อนุสรณ์รัฐธรรมนูญสุรินทร์

นิตยสาร “ทางอีศาน” ฉบับที่ ๗๖
ปีที่ ๗ ประจำเดือนสิงหาคม ๒๕๖๑
นิตยสารรายเดือนของชาวอีสานและคนไททุกภูมิภาค
ลึกซึ้งรากเหง้า เข้าใจปัจจุบัน รู้ทันอนาคต

Surin Constitution Memorial

In 1936 people of Surin and neighboring provinces from various occupations jointly built the constitution monument in front of the Surin Provincial Hall. This was an example of political enthusiasm of Isan citizen intending to link their local communities to the new regime. The monument was officially called “Surin Constitution Memorial”. It was meant to commemorate the revolution for regime change on June 24, 1932 which enabled the people of Surin to become citizen with equal right under the new regime. The permanent constitution was legitimated on December 10, 1932, thus firmly established the foundation of democracy in Siam.

อนุสรณ์รัฐธรรมนูญสุรินทร์ หน้าศาลากลางจังหวัดสุรินทร์ (ภาพจาก จังหวัดสุรินทร์ งานฉลอง ๒๕ พุทธศตวรรษ)รูปถ่ายคณะปศุสัตว์อำเภอหน้าอนุสรณ์รัฐธรรมนูญสุรินทร์เมื่อ พ.ศ. ๒๔๙๘ (ภาพจาก สุรินทร์สโมสร ปีที่ ๒ ฉบับที่ ๖)

เมื่อพ.ศ.๒๔๗๙ พลเมืองชาวสุรินทร์และจังหวัดใกล้เคียงจากหลากหลายอาชีพ ได้ร่วมแรงร่วมใจกันสร้างอนุสาวรีย์รัฐธรรมนูญบริเวณหน้าศาลากลางจังหวัดสุรินทร์ อันเป็นตัวอย่างหนึ่งของความตื่นตัวทางการเมืองและความกระตือรือร้นของพลเมืองอีสานที่จะเชื่อมโยงท้องถิ่นของตนเข้าสู่ระบอบใหม่  โดยอนุสาวรีย์แห่งนี้มีชื่อทางการว่า “อนุสรณ์รัฐธรรมนูญสุรินทร์” สร้างขึ้นเพื่อเป็นอนุสรณ์รำลึกถึงการเปลี่ยนแปลงการปกครองเมื่อวันที่ ๒๔ มิถุนายน ๒๔๗๕ อันทำให้ชาวสุรินทร์กลายเป็นพลเมืองที่มีความเสมอภาคในระบอบใหม่ และการประกาศใช้รัฐธรรมนูญฉบับถาวรเมื่อวันที่ ๑๐ ธันวาคม ๒๔๗๕ อันทำให้ระบอบประชาธิปไตยวางรากฐานอย่างมั่นคงในประเทศสยาม

ทั้งนี้กรมการจังหวัดสุรินทร์ได้ประกอบพิธีเปิดอนุสรณ์รัฐธรรมนูญสุรินทร์ในวันที่ ๘ ธันวาคม พ.ศ.๒๔๗๙ มีผู้แทนนายกรัฐมนตรีเป็นประธานในพิธีเปิดคือ หลวงโกวิทอภัยวงศ์ (ควง อภัยวงศ์) รัฐมนตรี พร้อมด้วยหลวงคหกรรมบดี (ชม จารุรัตน์) เลขาธิการสภาผู้แทนราษฎร และนายเอก สุพโปฎก สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรประเภทที่ ๒ และเลขานุการนายกรัฐมนตรี เป็นผู้ร่วมคณะ[๑]  หลังจากนั้นทางจังหวัดสุรินทร์ได้จัดงานสมโภชอนุสาวรีย์แห่งนี้ควบคู่กับการจัดงานฉลองรัฐธรรมนูญในวันที่ ๙-๑๑ ธันวาคม ซึ่งประกอบด้วยการแห่รัฐธรรมนูญฉบับจำลองรอบเมืองสุรินทร์ พร้อมด้วยขบวนรถยนต์ รถจักรยานสามล้อ  และขบวนแห่นางงามจังหวัดสุรินทร์ มีงานออกร้านขายของและประกวดร้าน มีประกวดลิเก ละครร้อง  ภาพยนตร์ มีการแข่งขันกีฬา[๒]

