ดอกมะเดื่อเป็นของหายาก…จริงหรือ?

ดอกมะเดื่อเป็นของหายาก…จริงหรือ?

ภาพลายเส้นที่เชื่อว่าเป็นภาพของ สมเด็จพระเจ้าอุทุมพร พระมหากษัตริย์แห่งกรุงศรีอยุธยาสมัยราชวงศ์บ้านพลูหลวง พระนามเดิมคือ เจ้าฟ้าดอกมะเดื่อ (อุทุมพร หมายถึง ดอกมะเดื่อ) (ภาพจากหนังสือ อยุธยา (Discovering Ayutthaya) ชาญวิทย์ เกษตรศิริ บรรณาธิการ)

******

พระเจ้าอุทุมพร หรือ เจ้าฟ้าดอกมะเดื่อ เป็นพระอนุชาร่วมชนกชนนีกับพระเจ้าเอกทัศ  กษัตริย์พระองค์สุดท้ายของกรุงศรีอยุธยา หนังสือ คำให้การขุนหลวงหาวัด (ฉบับหลวง) กล่าวถึงที่มาของพระนามเจ้าฟ้าดอกมะเดื่อว่า

“อันกรมพระราชวังองค์นี้ คือ เจ้าฟ้าดอกมะเดื่อ เดิมเมื่อมีพระครรภ์นั้น สมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรงพระสุบินนิมิตว่า มีผู้เอาดอกมะเดื่อมาถวาย พระองค์จึงทรงทำนายว่า ดอกมะเดื่อเป็นของหายากในโลกนี้ เมื่อประสูติ จึงประทานนามว่า เจ้าฟ้าอุทุมพรราชกุมาร ราษฎรเรียกเจ้าฟ้าดอกมะเดื่อ พระเจ้าอยู่หัวปรารถนาจะให้ครองราชย์สืบไป จึงตั้งไว้ในที่ กรมพระราชวังบวรสถานมงคล”

ความเชื่อว่าดอกมะเดื่อเป็นของหายากนี้ ยังปรากฏในพระไตรปิฎก ว่าด้วยผลบุญที่ทำให้ไปเกิดในรัชชุมาลาวิมาน กล่าวถึงหญิงเข็ญใจชื่อ รัชชุมาลา เมื่อได้พบเห็นพระพุทธเจ้า ถึงกับรำพึงว่า “การได้พบเห็นพระพุทธเจ้าเช่นนี้เป็นการยากดังดอกมะเดื่อ อันบุคคลเห็นได้ยากฉะนั้น”

ในเมืองไทยเรา มีสถานที่ ๆ มีชื่อมะเดื่ออยู่หลายแห่ง จังหวัดสุราษฎร์ธานี มีตำบลบางมะเดื่อ, จังหวัดนครปฐม มีตำบลโพรงมะเดื่อ, จังหวัดพัทลุง มีตำบลท่ามะเดื่อ และจังหวัดสมุทรสาคร มีตำบลคลองมะเดื่อ เป็นต้น

จังหวัดพิจิตร แม้ไม่มีตำบลชื่อมะเดื่อ แต่ต้นมะเดื่อในพื้นที่นี้ ก็เป็นที่มาของชื่อพระเจ้าเสือ พระราชโอรสลับของสมเด็จพระนารายณ์มหาราช ที่โปรดฯ ให้พระเพทราชารับไปเลี้ยงดู ในหนังสือ คำให้การขุนหลวงหาวัด (ฉบับหลวง) กล่าวถึงที่มาของชื่อ นายเดื่อ ของพระเจ้าเสือว่า

“ครั้งนั้นสมเด็จพระพุทธเจ้าหลวงในพระบรมโกศ (หมายถึงสมเด็จพระนารายณ์ – ผู้เขียน) พาเอาสมเด็จพระพันปีหลวงทรงพระครรภ์แก่ จึงประสูติพระองค์ที่ตำบลบ้านโพธิ์ประทับช้าง แขวงเมืองพิจิตร ในเดือนอ้ายปีขาลศกนั้นแล้ว จึงเอารกที่สหชาตินั้น ใส่ลงในผอบเงิน เอาไปฝังไว้ที่หว่างต้นโพธิ์ประทับช้างและต้นอุทุมพรต่อกันนั้น เหตุดังนั้นจึงได้พระนามกรชื่อมะเดื่อ”

