คำผญา (๖) หยอกไฟได้หนี้ หยอกขี้ได้กิน

คำผญา (๖) หยอกไฟได้หนี้ หยอกขี้ได้กิน


หยอกไฟได้หนี้ หยอกขี้ได้กิน
เล่นกับไฟได้หนี้ เล่นกับขี้ได้กิน

ความหมาย

การเล่นกับไฟ ไฟจะไหม้เอาได้

เล่นกับขี้ก็ได้กินขี้

ไฟเป็นของร้อน และอะไรที่ร้อน ๆ ก็เปรียบเสมือนไฟ โดยเฉพาะไฟที่เกิดขึ้นในใจนั้นร้อนมากและก็เป็นไฟที่ดับยาก ไฟโลภ ไฟโกรธ ไฟหลง ๓ ไฟนี้ร้อนมาก เมื่อเกิดขึ้นกับใคร นอกจากจะเผาตัวเองแล้วยังเผาผู้อื่นด้วย นี่ยังไม่รวมถึงไฟอบายมุขอื่น ๆ

สรรพสิ่งในโลกนี้มีมากกว่า ๒ ด้านเสมอถ้าพูดถึงด้านหลัก ๆ สัก ๒ ด้าน ไฟก็มี ๒ ด้านเหมือนกัน ด้านหนึ่งไฟก็ให้ประโยชน์อนันต์ อีกด้านหนึ่งไฟก็ให้โทษมหันต์ คนฉลาดย่อมรู้จักนำไฟมาใช้ให้เกิดประโยชน์ นำแสงสว่างมาจากไฟนำความอบอุ่น นำความร้อนมาจากไฟ วิถีชีวิตมนุษย์ขาดไฟไม่ได้ ขาดไฟโลกก็ดับ โลกก็มืด

ปราชญ์สอนว่า หยอกไฟได้หนี้ ถ้าแปลความหมายตามรูปศัพท์ก็ตีความได้ไม่ยาก การเล่นไฟเป็นสิ่งไม่ดี ไฟจะไหม้เอาได้ ส่วนมากจะเป็นเด็ก ๆ ที่ชอบเล่นไฟ เล่นจนไฟไหม้บ้านเรือนและทรัพย์สินเสียหายก็มี เมื่อเสียบ้านเรือน เสียทรัพย์ไปแล้วก็จำเป็นต้องกู้หนี้ยืมสินมาก่อร่างสร้างตัวใหม่ จึงต้องเป็นหนี้

นัยแห่งไฟที่นักปราชญ์สอนไว้นี้ น่าจะเป็นนามธรรมที่มีความหมายอื่นแฝงอยู่ในรูปศัพท์มากกว่า ไฟที่ทำให้เกิดหนี้ได้ น่าจะเป็นไฟอบายมุข ไฟการพนัน

ใครก็ตามที่ติดและหลงในการพนันก็เปรียบเสมือนไฟที่ไหม้ชีวิตไปทีละน้อย ไฟการพนันเป็นไฟที่ดับยาก เมื่อมันลุกไหม้แล้ว มันก็จะไหม้จนหมดเนื้อหมดตัว หรือหมดแม้กระทั่งชีวิต ไม่มีใครเล่นการพนันแล้วรวยยั่งยืน หากเล่นได้ก็ได้เพียงชั่วข้ามคืนเท่านั้น หลังจากนั้นก็เสีย เสียแล้วก็กระเสือกกระสนยืมหนี้ยืมสินเป็นทุนไปสู้ต่อไปเรียกเอาทุนเก่ากลับคืน แต่ยากนักที่จะสำเร็จได้ โบราณว่าโจรปล้นสิบครั้งไม่เท่าไฟไหม้ครั้งหนึ่ง ไฟไหม้สิบครั้งก็ไม่เท่าไฟพนันลุกไหม้ ไฟไหม้บ้านก็ยังเหลือที่ดิน เมื่อใดที่ไฟพนันลุกไหม้ อะไรก็ไม่เหลือ หยอกไฟก็ได้หนี้ ประการฉะนี้

