดในแนวคิดทางเอมมานูแอล ค้านท์ นักปรัชญาเยอรมันผู้ยิ่งใหญ่ คำคำนี้แสดงเอกลักษณ์ของเขา เหมือนคำว่า “Dialektik” “วิภาษวิธี” เป็นเอกลักษณ์ของเฮเกล นักปรัชญาต่อจากค้านท์ ผู้เดินหน้าให้คาร์ล มาร์กซ์ เอาคำนี้ไปแปลกลับหัวกลับหางเป็นการปฏิวัติทางชนชั้น

คำว่า Auklaerung อังกฤษเขาแปลว่า Enlightenment ที่ไทยเราแปลกันว่า การรู้แจ้ง เรืองปัญญา แต่ผมเห็นว่า คำที่แปลภาษาเยอรมันของค้านท์ได้ดีที่สุด คือ “ส่องซอด” นี่แหละครับ

Aufklaerung ในความหมายของค้านท์ คือ การคิดเองได้ คิดเองเป็น มองทะลุเองได้ ไม่ต้องให้ใครช่วย ขยายให้ไกลคือ พึ่งตนเองได้ทางความคิด

วันหนึ่งค้านท์ปรารภกับผู้นำเยอรมันในขณะนั้นว่า บ้านเมืองเราไม่เจริญเพราะคนยังคิดเองไม่เป็น ต้องฟังแต่คนอื่น เมื่อจะ “ส่องซอด” เสียที บางครั้งผมแปลแบบเสียดสีว่า “เมื่อไรผู้คนบ้านเราจะหายโง่สักที”

แต่ที่สุด คนที่เข้าใจเรื่องนี้ได้ลึกซึ้งเหมือนเอมมานูแอล ค้านท์ แห่งเยอรมัน คือ พ่อเล็ก กุดวงศ์แก้ว ผู้นำอินแปง สัญลักษณ์ของการปลดปล่อย เป็นอิสระทางความคิดจากการครอบงำของอำนาจของคนอื่น และสำหรับผม อินแปง คือสัญลักษณ์ของการ “ส่องซอด” ครับ

ก็ดูจาก “รอด ๗ อย่าง” ที่เขียนไว้ข้างฝาบ้านพ่อเขียน ศรีมุกดา ผู้นำอินแปงอีกคนหนึ่งว่า คนส่องซอดเขาคิดเป็น แปลว่าอะไร

“รอดจากสารพิษ รอดจากการมีหนี้สิน รอดจากความเจ็บไข้ได้ป่วย รอดจากการถูกเอาเปรียบ รอดจากความไม่พอเพียง รอดจากกระแสพัดพาไป รอดจากความเหงา”

ส่องซอด = Aufklaerung

ว่าจะเขียนจดหมายน้อย แต่ใหญ่ไปไหมครับ ท่าน บ.ก.

เสรี พพ

๑๖ กันยายน ๒๕๖๕

Related Posts

บทที่ 7 บทเรียนล้ำค่า
ปิดเล่ม ทางอีศาน ๑๒๖
ภาพฝัน โดย สมคิด สิงสง
WP2Social Auto Publish Powered By : XYZScripts.com