ลูกฉิ่ง (ภาพจากเว็บไซต์ kaothong.resort)
เดื่อหว้า (ภาพจาก http://www.pstip.com)

ที่กล่าวมาแล้วข้างต้น บ่งชี้ว่า มะเดื่อ เป็นพืชที่พบได้ทั่วไป ถ้าเช่นนั้น ดอกมะเดื่อเป็นของหายาก พบเห็นได้ยากจริงหรือ?

คนในเมืองรู้เพียงว่า มะเดื่อเป็นชื่อต้นไม้ บ้างรู้ดีขึ้นไปอีกว่า ลูกมะเดื่อมักมีแมลงหวี่อยู่ข้างใน บ้างก็ว่าผลมะเดื่อฝรั่งนั้นอร่อยนัก คนชนบทเสริมว่า ใบและผลอ่อนของมะเดื่อกินได้ อีกคนบอกในป่ามีมะเดื่อลูกโต ผลสุกสีแดงหวานอร่อย ส่วนหมอยาไทยเปิดตำราแล้วอ่านว่า เปลือกต้นมะเดื่อมีรสฝาด ต้มกินแก้ท้องร่วง ชะล้างบาดแผล รากเป็นยาแก้ไข้ กระทุ้งพิษไข้ แก้ไข้หัว ไข้กาฬ ไข้พิษทุกชนิด กล่อมเสมหะและโลหิต ยางใช้รักษาฝี สิว แผลมีหนอง โรคท้องร่วง โรคบิด  ไข้ เจ็บคอ ริดสีดวง ใบรักษาหลอดลม ปอดบวม และโรคปอดอื่น ๆ คนในเมืองกับคนชนบทฟังจนจบแล้วอ้าปากค้าง โดยได้รู้เพิ่มเติมว่า มะเดื่อใช้เป็นยาได้ แต่ใช้อย่างไร ก็ยังคงไม่รู้ต่อไป ไต่ถามกันไปมาทุกคน ยังไม่มีใครบอกได้ว่าดอกมะเดื่อหน้าตาเป็นอย่างไร

อันว่าต้นไม้ที่คนไทยเรียกชื่อ เดื่อ หรือ มะเดื่อ นั้น ในหนังสือ ชื่อพรรณไม้แห่งประเทศไทย ของศาสตราจารย์เต็ม สมิตินันทน์ ระบุว่า มีถึง ๒๘ ชนิด ในจำนวนนี้ มี ๑๔ ชนิด อยู่ในสกุลเดียวกัน คือสกุล Ficus ในวงศ์ Moraceae และมีเพียง ๓ – ๔ ชนิดเท่านั้น ที่พอใช้ประโยชน์ได้เป็นเรื่องเป็นราว

คนทางภาคใต้ รู้จักมะเดื่อที่ชื่อ ลูกฉิ่ง, จิ้งเขา (จิ้งขาว), ชิ้งเขา (ชิ้งขาว) และ มะเดื่อซิ้ง (เดื่อฉิ่ง) ใบรูปไข่ขนาดฝ่ามือ ปลายใบแหลม ผิวใบเป็นมัน หลังใบมีก้านใบนูน ใบอ่อนสีน้ำตาลแกมแดง ผลออกเป็นช่อตามกิ่งและตามลำต้น ผลดิบมีรสเปรี้ยวอมฝาดและมัน คนทางภาคใต้นิยมทำเป็นผักเหนาะ กินกับอาหารที่มีรสเผ็ด หรือจิ้มน้ำพริก และเป็นเครื่องเคียงแกงไตปลา มะเดื่อชนิดนี้มีชื่อวิทยาศาสตร์ว่า Ficus botryocarpa Miq.

