ของจริงไม่ใช่อิงนิยาย
แผ่นเสียงขนาด 7 นิ้ว “เพลงอีสานลำเพลิน” ต้นฉบับเป็นนักข่าวบันเทิงสัมภาษณ์อาจารย์ “พงษ์ศักดิ์ จันทรุกขา” ลงในนิตยสาร “แฟน”
ด้วยความสัจจริง ผู้เขียนมีความคิดอยู่อย่างหนึ่งคือ การเป็นศิลปินไม่ว่าจะแขนงไหนก็เหมือนเป็นสื่ออีกสถานะหนึ่ง สื่อก็น่าจะเปรียบเหมือนครูของผู้เสพ ในฐานะผู้เขียนเป็นทั้งศิลปินเป็นทั้งสื่อ เพราะ พ.ศ.2505 เป็นนักเขียนข่าวบันเทิง พ.ศ.2510 เป็นนักแต่งเพลง พ.ศ. 2514 เป็นนักจัดรายการวิทยุ ทุกแขนงที่ผ่านมาคือสื่อทั้งนั้น จึงคิดเสมอว่าจะพูดจะเขียนอะไร ประเด็นแรกจะให้อะไรกับผู้ฟัง – ผู้อ่าน ประเด็นรองผู้เขียนจะได้อะไร คือผู้เขียนได้ให้ประสบการณ์กับผู้เสพ ก่อนจะพูดจะเขียนต้องมีหลักฐานอันเป็นนิสัยติดตัวมาแต่เริ่มแรกเข้าสู่วงการในยุคที่บ้านเมืองยังไม่เจริญ สื่อยังมีไม่มาก ผู้คนยังรู้ไม่เท่าทัน เชื่อในสิ่งที่ตนเข้าใจแบบรู้เท่าไม่ถึงการณ์
ครั้งแรกที่เป็นแรงบันดาลใจให้ผู้เขียนกลายเป็นคนชอบเก็บข้อมูลหลักฐานจนติดเป็นนิสัย คือเมื่อ พ.ศ. 2516 ผู้เขียนยังจัดรายการ “พบกันวันละหน” ออกอากาศตามสถานีวิทยุทั่วอีสาน 12 สถานี ช่วงนั้นเพลง “อีสานลำเพลิน” กำลังดัง เคยพูดออกอากาศว่า ผู้เขียนเป็นคนคิดประยุกต์เอาหมอลำเพลินมาแต่งผสมกับเพลงลูกทุ่งเป็นคนแรก ต่อมาไม่นานก็มีผู้ฟังเขียนจดหมายเข้ามาโต้แย้งว่าคนที่แต่งลำเพลินผสมเพลงคนแรกคือ… เขาอ้างชื่อนักร้องคนนั้นมา (ไม่ขอเอ่ยนาม) ผู้เขียนจึงชี้แจงออกอากาศว่านักร้องที่เขาเอ่ยอ้างมานั้นเพิ่งเข้าวงการมาเมื่อ พ.ศ. 2518 ผู้เขียนมีแผ่นเสียงของนักร้องคนนั้นด้วย เพลงอีสานลำเพลิน ออกเผยแพร่ตั้งแต่ พ.ศ. 2516 ผู้ฟังคนนั้นยังไม่ยอม โต้แย้งมาอีก ผู้เขียนก็ชี้แจงไปว่าก่อนเพลงอีสานลำเพลินจะมาดัง ผู้เขียนแต่งเพลงผสมลำเพลินมาก่อนตั้งแต่ พ.ศ. 2510 คือเพลง “ลำเกี้ยวสาว” แต่เพลงไม่ดัง และนำเพลงนั้นมาเปิดออกอากาศให้ฟังด้วย แต่ผู้ฟังคนนั้นท่าทางจะยังเชื่อมั่นตามความคิดของตัวเองอยู่
พิสูจน์ได้ว่าคนไทยเรามักจะเชื่อเพราะความรัก ความศรัทธา เชื่อเพราะเป็นพวกพ้องญาติมิตร มากกว่าเชื่อด้วยเหตุผล ไม่ได้เชื่อตามหลัก “กาลามาสูตร” ของพระพุทธเจ้า ที่ว่า “อย่าเพิ่งเชื่อในสิ่งที่ตาเห็น หูได้ยิน อย่าเพิ่งเชื่อเพราะเขาเป็นครูอาจารย์ จนกว่าจะพิสูจน์เห็นของจริงได้” เมื่อพิจารณาแล้วผู้ฟังคนนั้นนอกจากจะมีอัตตาสูงแล้วอาจจะมีความหมั่นไส้ต่อผู้เขียนอยู่ด้วย คนไทยส่วนหนึ่งมักจะเป็นเช่นนี้
ตั้งแต่นั้นมาผู้เขียนก็สำนึกอยู่เสมอว่าเราเป็นคนเกิดวันอาทิตย์ สุภาษิตเขาว่า “เกิดวันอาทิตย์ใจจิตอ่อนไหว ทำคุณกับใครเหมือนไฟตกน้ำ วาจาไม่ศักดิ์สิทธิ์ ความคิดเกินเข้าใจ” จึงกลายเป็นคนชอบเก็บหลักฐาน เอกสาร ภาพถ่ายต่าง ๆ ทุกอย่างที่เคยทำมา เผื่อมีคนโต้แย้งมาจะได้มีหลักฐานมาอ้างอิง จึงมั่นใจที่จะพูดจะเขียนอะไรออกสื่อ ก็เขียนความจริงตรง ๆ ไม่คิดว่าใครจะเข้าใจผิด เพราะส่วนตัวไม่ชอบคนพูดเท็จ ไม่ชอบจอมโปรเจค โครงการร้อยล้านพันล้าน แต่ทำไม่ได้สักงาน จึงไม่ชอบอาชีพของคนกลุ่มหนึ่งที่ “พูดได้ทุกเรื่อง แต่ทำไม่ได้สักเรื่อง”
