ฤกษ์งาม ยามดี : โลกเก่าที่เล่าซํ้าบนโลกใหม่
นิตยสารทางอีศาน ปีที่ ๕ ฉบับที่ ๕๑
กรกฎาคม ๒๕๕๙
***
การแสดงจุดยืนด้วยท้องถิ่นนิยมที่ปรากฏอยู่ทั่วไปในสังคมอีสานปัจจุบัน เช่น การรณรงค์อาหารอีสาน การเที่ยวเมืองอีสาน การรื้อฟื้นประเพณีวัฒนธรรมท้องถิ่นอีสาน ตลอดถึงการฟื้นฟูภูมิปัญญาอีสาน เช่น การแพทย์อีสาน งานช่างและสถาปัตยกรรมอีสาน ภาษาและวรรณกรรมอีสาน สิ่งเหล่านี้ทำให้เกิดการปะทะสังสรรค์กับกระแสโลกาภิวัตน์ที่ถั่งโถมเข้ามาอย่างบ้าคลั่ง จนเห็นความขัดแย้งเกิดขึ้นทั่วไปทั้งจากนำเสนอ การแสดงออกถึงความหลากหลาย และโลกทัศน์ ในทุกเวทีทุกระดับ จนไม่รู้ว่าท้องถิ่นนิยมกับโลกาภิวัตน์จะอยู่ร่วมกันได้อย่างไร โดยกลุ่มท้องถิ่นนิยมได้แสดงหมุดหมายของตนว่า ต้องการที่จะชี้ให้เห็นถึงการมีเอกราชทางวัฒนธรรมและความสามารถของการพึ่งพาตนเองด้วยทุนวัฒนธรรมของบรรพชน
การผลิตซ้ำของฝ่ายท้องถิ่นนิยมอันนำไปสู่การสร้างความสับสน จนอาจขยายผลเป็นความขัดแย้งของระบบคิดในสังคม เป็นปรากฏการณ์เชิงประจักษ์ของปฏิสัมพันธ์ระหว่างโลกาภิวัตน์กับท้องถิ่นนิยม ที่นับวันจะทำให้สังคมสับสนมากขึ้น เพราะการตั้งรับไม่ทัน สิ่งเหล่านี้จึงเป็นประเด็นที่ต้องใส่ใจ ในครั้งนี้จึงจะได้เปิดผ้าม่านกั้ง ทำความเข้าใจท้องถิ่นนิยมซักกรณี จะยกเรื่องฤกษ์งาม ยามดี ที่กำลังเถียงกันสุดขั้วว่า ควรเชื่อถือหรือควรละเว้นในภาวการณ์ปัจจุบัน
อะไรหรือ คือฤกษ์งาม – ยามดี
ภาพผู้นำสังคมถือพวงมาลัยไปไหว้ศาลพระภูมิแล้วก้าวเข้าห้องทำงาน ณ เวลา ๐๙.๐๙ น. อาจเป็นปลายทาง และกลายเป็นประเด็นขัดแย้งทางความคิดเมื่อถูกนำเสนอต่อสังคม ที่เกิดคำถามเริ่มต้นว่า อะไรหรือ คือฤกษ์งาม – ยามดี
เรื่องฤกษ์ – ยาม เป็นนวัตกรรมจากระบบความเชื่อมีที่มาที่ไปยาวนาน หยั่งรากฝังลึกในระบบคิดของคนมาช้านาน โดยเฉพาะวัฒนธรรมชาวนาที่ต้องฝากความหวังและอนาคตของผลผลิตไว้กับ “นํ้าฟ้า” ไม่รู้ว่าพญาแถนจะมอบประเคนเวนให้หรือไม่ ในยามที่ต้องลงไร่ไถนา
ความไม่มั่นใจในอนาคตของชาวนา จึงบีบบังคับให้ชาวนาคิดหลักประกันชีวิต เกิดเป็นระบบฤกษ์ – ยาม ซึ่งถือได้ว่าเป็นระบบความเชื่อที่มีความสำคัญและมีความโดดเด่นในอดีตพจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ.๒๕๔๖ ได้ให้ความหมาย คำว่า ฤกษ์ และ ยาม ไว้ว่า
ฤกษ์ ๑ (เริก) น. คราวหรือเวลาที่กำหนดหรือคาดว่าจะให้ผล เช่น ฤกษ์ดี ฤกษ์ร้าย, มักนิยมใช้ในทางดี เช่น หาฤกษ์แต่งงาน หาฤกษ์ยกเสาเอก. (ส.). ฤกษ์บน น. ฤกษ์ที่ดาวนพเคราะห์เสวยประจำวัน มี ๒๗ ฤกษ์. ฤกษ์พานาที น.
