ต้นงิ้ว กามารมณ์ และการลงทัณฑ์
คุณคิดว่า ต้นงิ้วมีลักษณะอย่างไรหรือ อ๋อ ก็มีลำต้นตรง โตขนาดโอบได้ มีหนามแหลมยื่นยาวออกมาจากต้นโดยรอบ แล้วใบงิ้วเป็นอย่างไร ไม่รู้ซินะ นึกไม่ออก เขาว่ามีอยู่ในนรกไง รู้ได้ไงหรือ อ๋อ เคยได้ยินเพลงร้องว่า “…ต้นงิ้ว กระทะทองแดง เอาหอกแหลมแทง ทุกวันทุกวัน” แล้วเคยเห็นของจริงไหม “บ้าละซี ยังไม่ตายนี่ ถึงตายก็ไม่อยากเห็น”
ในความคิดคำนึงของคนไทย ต้นงิ้ว ดอกงิ้ว สื่อถึงกามารมณ์ การผิดประเวณีและการลงทัณฑ์ นอกจากต้นงิ้วในนรกภูมิแล้ว คนไทยที่เคยฟังนิทานเรื่องกากียังรู้อีกว่า ต้นงิ้วเป็นที่อยู่อาศัยของพญาครุฑ ก็ไม่มีใครเคยเห็นอีกนั่นแหละ ส่วนคนเหนือที่เชียงรายบอก ดอกงิ้วนี่ เอามาใส่น้ำเงี้ยวกินกับขนมเส้น (ขนมจีน) ลำแต๊ ๆ อ้าว งั้นต้นงิ้วก็มีจริงสิ
งิ้ว บางทีก็เรียกงิ้วแดง เป็นไม้ยืนต้นขนาดใหญ่ ผลัดใบ ทนแล้ง ทนไฟ (ป่า) สูงได้ถึงสามสิบกว่าเมตร เรือนยอดทรงกลมแผ่กว้าง ลำต้นค่อนข้างตรง เปลือกสีเทาอ่อน มีหนามแหลมแข็งทั่วทั้งต้น โดยเฉพาะส่วนเปลือกต้นที่ยังไม่แก่มาก มีใบตามกิ่งก้านน้อย ไม่ต้านลม ใบประกอบแบบนิ้วมือ มีใบย่อย ๕-๗ ใบ รูปรี ขอบใบเรียบ แผ่นใบหนา ดอกขนาดใหญ่เท่าฝ่ามือ มีกลีบดอก ๕ กลีบสีส้มแดงโดดเด่น และมีเกสรตัวผู้จำนวนมาก เรียงเป็น ๒ วง เชื่อมกันเป็น ๑๐ มัดล้อมรอบก้านเกสรตัวเมีย ผลเป็นฝักยาวรี ขนาดประมาณผลกล้วยน้ำว้า ภายในมีเมล็ดสีน้ำตาลเข้มขนาดเล็กจำนวนมาก หุ้มด้วยปุยเส้นใยสีขาวจึงปลิวไปตามลมได้ไกล
เนื้อไม้งิ้วแข็งแรงพอประมาณ ทนทาน พอทำฝาบ้าน โลงศพ และเครื่องมือเครื่องใช้ได้ ขอนไม้งิ้วแห้ง มีน้ำหนักเบา ลอยน้ำได้ เป็นฉากสำคัญในเรื่องสมุทรโฆสชาดก เมื่อพระโพธิสัตว์และพระเทวียึดเกาะขอนไม้งิ้วเพื่อข้ามมหาสมุทรกลับสู่บ้านเมือง ครั้นสองพระองค์ลอยไปถึงกลางมหาสมุทร คลื่นลมแรงกระแทกขอนไม้แตกออกเป็นสองท่อน พระโพธิสัตว์และพระเทวี จึงต้องพลัดพรากจากกันไป