คนบนภูดอยทางภาคเหนือ รู้จักมะเดื่อชนิดหนึ่ง ชื่อ เดื่อหว้า หรือเดื่อหลวง หรือไทรโพ (ภาคกลาง) ใบรูปไข่กว้างหรือเกือบกลม ผลขนาดส้มเขียวหวาน เป็นกลุ่มแน่นบนก้านแข็ง ห้อยลงมาจากลำต้นและกิ่ง พบได้ทั่วไปในป่าดิบชื้น โดยเฉพาะตามริมห้วย ใบอ่อนนำมาแกงกินได้ ผลแก่ของบางต้นก็กินได้ มีรสหวานอร่อย  มะเดื่อชนิดนี้มีชื่อวิทยาศาสตร์ว่า Ficus auriculata Lour.

ในที่ราบรกร้าง หรือป่าโปร่งทั่วประเทศ มีมะเดื่ออีกชนิดหนึ่ง ชื่อ มะเดื่อปล้อง ใบรูปไข่  โตกว่าฝ่ามือเล็กน้อย  ปลายใบแหลม ขอบใบหยักละเอียด มีขนปกคลุมทั้งสองด้านของใบ ลำต้นอ่อนกลวง ผลกลมขนาดมะเขือเปราะ รูปกลมทรงคนโท ออกเป็นช่อห้อยลงจากลำต้นและกิ่งใหญ่ ๆ ผลอ่อนนึ่งหรือต้มกินกับน้ำพริกได้ มะเดื่อชนิดนี้ มีชื่อวิทยาศาสตร์ว่า Ficus hispida L.f. 

มะเดื่อที่กล่าวมาทั้งสามชนิด ล้วนเป็นไม้ยืนต้นขนาดเล็ก เนื้อไม้อ่อน เปราะ ไม่เหมาะนำมาทำเครื่องใช้หรือก่อสร้าง ได้แต่ใช้ใบและผลเป็นอาหาร แต่มะเดื่อของไทยที่มีเนื้อไม้คงทนพอใช้งานได้ น่าจะเป็นต้นที่เรียก เดื่อเกลี้ยง (ภาคเหนือ, ภาคกลาง),  เดื่อน้ำ (ภาคใต้)  หรือ มะเดื่อชุมพร หรือ อุทุมพร ซึ่งในสมัยก่อนคงพบได้ทั่วไป

ต้นมะเดื่ออุทุมพรนี้มีชื่อวิทยาศาสตร์ว่า Ficus racemosa  L. เป็นไม้ยืนต้นขนาดกลาง  สูงได้ถึง ๒๔ เมตร ลำต้นเกลี้ยงสีน้ำตาลอ่อนหรืออมชมพู ใบรูปรีขนาดฝ่ามือ ขอบใบเรียบ ปลายใบแหลม ฐานใบมนหรือกลม ใบแก่เกลี้ยง ด้านล่างมีขนละเอียดสีขาว ผลรูปคล้ายน้ำเต้าขนาดหัวหอมแดง ออกเป็นกลุ่มแน่นที่ลำต้นและกิ่งใหญ่ ๆ ผลสุกมีสีแดง ผลอ่อนนำมานึ่งหรือต้มกินกับน้ำพริกได้

มะเดื่ออุทุมพรนี้ เป็นไม้มงคล ใช้สำหรับทำสิ่งของเครื่องใช้สำหรับกษัตริย์ ดังปรากฏในพงศาวดารเมืองน่าน ฉบับพระเจ้าสุริยพงษ์ผริตเดช ใน ประชุมพงศาวดารภาคที่ ๑๐ ตอนที่ ๖ ความว่า “เมื่อขุนเจืองได้ราชาภิเษกเป็นเจ้าพระยาเจืองฟ้าธรรมิกราชาแล้ว ได้ปลูกหออุทุมพรไม้มะเดื่อขึ้น สูงได้ร้อยศอกนั้นแล” ในพงศาวดารมอญพม่า ก็กล่าวว่า “ในศักราช ๑๑๑๓ ปี เมื่อพระเจ้าหงสาวดีให้สร้างพระราชมนเทียรปราสาท ๙๙ ยอดนั้น ยังได้สร้างพระราชบัลลังก์ ชื่อ เสลี่ยงแร่ง แปลว่าราชบัลลังก์สูงสุด แลราชบัลลังก์ชื่อ ขะเต่อละวี แปลว่า ราชบัลลังก์กระดานไม้มะเดื่อ ราชบัลลังก์ทั้งสองนี้ตั้งไว้กลางพระมหาปราสาท”

