การเดินทางสู่โลกของชาวนา ครัวเรือนชาวนา (๒)

การเดินทางสู่โลกของชาวนา  ครัวเรือนชาวนา (๒)

ทางอีศาน ฉบับที่๑๔ ปีที่๒ เดือนมิถุนายน ๒๕๕๖
คอลัมน์: ถนนสายอนาคต
Column: Road to the Future
ผู้เขียน: อภิชาติ ญัคค์


“วูบ ลมร้อน แดดจ้า ดินแล้งแตก ผู้คนยังสดใส ยิ้มแย้ม…”

The thriving of the peasant community values the human relationship more than the “material value”. The economic relationship is closely bound to the traditional belief. This essence can hardly be explained by the idea of capitalism, which is incapable of access to the peasant world. The practice in the peasant economic system is therefore judged/carelessly labeled as outdated, primitive and inconsistent, etc. It is in fact the modern economy system that is incapable of understanding the world of the peasants.

การตั้งบ้านเรือนของชาวนาในหมู่บ้านจะกระจุกตัวอยู่รวมกัน มีถนนตัดผ่านกลางหมู่บ้านแสดงความร่วมมือกับโลกยุคใหม่ ครัวเรือนในหมู่บ้านขยายตัวด้วยการแต่งงาน/ผูกโยงความเป็นเครือญาติกัน ในอดีตไม่มีป้ายบอกชื่อบ้าน/บ้านเลขที่/คำขวัญให้เกะกะรกหูรกตา เดี๋ยวนี้เกือบทุกหมู่บ้านมีป้ายบอกสังกัด/คำขวัญเต็มไปหมดตามที่มีหน่วยงานรัฐฯมากำกับจัดทำให้ รอบหมู่บ้านมีทุ่งนาอยู่รายรอบจากที่ลุ่มไปถึงเนินสูงโอบกว้างสุดลูกหูลูกตา มีห้วย/หนอง/ป่าละเมาะกระจายให้เห็นประปราย ในฤดูร้อนความแห้งแล้งจะปกคลุมทั่วไป มีลมร้อนพัดผ่านเป็นระยะ แต่ร่มเงาไม้ในตอนกลางวันก็ช่วยให้ผู้คนมีใบหน้าสดชื่น พูดคุยหัวเราะเฮฮากันได้เมื่อนั่งจับกลุ่มสนทนากัน ความเดือดร้อนส่วนใหญ่ของผู้คนเป็นความเดือดร้อนเกี่ยวกับความสมบูรณ์ของนาข้าว/การเกษตร/ความไม่พอเพียงของน้ำในช่วงทำนา/และราคาผลผลิตในบางช่วงบางปี ชาวบ้านในเขตนาน้ำฝนทำได้ปีละครั้ง แต่หากฝนไม่ตกตามฤดูกาลก็ไม่สามารถทำนาได้ ผิดกับพวกที่อยู่ในเขตชลประทานที่สามารถทำได้มากกว่า ๑ ครั้งในแต่ละปี แต่อย่างไรก็ตามความรู้สึกเดือดเนื้อร้อนใจของชาวบ้านก็ไม่พ้นเรื่องทำนา เรื่องความสมบูรณ์พอเพียงของน้ำ การมาถูกที่ถูกเวลาของฟ้าฝน นอกนั้นก็เป็นความทุกข์/ความเดือดร้อนในเรื่องความเจ็บป่วยที่เกิดขึ้นกับบางคน/บางช่วงเวลาตามธรรมชาติชีวิต แม้สังคมหมู่บ้านจะเคลื่อนผ่านกาลเวลามาจนถึงปัจจุบันที่เป็นยุคสมัยศตวรรษที่ ๒๑ แล้วก็ตาม แต่การดำรงชีวิตของชาวนาในหมู่บ้านยังแตกต่างอย่างมากจากแบบแผนชีวิตของคนเมืองเกือบสิ้นเชิงทีเดียว

