ข้าวนี้นะมีรส ให้ชนชิมทุกชั้นชน
ทางอีศาน ฉบับที่ ๑๑ ประจำเดือนมีนาคม ๒๕๕๖
คอลัมน์: ถนนสายอนาคต
Column: Road to the Future
ผู้เขียน: อภิชาติ ญัคค์
ขอบคุณภาพจาก: http://www.kasetporpeang.com/
ถ้าเราอยู่ไกลข้อเท็จจริงและไม่เข้าใจกลไก “เศรษฐกิจข้าว” นัก เราก็อาจจินตนาการตามใคร หลายคนที่พูดถึงเรื่องจำนำข้าวด้วยการ “จินตนาการเอาเอง” หรือ “นั่งเทียน” เขียน โดยเฉพาะนักวิชาการใหญ่ที่เพ้อเลยเถิดไปถึงว่าโครงการนี้จะนำไปสู่ “การปฏิรูปสังคม” ท่ามกลางความเป็นจริงที่เคลื่อนไหวอยู่แบบ “หน้ามือกับหลังตีน” เข้าใจวาทกรรมโป้ปด / ฉ้อฉลกลายเป็นภาพความจริงไปหน้าตาเฉย !
โดยพื้นฐานสังคมเศรษฐกิจของไทยนั้นไม่อาจปฏิเสธ “ภาคเกษตรกรรม” ได้เลยไม่ว่าจะมองจากแง่มุมไหน ตั้งแต่ภูมิศาสตร์ไปจนถึงวัฒนธรรม เกษตรกรรมเป็นเลือดเนื้อชีวิตจิตวิญญาณของประเทศตลอดมา ซึ่งได้เคลื่อนไหวควบคู่กับสังคมเศรษฐกิจของโลกมาโดยตลอดทั้งในแง่บวกและลบ โดยที่โลกไม่สามารถขาดภาคเกษตรกรรมได้เลย ไม่ว่าจะดำรงอยู่ในฐานะของแหล่งอาหารยา ไปจนถึงการเป็นวัตถุดิบที่ถูกต่อยอดผลิตเป็นสินค้าฟุ่มเฟือยฯ ขณะที่การปรับตัวของภาคเกษตรกรรมตามสภาวะธรรมชาติไม่อาจปรับตัว / เปลี่ยนแปลงได้รวดเร็วเหมือนกับการทำธุรกรรมการเงินที่ยุคโลกาภิวัตน์กำลังสร้างความมั่งคั่งกันอยู่ ความเคลื่อนไหวภาคเกษตรกรรมที่ผูกโยงกับผลผลิตนั้นจะ “ขึ้นต่อ” กับ “ฤดูกาล” จึงถูกมองว่าเป็นความล้าหลัง / เป็นความยากจน / สุ่มเสี่ยงทางเศรษฐกิจ เงื่อนไขของภาคเกษตรกรรมนี้เองที่ทำให้ “เกษตรกร” “ชาวนา” และ “ภาคเกษตรกรรม” ได้กลายเป็น “พื้นที่” ที่การเมือง / การบริหารประเทศใช้อ้างในการเข้าแทรกแทรงด้วยการกระทำผ่าน “การร้องขอ” และ “การมุ่งแสวงประโยชน์” จากหลากหลายกลุ่ม แม้ว่าที่ผ่านมานั้นการบริหารจัดการจะไม่เคยพบ “ความสำเร็จที่ยั่งยืน” ในการแก้ปัญหาภาคเกษตรกรรมและตัวเกษตรกรอย่างใดเลย มีแต่เพียง “คำกล่าวอ้าง” “ตัวเลขปั้นแต่ง” “การโฆษณาชวนเชื่อ” และ “ปรากฏการณ์ฉ้อโกง /คอร์รัปชั่น / ฉ้อฉล” เท่านั้น ที่สังคมได้เห็นชัดเจนจากทุกรัฐบาลที่เข้าไปจัดการปัญหานี้