ชาวบ้านป่าตัดเปลือกต้นตรงส่วนหนาม ทำเป็นทุ่นตกปลา และในยามยาก ขุดเอารากที่ไม่แก่นัก มาปิ้งไฟกิน พอให้เคลิ้มไปว่าเป็นมันเผาได้เหมือนกัน
ต้นงิ้วอีกชนิดหนึ่ง เรียก งิ้วขาว เป็นไม้ป่าสูงใหญ่ ลักษณะคล้ายงิ้วแดง แต่กลีบดอกเป็นสีขาว ส่วนต้นไม้ที่เรียก ต้นนุ่น นั้น บางท้องที่ก็เรียกต้นงิ้วเหมือนกัน ไม้ชนิดนี้มีเปลือกต้นสีเขียวหรือเขียวอมเทา และไม่มีหนาม ลำต้นไม่สูงมาก นิยมปลูกเพื่อใช้เส้นใยยัดหมอนหรือฟูก
ดอกงิ้วแดงสดใส ไม่เพียงช่วยเติมเต็มสีสันของป่าฤดูแล้ง หากยังเป็นส่วนประกอบสำคัญในน้ำเงี้ยวตำรับคนเชียงราย ดอกงิ้วที่ว่านี้ร่วงหล่นช่วงกลางฤดูแล้ง คนเก็บมา ดึงเอาเฉพาะส่วนเกสรตัวผู้ ตากแดด ผึ่งลม ให้แห้ง เก็บไว้กินได้นาน ๆ
คนไทยทั้งประเทศรู้จักขนมจีนน้ำเงี้ยว บ้างก็ว่ามีที่มาจากคนไทยใหญ่ ที่เคยเรียกกันอย่างเหยียดหยามว่า เงี้ยว บ้างก็ว่ามาจาก น้ำงิ้ว หากแต่สาวขายน้ำเงี้ยวในเมืองเชียงราย เล่าให้ฟังว่า อาหารผสมเส้นชามนี้ รวมถึงก๋วยเตี๋ยวแบบไหน ๆ คนในประเทศเมียนมาล้วนเรียก ข้าวส่วย คำเดียวกับที่คนไทยเรียก ข้าวซอยนั่นแหละ อ้าว แล้วข้าวซอยแบบที่คนไทยรู้จักเล่า นั่นเขาเรียก ข้าวซอยฮ่อ
จะทำน้ำเงี้ยวหรือ ใส่เกลือเม็ดลงในครกสักเล็กน้อย ตามด้วยพริกแห้งที่แช่น้ำจนนุ่ม หอมแดง กระเทียม ข่า ตะไคร้ รากผักชี และขมิ้นเล็กน้อย โขลกให้ละเอียด เอาลงคั่วกับหมูสับ ติดมันหน่อยก็ดี หรือถ้าไม่รังเกียจเนื้อสัตว์ใหญ่ ใช้หมูสับผสมเนื้อวัวสับก็อร่อยเลิศ พอสุกดีแล้ว ตักใส่หม้อน้ำต้มกระดูก หรือซี่โครงหมูที่กำลังเดือด ใส่ถั่วเหลืองหมัก ที่คนเมืองเรียกถั่วเน่าเมอะ หรือแบบเป็นแผ่นแห้งที่เรียก ถั่วเน่าแข็บ ปิ้งไฟแล้วบดละเอียดลงไปด้วย จึงจะได้กลิ่นอันเป็นเอกลักษณ์ของน้ำเงี้ยว แกงเดือดแล้ว ใส่เลือดหมู มะเขือเทศ และดอกงิ้วที่แช่น้ำแล้วลงไป เคี่ยวต่อสักพัก ปรุงรสด้วยเกลือ
น้ำเงี้ยวนี้ ควรมีรสเค็ม เผ็ด กลมกล่อม มีเปรี้ยวห่าง ๆ หอมกลิ่นถั่วเน่า ตักราดขนมจีนหรือเส้นก๋วยเตี๋ยว โรยกระเทียมเจียว ผักชี กินกับแคบหมู ถั่วงอก ผักดอง และพริกขี้หนูแห้งทอด เกสรดอกงิ้วช่วยให้น้ำเงี้ยวชามนี้เข้มข้น เคี้ยวหนึบ เคี้ยวมัน
