ขนมพื้นบ้านโบราณ ข้าวปาดงานบุญ

ขนมพื้นบ้านโบราณ ข้าวปาดงานบุญ

ข้าวปาด ภาพจาก เด่นตะวันข้าวปาดนาทม

ไทยเราล้วนมีวัฒนธรรมการกินที่ต่างกันออกไป สิ่งที่สามารถแสดงถึงความเป็นอัตลักษณ์ภูมิภาคอีสานเชื่อมต่อความสัมพันธ์อันดีงามระหว่างผู้คนเอาไว้ด้วยกันนั่นก็คือ อาหาร

บ้านน้ำฉ่า เป็นหมู่บ้านเล็ก ๆ ในตัวอำเภอหนึ่งของจังหวัดนครราชสีมา เป็นพื้นที่ที่ค่อนข้างมีความจำกัดทางวัตถุดิบ ข้าวเจ้าเป็นพืชที่ทนต่อสภาพแห้งแล้งได้ดี สามารถทำได้ทั้งนาปีและนาปรัง ดังนั้นอาหารส่วนใหญ่ของหมู่บ้านจึงได้มาจากการแปรรูปด้วยข้าวเจ้า ผู้สูงอายุที่นี่ส่วนใหญ่ล้วนมีความชำนาญในด้านการทำขนมที่ได้มาจากแป้งข้าวเจ้า สืบต่อกันมาเป็นเวลานาน จนเกิดเป็นภูมิปัญญาชาวบ้าน สร้างจินตนาการ นำไปสู่ประกอบอาหารได้หลากหลาย ดังที่เคยนำเสนอไปแล้วในเล่มฉบับก่อนหน้า

“ขนมข้าวปาด” ทำมาจากแป้งข้าวเจ้า เป็นขนมไทยพื้นบ้านเก่าแก่ของชาวโคราช มีสีเขียวสวยงาม ตามธรรมชาติซึ่งได้จากใบเตย  และยังจัดได้ว่าเป็นขนมไทยโบราณแบบดั้งเดิมที่หารับประทานได้ยาก มีส่วนประกอบหลักพื้นฐานสามอย่าง อันได้แก่ แป้ง กะทิ และน้ำตาลปี๊บ ซึ่งเป็นวัตถุดิบที่หาได้ง่ายตามท้องถิ่นมาตั้งแต่ในสมัยยุคสุโขทัย  ก่อนที่จะมาถึงในยุคสมัยกรุงศรีอยุธยา โดยการนำของชาวโปรตุเกสที่มีชื่อว่า “มารี ตองกีมาร์” หรือที่เรารู้จักในนามประวัติศาสตร์ไทย “เท้าทองกีบม้า” ซึ่งเป็นผู้ที่ประยุกต์การทำขนมไทย โดยการนำเอา “ไข่ไก่” มาเป็นส่วนผสมหลักในการทำขนม นั่นจึงเป็นสาเหตุที่ในยุคหนึ่ง ปรากฏชื่อขนมชนิดต่าง ๆ โดยมีชื่อเรียกนำหน้าว่า “ทอง” อยู่หลายชนิด เช่น ทองหยิบ ทองหยอด ฝอยทอง ฯลฯ

ข้าวปาด ในภาษาท้องถิ่นคนโคราช หมายถึง ขนมที่ทำให้สุกด้วยการกวนแป้งจนสุกแล้ว แต่ยังเหลวอยู่ จนสามารถตักปาดใส่ถาด หรือภาชนะอื่น ๆ ได้ คนโคราชรุ่นเก่าเรียกตามกันมาว่า  ข้าวปาด ส่วนคนรุ่นใหม่ในปัจจุบัน มักนิยมเรียกติดปากตามภาษาภาคกลางว่า ขนมเปียกปูน วิถีการกินอยู่ของอีสานเราเน้นภูมิปัญญาชาวบ้าน กินอยู่อย่างสมถะ เน้นความเรียบง่าย ไม่โอ่อ่าโอ่โถ หรือเพื่ออวดความมั่งมีของฐานะ กว่าการที่จะได้อาหารออกมาแต่ละชนิดให้เราได้รับประทานกัน เรียกได้ว่าต้องอาศัยทั้งแรงงานและหยาดเหงื่อ อีกทั้งความเหนื่อยยากของผู้คน และต้องอาศัยชำนาญบวกกับระยะเวลาในการปรุงอาหารพอสมควร ตั้งแต่ในขั้นตอนแรกในการเตรียมวัตถุดิบ การโม่แป้ง ซึ่งแป้งข้าวเจ้าเราได้จากเครื่องโม่หินแบบโบราณ ที่สามารถพบเห็นได้ในเพียงบางบ้านเท่านั้น ขั้นตอนการนวดแป้ง ไปจนกระทั่งถึงขั้นตอนของการกวน