อนุสรณ์รัฐธรรมนูญสุรินทร์ เป็นอนุสาวรีย์ที่มีรูปแบบสถาปัตยกรรมสมัยใหม่ รวมถึงมีสัญลักษณ์รัฐธรรมนูญกับเสาหลักหกประการของคณะราษฎรเป็นองค์ประกอบสำคัญของอนุสาวรีย์ การออกแบบอนุสาวรีย์นี้คาดว่าได้รับอิทธิพลจากรัฐธรรมนูญจำลองที่จัดแสดงตามบูธในงานฉลองรัฐธรรมนูญที่กรุงเทพฯ หรือภาพโปสเตอร์รัฐธรรมนูญที่แพร่หลายในช่วงเวลาดังกล่าว  โดยอนุสรณ์รัฐธรรมนูญสุรินทร์ตั้งอยู่บนฐานสองชั้น  ฐานชั้นล่างเป็นรูปทรงหกเหลี่ยม  แต่ละมุมของฐานมีเสาหลักหกประการ  มีลักษณะเป็นเสาหัวบัวจำนวน ๖ ต้น ด้านล่างของเสามีการจารึกข้อความว่า “๑ เอกราช  ๒ ความปลอดภัย  ๓ เศรษฐกิจ (ในปัจจุบันมีการแก้ไขข้อความเป็น “๓ ความสามัคคี”) ๔ ความเสมอภาค  ๕ เสรีภาพ  ๖ การศึกษา”  ฐานชั้นที่สองเป็นฐานสูงรูปทรงสี่เหลี่ยมรองรับพานรัฐธรรมนูญ  มีการตกแต่งด้วยลายปูนปั้นเป็นลวดลายพวงมาลัยและพวงอุบะ  ด้านหน้าของฐานสูงมีแผ่นโลหะจารึก “รายนามผู้บริจาคทรัพย์สร้างอนุสรณ์รัฐธรรมนูญสุรินทร์ พุทธศักราช ๒๔๗๙” มีจำนวนทั้งสิ้น ๑๓๗ รายชื่อ

จารึกรายนามผู้บริจาคทรัพย์สร้างอนุสรณ์รัฐธรรมนูญสุรินทร์ พุทธศักราช ๒๔๗๙ (ภาพจากฉวีวรรณ ดวงจันทร์)

สำหรับรายนามผู้บริจาคทรัพย์บนฐานอนุสรณ์รัฐธรรมนูญสุรินทร์ที่ปรากฏในจารึก  มีการแบ่งรายนามบุคคล  คณะบุคคล และร้านค้าต่าง ๆ ตามจำนวนเงินที่บริจาคตั้งแต่ ๕ บาท จนถึง ๕๐ บาท  โดยรายนามแรกเป็นผู้ที่บริจาคสูงสุดคือ  ขุนรักษ์รัษฎากร (จาบ ไมยรัตน์) บริจาคเงิน ๕๐ บาท และรายนามสุดท้ายคือ หลวงธำรงนาวาสวัสดิ์กับคณะข้าราชการกระทรวงมหาดไทยซึ่งมาตรวจราชการ พ.ศ.๒๔๗๙ บริจาคเงิน ๕ บาท  ซึ่งรายนามข้างต้นสะท้อนเครือข่ายความร่วมมือร่วมใจของพลเมืองสุรินทร์และจังหวัดใกล้เคียงที่ตระหนักถึงความสำคัญและคุณค่าของรัฐธรรมนูญ  รวมถึงพยายามเข้ามามีส่วนร่วมในกิจกรรมต่าง ๆ ที่เกี่ยวข้องกับระบอบใหม่ของจังหวัดสุรินทร์ผ่านการสร้างอนุสรณ์รัฐธรรมนูญแห่งนี้

เมื่อตรวจสอบรายนามบุคคลที่ปรากฏในจารึกหน้าอนุสรณ์รัฐธรรมนูญสุรินทร์กับหนังสือ “ประชานุเคราะห์ นามานุกรมข้าราชการ รายนามทนายความต่างจังหวัด”[๓] ซึ่งคาดว่าตีพิมพ์ในช่วงพ.ศ.๒๔๗๙-๒๔๘๐ สามารถสืบค้นรายชื่อบุคคลได้ทั้งสิ้น ๔๐ รายชื่อจากจำนวนรายนามทั้งสิ้น ๑๓๗ รายชื่อ ดังนี้