ระยะเวลาที่เป็นฤกษ์. ฤกษ์ล่าง น. ฤกษ์ที่ประกอบฤกษ์บน มี ๙ ฤกษ์
ฤกษ์ ๒ (เริก) น. หมี; ดาวจระเข้, ดาวนพเคราะห์. (ส.).
ฤกษ์ ๓ (เริก) น. เรียกดาวที่มีลักษณะเป็นกลุ่มแก๊สทรงกลมที่สามารถแผ่รังสีออกได้รอบตัวว่า ดาวฤกษ์.
ยาม, ยาม– (ยาม, ยามะ-) น. ชื่อส่วนแห่งวัน ยามหนึ่งมี ๓ ชั่วโมง รวมวันหนึ่งมี ๘ ยาม;ในบาลีแบ่งกลางคืนเป็น ๓ ยาม ยามหนึ่งมี ๔ ชั่วโมง เรียกว่า ปฐมยาม มัชฌิมยาม และปัจฉิมยาม; (โหร) ช่วงแห่งวัน เป็นเวลายามละชั่วโมง
ครึ่ง กลางวันมี ๘ ยามตามลำดับ คือ สุริยะ ศุกระ พุธะ จันเทา เสารี ครู ภุมมะ สุริยะ กลางคืนมี๘ ยามตามลำดับ คือ ระวิ ชีโว ศศิ ศุโกร ภุมโม โสโร พุโธ รวิ; คราว, เวลา, เช่น ยามสุข ยามทุกข์ ยามเช้า ยามกิน; คนเฝ้าสถานที่หรือระวัง
เหตุการณ์ตามกำหนดเวลา เช่น แขกยาม ไทยยาม คนยาม, เรียกอาการที่อยู่เฝ้าสถานที่หรือระวังเหตุการณ์เช่นนั้นว่า อยู่ยาม หรือ เฝ้ายาม.(ป.).
ยามของคนอีสาน คือการแบ่งเวลาตลอดวันออกเป็นส่วน ๆ เพื่อการอ้างอิง แบ่งออกเป็นหลายระบบ ได้แก่ ยามแปด ยามห้า ยามสามและยามสอง
ยามแปด ระบบนี้แบ่งเวลาช่วงเช้าและช่วงคํ่าออกเป็นช่วงละ ๘ ส่วน ช่วงหนึ่งจึงมีระยะเวลาชั่วโมงครึ่ง รวม ๑๖ ช่วงเป็น ๒๔ ชั่วโมงครบเป็นหนึ่งวัน การแบ่งยามแปดของคนอีสานมีชื่อของยามดังนี้
ลําดับ | ภาคกลางวัน | ภาคกลางคืน | ||
เวลา | ชื่อยาม | เวลา | ชื่อยาม | |
๑ | ๐๖.๐๐ – ๐๗.๓๐ | ยามตุดตั้งมื้อเช้า | ๑๘.๐๐ – ๑๙.๓๐ | ยามตุดตั้ง |
๒ | ๐๗.๓๐ – ๐๙.๐๐ | ยามกลองงาย | ๑๙.๓๐ – ๒๑.๐๐ | ยามกลองเดิก |
๓ | ๐๙.๐๐ – ๑๐.๓๐ | ยามแถใกล้เที่ยง | ๒๑.๐๐ – ๒๒.๓๐ | ยามแถใกล้เที่ยง |
๔ | ๑๐.๓๐ – ๑๒.๐๐ | ยามเที่ยง | ๒๒.๓๐ – ๒๔.๐๐ | ยามเที่ยงคืน |
๕ | ๑๒.๐๐ – ๑๓.๓๐ | ยามตุดซ้าย | ๒๔.๐๐ – ๐๑.๓๐ | ยามตุดซ้าย |
๖ | ๑๓.๓๐ – ๑๕.๐๐ | ยามกลองแลง | ๐๑.๓๐ – ๐๓.๐๐ | ยามกลองคัว |
๗ | ๑๕.๐๐ – ๑๖.๓๐ | ยามแถใกล้คํ่า | ๐๓.๐๐ – ๐๔.๓๐ | ยามแถใกล้ฮุ่ง |
