ก่อนเป็น “อีสาน” และเจ้าแก้วมงคลสร้างเมืองทุ่ง (ตอนจบ)

ก่อนเป็น “อีสาน” และเจ้าแก้วมงคลสร้างเมืองทุ่ง (ตอนจบ)

อนุสาวรีย์ พระรัตนวงษา (ท้าวเชียง) เจ้าเมืองสุวรรณภูมิ คนแรก
ที่อำเภอสุวรรณภูมิ จังหวัดร้อยเอ็ด

จากความตอนแรกจะเห็นได้ว่า เมื่อสิ้นกษัตริย์ที่เข้มแข็งแล้วอาณาจักรล้านช้างต้องพบกับการจลาจล การแย่งชิงราชสมบัติ และด้วยเหตุนี้อาณาจักรล้านช้างจึงแตกแยกออกเป็น ๓ อาณาจักร ถูกสยามที่มีความเข้มแข็งทั้งทางด้านทหาร เศรษฐกิจ อาวุธยุทโธปกรณ์เข้าครอบครองและผนวกเข้าเป็นส่วนหนึ่งในเวลาต่อมา

การอพยพของกลุ่มเจ้าหัววัดโพนสะเม็ก

หลังสิ้นแผ่นดินของพระเจ้าสุริยวงศาธรรมิกราช พ.ศ.๒๒๓๘ อาณาจักรล้านช้างก็เข้าสู่การจลาจล เนื่องจากพระเจ้าสุริยวงศาธรรมิกราชได้สั่งประหารชีวิตเจ้าราชบุตรซึ่งเป็นพระราชโอรสเพียงพระองค์เดียว เหตุเพราะกระทำผิดด้วยการทำมิจฉาจารกับเมียท้าวโกผู้เป็นมหาดเล็กของพระราชบิดา มีผลให้อาณาจักรล้านช้างขาดผู้ขึ้นครองราชย์สืบต่อจากพระสุริยวงศาธรรมิกราช

ด้วยเหตุนี้พระยาเมืองจันทน์ซึ่งเป็นเสนาบดีผู้ใหญ่ได้แย่งชิงราชสมบัติขึ้นเป็นกษัตริย์ และได้ใช้พระราชอำนาจกระทำบีบบังคับให้พระนางสุมังคลา พระราชธิดาของพระเจ้าสุริยวงศาธรรมิกราชให้นางยอมเป็นมเหสี ทั้ง ๆ ที่นางก็ทรงพระครรภ์อยู่ แต่พระนางหายอมไม่ จึงได้ไปขอพึ่งพาเจ้าหัววัดโพนสะเม็กเจ้าหัวเกรงว่าจะมีความครหาติเตียน จึงได้ให้นางไปอยู่ที่ภูสะง้อหอคำ และเมื่อครรภ์ครบทศมาสก็ทรงประสูติพระราชโอรส สามัญชนเรียกว่า “เจ้าหน่อกษัตริย์” ฝ่ายพญาเมืองจันทน์เกรงว่าเจ้าหัววัดโพนสะเม็กจะเป็นภัยต่อบัลลังก์เพราะเป็นที่เคารพของไพร่พลบริวารจึงคิดกำจัดเสีย แต่เจ้าหัวแจ้งในอุบายจึงพาญาติโยมไพร่พลบริวารประมาณ ๒,๐๐๐ คนเศษ อพยพออกจากเวียงจันทน์มุ่งสู่ภาคใต้ของลาว

เป็นที่น่าสังเกตว่า การอพยพของกลุ่มนี้เป็นการหนีราชภัย ขณะเดียวกันก็ต้องการความเป็นอิสระ ในที่สุดได้มาตั้งถิ่นฐานอย่างมั่นคงขึ้นที่เมืองจำปาศักดิ์ราว พ.ศ.๒๒๕๒ การอพยพมาตั้งหลักแหล่งที่จำปาศักดิ์ครั้งนี้ ถือกันว่าอพยพผู้คนครั้งใหญ่ของลาวครั้งหนึ่ง และมีผลให้วัฒนธรรมลาวแผ่ขยายเหนือวัฒนธรรมพื้นเมืองดั้งเดิมในจำปาศักดิ์ นั้นก็คือ ข่า กวย เขมร