วิธีการทำในขั้นตอนแรก คือ นำปลายข้าวเจ้าไปแช่น้ำจนนิ่มได้ที่ จากนั้นนำไปโม่ให้ละเอียด สมัยก่อนนิยมโม่เครื่องโม่หินแบบโบราณซึ่งมีขนาดใหญ่และหนักมาก จึงทำให้ยุคนี้นิยมใช้เครื่องโม่ไฟฟ้าแทน เมื่อโม่เสร็จแล้ว นำใส่ถุงผ้าดิบมัดปากถุงให้แน่น ใช้หินส่วนบนของโม่ทับไว้ เพื่อให้น้ำที่อยู่ในแป้งไหลออกจนหมด กระทั่งเหลือแต่เนื้อแป้ง เมื่อแห้งดีจึงนำมานวดกับน้ำปูนใส ผสมเข้ากับน้ำตาลและน้ำใบเตยลงไปด้วย ก่อนจะนำแป้งที่นวดไปกวนในหม้อเพื่อให้แป้งสุกซึ่งเป็นขั้นตอนสุดท้าย

ในระหว่างการกวนแป้งเมื่อยืนอยู่หน้าเตาร้อน สองมือถือ “ไม้พายยาว” อุปกรณ์หาได้ง่ายทำจากต้นไผ่สีเขียว บรรยากาศในการทำงานผู้คนสนุกสนาน ชาวบ้านมักจะร้องรำทำเพลง สนทนาพูดคุย  จนเกิดเสียงหัวเราะ เมื่อแป้งสุกได้ที่จะใสและมีความข้น พวกเด็ก ๆ เมื่อได้กลิ่นหอมลอยออกมาจากหน้าเตา จากแป้งข้าวเจ้าผสมกับกลิ่นของใบเตย ก็จะพากันหาภาชนะไปใส่ พวกผู้ใหญ่ก็จะใช้มีดตัดเป็นชิ้นสี่เหลี่ยมจัตุรัสเล็ก ๆ  โรยหน้าด้วยมะพร้าวขูดเป็นเส้น ๆ ผสมกับเกลือเล็กน้อย หลังจากนั้นก็พากันปูเสื่อนั่งล้อมวงรับประทานขนมกันอย่างเอร็ดอร่อย

เมื่อฤดูกาลงานบุญตามประเพณีในท้องถิ่นมาถึง ชาวบ้านจะออกมารวมตัวกัน เพื่อทำขนมข้าวปาด ลานวัดของหมู่บ้านแห่งนี้จึงมีความคึกคัก คลาคล่ำไปด้วยผู้คนมากมาย ชาวอีสานมีความเชื่ออย่างหนึ่งว่าผู้ที่มาช่วยกันทำงานจะได้อานิสงส์ผลบุญไปตาม ๆ กันด้วย ขนมข้าวปาดจำเป็นต้องอาศัยแรงคนในลักษณะเป็นการลงแขกช่วยกัน ทำให้เห็นภาพของการช่วยเหลือเกื้อกูล และมิตรภาพที่ดีต่อกันของผู้คนที่ปรากฏขึ้นภายในชุมชนแห่งนี้

Related Posts

ผักเม็ก ควรกินคู่กับเนื้อสัตว์
โคราชบ้านเอ็ง ปลาป่นบ้านฉัน
เมนูเด็ดจาก…หนัง
WP2Social Auto Publish Powered By : XYZScripts.com