๘ | ๑๖.๓๐ – ๑๘.๐๐ | ยามพาดลั่น / ยามคํ่า | ๐๔.๓๐ – ๐๖.๐๐ | ยามพาดลั่น / ยามฮุ่ง |
ชื่อยามแปดมีความสัมพันธ์กับเครื่องบอกสัญญาณของคนอีสาน กล่าวคือ ยามตุด เป็นยามที่ใช้เสียงสังข์เป่าบอกสัญญาณเวลา ยามกลองใช้กลองเพลตีบอกสัญญาณเวลา ยามแถใช้แตรเป่าบอกสัญญาณเวลา ยามพาดใช้ฆ้องตีบอกสัญญาณเวลา
ชื่อยามที่สอดคล้องกับเครื่องบอกสัญญาณได้สะท้อนให้เห็นว่า แต่เดิมน่าจะมีการใช้เครื่องสัญญาณทำเสียงบอกให้ผู้คนรับรู้ช่วงเวลาในแต่ละวัน ซึ่งแม้ว่าปัจจุบันจะเลือนหายไป แต่บางสัญญาณยังปรากฏใช้อยู่ เช่น การตีกลองแลงในเวลาประมาณ ๑๕.๐๐ น. ของวัดในอีสานและลาวในวันพระ
ยามสาม เป็นการแบ่งเวลาช่วงเช้าและช่วงคํ่าออกเป็นช่วงละ ๓ ส่วน ช่วงหนึ่งจึงมีระยะเวลาสี่ชั่วโมง รวม ๖ ช่วงเป็น ๒๔ ชั่วโมง ครบเป็นหนึ่งวัน การแบ่งยามสามของคนอีสานอ้างอิงมาตามวรรณคดีบาลี เช่นใน ปฐมสมโภชมีชื่อของยามดังนี้ สี่ชั่วโมงแรกเรียกว่า “ปฐมยาม” สี่ชั่วโมงที่สองเรียกว่า “มัชฌิมยาม” สี่ชั่วโมงสุดท้ายเรียกว่า “ปัจฉิมยาม”
ยามสอง เป็นการเรียกเวลาตั้งแต่เช้าถึงคํ่าว่า “ยามเช้า” และเรียกเวลาจากคํ่าถึงอรุณรุ่งวันใหม่ว่า “ยามคํ่า”
ยามห้า เป็นระบบการเรียกชื่อยามเพื่อการทำนายออกเป็น ๕ ลำดับ มีชื่อของยามดังนี้อโธหีนัง อุทธังราชา ปานะโภชนัง กัณหังภะเวมัชเฌมรณัง โดยมีช่วงเวลายามละหนึ่งชั่วโมงครึ่งหรือแบ่งตามยามแปด การจะเริ่มนับยามห้าอย่างไร ให้พิจารณาจากวันเป็นหลัก
วันอาทิตย์กับวันศุกร์ เริ่มยามอโธหีนังที่ยามตุดตั้งมื้อเช้า
วันจันทร์และพุธ เริ่มยามกัณหังภะเวที่ยามตุดตั้งมื้อเช้า
วันอังคาร เริ่มยามอุทธังราชาที่ยามตุดตั้งมื้อเช้า
วันพฤหัสบดี เริ่มยามมัชเฌมรณังที่ยามตุดตั้งมื้อเช้า
วันเสาร์ เริ่มยามปานโภชนังที่ยามตุดตั้งมื้อเช้า
วันเสาร์ เริ่มยามปานโภชนังที่ยามตุดตั้งมื้อเช้า
