น้ำหมากนาว

“ชัด การชนะ” : เรื่อง / ศิลป์วัตร วิศาลศักดิ์ : ลายเส้น


การทำมาหากินของผู้คน “ทางอีศาน” มักจะใช้ภูมิปัญญาเข้ามาเกี่ยวข้องอยู่ทุกเรื่อง เช่นการทำเครื่องมือจับสัตว์ การปรุงอาหาร การถนอมอาหารไว้กินนาน ๆ รวมถึงการเลือกพืชผักตามธรรมชาติ มาเป็นเครื่องเคียงกับอาหารประเภทต่าง ๆ ล้วนแต่เป็นการใช้ภูมิปัญญาทั้งสิ้น นายแพทย์แผนปัจจุบันเคยรวมกลุ่มศึกษาเรื่องพฤติกรรมการกินอาหารของ “คนทางอีศาน” เช่น การกินลาบ ก้อย ซึ่งมีโปรตีนจากเนื้อสัตว์ล้วน ๆ ถ้าคนกินโปรตีนมากเกินไป จะทำให้เกิดโรคกระดูกผุได้ แต่ “คนทางอีศาน” เขาก็มีวิธีกำจัดโปรตีนให้น้อยลงโดยกินผักที่มีรสฝาดตามท้องถิ่นที่เกิดเองตามธรรมชาติ เช่น ผักเม็ก ผักกระโดน ผักอีเลิด (ชะพลู) สะเดา หรือผักที่มีรสฝาดอื่น ๆ อีกนับไม่ถ้วน ซึ่งนายแพทย์ทั้งหลายสรุปว่าการกินผักที่มีรสฝาด ซึ่งมีสาร “ออกซาเลต” มาก สารตัวนี้จะไปกำจัดโปรตีนให้ลดลง ทำให้ไม่เกิดผลเสียต่อกระดูกได้ คนโบราณทางอีศานยังรู้อีกว่า ถ้ากินผักรสฝาดมาก แต่กินอาหารมีโปรตีนน้อย สารออกซาเลตจะก่อให้เกิดโรคนิ่วได้ นายแพทย์ยุคปัจจุบันจึงยอมรับ และทึ่งในภูมิปัญญาของผู้คน “ทางอีศาน” ที่เขาคิดเขาใช้กันมานานเป็นร้อยเป็นพันปีมาแล้ว

พ่อเฒ่าพัน ผู้มากล้นทางภูมิปัญญา ได้ศึกษาค้นคว้า สอนลูกสอนหลานให้รู้จักคิด รู้จักใช้ภูมิปัญญาที่บรรพบุรุษได้บอกสอนสืบต่อกันมา จนชาวบ้านต่างยอมรับในภูมิรู้ของพ่อเฒ่าพันมาก พ่อเฒ่าพันแกมีลูกเขยชื่อ บักทิดแพง ซึ่งเป็นชาวบ้าน ทำไร่ ทำนา ไม่ได้เล่าเรียนสูงเหมือนคนอื่น แต่มันก็ชอบศึกษาเรื่องภูมิปัญญาชาวบ้าน ตามแนวทางของพ่อเฒ่าพันที่บอกสอนมาหลายเรื่องอย่างต่อเนื่อง จนเกิดผลดีต่อการทำมาหาเลี้ยงชีพได้อย่างราบรื่นเรื่อยมา

“แพงเอ้ย ยามนี้หน่อไม้มีหลาย ไปหาไปสับมาเฮ็ดหน่อไม้ส้ม (หน่อไม้ดอง) ไว้กินแหน่เด้อ ! ”

พ่อเฒ่าพันบอกบักทิดแพง บักทิดแพงก็ไม่รอช้า ไปจัดการหาหน่อไม้ไผ่ตาม หัวไร่ปลายนา มาจัดแจงเพื่อทำหน่อไม้ส้ม (หน่อไม้ดอง)ทันทีตามที่พ่อเฒ่าพันบอก พ่อเฒ่าพันก็ชื่นชมบักทิดแพงยิ่งนัก ที่มันเป็นคนว่าง่าย บอกสอนได้…

“เอามีดฝานหน่อไม้ อย่าให้มันบางหลายเด้อ ให้เห็นเป็นแท่งเป็นต่อนได้เคี้ยวแหน่ มันจั่งแซบ” พ่อเฒ่าพันยํ้า บักทิดแพงก็ทำตามที่พ่อเฒ่าบอก โดยฝานเป็นแว่นบ้าง เป็นแท่ง เป็นท่อนเล็ก ๆ บ้าง ให้พอดีคำและเคี้ยวได้สะดวก

“เออ…แพง…โต๋ ฮู้วิธีเฮ็ดหน่อไม้ส้ม โดยบ่ให้หน่อไม้แหล่ (เขียวคลํ้า) ฮึบ่ ?” พ่อเฒ่าพันตั้งกระทู้ถามบักทิดแพง

“บ่ฮู้…บ่จั๊ก!” บักทิดแพงตอบห้วน ๆ พ่อเฒ่าพันก็ว่าต่อ…

“ถ้าโต๋บ่ฮู้ พ่อสิบอกวิธีเด้อ…มันเป็นภูมิปัญญามาแต่โบ๋ราณ อาหารบางอย่างโดยเฉพาะหน่อไม้ หัวปลีเวลานำมาปรุง หรือประกอบอาหาร มักสิแหล่ ดำ เขียวคลํ้า บ่เป็นต๋าแซบ (ไม่น่ากิน ไม่น่าอร่อย) คนทางอีศานเขาแก้ได้โดยใช้นํ้าหมากนาว ซึ่งถ้าบีบนํ้าหมากนาวใส่นํ้าแช่ไว้ หน่อไม้ หรือหัวปลีสิบ่แหล่เลย…ให้โต๋จื่อจำเอาไว้ แหม่นหยังคือกัน ถ้าบ่อยากให้แหล่ นํ้าหมากนาวซ่อยบ่ให้แหล่ได้เสมอ!”

“แหม่นบ้อ พ่อเฒ่า?” บักทิดแพงแย้งทันที

“อีหลี เซื่อพ่อโลด!” พ่อเฒ่าพันยืนยัน

“ถ้าหำแหล่เด๋? บีบหมากนาวใส่ หำก่ะสิขาวขึ้นตี้!”บักทิดแพงว่า

 

พ่อเฒ่าพันได้ยินแล้วลมออกหู “บักแพง! บักห่ากิ๋นหัวมึง!”

 

Related Posts

รักลูก
ต้นไม้กลิ่นเหม็น
อู่อารยธรรมอีสาน “อุบลราชธานี” เมืองนักปราชญ์
WP2Social Auto Publish Powered By : XYZScripts.com