หยอกขี้ได้กิน ขี้เป็นของเสียที่ใคร ๆ ก็รังเกียจ ขี้ตัวเองก็ยังรังเกียจ ขี้คนอื่นจะน่ารังเกียจแค่ไหน ใครจะไปหยอกเล่นกับขี้ นอกจากคนบ้า นอกจากเด็ก ๆ เด็กทารกที่ยังไม่รู้ประสาขี้แล้วเล่นขี้ก็กินขี้

นักปราชญ์ท่านจงใจเปรียบเทียบว่า อะไรที่ไม่ดี อะไรที่ไม่งาม อะไรที่เน่าเหม็น อะไรที่น่ารังเกียจท่านก็เปรียบเสมือนขี้ ท่านสอนว่า ถ้ารู้ว่าสิ่งนั้นเป็นขี้ก็อย่าเดินไปเหยียบขี้ อย่าไปหยอกขี้ อย่าไปเล่นกับขี้ เพราะตัวเองจะเดือดร้อน

ในภายหลัง คนบางคนก็เปรียบเสมือนขี้ ทำตัวน่ารังเกียจ

เป็นอันธพาล เป็นนักเลง เกเร เห็นแก่ตัวชอบเอาเปรียบ ไม่มีนํ้าใจต่อผู้อื่น คนเช่นนี้น่ารังเกียจยิ่งกว่าขี้เสียอีก เมื่อเรารู้แล้วว่าเขาเป็นขี้ ก็อย่าไปคบหา อย่าไปตอแย อย่าไปร่วมสังฆกรรมด้วย ควรหลีกให้ห่าง ๆ

คำสอนนี้ ปรัชญานี้มีมานานแล้ว แต่ก็ยังใช้ได้อยู่จนถึงปัจจุบันและอนาคต มันเป็นความจริงที่สิ้นสุด คิดค้นต่อไปอีกไม่ได้แล้ว ไม่ว่าจะนำปรัชญานี้ไปใช้ในสังคมใด ยุคใด สมัยก็ใดก็ตาม

นักปราชญ์นั้นหาได้คิดปรัชญาขึ้นมาจากความว่างเปล่าไม่ แต่ปรัชญาเกิดขึ้นจากประสบการณ์ เกิดจากความตระหนักในจิตใจเกิดจากสิ่งแวดล้อม และผ่านการคิดกลั่นกรองนับชั่วอายุคนจึงออกมาเป็นปรัชญาได้

***

คอลัมน์  ปรัชญาอีสาน นิตยสารทางอีศาน ปีที่ ๕ ฉบับที่ ๕๑| กรกฎาคม ๒๕๕๙

.
ราคาเล่มละ ๑๐๐ บาท
สมัครสมาชิก ครึ่งปี ๖๐๐ บาท
หนึ่งปี ๑,๑๐๐ บาท
ตลอดชีพ ๙,๕๐๐ บาท (ได้รับหนังสือย้อนหลัง)
.
สั่งซื้อ// ชำระเงิน // สอบถามเพิ่มเติม ได้ทาง
inbox หนังสืออีศาน m.me/166200246799901
line id : @chonniyom (มี@) คลิก https://lin.ee/amxqtvW
อีบุค ที่ www.mebmarket.com
โทร. 086-378-2516
บริษัท ทางอีศาน จำกัด
244/539 รามอินทราซอย 5 แขวงอนุสาวรีย์ เขตบางเขน กทม. 10220

Related Posts

ข้ า ว จุ ก ค อ
[๖] ปาจิต อรพิม ในงานศิลปะ (๑)
ว่าด้วย เงือก (๒) “ตูเงียะ” เงือกของชาวจ้วงในกวางสี
WP2Social Auto Publish Powered By : XYZScripts.com