อันที่จริงแล้ว ในวรรณกรรมโบราณ เรื่องฤกษ์ยามเป็นเพียงสิ่งอธิบายเวลาว่า เหตุการณ์นั้นเกิดขึ้นเมื่อใด เช่น บอกให้รู้ว่าท้าวฮุ่งได้ออกจับกบกลางฝนในยามกลองเดิก ที่พรรณนาไว้อย่างสนุกสนานว่า
แม้งหนึ่งซะม่อยลํ้า เถิงที่กลองเดิก
ทมทมฝน หลั่งลงนองนํ้า
อาโปเท้ง ไหลลงเลียลวด
นํ้าทุ่มถ้วม แถวห้วยฮ่องหนอง
ฟังยินต่าง ๆ พร้อม เสียงสนั่นนันเนือง
สนสนกบ ออกฮูโตนเต้น
เมื่อนั้น แองคอนได้ ทวนไฟไปก่อน
เจ้ายี่คั้น คอข้องแล่นนำ
หมักหม่อนเนื้อ น้องท่านหาญพาย
บายทวนหลัว แล่นตามเตินเจ้า
คอนบายได้ หลายโคมกบเขียด
เจ้ายี่ได้อึ่งเพ้า เต็มข้องหน่วยแอว
หรือเรื่องราวเมื่อคราวพระอินทร์อุ้มสมพญาจันทราช ขึ้นไปบนปราสาทเสาเดียวของนางฟ้าหยาดกลางราตรียามแถใกล้เที่ยง ในนิทานเมืองฟ้าแดดสงยาง ความว่า
ค้อมว่าท้าวกล่าวแล้ว เลยคํ่าอรชร ดีท้อน
จันทะรังสี เฮื่องแสงใสแจ้ง
แต่นั้นพอเมื่อราตรีขึ้น ยามแถใกล้เที่ยง
อันว่าบุญส่งให้ บาท้าวดั่งคนิง
เมื่อนั้นท้าวก็นิทเน่งเนื้อ ไสยาสน์นอนหลับ
ในศาลา นอกเวียงนอนค้าง
ปางนั้นพระอินทร์จึงยกเอาท้าว เมือชมฟ้าหยาด
ในผาสารทกว้างปางแก้วฮุ่งเฮือง
โลกทัศน์เก่าที่เล่าซํ้าในบริบทใหม่
วิธีคิด การประดิษฐ์สร้างระบบคุณค่าของฤกษ์ – ยาม ได้ขยายออกไปสัมพันธ์กับเรื่องโชคลาง อันเป็นระบบความเชื่อที่มีต่อสิ่งเหนือธรรมชาติ จากยามแปดที่กำหนดขึ้นเพื่อแบ่งส่วนเวลาได้ถูกจัดความสัมพันธ์ใหม่กับยามห้า ผูกเป็นกติกาประจำวันว่าสิ่งใดควรทำสิ่งใดไม่ควรทำในแต่ละโมงยามของวัน
จากยามแปด ถูกบูรณาการมาสัมพันธ์กับยามห้า มีการจัดช่วงเวลาของวันให้สัมพันธ์กับฤกษ์งามยามดี โดยมีคำทำนายกำกับไว้ว่ายามใดควรทำสิ่งใด หรือไม่ควรทำสิ่งใด เช่น
วันอาทิตย์ยามตุดตั้งมื้อเช้า ตกอโธหีนัง เตือนว่า ไม่ดี มีคำทำนายว่า “ยามตุดตั้งมื้อเช้าไปอื่นจักเสียของ หมอทวยมาห้ามเสียอย่าฟ้าวไดดั้งนกจักกระพากพรอ้ มพวกหมูบ่ ริวาร แยงคีรีป่าไพรดงกว้าง แลนลอบลี้กินไข่ภายหลัง ยามเมื่อคืนมาฮังเปล่าแปนดายดู้”