อาชีพการงานใดที่ผู้เขียนเคยทำมาได้มีประสบการณ์ ถึงจะจำวันเดือน ปี พ.ศ. ไม่ได้ แต่เหตุการณ์จำได้ทุกเรื่อง ไม่ว่าจะเป็นเรื่องวงการเพลงลูกทุ่ง ลูกกรุง สตริง เพื่อชีวิต หมอลำ ภาพยนตร์ คุยได้ทุกเรื่องอาจเป็นเพราะว่าสมัยหนุ่ม ๆ เข้าวงการมาใหม่ ๆ โชคช่วยให้เข้ามาอยู่ในแวดวงนักข่าวนักเขียน เข้ามาเป็นนักแต่งเพลงก็ได้รับหน้าที่เป็นผู้ควบคุมการผลิตเพลงครบวงจร ต้องสัมผัสประสานงานกับเหล่าศิลปินทุกแขนง ต้องดูแลการผลิตทุกขั้นตอน จึงได้รู้จักคนมาก และมีคนรู้จักมากแทบทุกวงการ จึงเก็บประสบการณ์ไว้ได้มากถึงแม้ไม่ใช่ข้อมูลทางวิชาการ แต่นี่คือความจริงไม่ใช่อิงนิยาย
ทำงานในวงการบันเทิงมาด้วยความรักความชอบ และได้ทำด้วยอุดมการณ์ จึงไม่ได้คิดอะไร ช่วยใครจนประสบความสำเร็จมามาก ได้ดิบได้ดีก็เยอะ จากอาตี๋จนเป็นนายห้างก็หลายคน พูดคุยกับใครถ้าเอ่ยถึงคนในวงการมักจะมาเกี่ยวข้องกับเขาไปหมด จนบางคนสงสัยไม่อยากเชื่อ
มีลูกศิษย์ลูกหาหลายคนเคยบอกให้เขียนเรื่องราวของคนดังหลายคนในวงการ ที่ผู้เขียนได้สนับสนุนมาจนมีชื่อเสียงเกือบครึ่งค่อนวงการ คงเขียนไม่ไหว หรือเขียนเล่าความจริงแล้ว ผู้ถูกเขียนถึงจะยอมรับหรือไม่ เพราะคนสมัยนี้ชอบรับแต่ปมเขื่อง ไม่ยอมรับปมด้อยของตัวเอง หรือบางคนก็ลืมกำพืดของตัวเองก็มี แต่ก็เคยเขียนไว้บ้าง “อาตี๋เซลแมนขายแผ่นเสียง จนมาถึง นายห้างแผ่นเสียงกรุงไทย” “จากอาตี๋ขายแผ่นเสียงหน้าร้าน มาเป็นประธานบริษัท อาร์เอสโปรโมชั่นจำกัด” เจ้าสัวพันล้าน
โอกาสหน้าอาจจะทยอยนำมาลงใน “ทางอีศาน” ถึงจะไม่ใช่นิตยสารขายดีมีคนอ่านมาก แต่อย่างน้อยก็อาจมีผู้อยากรู้อยากศึกษาหาความจริงติดตามอ่านอยู่บ้าง ถ้าโชคดียังมี นิตยสาร “ทางอีศาน” ยังอยู่ยั้งยืนยงต่อไปอีกนาน ๆ อาจมีประวัติชีวิตศิลปินคนดัง นักร้อง หมอลำ ดารา หมอพิณ หมอแคน นักดนตรี รวมทั้งนักแต่งเพลงระดับครู ที่ผู้เขียนได้สัมผัสมาเล่าสู่กันฟัง เพื่อเป็นข้อคิดและแนวทางของคนรุ่นหลัง
หวังว่าเมืองไทยคงมีคน (ขอโทษที่ยกมาอ้าง) เหมือนคนญี่ปุ่น ที่เขาสนใจอยากศึกษาอะไร เขาจะศึกษาอย่างจริงจังจนนำไปต่อยอดได้อีกหลายอย่าง นักเขียนญี่ปุ่นบางคนรู้จักคนอีสาน รู้เรื่องหมอลำมากกว่าคนอีสานบางคนเสียอีก ไม่น่าเชื่อ “ขอให้ยอมรับและให้เกียรติ เราก็จะได้ความรู้และประสบการณ์กลับมา”
จัดรายการโทรทัศน์ช่องไทยพีบีเอส ชื่อรายการ “สารพันลั่นทุ่ง” ร่วมกับพิธีกรสาว อภิยา ฉายจันทร์ทิพย์ และ กานดา แย้มบุญเรือง ทุกวันเสาร์ เวลา 15.00 น.