ต้นมะเดื่อมีอยู่ทั่วไป เนื้อไม้มะเดื่อใช้ประโยชน์ได้บ้างไม่ได้บ้าง ใบมะเดื่อ ลูกมะเดื่อ กินได้บ้างไม่ได้บ้าง แล้วดอกมะเดื่อเล่า อยู่ที่ไหน

เดื่อปล้อง (ภาพจาก http://frynn.com)
มะเดื่ออุทุมพร (ภาพจากเว็บไซต์นิตยสารหมอชาวบ้าน)

เกือบสองร้อยปีก่อน สุนทรภู่ บรรยายในนิราศภูเขาทองว่า “ถึงบางเดื่อโอ้มะเดื่อเหลือประหลาด บังเกิดชาติแมลงหวี่มีในไส้ เหมือนคนพาลหวานนอกย่อมขมใน อุปไมยเหมือนมะเดื่อเหลือระอา”

ต่อมาเมื่อราวสี่สิบปีก่อน มีเพลงลูกทุ่งชื่อเพลง  “อ่อนนอกแข็งใน” ขับร้องโดย เตือนใจ บุญพระรักษา นักร้องสาวนุ่งฮ็อตแพ้นท์ (กางเกงขาสั้น) มีท่อนฮุคที่ติดหูว่า “มะตูมอ่อนในแข็งนอก มะกอกอ่อนนอกแข็งใน มะเดื่อมันไม่ค่อยดี เพราะมีแมลงหวี่เข้าไปอยู่ข้างใน”

ทั้งบทกลอนนิราศและบทเพลงข้างต้น ล้วนบอกว่า การมีแมลงหวี่ภายในผลมะเดื่อนั้นเป็นเรื่องปกติ ใคร ๆ ก็รู้ แต่แมลงหวี่นั้นเข้าไปอยู่ในผลมะเดื่อได้อย่างไร

ไม่ต้องเป็นนักพฤกษศาสตร์ก็คงบอกได้ว่า แมลงหวี่เข้าไปวางไข่ในผลมะเดื่อ อันที่จริง สิ่งที่เรียกว่า ผลมะเดื่อนั้น เจริญมาจากฐานรองดอก ที่มีรูปร่างคล้ายคนโท มีรูเปิดขนาดเล็ก ๑ รู อยู่ด้านบน ภายในโครงสร้างรูปคนโทนี้ มีดอกมะเดื่อขนาดจิ๋วอยู่มากมาย เป็นดอกที่มีเกสรเพศผู้บ้าง ดอกที่มีเกสรเพศเมียบ้าง และดอกเพศเมียที่เป็นหมันบ้าง ดังนั้นจึงไม่มีใครได้เห็นดอกที่แท้จริงของมะเดื่อ

การผสมเกสรของดอกมะเดื่อ เป็นกระบวนการพิเศษ ที่ทั้งแมลงหวี่และมะเดื่อต่างก็ได้ประโยชน์ เริ่มจากแมลงหวี่เพศเมียที่ได้รับการผสมพันธุ์แล้ว และมีเกสรเพศผู้ติดอยู่ตามขา บินเข้าไปทางรูเปิดของคนโทนี้เพื่อวางไข่ มีเพียงดอกเพศเมียที่เป็นหมันเท่านั้นที่มีรูปร่างเหมาะสม สามารถให้ไข่เกาะและเจริญเป็นตัวอ่อนได้ โดยใช้อาหารที่ดอกนั้นสร้างขึ้น ส่วนดอกที่มีเกสรเพศเมียที่ไม่เป็นหมันก็จะได้รับเกสรตัวผู้ที่ติดมากับขาแมลงหวี่ ผสมกันแล้วเจริญเติบโตเป็นเมล็ดมะเดื่อ