รายชื่อบุคคลตำแหน่ง/อาชีพ
ขุนรักษ์รัษฎากร (จาบ ไมยรัตน์)สมาชิกประเภทที่ ๑ ผู้แทนราษฎรจังหวัดสุรินทร์
พระศรีพิชัยบริบาล อ.ท. (สวัสดิ์ ปัทมดิลก)ข้าหลวงประจำจังหวัดสุรินทร์
ขุนบริรักษ์เกษมราษฎร์ ร.อ.ท. (คำตัน ปีประกาย)นายอำเภอชุมพลบุรี จังหวัดสุรินทร์
พระอินทเบญญา อ.ท. (นักบุสราคำ วัตถา)ผู้พิพากษาศาลจังหวัดสุรินทร์
นายฮวด ไวกยีผู้พิพากษาศาลจังหวัดธัญญบุรี
ขุนมูลศาสตร์สาทร (พงศ์ มูลศาสตร์)นายอำเภอสังขะ จังหวัดสุรินทร์
ขุนอภัยพิจารณ์ ร.อ.ต. (แดง รัตสกุล)นายอำเภอกำแพงแสน จังหวัดนครปฐม
ขุนชำนิประศาสน์ (เปรียบ รักษ์คิด)นายอำเภอผู้ช่วย อำเภอสังขะ จังหวัดสุรินทร์
หลวงวรวุฒิมนตรี ร.อ.อ. (ทองดี อินทรกำแหง)นายอำเภอเมืองสุรินทร์ จังหวัดสุรินทร์
นายมั่น เพ็ชร์ศรีสมครูใหญ่ ร.ร.ประจำจังหวัดสุรินทร์ “สุรวิทยาคาร”
นายทิม ภูริพัฒน์ธรรมการจังหวัดขุขันธ์
พระยาสารคามคณาภิบาล อ.ท. (อนงค์ พยัคฆันตร์)สมาชิกประเภทที่ ๑ ผู้แทนราษฎร จังหวัดมหาสารคาม
หลวงพิสิษฐ์สุรินทร์รัฐ ร.อ.อ. (พานเมือง อัมระนิมิ)อดีตข้าราชการกระทรวงมหาดไทย
ร.อ.หลวงอดิเรกเรืองฤทธิ์ (ช่วง อรุณะชาต)สัสดีจังหวัดสุรินทร์
หลวงอักษรโกศล อ.ต. (โลม ทรงสุภา)สรรพากรจังหวัดขอนแก่น
ร.ต.อ.หลวงเจริญตำรวจการ (เจริญ นวมะวัฒน์)ผู้บังคับการตำรวจภูธร จังหวัดสุรินทร์
ขุนสังกรบรรณกิจ ร.อ.อ. (มาศ สุวรรณเนตร์)คลังจังหวัดสุรินทร์
ขุนพิสุทธิ์วรวาท ร.อ.ท. (อู๋ เกตุสิริ)อดีตข้าราชการกระทรวงธรรมการ
ขุนประเสริฐสรรพกิจ ร.อ.ต. (เผย แสงสิงแก้ว)สรรพากรจังหวัดสุรินทร์
ขุนจรุงจิตรประชารมย์ (ปรุง มุสิกสูต)นายอำเภอศีขรภูมิ จังหวัดสุรินทร์
ขุนพิเคราะห์คดี (อิน อินตะนัย)สมาชิกประเภทที่ ๑ ผู้แทนราษฎร จังหวัดขุขันธ์
ขุนภักดีสุขกิจ ร.อ.ท. (ทองสุข สุวรรณรุจิ)สาธารณสุขจังหวัดสุรินทร์
ขุนจิตรประศาสน์ (ทองอิน สีตลารมณ์)นายอำเภอรัตนบุรี จังหวัดสุรินทร์
นายสอาด สังข์เผือกผู้พิพากษาศาลจังหวัดสุรินทร์
นายนูน มิลินทานุชอัยการจังหวัดลำพูน
นายถม สุวัณณุสร์อัยการผู้ช่วยจังหวัดสุรินทร์
นายเลื่อน ประทุมรัตน์นายอำเภอท่าตูม จังหวัดสุรินทร์
นายศวร อินฑณฑ์ผู้ช่วยสรรพสามิตต์ จังหวัดสุรินทร์
นายสนั่น รักธรรมนายอำเภอปากพลี จังหวัดนครนายก
นายยุทธ จรัณยานนท์นายอำเภอโพนพิสัย จังหวัดหนองคาย
นายผ่อง แก้วพวงผู้ช่วยนายสถานีแก่งคอย กรมรถไฟ
ทองดี ชำนาญกุลครูโรงเรียนช่างก่อสร้างอุเทนถวาย พระนคร
นายแก้ว กนกนากทนายความจังหวัดสุรินทร์ ตำบลในเมือง
นายแก้ว รุ่งเรืองทนายความจังหวัดสุรินทร์ ตำบลในเมือง
นายถนอม กุมาลย์วิสัยทนายความจังหวัดสุรินทร์ ตำบลในเมือง
ร.ต.ท.เล็ก โปษกบุตรตำรวจประจำกองตำรวจภูธร จังหวัดขุขันธ์
ร.ต.แป้น วงษ์ศรีใสพัศดีเรือนจำจังหวัดพระนครศรีอยุธยา
ร.ต.สุข ลาดประเสริฐพัศดีเรือนจำจังหวัดสุรินทร์
นายเปลี่ยน โรจนศิลป์พนักงานโยธาเทศบาลจังหวัดสุรินทร์
ป่วน ผูกเกสรสรรพสามิตต์ จังหวัดสุรินทร์