ต่อมาใน พ.ศ.๒๒๔๗ เจ้าหัวได้สนับสนุนให้เจ้าหน่อกษัตริย์ขึ้นครองจำปาศักดิ์ ทรงพระนามว่า “เจ้าสร้อยศรีสมุทรพุทธางกูร” หลังจากนั้นก็ได้จัดให้ผู้คนออกไปรักษาด่านตามตำบลต่าง ๆ ซึ่งชุมชนเหล่านี้ต่อมาเติบโตเป็นเมืองต่าง ๆ ในอีสาน เช่น ให้จารย์หวดไปรักษาบ้านโขงซึ่งเป็นเกาะต่อมาเรียกว่าเมืองสีทันดรให้จารย์แก้วไปรักษาบ้านทุ่ง ต่อมาเป็นเมืองสุวรรณภูมิ (ปัจจุบันคืออำเภอสุวรรณภูมิ จังหวัดร้อยเอ็ด) ให้ท้าวหลวง บุตรพระละงุมไปรักษาบ้านโขงเจียม เป็นต้น

การอพยพเข้ามาตั้งชุมชนของกลุ่มจารย์แก้วเมืองทุ่ง

การตั้งชุมชนของกลุ่มอาจารย์แก้วเริ่มตั้งแต่เมื่อประมาณ พ.ศ.๒๒๓๓ เมื่อสิ้นรัชสมัยพระเจ้าสุริยวงษา ได้เกิดจลาจลแย่งชิงอำนาจในราชสำนักเวียงจันทน์ เจ้าหัวสีดาแห่งวัดโพนสะเม็ก ซึ่งมีคนเคารพนับถือมาก ได้พาบริวารอพยพหนีราชภัยลงมาตามลุ่มน้ำโขง ในที่สุดได้มาตั้งถิ่นฐานอย่างมั่นคงขึ้นที่เมืองนครจำปาศักดิ์ราว พ.ศ.๒๒๕๒ กลุ่มวัฒนธรรมลาวโดยการนำของเจ้าหัววัดโพนสะเม็กได้เพิ่มบทบาททางการเมืองการปกครองเหนือคนพื้นเมือง ซึ่งเป็นพวกวัฒนธรรม ข่า ขอม กวย ขึ้นมาอย่างรวดเร็วแต่คนเหล่านั้นหาได้ยอมรับพวกวัฒนธรรมลาวที่เข้ามาโดยดุษฎีไม่ ปรากฏว่ามีการซ่องสุมผู้คนก่อความเดือดร้อน ความวุ่นวายอยู่เสมอ เจ้าหัวแห่งวัดโพนสะเม็กปฏิบัติภารกิจทางการปกครองไม่สะดวก เนื่องจากเป็นบรรพชิต จึงได้อัญเชิญเจ้าหน่อกษัตริย์ซึ่งเป็นโอรสของนางสุมังคละ และเป็นพระนัดดาของพระเจ้าสุริยวงศาแห่งเวียงจันทน์มาปกครองเมืองจำปาศักดิ์เมื่อ พ.ศ.๒๒๕๖ ธีรชัย บุญมาธรรม. “ความเปลี่ยนแปลงในอีสาน พุทธศักราช ๒๒๕๖-๒๔๕๐.” มหาสารคาม; สารคามการ พิมพ์: ๒๕๕๕, หน้า ๗

และหลังจากนั้นได้ส่งไพร่พลบริวาร ไปตั้งชุมชนต่าง ๆ ขึ้นเป็นเมืองเพื่อสะดวกต่อการปกครองซึ่งมีดังนี้

บ้านดอนโขง (อยู่กลางแม่น้ำโขง) เป็นเมืองสีทันดร (จารย์หวด เป็นเจ้าเมือง)

บ้านโพน เป็นเมืองสาละวัน (นายมั่น เป็นเจ้าเมือง)

บ้านหางโค ปากน้ำเซกอง เป็นเมืองเชียงแตง (ท้าวสุด เป็นเจ้าเมือง)

บ้านแก้วอาเฮิม เป็นเมืองทองคำใหญ่ (ท้าวพรม เป็นเจ้าเมือง)