โดยเหตุที่ต้นงิ้วนั้นสูงใหญ่ หนามมาก คนจึงจินตนาการว่าเป็นที่อยู่ของพระยาครุฑ ไตรภูมิพระร่วงในบทดิรัจฉานภูมิ บรรยายความว่า ตีนเขาพระสุเมรุราชนั้น มีสระใหญ่อันหนึ่งกว้าง ๕๐๐ โยชน์ ล้อมรอบด้วยป่าไม้งิ้วซึ่งมียอดสูงเสมอกัน เป็นที่อยู่แก่ฝูงครุฑ ความข้อนี้สอดคล้องกับเรื่องราวในกากีคำกลอน ของเจ้าพระยาพระคลัง (หน) ว่า “ปางนั้นยังมีครุฑราช สุริยชาติล้ำสกุณาปักษา สถิตสถานพิมานรัตน์รมยา ยอดมหาพฤกษาสิมพลี”
นางกากี เป็น มเหสีของท้าวพรหมทัต ถูกพระยาครุฑพาไปสมสู่ยังวิมานฉิมพลี ต่อมาคนธรรพ์ บริวารของท้าวพรหมทัต แปลงร่างเป็นไร เกาะปีกพระยาครุฑไปยังวิมานฉิมพลี และได้สมสู่กับนางกากี พระยาครุฑรู้ จึงส่งนางกากีกลับคืนให้ท้าวพรหมทัต ซึ่งได้เนรเทศนางโดยการลอยแพ…
คำว่าสิมพลี หรือฉิมพลี มาจากคำบาลีว่า สิมพลิ แปลว่าต้นงิ้ว ส่วนคำว่าวิมานนั้น พระยาอนุมานราชธน (“เสถียรโกเศศ”) กล่าวไว้ในหนังสือ เรื่องเมืองสวรรค์ ว่า “ดูรูปภาพวิมานบนสวรรค์ จะเห็นเป็นแบบเดียวทั้งนั้น คือเป็นปราสาทสามยอดสามช่อง ข้างในช่องเป็นสีแดง ๆ ตั้งลอยอยู่ตามก้อนเมฆ” ดังนั้น วิมานฉิมพลีก็คงเป็นแบบเดียวกัน เพียงแต่ไปสร้างไว้บนยอดไม้งิ้วเท่านั้น และพระยาครุฑก็ได้อาศัยสถานที่นี้เองเป็นที่ร่วมรักกับนางกากี วิมานฉิมพลีจึงเป็นมากกว่าบ้านบนต้นไม้ (tree house) ธรรมดา
นอกจากต้นงิ้วในเมืองมนุษย์ และต้นงิ้วของพระยาครุฑแล้ว ต้นงิ้วอีกแบบหนึ่งที่คนไทยรู้กันดีคือ ต้นงิ้วในนรกภูมิ พระสุตตันตปิฎก บรรยายภาพของต้นงิ้วในนรกว่ามีลำต้นสูงชะลูด หนามยาว ๑๖ องคุลี มีไฟติดลุกโชน เหล่านายนิรยบาลลงโทษสัตว์นรกโดยบังคับให้สัตว์นั้นขึ้น ๆ ลง ๆ ที่ต้นงิ้ว ได้รับทุกขเวทนาเจ็บแสบ และยังไม่ตาย ตราบเท่าที่บาปกรรมของสัตว์นั้นยังไม่สิ้นสุด