จากรายนามข้างต้นจะพบความหลากหลายของผู้บริจาคเงินสร้างอนุสรณ์รัฐธรรมนูญ ซึ่งส่วนใหญ่เป็นข้าราชการในจังหวัดสุรินทร์และจังหวัดใกล้เคียง ซึ่งอาจแบ่งออกได้เป็น ๖ กลุ่มได้แก่

(๑) กลุ่มนักการเมือง อาทิ ขุนรักษ์รัษฎากร ผู้แทนราษฎรจังหวัดสุรินทร์  พระยาสารคามคณาภิบาล ผู้แทนราษฎรจังหวัดมหาสารคาม  และขุนพิเคราะห์คดี  ผู้แทนราษฎรจังหวัดขุขันธ์

(๒) กลุ่มข้าราชการพลเรือน อาทิ พระศรีพิชัยบริบาล ข้าหลวงประจำจังหวัดสุรินทร์ ขุนบริรักษ์เกษมราษฎร์ นายอำเภอชุมพลบุรี ขุนมูลศาสตร์สาทร นายอำเภอสังขะ  ขุนชำนิประศาสน์  นายอำเภอผู้ช่วยอำเภอสังขะ หลวงวรวุฒิมนตรี นายอำเภอเมืองสุรินทร์ ขุนภักดีสุขกิจ สาธารณสุขจังหวัดสุรินทร์ ขุนประเสริฐสรรพกิจ สรรพากรจังหวัดสุรินทร์

(๓) กลุ่มข้าราชการอัยการและผู้พิพากษา อาทิ พระอินทเบญญา ผู้พิพากษาศาลจังหวัดสุรินทร์ นายถม สุวัณณุสส์ อัยการผู้ช่วยจังหวัดสุรินทร์  นายนูน มิลินทานุช อัยการจังหวัดลำพูน

(๔) กลุ่มข้าราชการครูและธรรมการจังหวัด อาทิ นายมั่น เพ็ชร์ศรีสม กับนายบรรยง จรัณยานนท์ ครูโรงเรียนสุรวิทยาคาร และนายทิม ภูริพัฒน์ ธรรมการจังหวัดขุขันธ์ 

(๕) กลุ่มข้าราชการทหารตำรวจ อาทิ ร.อ.หลวงอดิเรกเรืองฤทธิ์ สัสดีจังหวัดสุรินทร์ ร.ต.อ.หลวงเจริญตำรวจการ ผู้บังคับการตำรวจภูธรจังหวัดสุรินทร์ และร.ต.ท.เล็ก โปษกบุตร ตำรวจภูธรจังหวัดขุขันธ์

(๖) กลุ่มทนายความในจังหวัดสุรินทร์ ได้แก่ นายแก้ว กนกนาก นายแก้ว รุ่งเรือง และนายถนอม กุมาลย์วิสัย

ถึงแม้หนังสือ “ประชานุเคราะห์ นามานุกรมข้าราชการ รายนามทนายความต่างจังหวัด” จะไม่ปรากฏข้อมูลรายชื่อบุคคลที่มีส่วนร่วมในการบริจาคเงินสร้างอนุสรณ์รัฐธรรมนูญสุรินทร์อีกจำนวนมาก เนื่องจากให้ข้อมูลเฉพาะข้าราชการและทนายความ  ขณะที่กลุ่มคนที่กระตือรือร้นอย่างมากที่พยายามเข้าไปมีส่วนร่วมทางการเมืองและเชื่อมโยงตัวเองเข้ากับระบอบใหม่อย่างแข็งขัน  โดยเฉพาะอย่างยิ่งกลุ่มคหบดีและนักธุรกิจชาวจีนในสุรินทร์ ที่มีส่วนร่วมในการบริจาคเงินจำนวนมากเพื่อสร้างอนุสรณ์รัฐธรรมนูญสุรินทร์ ได้แก่ นายหยงเทียน จินดาประเสริฐ นายพิมพ์ เจริญพันธ์ และนายขาว ตันสกุล  ตลอดจนร้านค้าและกิจการชาวจีนในจังหวัดสุรินทร์ อาทิ ยี่ห้ออังกำเฮง ยี่ห้อลิ่มหลีฮวด และโรงสีไฟเซ่งหลี  กลับยังมีข้อมูลจำกัดและรอการค้นคว้าหาข้อมูลหลักฐานเพิ่มเติมต่อไป