บ้านอิ้ดกระบือ เป็นเมืองอัตตปือ (จารย์โสม เป็นเจ้าเมือง)

บ้านโขงเจียง เป็นเมืองโขงเจียม (ท้าวหลวงเป็นเจ้าเมือง)

บ้านทุ่ง (ภาษาอีสานออกเสียงว่า “ท่ง”) เป็นเมืองสุวรรณภูมิ (จารย์แก้ว เป็นเจ้าเมือง)

ชุมชนบ้านทุ่งซึ่งจารย์แก้วเป็นผู้นำนับว่าเป็นชุมชนกลุ่มแรก ๆ ที่อพยพเข้ามาตั้งถิ่นฐาน

ในบริเวณที่ราบสูงโคราช ตั้งแต่ พ.ศ.๒๒๕๖ ในระยะแรกนี้มีไพร่พลชายหญิงประมาณ ๓,๐๐๐ เศษ

 และจำนวนประชากรได้เพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็วจึงได้ขยับขยายออกไปตั้งเมืองอื่น ๆ อีกจำนวนมาก

จารย์แก้วครองเมืองทุ่งได้ ๑๒ ปี มีอายุ ๘๒ ปี (ปีนั้นคือจุลศักราช ๑๐๘๗ ปีมะเส็ง สัปตศก ตรงกับ พ.ศ.๒๒๖๘) ก็ถึงแก่กรรม มีบุตรชาย ๒ คนคือ ท้าวมืด (คลอดเมื่อวันสุริยุปราคา) และท้าวทน เจ้าสร้อยศรีสมุทพุทธางกูรจึงได้แต่งตั้งให้ท้าวมืดผู้พี่เป็นเจ้าเมือง ให้ท้าวทนผู้น้องเป็นอุปฮาด ปกครองเมืองทุ่งต่อไป

จุลศักราช ๑๑๒๕ (พ.ศ.๒๓๐๖) ปีมะแม เบญจศก ทางฝ่ายเมืองทุ่ง ท้าวมืดผู้เป็นเจ้าเมืองถึงแก่กรรม ท้าวมืดมีบุตรสองคน คือ ท้าวเชียงและท้าวสูน เมืองจันและกรมการมีใบบอกไปยังเมืองจำปาศักดิ์ขอยกท้าวทน (น้องชายท้าวมืด) ขึ้นเป็นอุปฮาดรักษาเมืองต่อไป อยู่ได้ประมาณสี่ปี (พ.ศ.๒๓๑๐) ฝ่ายท้าวเชียง ท้าวสูน (บุตรท้าวมืดเจ้าเมืองผู้ถึงแก่กรรม) มีความวิวาทบาดหมางกันกับท้าวทน ผู้อา จึงคบคิดกับกรมการเมืองพากันไปพึ่งพระบรมโพธิสมภาร สมเด็จพระบรมราชาที่ ๓ ณ กรุงศรีอยุธยา ขอกำลังขึ้นมาปราบปรามท้าวทน โปรดเกล้าให้พระยากรมท่า พระยาพรหม เป็นข้าหลวงขึ้นไปจัดการเรื่องดังกล่าว

ครั้นจวนจะมาถึงเมืองทุ่ง ฝ่ายท้าวทนรู้ข่าวเข้าก็พาครอบครัวอพยพไปอยู่ ณ บ้านกุดจอก พระยาพรหม พระยากรมท่า เข้าตั้งพักอยู่ในเมืองแล้ว จึงบอกขอท้าวเชียงเป็นเจ้าเมืองท้าวสูนเป็นอุปฮาด รักษาบ้านเมืองต่อไป  จากนี้จะเห็นได้ว่าการแก้ไขปัญหาความขัดแย้งภายในเมืองทุ่งนั้น มีการดึงเอาอำนาจจากภายนอกมาช่วยในการแก้ไข ด้วยเหตุนี้จึงทำให้เมืองทุ่งต้องหย่าขาดจากการทำราชการขึ้นจำปาศักดิ์ และในทางตรงกันข้ามเมืองทุ่งก็เข้าอยู่ในอำนาจการปกครองของราชสำนักกรุงศรีอยุธยาตั้งแต่นั้นมา