ตัวอ่อนของแมลงหวี่ที่เกิดขึ้นในคนโท มีทั้งตัวผู้และตัวเมีย แมลงหวี่ตัวผู้มีหน้าที่ผสมพันธุ์แล้วก็ตายอยู่ภายในคนโทนั้น ส่วนตัวเมียที่ได้รับการผสมพันธุ์แล้วนั้นก็ออกมาจากผลแก่ที่ปริแตก เริ่มวงจรการผสมเกสรรอบต่อ ๆ ไปไม่สิ้นสุด

มะเดื่อในธรรมชาติ เป็นไม้ที่มีดอกตัวผู้และตัวเมียอยู่แยกต้น ผลมะเดื่อที่กินได้มาจากต้นตัวเมียที่ดอกได้รับเกสรที่แมลงหวี่นำมาจากต้นตัวผู้ ขณะที่ผลของต้นตัวผู้นั้นมีแมลงหวี่อยู่ภายในและกินไม่ได้ จึงใช้เป็นอาหารสัตว์

นักวิทยาศาสตร์ชี้ว่า ความสัมพันธ์แบบพึ่งพาอาศัยกันของมะเดื่อกับแมลงหวี่นี้ เกิดขึ้นมานานกว่า ๖๐ ล้านปี มะเดื่อคู่กับแมลงหวี่ หรือแมลงหวี่คู่กับมะเดื่อ ก็กล่าวได้เช่นกัน

นอกจากนี้ มะเดื่อยังมีเรื่องราวปรากฏใน พระคริสตธรรมคัมภีร์ ภาคพันธสัญญาเดิม ว่า เมื่อพระเจ้าทรงสร้างมนุษย์ชายหญิงคู่แรกที่ชื่อ อาดัม กับ อีฟ แล้วให้อยู่ในสวนสวรรค์อีเดน และทรงห้ามมิให้กินผลไม้จากต้นไม้แห่งความสำนึกในความดีและความชั่ว แต่ด้วยการล่อลวงจากงู ซึ่งเป็น “สัตว์ที่เจ้าเล่ห์กว่าสัตว์อื่น ๆ ในท้องทุ่ง” อีฟจึงกินผลไม้ต้องห้ามนั้น แล้วให้อาดัมผู้เป็นสามีกินด้วย เมื่อกินแล้ว “ตาของเขาทั้งสองก็สว่างขึ้น และสำนึกว่าตนกำลังเปลือยเปล่า จึงเย็บใบมะเดื่อมาปกปิดอวัยวะส่วนล่างของเขาไว้” (ปฐมกาล ๓ : ๗)

(ใบ) มะเดื่อ ได้อยู่คู่กับมนุษย์มาตั้งแต่ยุคกําเนิดโลกและสิ่งมีชีวิตในพระคัมภีร์ไบเบิล (ภาคพันธสัญญาเดิม) (ภาพจาก http://board.postjung.com/694489.html)

***

คอลัมน์  ผักหญ้าหมากไม้  นิตยสารทางอีศาน ปีที่ ๔ ฉบับที่ ๓๗ | พฤษภาคม ๒๕๕๘

.
ราคาเล่มละ ๑๐๐ บาท
สมัครสมาชิก ครึ่งปี ๖๐๐ บาท
หนึ่งปี ๑,๑๐๐ บาท
ตลอดชีพ ๙,๕๐๐ บาท (ได้รับหนังสือย้อนหลัง)
.
สั่งซื้อ// ชำระเงิน // สอบถามเพิ่มเติม ได้ทาง
inbox หนังสืออีศาน m.me/166200246799901
line id : @chonniyom (มี@) คลิก https://lin.ee/amxqtvW
อีบุค ที่ www.mebmarket.com
โทร. 086-378-2516
บริษัท ทางอีศาน จำกัด
244/539 รามอินทราซอย 5 แขวงอนุสาวรีย์ เขตบางเขน กทม. 10220

Related Posts

บุญบั้งไฟ : ไร้รากเหง้า แต่จะเอาดอกผล
อีสาน ในประวัติศาสตร์และวรรณกรรม
ทางอีศาน 37 : ปิดเล่ม
WP2Social Auto Publish Powered By : XYZScripts.com