ส่วนวันศุกร์ยามตุดตั้งมื้อเช้าตกอโธหีนัง ทายว่า ดี มีคำทำนายว่า “ยามตุดตั้งมื้อเซ้าไปที่ใดดี ก็จักมีลาโภเกิดมีมาหั้น ได้ดังมโหสถเจ้าเทวีเทียมพ่าง ยูท่างอยู่สืบสร้างเมืองกว้างสำราญ”
ชื่อยามห้าจึงไม่ได้กำหนดดีชั่วในตัวเอง แต่ต้องสัมพันธ์กับยามแปดและคำทำนายที่ผูกเป็นกลอนไว้
อย่างไรก็ตาม ฤกษ์ – ยาม เป็นระบบการจัดระเบียบชีวิตประจำวันเพื่อสร้างหลักประกันความเสี่ยงในการใช้ชีวิตของชาวอีสาน ที่อยู่บนความไม่แน่นอนของธรรมชาติ ฤกษ์ – ยาม เป็นเรื่องของเวลาที่เป็นพลวัตหรือมีการเปลี่ยนแปลงปรับแปรอยู่เสมอ จึงไม่ใช่เรื่องแปลกที่ตำราของสำนัก ก. อธิบายว่าเช้าวันอาทิตย์ดี แต่ของสำนัก ข. บอกว่าไม่ดี เพราะแก่นแท้ของสาระสำคัญคือการเป็นระบบคิดเพื่อมุ่งสร้างความมั่นใจให้คนในวิถีเกษตรกรรม ที่มีแบบแผนชีวิตที่ผูกพันอยู่กับวัฒนธรรมข้าว – ปลา ที่ต้องอาศัย “นํ้าฟ้า” ภายใต้ภาวะเสี่ยงจากความไม่แน่นอนของธรรมชาติ โดยที่สังคมได้กำหนดหน้าที่คนใน
สังคมในอดีตไว้เพียง พ่อนา พ่อค้า กับข้าราชการ และแบ่งลำดับศักดิ์ไว้ เช่นในภาษิตว่า สิบพ่อค้าไม่เท่าพญาเลี้ยง
อย่างไรก็ตาม เสียงสะท้อนที่ว่า “งมงายไร้สาระ” อันเป็นทัศนะวิจารณ์ของคนอีกกลุ่มหนึ่งที่เรียกตัวเองว่า “ผู้มีการศึกษา” ที่มีต่อฤกษ์ – ยาม โดยมองพฤติกรรมของคนที่ไปสัมพันธ์กับฤกษ์ – ยาม ว่า “โง่เง่าเต่าล้านปี” แล้ว
อ้างความทันสมัยแบบไร้ราก จึงเกิดการพลั้งปากปฏิเสธขยายเป็นความขัดแย้งทางความคิด
อันที่จริง เมื่อตรวจสอบวรรณกรรมโบราณพบว่า การใช้ฤกษ์ – งามยามดีจะถูกเลือกใช้เฉพาะกิจกรรมสำคัญของบ้านเมืองหรือชีวิต หาใช่ใช้พรํ่าเพรื่อเช่นคนปัจจุบัน เช่น พิธีฮดสรงพญาธรรมขึ้นครองเมืองเซียงโสม ในนิทานเมืองฟ้าแดดสงยาง ที่ว่า
เขาก็ ขุดสะพังพื้น หอสรงเป็นบวก
แหนจอกล้น ปลาบ้อนฟั่งเฟือน
ตกแต่งแล้ว เขาลั่นสะบูหลวง
เถิงยามดี ป่าวพลตีฆ้อง
ฝูงหมู่ท้าว แสนหมื่นขุนพระยา
เขาก็ เชิญบาคาน สู่หอสรงนํ้า