ท้าวเชียงปกครองเมืองทุ่งต่อมาจนถึง พ.ศ.๒๓๑๙ เห็นว่าบริเวณดังกล่าวมีสภาพที่ตั้งไม่เหมาะสมเนื่องจากเป็นที่น้ำไหลแรง ประกอบกับจำนวนประชากรมีมากขึ้นตามลำดับ จึงย้ายที่ตั้งมาอยู่ที่ดงท้าวสาร ห่างจากเมืองทุ่งเดิมประมาณ ๑๕๐ เส้น พร้อมกับมีใบบอกลงมายังราชสำนักกรุงธนบุรีขอตั้งดงท้าวสารเป็นเมือง ราชสำนักกรุงธนบุรีทรงโปรดเกล้าฯอนุญาต และขนานนามเมืองใหม่ว่า “สุวรรณภูมิ” ให้ท้าวเชียงเป็นพระรัตนวงษาเจ้าเมืองสุวรรณภูมิคนแรก แต่เป็นลำดับที่ ๔ นับจากการตั้งเมืองทุ่ง

ต่อมาเพียงแค่ปีเดียว คือ พ.ศ.๒๓๑๘ ฝ่ายท้าวทนผู้อาซึ่งพาบริวารตั้งอยู่บ้านดงเมืองจอก เห็นว่าที่ดังกล่าวไม่อาจขยับขยายได้ เพราะจำนวนประชากรเริ่มมีมากขึ้น จึงมีใบบอกไปยังราชสำนักกรุงธนบุรี ขอยก “บ้านกุ่ม” ซึ่งเคยเป็นเมืองเก่าขึ้นเป็นเมือง ทางราชสำนักกรุงธนบุรีจึงให้ท้าวทนเป็นพระขัตติยวงษาเจ้าเมือง ยกบ้านกุ่มเป็น “เมืองร้อยเอ็ด” พร้อมทั้งปักปันเขตแดนเพื่อป้องกันการทะเลาะวิวาทระหว่างเมืองสุวรรณภูมิและเมืองร้อยเอ็ด ตามลำดับพงศาวดารหัวเมืองมณฑลอีสาน ระบุว่า

“ตั้งแต่ปากน้ำลำพาชี ตกลำน้ำมูล ขึ้นตามลำน้ำพาชี ถึงปากห้วยดางเดีย ขึ้นไปทุ่งลาดไถ ไปบ้านขอเหล็ก บ้านแก่งทรายหินตั้งแต่ถ้ำเต่า เหวฮวก ดวงสวนอ้อย บึงกุยศาลาอีเก้ง ภูเม้ง หนองม้วงคลุ้ม กุ่มปัก ศาลาหักมูลเดง ประจบปากน้ำพาชี ตกลำมูลนี้เป็นเขตเมืองสุวรรณภูมิ”

และอาณาเขตของเมืองร้อยเอ็ด ดังนี้

“ตั้งแต่ลำน้ำยางตกลำน้ำพาชี ขึ้นภูดอกซ้อน หินทอด ยอดยาง ดู่สามต้น อ้นสามขวาย สนามหมาดหญ้า ผ้าขาว พันนา ฝายพญานาคภูเมง มาประจบหนองแก้วศาลาอีเก้งมาบึงกุยนี้เป็นอาณาเขตเมืองร้อยเอ็ด”

การอพยพผู้คนจากเมืองสุวรรณภูมิไปตั้งเป็นเมืองหาได้จบลงเพียงเท่านี้ ยังปรากฏว่ามีการขยับขยายผู้คนออกไปตั้งชุมชนอีกหลายแห่งเช่น เมืองหนองหาร ใน พ.ศ.๒๓๓๐