บาปกรรมอันใดหรือ จึงต้องมาปีนต้นงิ้วในนรกภูมิ บรมครูสุนทรภู่เฉลยไว้ในนิราศภูเขาทอง คราถึงบ้านงิ้วว่า “…งิ้วนรกสิบหกองคุลีแหลม ดังขวากแซมเสี้ยมแซกแตกไสว ใครทำชู้คู่ท่านครั้นบรรลัย ก็ต้องไปปีนต้นน่าขนพอง…” ไตรภูมิพระร่วงเรียกนรกขุมที่มีต้นงิ้วนี้ว่า โลหสิมพลีนรก และมีไว้สำหรับ “ฝูงคนอันทำชู้ด้วยเมียท่านก็ดี และผู้หญิงอันมีผัวแล้วแลทำชู้จากผัวก็ดี คนฝูงนั้นตายไปเกิดในนรกนั้น ๆ”
ถ้ายังไม่ตายเล่า โทษทัณฑ์ของการมีชู้ ผิดประเวณี เป็นเช่นไร ในพระไอยการลักษณะผัวเมีย ซึ่งมีมาแต่ครั้ง สมเด็จพระรามาธิบดีที่ ๑ (พระเจ้าอู่ทอง) และชำระเป็นกฎหมายตราสามดวงใน รัชสมัยพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลก ระบุโทษทัณฑ์ของการเป็นชู้ ผิดประเวณีในลักษณะต่าง ๆ โดยพิสดาร ตั้งแต่ ปรับ ประจานโดยเอาเฉลวปะหน้า ทัดดอกชบาแดง เทียมแอกไถนา สักรูปชู้ไว้ที่แก้ม เอาขึ้นขาหยั่ง จนถึงขั้นตีด้วยหวาย หรือฆ่าให้ตาย ดังตัวอย่างในหมวด ๓ ระบุว่า “…หญิงนอกใจผัว ผัวจับได้ หญิงนอนหงาย ชายนอนคว่ำ ถ้าจะฆ่าชายนั้นเสียไซร้ ให้ฆ่าหญิงนั้นเสียด้วย อย่าให้ฆ่าแต่ผู้เดียว ถ้าฆ่าแต่หญิงไซร้ ให้ไหมผัวตามบรรดาศักดิ์เป็นพิไนยหลวง…”
ส่วนการเป็นชู้ที่เกี่ยวข้องกับเจ้า ยิ่งมีโทษหนัก ไม่เว้นแม้ผู้กระทำผิดที่เป็นเชื้อพระวงศ์ ดังในสมัยของพระเจ้าบรมโกศ (บิดาของพระเจ้าเอกทัศน์ กษัตริย์องค์สุดท้ายของกรุงศรีอยุธยา) มีผู้กราบทูลว่า เจ้าฟ้าธรรมาธิเบศร์ ซึ่งขณะนั้นดำรงยศเป็นกรมพระราชวังบวรสถานมงคล หรือ วังหน้า ลักลอบเป็นชู้ด้วยเจ้าฟ้าสังวาล (มเหสีองค์ที่สามของพระเจ้าบรมโกศ) ถึงในพระราชวังหลวงเป็นหลายครั้ง สอบถามแล้วรับสารภาพ จึงให้ลงทัณฑ์ด้วยการเฆี่ยนคนทั้งสอง พระราชพงศาวดารกรุงศรีอยุธยา ฉบับหมอบรัดเล บันทึกไว้ว่า “…เจ้าฟ้าสังวาลนั้น ให้เฆี่ยนยกหนึ่ง สามสิบที อยู่สามวันก็ถึงแก่พิราลัย กรมพระราชวังนั้น เฆี่ยนอีกสี่ยก เป็นร้อยแปดสิบที ก็ดับสูญสิ้นพระชนม์…”
เจ้าฟ้าธรรมาธิเบศร์ หรือที่รู้จักกันทั่วไปว่า เจ้าฟ้ากุ้ง ท่านนี้เอง ได้เคยรจนา กาพย์เห่เรือกากี เฉพาะตอนที่พญาครุฑ ลักพานางกากี ไปสมสู่กันบนวิมานฉิมพลี ว่า