ทม ทม ก้อง ตีกลองแกมแส่ง พุ้นเยอ
เสพ พระบาทท้าว ธรรมเจ้าสู่หอ
การใช้ฤกษ์งาม – ยามดี ของคนโบราณ จึงไม่ใช่กิจกรรมประจำวันในภาวะปกติ แต่จะถูกหยิบยกขึ้นมาใช้ในกรณีที่มีการเปลี่ยนผ่านของชีวิตที่สำคัญ ที่เขาคิดว่าเป็นภาวะความเสี่ยงที่ท้าทาย ภายใต้อำนาจของสิ่งเหนือธรรมชาติ เช่น เปลี่ยนคนให้เป็นพระในพิธีบวชในโบสถ์ เปลี่ยนคนโสดให้เป็นคนคู่ในพิธีแต่งงาน เปลี่ยนต้นไม้ให้เป็นเรือนชานในพิธีขึ้นบ้านใหม่ หรือแม้กระทั่งการเปลี่ยนทุ่งโล่งร้างไร้ให้เป็นทุ่งนาในพิธีการไหว้ตาแฮกแรกนา ซึ่งล้วนแต่เป็นกิจกรรมที่ผู้คนในวัฒนธรรมข้าวชาวอีสานยึดโยงกับฤกษ์งาม – ยามดี เนื่องจากไม่มั่นใจว่าสภาวะใหม่จะปลอดภัยมั่นคงหรือไม่
ปัจจุบัน วิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีพร้อมทั้งวัฒนธรรมใหม่ที่ไหลบ่าเข้ามาพร้อมกับกระแสโลกาภิวัตน์ ได้กร่อนกลืนให้โลกเกิดวัฒนธรรมโลกเดียว หรือที่เรียกกันว่าโลกไร้พรมแดน มีการยึดมาตรฐานเดียวกันเป็นสิ่งชี้วัดความสำเร็จของชีวิต เช่น ต้องจบปริญญาตรีเป็นพื้นฐานการศึกษา ต้องมีรายได้ขั้นตํ่าที่หมื่นห้าพันบาท ต้องไม่อ้วน ไม่ผอม ไม่ดำ ไม่เตี้ย รวมถึงต้องไม่แสดงพฤติกรรมที่งมงายในสายตาของโลกาภิวัตน์ จนทำให้การประพฤติผิดมาตรฐานเหล่านี้ คือ การทำผิดมาตรฐานที่โลกต้องประณาม
นอกจากนี้ ระบบทุนนิยมที่วัดคุณค่าของคนที่มูลค่าทรัพย์สินที่สะสม ทำให้เงินเป็นเครื่องชี้วัดมาตรฐานและคุณภาพชีวิต จนบางครั้งมิติทางจิตวิญญาณที่สมบูรณ์พรั่งพร้อมถูกมองข้ามอย่างเหยียดหยาม
กระแสโลกาภิวัตน์ได้เปลี่ยนแปลงโลกให้เจริญด้วยวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี แต่ในขณะเดียวกัน กระแสโลกาภิวัตน์ได้ทำลาย ทุนทางวัฒนธรรม คุณค่าความเป็นมนุษย์ บางอย่างลงอย่างน่าเสียดาย ดังจะเห็นได้จากทุนทางวัฒนธรรมของชุมชนที่ถูกสั่งสมบ่มเพาะ เพื่อแก้ปัญหาภาวะเสี่ยงและตอบสนองชุมชนเฉพาะกลุ่ม เฉพาะการณ์ ที่เรียกว่า ภูมิปัญญา ได้รับการท้าทายจากพลังความคิดของสิ่งประดิษฐ์ใหม่ แต่หลายอย่างต้องล้มเหลว เช่น กฎหมายที่ถูกออกแบบมาแทนกฎผีบรรพชน อาจช่วยกำกับพฤติกรรมได้ แต่ไม่สามารถตีกรอบจิตสำนึกได้เหมือนกฎผีบรรพชน เป็นต้น