“ลุศักราช ๑๑๔๙ ปีมะแมนพศก ท้าวเชียงผู้เป็นเจ้าเมืองสุวรรณภูมิถึงแก่กรรม มีบุตรสองคน ชื่อท้าวโอะ กับท้าวเพ กับบุตรหญิงอีก ๔ คน จึงโปรดเกล้าตั้งให้ท้าวสูนน้องท้าวเชียงเป็นเจ้าเมืองสุวรรณภูมิ และโปรดตั้งท้าวเพบุตรท้าวเชียงเจ้าเมืองสุวรรณภูมิคนเก่าเป็นพระพิทักษ์เขื่อนขันธ์เจ้าเมืองหนองหาร (เป็นเมืองเก่าในแขวงมณฑลอุดร) แยกเอาไพร่เมืองสุวรรณภูมิไป ๖๐๐”

ลุถึง พ.ศ.๒๓๓๕ ซึ่งห่างจากปีที่ตั้งเมืองหนองหารเพียง ๕ ปี ทางเมืองสุวรรณภูมิก็ได้แยกผู้คนมาตั้งเมือง “ชลบท” ปัจจุบันเรียก “ชนบท”

“ลุจุลศักราช ๑๑๕๔ ปีชวด จัตวาศก ฝ่ายทางเมืองสุวรรณภูมิ มีคนลอบฟันท้าวสูนเป็นเจ้าเมืองถึงแก่กรรม ท้าวเพียกรมการจับตัวทิดโคตรพิจารณาได้ความว่าเป็นสัตย์ว่าเป็นผู้ฟัน ทิดโคตรถูกเฆี่ยนตายอยู่กับคา กรมการจึงมีใบบอกลงมายังกรุงเทพฯ โปรดเกล้าฯ ตั้งท้าวอ่อนบุตรพระขัตติยวงศา (ทน) เจ้าเมืองร้อยเอ็ดคนเก่า ซึ่งได้มาถวายตัวเป็นมหาดเล็กอยู่ ณ กรุงเทพฯ นั้นเป็นเจ้าเมืองสุวรรณภูมิพระราชทานหมวกตุ้มปี่กระบี่บั้งทองเป็นเกียรติยศ ในปีนั้นเมืองแสนสุวรรณภูมิไม่ถูกกับเจ้าเมือง อพยพมาตั้งอยู่บ้านหนองกองแก้วสมัครทำราชการขึ้นอยู่กับเจ้าพระยานครราชสีมา เจ้าพระยานครราชสีมาจึงกราบบังคมทูลตั้งให้เมืองแสนเป็นเจ้าเมือง ขอยกบ้านหนองกองแก้วขึ้นเป็นเมือง จึงโปรดเกล้าฯ ตั้งให้เมืองแสนเป็นที่พระจันตประเทศ ยกบ้านหนองกองแก้วขึ้นเป็นเมืองชนบท (แขวงมณฑลอุดร) ขึ้นเมืองนครราชสีมา แบ่งเอาดินแดนเมืองสุวรรณภูมิไปตั้งแต่ตำบลกู่ทองไปจนถึงหนองกองแก้ว เป็นเขตเมืองชนบทแต่ครั้งนั้น”๑๐

ต่อมาใน พ.ศ.๒๓๔๐ ถัดจากการตั้งเมืองชลบท ๕ ปี เพียเมืองแพนบ้านชีโล่น เห็นเมืองแสนได้เป็นเจ้าเมืองก็อยากจะเป็นเจ้าเมืองบ้างจึงเกลี้ยกล่อมผู้คนไปตั้งเมือง

ลุจุลศักราช ๑๑๕๙ ปีมะเส็งนพศก ฝ่ายเพียเมืองแพนบ้านชีโล่นเมืองสุวรรณภูมิ เห็นว่าเมืองแสนได้เป็นเจ้าเมืองชนบทก็อยากจะได้เป็นบ้าง จึงเกลี้ยกล่อมผู้คนได้อยู่ในบังคับสามร้อยเศษ จึงสมัครขึ้นอยู่ในเจ้าพระยาราชสีมาแล้วขอตั้งบ้านบึงบอนเป็นเมือง เจ้าพระยานครราชสีมาได้มีบอกมายังกรุงเทพฯ จึงโปรดเกล้าฯ ตั้งให้เมืองแพนเป็นที่พระนครบริรักษ์เจ้าเมือง ยกบ้านบึงบอนขึ้นเป็นเมืองขอนแก่น (มณฑลอุดร) ขึ้นเมืองนครราชสีมา”๑๑

