ของชิ้นเอกเมืองอุบลฯ
ผมควรจะเขียนเรื่องนี้ก่อนเป็นปฐมแต่ก็ไม่ได้เขียน เพราะไปเขียนเรื่องของชิ้นเอกแต่ละชิ้นแต่ละแห่งของเมืองอุบลฯ ที่ตัวเองชอบชื่นชม ตระเวนไปแบบไร้ระบบ คิดถึงที่ไหนก็ไปที่นั่น แยกแยะกันไปตามความชอบ บางแห่งก็ผ่านเลยไปในขณะที่มันมีความสำคัญมากมากซึ่งต้องดูก่อนที่อื่นอื่นเพื่อความเข้าใจและสะดวกในการติดตาม แต่ผมก็ไม่ได้ทำกลับพาไปดูงานศิลปกรรมอันลํ้าค่าทางความงามอย่างตามใจตัวเอง ที่มาเขียนเรื่องของชิ้นเอกเมืองอุบลฯ ตามหลังนี่ก็เพราะคิดถึงความงามของชิ้นงานอันสำคัญที่พาผมให้รู้จักบ้านเกิดตัวเองดีขึ้น
แต่เผอิญผมสนใจแต่เรื่องศิลปกรรมมากกว่าเรื่องประวัติศาสตร์ – โบราณคดี และสังคมวิทยา – มานุษยวิทยา นั่นเพราะมันซับซ้อนเกินปัญญาผมจะเข้าใจได้ ผมจึงอาศัยความงามให้ตัวเองได้เข้าถึงเรื่องประวัติศาสตร์ – โบราณคดี เรื่องชุมชน และเรื่องคน
กล่าวคืออาศัยเรื่องศิลปกรรมนำตัวเองไปรู้จักรากเหง้าของตัวเองว่างั้นเถอะ เพราะเช่นนั้นเรื่องข้อมูลทางประวัติศาสตร์ผู้อ่านจะต้องไปอ่านเอาเองที่ผมพอจะเขียนได้ก็คือเรื่องความงามของชิ้นงานทางสถาปัตยกรรมที่หลงเหลืออยู่มาจนทุกวันนี้ และมีผู้เชี่ยวชาญได้ไปค้นพบและนำมาประกอบเป็นภาพของเรื่องราวผู้คนในบริเวณเมืองอุบลราชธานี
เพราะเช่นนั้นการเดินทางไปเมืองไหนก็ตามถ้าเราอยากรู้จักเมืองนั้นเราต้องไปชมมิวเซียม (Museum) ผมไม่ชอบเรียกพิพิธภัณฑ์เพราะมันส่อให้เห็นถึงความเชยและดักดานอยู่กับที่ เป็นเพียงที่เก็บข้าวของเครื่องใช้ เป็นโกดังว่างั้นเถอะ แต่มิวเซียมมันดูทันสมัยและรับรู้กันได้ทั่วโลกในความหมายที่ชัดเจนของคำ
มิวเซียมที่เมืองอุบลจึงเป็นสถานที่สำคัญที่เราต้องไปชม เพราะมีของชิ้นเอกงามงามมากมาย ที่จะพาเราให้มีความสุขและรู้เรื่องผู้คนและชุมชนรวมไปถึงสถานที่ที่ผมเขียนถึงก่อนหน้านี้อีก ซึ่งมีมากมายหลายแห่ง ผมจะพยายามพาไปชมให้ครบทุกที่ในปริมณฑลของเมืองอุบลและที่เกี่ยวเนื่องกับเมืองอุบลทั่วทั้งอีสานบ้านของเรา
นั่นน่าจะเป็นไปตามความสนใจของผม และความคิดของผมที่ต้องแลกเปลี่ยนเรียนรู้กันนะครับ
เพราะเรื่องความงามเป็นเรื่องต่างจิตต่างใจไม่ใช่เห็นเหมือนกัน งามของผมไม่เหมือนของท่านผู้อ่าน อ่านของผมแล้วก็มาคุยกันและแลกความงามกันนะครับ ผมจะยินดีมากมาก ผมก็ได้รับความรู้เรื่องความงามมาจากบรรดาครูบาอาจารย์นอกห้องเรียนของผม บรรดานักประวัติศาสตร์ นักโบราณคดี ศิลปิน กวี ฯลฯ ที่ท่านทั้งหลายเกิดก่อนผม ได้เห็นความงามก่อนผม
ผมเดินตามครู เดินตามผู้รู้ อะไรที่ไม่เห็นด้วยก็ถามก็แลกเปลี่ยน ไม่ใช่เชื่อตามที่ครูบอกทุกเรื่อง เราต้องถามต้องแลกเปลี่ยนกับครูครับ ปัญญาเราจึงจะเกิด