เมื่อสังคมซับซ้อนขึ้น ฤกษ์ – ยาม ที่ถูกใช้เป็นหลักประกันความมั่นใจของวัฒนธรรมชาวนาในโลกใบเก่า จึงเป็นเครื่องมือที่ล้าหลังในการสนองตอบสังคมทุนนิยมตามไปด้วยการนำเอา ฤกษ์งาม – ยามดี มาอธิบายว่าเป็นปัจจัยสนับสนุนความหล่อสวย รวย เก่ง เด่นดี จึงเป็นการสร้างวาทกรรมใหม่เพื่อให้ ฤกษ์ – ยาม ยังคงอยู่ คู่กับหน้าปัดนาฬิกา เพื่อหลอกให้คนที่ไม่รู้เท่าทันกระแสโลกาภิวัตน์หลงเชื่อเพราะมีฉลากกำกับยอดฮิตที่ว่า “ไม่เชื่อ อย่าลบหลู่”
แต่เดิมที่สังคมมีเพียง พ่อนา พ่อค้า และ ข้าราชการ ระบบฤกษ์ – ยามดั้งเดิมยังสามารถตอบสนองได้อย่างรอบด้าน แต่เมื่อปัจจุบันได้เปลี่ยนเป็นโลกที่มีความหลากหลายทางชนชั้นอาชีพ เพศสภาวะ และสถานะทางสังคม จึงได้มีความพยายามที่จะปรับ ฤกษ์ – ยาม ให้ตอบสนองกับโลกใหม่ โดยกลุ่มคนที่เข้ามามีบทบาทสำคัญคือโหราจารย์ทั้งหลาย เพราะถ้าไม่ปรับตัวก็เป็นอันต้องสูญสลายตายจากไปเนื่องจากจะกลายเป็นความล้าหลังทางวัฒนธรรม (Culturelag)
คงต้องใช้เวลาอีกนาน กว่าจะตกผลึกเรื่องฤกษ์ – ยาม สำหรับโลกใบใหม่ เพราะไม่ใช่แค่การปรับตัวเองบนโลกใบใหม่ให้ทันสมัย แต่ต้องปรับตัวตอ่ สูกั้บระบบประกันความเสี่ยงแบบใหม่ที่เกิดขึ้นมากมาย เช่น ระบบประกันชีวิต ระบบประกันสังคม ระบบประกันสุขภาพ และอีกหลาย ๆ ระบบประกันที่ไม่ต้องไปพึ่งฤกษ์ยามเพราะระบบใหม่สร้างความมั่นใจได้มากกว่า
ระหว่างรอการตกผลึกเรื่อง ฤกษ์ – ยาม นี้คำถามมีอยู่ว่า “เราจะเอายังไง?”
ฝนกำลังมา ฟ้ากำลังครึ้ม ได้เวลาต้องลงไร่ลงนา ผมกำลังตัดสินใจว่า จะไปไหว้ตาแฮกเลี้ยงเหล้าไหไก่ตัว ในวันพุธ ยามตุดตั้ง ดีหรือไม่??? เพราะยังไง ๆ ได้ยินมาว่ารัฐบาลเขาจะประกันราคาข้าวให้เราอยู่แล้ว…