ต่อมาอีก ๒ ปี คือ พ.ศ.๒๓๔๒ ทางฝ่ายเพีย ศรีปาก เพียเหล็กสะท้อน เพียไกรสอน เกลี้ยกล่อมผู้คนเข้าเป็นพวกได้เลขสองร้อยเศษ สมัครเข้าพระยานครราชศรีมา ยก “บ้านหมากเฟืองหนองหัวแรด” ซึ่งอยู่ทางริมเมืองพุทไทยสงเก่าเป็น “เมืองพุดไทยสง” ให้เมืองสุวรรณภูมิปันเขตแดนเมืองให้ ตั้งแต่ฟากลำพังชูทางตะวันตกไปถึงสำสะแอกเป็นเขตแดนเมืองพุดไทยสง๑๒

บทสรุป : การอพยพของกลุ่มจารย์แก้วเมืองทุ่ง

จากข้างต้นจะเห็นได้ว่าเหตุการณ์ที่มีส่วนทำให้เกิดการอพยพครั้งใหญ่ของกลุ่มเจ้าหัววัดโพนสะเม็กนั้น ก็คือ การสิ้นรัชกาลพระเจ้าสุริยวงศาธรรมิกราช อาณาจักรล้านช้างได้ถูกแบ่งแยกเป็น ๓ อาณาจักร คือ หลวงพระบาง เวียงจันทน์และจำปาศักดิ์ เหตุการณ์ดังกล่าวทำให้เจ้าหัววัดโพนสะเม็กตัดสินใจอพยพผู้คนออกจากเวียงจันทน์ และตั้งศูนย์กลางการปกครองขึ้นที่นครจำปาศักดิ์นัคบุรีศรี แล้วจึงส่งบรรดาเสนาอำมาตย์คนสนิทไปสร้างบ้านแปลงเมือง

เพื่อความสะดวกในการปกครอง เมืองที่ส่งกรมการเมืองคนสนิทไปปกครองนั้นมีดังนี้ บ้านดอนโขง (อยู่กลางแม่น้ำโขง) เป็นเมืองสีทันดร (จารย์หวด เป็นเจ้าเมือง) บ้านโพน เป็นเมืองสาละวัน (นายมั่น เป็นเจ้าเมือง) บ้านหางโคปากน้ำเซกอง เป็นเมืองเชียงแตง (ท้าวสุด เป็นเจ้าเมือง) บ้านแก้วอาเฮิม เป็นเมืองทองคำใหญ่ (ท้าวพรม เป็นเจ้าเมือง) บ้านอิ้ดกระบือ เป็นเมืองอัตตปือ (จารย์โสม เป็นเจ้าเมือง) บ้านโขงเจียงเป็นเมืองโขงเจียม (ท้าวหลวง เป็นเจ้าเมือง) และบ้านทุ่ง (ภาษาอีสานออกเสียงว่า “ท่ง”) เป็นต้น

ในส่วนของกลุ่มจารย์แก้วเมืองทุ่งก็อพยพผู้คนจากเมืองสุวรรณภูมิ ไปตั้งชุมชนอื่น ๆ อีกจำนวนมาก เช่น เมืองร้อยเอ็ด เมืองชลบท เมืองขอนแก่น เมืองพุทไธสง เมืองหนองหาน และเมืองโพนพิสัย เป็นต้น โดยผู้ที่จะได้รับการแต่งตั้งให้เป็นเจ้าเมืองนั้น จะต้องได้รับอนุญาตจากทางกรุงเทพฯ โดยการช่วยเหลือจากทางพระยานครราชสีมา