“…กางกรอุ้มโอบแก้ว กากี
ปีกกระพือพาศรี สู่งิ้ว
ฉวยฉาบคาบนาคี เป็นเหยื่อ
หางกระหวัดรัดหิ้ว สู่ไม้รังเรียง…”
เรื่องราวการลงทัณฑ์อันน่าสยดสยอง ปรากฏอีกครั้งในสมัยของพระเจ้ากรุงธนบุรี เมื่อหม่อมห้าม ๒ คนของพระเจ้าตาก เป็นชู้กับมหาดเล็ก ในเอกสาร “จดหมายเหตุความทรงจำ” ที่เชื่อกันว่า นิพนธ์โดย กรมหลวงนรินทรเทวี พระน้องนางเธอในพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลก บันทึกไว้ว่า
“…วิบัติหนูกัดพระวิสูตร รับสั่งให้ชิดภูบาล ชาญภูเบศร์ ฝรั่งคนโปรดทั้งคู่ ให้มาไล่จับหนูใต้ที่เสวยในที่ด้วย เจ้าประทุมทูลว่า ฝรั่งเป็นชู้กับหม่อมฉิม หม่อมอุบล กับคนรำ ๔ คน เป็น ๖ คนด้วยกัน รับสั่งถามหม่อมอุบลไม่รับ หม่อมฉิมว่า ยังจะอยู่เป็นมเหสีขี้ซ่อนหรือ มาตายตามเจ้าพ่อเถิด รับเป็นสัตย์หมด ให้เฆี่ยนเอาน้ำเกลือรด ทำประจานด้วยแสนสาหัส ประหารชีวิต ผ่าอกเอาเกลือทา ตัดมือตัดเท้า …”
ประวัติศาสตร์บันทึกไว้ว่า ขณะถูกลงทัณฑ์จนสิ้นชีวิตนั้น หม่อมอุบลมีครรภ์อยู่ ๒ เดือนแล้ว
กามารมณ์ ต้นงิ้ว และการลงทัณฑ์ ยังจะเป็นเหตุปัจจัยให้เกิดเรื่องจริง เรื่องเล่า ทั้งในโลกนี้และโลกหน้าอีกนับไม่ถ้วน ในชาดกเรื่องกากี พระยาครุฑถามคนธรรพ์ว่า กถํ สิมฺพลิมารุหิ แปลว่า ท่านขึ้นต้นงิ้วได้อย่างไร คนธรรพ์ตอบว่า ตยา สิมฺพลิมารุหิ เราขึ้นต้นงิ้วได้เพราะท่าน
ดังคำพระว่า เย ธมมา เหตุปปภวา ธรรมเหล่าใด เกิดแต่เหตุ
เป็นเช่นนั้นจริง ๆ
***
คอลัมน์ ผักหญ้าหมากไม้ นิตยสารทางอีศาน ปีที่ ๔ ฉบับที่ ๔๘| เมษายน ๒๕๕๙
.
ราคาเล่มละ ๑๐๐ บาท
สมัครสมาชิก ครึ่งปี ๖๐๐ บาท
หนึ่งปี ๑,๑๐๐ บาท
ตลอดชีพ ๙,๕๐๐ บาท (ได้รับหนังสือย้อนหลัง)
.
สั่งซื้อ// ชำระเงิน // สอบถามเพิ่มเติม ได้ทาง
inbox หนังสืออีศาน m.me/166200246799901
line id : @chonniyom (มี@) คลิก https://lin.ee/amxqtvW
อีบุค ที่ www.mebmarket.com
โทร. 086-378-2516
บริษัท ทางอีศาน จำกัด
244/539 รามอินทราซอย 5 แขวงอนุสาวรีย์ เขตบางเขน กทม. 10220