พื้นฐานการตั้งครอบครัว การปลูกบ้านเรือน/การก่อตัวของชุมชนชาวนา โดยพื้นฐานแล้วจะสืบทอดจารีตประเพณีมาอย่างเป็นตัวของตัวเอง มีทั้งรากทางวัฒนธรรม (root of culture) ของตัวเอง และการผสมผสานกับโลกแวดล้อมที่แตกต่างไป ซึ่งเคลื่อนผ่านยุคสมัย/ผ่านความเปลี่ยนแปลงมาอย่างเป็นธรรมชาติ และเป็นตัวของตัวเอง“โลกของชาวนา” มักถูกเรียกขานจากวาทกรรมสมัยใหม่ด้วยภาพความคิดของแต่ละคน แต่ละกลุ่มแตกต่างกัน เมื่อมีการอยู่ร่วมกับความทันสมัยของเมือง ซึ่งมีมุมมองหลายมิติทั้งการดูถูกดูแคลนอย่างแรงไปจนถึงเบา ๆ ตามแต่จะเรียกขานกันบ้านนอกบ้าง ท้องถิ่นบ้าง พื้นบ้านบ้าง บ้าน ๆ บ้าง หรือ ชนบท ฯลฯ

แต่ไม่ว่าจะใช้วาทกรรมชุดไหนเข้าใจชาวนา/ชาวบ้าน การก่อร่างสร้างตัว/สร้างครอบครัว/สร้างชุมชนของชาวนาในหมู่บ้านก็จะเคลื่อนไหวไปตามจารีตที่ผูกโยงกลมกลืนแนบแน่นระหว่าง “การเอาตัวรอดในโลกแวดล้อมอย่างเป็นธรรมชาติ” กับ “ความเชื่อในรูปแบบต่าง ๆ ที่มีการผลิตซ้ำผ่านรุ่นคนมาจนถึงปัจจุบัน” ทำให้สภาพการดำรงชีพที่ปรากฏขึ้นในแต่ละขั้นตอนของพิธีกรรมชีวิตและชุมชนแต่ละถิ่นย่าน มีความผิดแผกแตกต่างกันไปตามกระแสสังคมวัฒนธรรม ที่ได้ผสมกลมกลืนเข้ากับโลกแวดล้อมของแต่ละท้องถิ่นเสมอ ซึ่งเป็นความเคลื่อนไหวของสังคมวัฒนธรรมแห่งชีวิตของชาวนาในแต่ละถิ่น

“ตัวตนของชาวนา” โดยธรรมชาติแล้วชาวนามีสถานภาพเป็นทั้งผู้ผลิต/ผู้ร่วมสร้างครอบครัวและชุมชน ซึ่งการถือครองที่ดินส่วนตัว/ส่วนครอบครัว/การถือครองกรรมสิทธิ์ร่วมกันของชุมชน จะเป็นไปตามกฎกติกาและสำนึกของจารีตที่สืบทอดต่อกันมา เรื่องอื่นนอกเหนือจากที่กล่าวนี้เป็นสภาวะที่อยู่นอก “สำนึกร่วม” ที่ชาวนาจะให้ความสำคัญ ซึ่งไม่ผิดกับพื้นฐานความคิดในงานวิจัยรางวัลโนเบลของนักเศษฐศาสตร์อย่าง เอลินเนอร์ ออสทอร์ม ที่มีบทที่พูดถึงการถือครองทรัพยากรของท้องถิ่นในแบบ “common property” อันเป็นแบบแผนเดียวกันของชาวนาในการตั้งถิ่นฐานและการถือครองกรรมสิทธิ ซึ่งปัญหาด้านการถือครองที่ดินนี้มักจะเป็นปัญหาขัดแย้งกับสังคมภายนอกที่มีระบบระเบียบกติกาที่แตกต่างไปจากโลกของพวกเขา ซึ่งเป็นที่มาของปฏิกิริยาทางสังคม-เศรษฐกิจที่เกิดขึ้นในหลายกรณีเมื่อชาวนาต้องอยู่ร่วมกับโลกปัจจุบันที่เปลี่ยนแปลงไปอย่างต่อเนื่อง ความแตกต่างดังกล่าวได้สร้างความอึดอัดขัดแย้งและเกิดเป็นกรณีปัญหาขึ้นมากมายนำไปสู่การศึกษาวิจัยกันหลากมิติ ตั้งแต่เรื่อความยากจน ความขัดแย้งในเรื่องกรรมสิทธิ์ การถือครองกรรมสิทธิ์ สิทธิมนุษยชน ชนชั้นทางสังคม เศรษฐกิจฐานราก ความเสมอภาค ความยุติธรรม ไปจนถึงเรื่องภูมิเศรษฐกิจ ฯลฯ นี่คือเนื้อหาของตัวตนทางสังคมเศรษฐกิจแบบหมู่บ้าน ที่มีสภาวะการดำรงอยู่ที่แตกต่างไปจากสังคมนอกโลกของชาวนา !