อนุสรณ์รัฐธรรมนูญสุรินทร์และจารึกรายงานผู้บริจาคทรัพย์บนฐานอนุสาวรีย์ เป็นตัวอย่างที่สะท้อนให้เห็นความกระตือรือร้นของพลเมืองชาวสุรินทร์จำนวนมากที่ตระหนักและเห็นคุณค่าของรัฐธรรมนูญและระบอบใหม่ของคณะราษฎร  โดยพวกเขาได้ร่วมแรงร่วมใจในการลงทุนลงแรงในการสร้างอนุสาวรีย์แห่งนี้เพื่อเป็นสัญลักษณ์แห่งการลงหลักปักฐานระบอบใหม่ที่จังหวัดสุรินทร์ เช่นเดียวกับการฝังหมุดก่อกำเนิดรัฐธรรมนูญหรือหมุดคณะราษฎรที่ถูกฝังบริเวณลานพระราชวังดุสิตในช่วงเวลาใกล้เคียงกันคือ วันที่ ๑๐ ธันวาคม ๒๔๗๙ 

พร้อมกันนั้นการสร้างอนุสรณ์รัฐธรรมนูญสุรินทร์ยังช่วยเสริมภูมิทัศน์ของเมืองสุรินทร์ให้มีความเป็นสมัยใหม่มากขึ้น  โดยพลเมืองชาวสุรินทร์ที่สัญจรผ่านไปมาหน้าศาลากลางจะสามารถสังเกตเห็นอนุสาวรีย์แห่งนี้ได้เด่นชัด และสามารถนำตัวเองเชื่อมโยงเข้ากับรัฐธรรมนูญและระบอบใหม่ได้อย่างแนบเนียน

เหรียญที่ระลึกในงานเปิดอนุสรณ์รัฐธรรมนูญสุรินทร์ ด้านหน้าเป็นรูปอนุสรณ์รัฐธรรมนูญสุรินทร์ มีรัศมีรอบรัฐธรรมนูญ ด้านหลังมีข้อความ “ที่ระลึกในงานสมโภชน์อนุสรณ์รัฐธรรมนูญ จังหวัดสุรินทร์ ๑๐ ธันว์ ๗๙” (ภาพจาก ผู้เขียน)จารึกรายนามผู้บริจาคทรัพย์สร้างอนุสรณ์รัฐธรรมนูญสุรินทร์ พุทธศักราช ๒๔๗๙ (ภาพจากฉวีวรรณ ดวงจันทร์)
ขุนพิเคราะห์คดีพระยาสารคามคณาภิบาลขุนรักษ์รัษฎากรอนุสรณ์รัฐธรรมนูญสุรินทร์ในปัจจุบัน (ภาพจากฉวีวรรณ ดวงจันทร์)

* อาจารย์ประจำภาควิชาประวัติศาสตร์ คณะสังคมศาสตร์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์)

หจช. มท.๒.๒.๑๓/๘ เรื่องรายงานการทำพิธีฉลองรัฐธรรมนูญ ประจำ พ.ศ.๒๔๗๙

“วันรัฐธรรมนูญสุรินทร์ ผู้แทนนายกฯ เปิดอนุสรณ์รัฐธรรมนูญ,” ประชาชาติ (๑๙ ธันวาคม ๒๔๗๙), น. ๓, ๓๓.

ประชานุเคราะห์ นามานุกรมข้าราชการ รายนามทนายความต่างจังหวัด (พระนคร: ม.ป.ป.).

Related Posts

ภาพพระเตมีย์ บนใบเสมาทวารวดีอีสาน
ต้นกำเนิดนิทาน “ตาเจี้ย ตาลูน – ปลาบู่ทอง – เต่าคำ และซินเดอเรลล่า”
เมืองฮม เมืองโบราณกว่า ๔๐๐ ปี ของลาว
WP2Social Auto Publish Powered By : XYZScripts.com