เช่นเดียวกัน ท่านผู้อ่านอย่าได้เชื่อผมเป็นอันขาด ท่านจงไปดูไปเห็นด้วยตัวเองแล้วตัดสินใจได้เองว่ามันงามหรือไม่งามอย่างไร
นี่คือเหตุที่ผมต้องย้อนกลับมาเริ่มต้นใหม่เพราะผมไปก่อนที่จะเริ่มต้น ทำให้ผู้อ่านหลายคนตามไม่ทันหรือไปก่อนผม ผมย้อนกลับมาบอกความในใจก่อนที่จะเดินทางต่อไปยังที่ที่ความงามรอเราอยู่มากมาย
และอยากบอกถึงความจริงที่ว่า การเดินทางไปดู ไปเห็น ไปชื่นชมความงามนั้นเป็นความจำเป็นและสำคัญต่อการเดินทางท่องเที่ยวที่เราคนไทยทำกันอยู่เวลานี้ การได้ไปชมมิวเซียมในประเทศของเราแม้มันจะยังเป็นโกดังเก็บของอยู่ แต่มันก็มีของที่งดงามวางอยู่ให้เราได้ไปชื่นชมนะครับ
โดยเฉพาะมิวเซียมที่อุบลราชธานีนี้มีของดีของงามมากมาย แล้วผมจะชวนดูในฉบับหน้า
แต่เดิมอาคารมิวเซียมนี้เป็นศาลากลางจังหวัดที่น่าจะสวยงามไม่แพ้ที่ไหน
รูปทรงอย่างตะวันตก เป็นอาคารชั้นเดียวลงตัวสวยงามมากและแน่นอนมีของลํ้าค่ามากมายที่นำมาจัดแสดงไว้ข้างใน ซึ่งล้วนแต่งดงามและสำคัญต่อความเป็นมาของเมืองอุบลทั้งสิ้น
นอกจากนี้ยังมีของสำคัญที่ต้องไปดูอีกหลายแห่งในอำเภอหลายอำเภอของเมืองอุบล
ว่าเฉพาะในเมืองอุบลก็มากมายหลายแห่งเช่นที่ วัดสุปัฏนารามวรวิหาร อาคารเก่าแถวอำเภอวารินชำราบ วัดภูเขาแก้วที่อำเภอพิบูลมังสาหาร เป็นต้น
ที่มิวเซียมเมืองอุบลนั้นมีโบราณวัตถุที่มีรูปแบบทางศิลปะเก่าถึงสมัยเขมรเกาะแกร์ทีเดียว โดยเฉพาะพระคเณศจำหลักหินทรายนั้นงามนักหนาหรือกลองมโหระทึกที่เก่าแก่ร่วมสมัยกับวัฒนธรรมด่งเซิน (ดองซอน) ของเวียดนามตอนเหนือ
จนมาถึงพระจำหลักไม้ที่เป็นแบบอีสานแท้มากมายหลายองค์ที่งามอย่างช่างฝีมือพื้นบ้านแท้อันจะหาดูยากยิ่ง
ยังมีผ้าทอของช่างชาวอุบลที่งดงามจนรัชกาลที่ ๕ หลงใหล จนกระทั่งทรงมีพระราชหัตถเลขาตรัสชมผ้าทอเมืองอุบล ถึงพระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมหลวงสรรพสิทธิประสงค์ ข้าหลวงใหญ่มณฑลอีสานอ่านแล้วจะทำให้มองเห็นคน เห็นช่างที่ทอผ้าได้อย่างน่าอัศจรรย์
อ่านเรื่องความงามของศิลปกรรมเมืองอุบลฯ ในฉบับหน้านะครับ
กลองมโหระทึกสำริดวัฒนธรรมด่งเซินในมิวเซียมฯ อายุราว ๒,๕๐๐ – ๑,๗๐๐ ปีมาแล้วปัจจุบันมิวเซียมอุบลราชธานี ตั้งอยู่ที่อาคารศาลากลางฯหลังเดิมพระพุทธรูปสำริด – ไม้ และเครื่องยศเจ้านายพื้นเมืองอุบลฯ ที่จัดแสดงภายในมิวเซียมฯ
รูปสลัก “พระคเณศ” ศิลปะเขมรสมัยเมืองพระนคร (หรือศิลปะแบบเกาะแกร์ อายุราว พ.ศ. ๑๔๖๕ – ๑๔๙๐) ได้จาก อ.สำโรง จ.อุบลราชธานี ปัจจุบันจัดแสดงภายในมิวเซียมอุบลราชธานี