“เศรษฐกิจครัวเรือนชาวนา” ความเคลื่อนไหวในเรื่องนี้ผูกโยงกับเงื่อนไขสำคัญ ๓ ส่วนคือ
๑) เงื่อนไขของการอยู่ร่วมกันในแต่ละครอบครัว
๒) เงื่อนไขของธรรมชาติที่สัมพันธ์กับระบบการผลิต
๓) เงื่อนไขความสัมพันธ์ทางสังคม/ชุมชนที่เป็นปัจจัยหนุนนำหรืออุปสรรคในการอยู่ร่วมกันของสังคมชาวนา ซึ่งการเติบโต/ความอยู่รอด/ความพอเพียง-ขาดแคลน/และความมั่นคงของเศรษฐกิจครัวเรือนชาวนา ต่างเคลื่อนไหวอยู่ในปัจจัยสำคัญทั้ง ๓ ส่วนนี้อย่างมีนัยสำคัญ

เมื่อพิจารณาปฏิสัมพันธ์ทางสังคมเศรษฐกิจก็จะเห็นถึงความต่างทั้งรูปแบบและเนื้อหาที่ระหว่าง สังคมเศรษฐกิจแบบของชาวนา กับ โลกยุคใหม่ ความเคลื่อนไหวของสังคมชาวนาจะให้ค่าความสัมพันธ์ทางจิตใจระหว่างมนุษย์ด้วยกันกว่า “มูลค่าวัตถุ” ความสัมพันธ์ทางเศรษฐกิจมักจะผูกโยงกับความเชื่อ/จารีตอย่างแนบแน่น สาระสำคัญนี้ยากจะหาคำอธิบายจากระบบทุนนิยมที่เข้าไม่ถึงโลกของชาวนา จารีตของระบบเศรษฐกิจชาวนาจึงถูกเหมารวม/ทำความเข้าใจอย่างมักง่ายว่าเป็นเรื่องของ ความล้าหลัง บุพกาล และไม่มีระบบระเบียบแบบแผนเชิงมูลค่า ไร้ความแน่นอนในปฏิสัมพันธ์ที่พึงมีต่อกัน ฯลฯ ทั้งที่ในความเป็นจริงแล้วมันเป็นเรื่องของสภาวะที่ระบบเศรษฐกิจใหม่ไม่เข้าใจโลกของชาวนา จึงสร้างวาทกรรมขึ้นมาเบียดขับ/ปิดกั้น/กดทับให้ฐานคิดดังกล่าวพ้นไปจากความเข้าใจ เพื่อจะได้แสดงความเหนือกว่า/ทำให้โลกยุคใหม่หมดความสนใจไปอย่างมีนัยสำคัญ

นี่คืออุปสรรคที่ทำให้การเชื่อมต่อ “โลกของชาวนา” กับ “สังคมเศรษฐกิจยุคใหม่” สะดุดลงจนทำให้เอารัดเอาเปรียบกันอย่างบ้าคลั่งในความสัมพันธ์ทางเศรษฐกิจ !

Related Posts

มะเขือในครัวไทย
คนสร้างพิณ พิณสร้างคน โดยอาจารย์ทรงศักดิ์ ประทุมสินธุ์
วิธีระงับโกรธ

Leave a Reply

This site uses Akismet to reduce spam. Learn how your comment data is processed.

WP2Social Auto Publish Powered By : XYZScripts.com