จากลำดับเหตุการณ์ดังกล่าวทำให้เห็นความสัมพันธ์เชิงอุปถัมภ์ได้อย่างชัดเจน แต่ในทางตรงกันข้ามกลับเป็นช่องทางที่จะทำให้ผู้ที่เป็นข้าราชการหรือกรมการเมืองชั้นผู้น้อย ใช้เป็นช่องทางในการที่จะเลื่อนฐานะของตนโดยการสมัครเลกเพื่อขอขึ้นสังกัดกับเมืองนครราชสีมา และตนก็จะได้รับตำแหน่งเจ้าเมืองตามปรกติกรมการเมืองชั้นผู้น้อยแทบจะไม่มีโอกาสที่จะเลื่อนฐานะขึ้นมาเป็นเจ้าเมือง หรือตำแหน่ง “อัญญาสี่” ได้แต่วิธีที่สมัครเข้าสังกัดเมืองนครราชสีมาสามารถทำให้บรรดากรมการเมืองชั้นผู้น้อยบรรลุความต้องการของตนนั้นคือ การก้าวขึ้นไปมีอำนาจบริหารภายในเมืองของตนซึ่งค่อนข้างมีอำนาจอย่างกว้างขวาง

อนุสาวรีย์เจ้าแก้วมงคล ที่วัดเจริญราษฎร์
อำเภอสุวรรณภูมิ จังหวัดร้อยเอ็ด

**

เชิงอรรถ

ธีรชัย บุญมาธรรม. “ความเปลี่ยนแปลงในอีสาน พุทธศักราช ๒๒๕๖-๒๔๕๐.” มหาสารคาม; สารคามการ พิมพ์: ๒๕๕๕, หน้า ๗

เพิ่งอ้าง, หน้า ๗

พระยาขัติยวงษา (เหลา ณ ร้อยเอ็ด). “พงศาวดาร อีสาน.” พิมพ์เผยแพร่โดยศูนย์วัฒนธรรม จังหวัด มหาสารคาม มกราคม : ๒๕๒๔, หน้า ๑๔

หม่อมอมรวงศ์วิจิตร. “พงศาวดารหัวเมืองมณฑลอีสาน.” ประชุมพงศาวดารเล่ม ๓ ภาค ๔ (คุรุสภา), หน้า ๑๙๕

เพิ่งอ้าง, หน้า ๑๙๙-๒๐๐

ธีรชัย บุญมาธรรม. “พัฒนาการของเมืองมหาสารคาม ช่วงเจ้าเมืองเป็นคนท้องถิ่น พ.ศ.๒๔๐๘-๒๔๕๕.” มหาสารคาม ; อภิชาตการพิมพ์ : ๒๕๕๔, หน้า ๓๒

หม่อมอมรวงศ์วิจิตร. “พงศาวดารหัวเมืองมณฑลอีสาน.” ประชุมพงศาวดาร เล่ม ๓ ภาค ๔ (คุรุสภา), หน้า ๒๐๕

อ้างแล้ว, หน้าเดิม

เพิ่งอ้าง, หน้า ๒๑๔

๑๐ เพิ่งอ้าง, หน้า ๒๑๖-๒๑๗

๑๑ หม่อมอมรวงศ์วิจิตร. “พงศาวดารหัวเมืองมณฑลอีสาน.” ประชุมพงศาวดารเล่ม ๓ ภาค ๔ (คุรุสภา), หน้า ๒๒๐

๑๒ เพิ่งอ้าง,หน้า ๒๒๑

******

นิตยสารทางอีศาน ปีที่ ๖ ฉบับที่ ๗๒ | เมษายน ๒๕๖๑

.
ราคาเล่มละ ๑๐๐ บาท
สมัครสมาชิก ครึ่งปี ๖๐๐ บาท
หนึ่งปี ๑,๑๐๐ บาท
ตลอดชีพ ๙,๕๐๐ บาท (ได้รับหนังสือย้อนหลัง)
.
สั่งซื้อ// ชำระเงิน // สอบถามเพิ่มเติม ได้ทาง
inbox หนังสืออีศาน m.me/166200246799901
line id : @chonniyom (มี@) คลิก https://lin.ee/amxqtvW
อีบุค ที่ www.mebmarket.com
โทร. 086-378-2516
บริษัท ทางอีศาน จำกัด
244/539 รามอินทราซอย 5 แขวงอนุสาวรีย์ เขตบางเขน กทม. 10220

Related Posts

ทางอีศาน 72 : ปิดเล่ม
วัฒนธรรมแถน (๔) : แถนในวัฒนธรรมมลายูดั้งเดิม
ข ว ย จี ห ล่ อ
WP2Social Auto Publish Powered By : XYZScripts.com