กู่สันตรัตน์ มณีแห่งนครจำปาศรี

กู่สันตรัตน์

มณีแห่งนครจำปาศรี


เมืองโบราณ นครจำปาศรี อยู่ในพื้นที่อำเภอนาดูน จังหวัดมหาสารคาม ตัวเมืองมีลักษณะเป็นรูปสี่เหลี่ยมผืนผ้า ตรงมุมมน กว้างประมาณ ๑,๕๐๐ เมตร และยาวประมาณ ๒,๗๐๐ เมตร ปรากฏร่องรอยผู้คนเข้ามาอยู่อาศัยตั้งแต่ก่อนสมัยทวารวดี สืบเนื่องมาสมัยทวารวดี และเรื่อยมาจนถึงสมัยขอมโบราณ

สมัยก่อนทวารวดี หลักฐานที่พบคือของใช้ต่าง ๆ ของคนสมัยนั้น สมัยทวารวดีพบคูน้ำ คันดิน และเครื่องมือของใช้อย่างลูกปัดอันเป็นเอกลักษณ์สมัยทวารวดี ส่วนสมัยขอมโบราณพบอโรคยศาล ซึ่งปัจจุบันเรียกว่ากู่สันตรัตน์ และยังพบประติมากรรมรูปเคารพอีกหลายรายการเป็นหลักฐานยืนยันการมีอยู่จริงของผู้คน

ความหมายของ อโรคยศาล สุจิตต์ วงษ์เทศ อธิบายว่าเป็นคำมาจากภาษาบาลี แปลว่า “ศาลาไร้โรค” หมายถึง สถานบำบัดรักษาคนในสมัยก่อน สมัยนั้นการรักษาไม่ได้รักษาเหมือนในโรงพยาบาลในปัจจุบัน แต่เป็นการรักษาด้วยสมุนไพร การนวด เพื่อให้ผู้เจ็บไข้ได้ป่วยทุเลาลงหรือหายได้ โดยมีหมอสมุนไพร หมอนวด หมอตำแย และหมอด้านต่าง ๆ พูดง่าย ๆ ตามภาษาชาวบ้านว่า อโรคยศาล เป็นสถานบำบัดแบบบ้าน ๆ ประเภท “ปวดท้องข้องใจไข้เจ็บเหน็บเหนื่อยเมื่อยล้า” ที่สร้างความทรมานให้ผู้คน นั่นเอง โรคต่าง ๆ สมัยเก่าก่อนเป็นโรคเมืองร้อนทั่วไป โรคในถิ่นแถวบ้านเราสมัยนั้นก็เช่นไข้ป่า ท้องเสีย เป็นต้น

อโรคยศาล หรือที่ปัจจุบันเรียกว่ากู่สันตรัตน์แห่งนี้ ตั้งอยู่ในพื้นที่ ต.สันตรัตน์ อ.นาดูน จ.มหาสารคาม สร้างในสมัยพระเจ้าชัยวรมันที่ ๗ แห่งอาณาจักรขอมโบราณ ราวพุทธศตวรรษที่ ๑๘ ในจารึกปราสาทพระขรรค์ด้านที่ ๓ โศลกที่ ๓๑ ระบุว่า จำนวนอโรคยศาลมีทั้งสิ้น ๑๐๒ แห่ง ที่ตั้งของอโรคยศาลมีแนวการปลูกสร้างตั้งแต่นครธมรายเรื่อยมาถึงปราสาทหินพิมาย

ในจารึกสมัยพระเจ้าชัยวรมันที่ ๗ ระบุด้วยว่า อาณาบริเวณของอโรคยศาลแต่ละแห่งมีเจ้าหน้าที่ดูแลด้านต่าง ๆ อาทิ หมอรักษาคนไข้ผู้ช่วยหมอ คนเก็บสมุนไพร พ่อครัว คนทำความสะอาด คนปรุงยา และคนจัดเครื่องถวาย

คนจัดเครื่องถวาย สมัยนั้นน่าจะมีความจำเป็นมาก เพราะการรักษามิเพียงแต่รักษาอาการทางร่างกายอย่างเดียว หากต้องรักษาอาการทางใจด้วย หรือแม้กระทั่งสร้างความมั่นใจ สถานที่จัดเครื่องถวายอยู่ที่ไหน คำตอบคืออยู่ในอโรคยศาลอย่างตัวอาคารกู่สันตรัตน์นั่นเอง เพราะภายในอโรคยศาลทุกแห่งนักโบราณคดีชี้ว่า เป็นที่ประดิษฐานพระไภษัชยคุรุไวฑูรยประภาผู้ประทานความสุขและความไม่มีโรค ตามความเชื่อของพุทธศาสนิกชนฝ่ายมหายาน ดังที่เราประจักษ์แจ้งกันแล้วว่า พระเจ้าชัยวรมันที่ ๗ ทรงนับถือศาสนาพุทธ ฝ่ายมหายาน ส่วนเครื่องที่จัดถวาย อาจเป็นไปได้ทั้งเครื่องถวายประจำวัน และเครื่องประกอบพิธีเมื่อมีการรักษา

ข้าวของที่เป็นเครื่องถวาย ในศิลาจารึกตาพรหมและจารึกพระขรรค์ ซึ่งเป็นจารึกสมัยพระเจ้าชัยวรมันที่ ๗ ระบุว่า มีทั้งไม้จันท์ น้ำมันสนยางสน ไม้หอมต่าง ๆ และการบูร ส่วนยาที่ปรากฏชื่อในจารึกล้วนแต่เป็นสมุนไพร อาทิ ในจารึกปราสาทตาพรหม มีระบุชื่อสมุนไพรไว้ด้วยอาทิ ขิงแห้ง ดีปลี มหาหิงส์ เป็นต้น

ในเมื่อกู่สันตรัตน์เป็นเสมือนสถานที่ประกอบพิธี แล้วสถานที่รักษาคนไข้อยู่ที่ไหน คำตอบก็คือ ต้องมีอาคารสำหรับให้คนเข้าพักรักษาในอาณาบริเวณใกล้เคียง เพราะสร้างด้วยไม้จึงไม่เหลือมาให้คนรุ่นหลังได้พบเห็น และยังมีสิ่งที่พบบริเวณใกล้เคียงกับอโรคยศาลมักเป็นประเภทประติมากรรมรูปเคารพ อย่างที่กู่สันตรัตน์พบ พระวัชรธร พระอวโลกิเตศวร พระวัชรปาณีทรงครุฑ และพระยมทรงกระบือ เป็นต้น

***

อ่านเรื่อง กู่สันตรัตน์ มณีแห่งนครจำปาศรี ฉบับเต็มได้ในคอลัมน์ อีศานโจ้โก้

นิตยสารทางอีศาน ฉบับที่ ๑๐๕ เดือนมกราคม ๒๕๖๔

Related Posts

ปิดเล่ม ทางอีศาน 105
สิงหา-กันยา : สองศรีพี่น้องเพลงพิณ
“เมืองเลยฉันรักเธอ” เสียงแผ่นดิน สื่อสารสุขไทเลย
WP2Social Auto Publish Powered By : XYZScripts.com