สาขาหนึ่งของภาคเกษตรกรรมที่เป็นเส้นเลือดใหญ่คือกลุ่มชาวนา ซึ่งอยู่ในกลุ่ม “เศรษฐกิจข้าว” ที่แม้สังคมยุคใหม่จะเปิดกว้างให้ชาวนามีรายได้จากงาน “นอกฤดูกาล” แต่ฐานหลักในการยังชีพทั้งโดยตรงและโดยอ้อม (life support system) มาจากเศรษฐกิจข้าวเป็นสำคัญ ชาวนาไทยราว ๓.๘ – ๔ ล้านครัวเรือนยังเป็นประชากรส่วนใหญ่ที่ผูกพัน / ขึ้นต่อกับเศรษฐกิจข้าว ซึ่งในสังคมกลุ่มใหญ่นี้มีเพียงร้อยละ ๒๐ เท่านั้นที่ทำนาอยู่ในเขตชลประทาน ส่วนที่เหลือพึ่งพาธรรมชาติ / ฟ้าฝนเป็นหลักจึงไม่มีความชัดเจนแน่นอนของรายได้ ในสภาพนี้ไม่ว่าครัวเรือนนั้น ๆ จะมีที่ดิน ๒๐ ไร่หรือ ๓ ไร่ก็ไม่มีรายได้ทั้งหมดหากฝนแล้งหรือน้ำท่วม นี่คือความเป็นจริงที่ชาวนาเผชิญอยู่ ! คำว่า “ชาวนายากจน” จึงเป็นแค่วาทกรรม / จินตนาการของบางคนเท่านั้น
ในความเป็นจริงการจัดการบริหาร “เศรษฐกิจข้าว” ต้องมุ่งพัฒนาศักยภาพการผลิตด้วยการพัฒนาพันธุ์ / เพิ่มผลผลิต / และปรับปรุงต่อยอดระบบการผลิตใหม่ ที่ช่วยให้ชาวนาสามารถตอบสนองการบริโภคและสร้างมูลค่าเพิ่มทั้งด้านการตลาดและการพัฒนาคุณภาพชีวิต โดยเฉพาะชีวิตตัวเองที่เป็นกลุ่มผู้ผลิตหลัก เพื่ออนาคตที่ดีและส่งต่อ “ต้นทุนที่มีคุณค่าและมูลค่าสูง” เหล่านี้ให้คนรุ่นต่อไป ทิศทางตลาดในโลกยุคใหม่นั้นเป็นเรื่องของคุณภาพ-ราคา-และปริมาณที่เหมาะสม โดยโครงสร้างเศรษฐกิจใหม่นั้นเป็นโครงสร้างที่เอื้อต่อความมั่งคั่งและความก้าวหน้าของภาคเกษตรกรรมอย่างมาก
แต่ภายใต้ “สิ่งแวดล้อมการผลิต” “ระบบตลาด” “โอกาสของภาคเกษตรกรรมในโครงสร้างเศรษฐกิจใหม่” นั้น การเมืองกลับมองเป็นเรื่อง “ผลประโยชน์” และ “คะแนนความนิยมทางการเมือง” จึงได้ใช้เงื่อนไขสารพัดเหตุผล / สารพัดวาทกรรม ไม่ว่า “ความยากจน” “การช่วยเหลือกลุ่มสังคมฐานราก” “คนกลุ่มใหญ่ของสังคม” “การสร้างรายได้เพิ่ม” ฯลฯ ทำให้การบริหารจัดการ “เศรษฐกิจข้าว” ถูกออกแบบโดยนักฉวยโอกาสทางการเมืองที่จัดวางประโยชน์ชาวนาทับซ้อนไปกับการแสวงประโยชน์ทางการเมือง ผ่านพวกพ้องกลุ่มโรงสี / โกดังรับฝากข้าว เชื่อมต่อเข้ากับกลไกปฏิบัติการภาครัฐในหน่วยงานต่าง ๆ ที่เกี่ยวข้องและโยงเข้ากับกลุ่มบริษัทรับเหมาเอกชนที่เรียกว่า “เซอเวเยอร์” ซึ่งในความเคลื่อนไหวนี้ไม่พบนวัตกรรม / สร้างสรรค์ความก้าวหน้าให้กับ “เศรษฐกิจข้าว” และ “เศรษฐกิจครัวเรือนชาวนา” เลยแม้แต่น้อย ! ภาพที่ปรากฏในการตั้งราคาจำนำที่ ๑๕,๐๐๐ บาทสำหรับข้าวทั่วไปกับข้าวหอมมะลิที่ ๒๐,๐๐๐ บาท กับกระบวนการทำลายกลไกการตลาดโดยใช้รัฐ (ที่ฉ้อฉลและล้าหลัง) เข้าจัดการนั้น น่าจะเป็นเรื่องการแสวงประโยชน์ / การทับซ้อนผลประโยชน์โดยเลือกหยิบยกเอาภาพชาวนาชูขึ้น แต่ในทางปฏิบัติแล้วไม่ได้เคยช่วยปฏิรูปสังคมตามที่นักเขียน / นักวิชาการมักง่ายบางคนเพ้อเจ้อเลย เรื่องนี้ในวงการค้าข้าวรู้กันอยู่ว่า “เจ๊ดอ ! และพวก” ฟาดกันไปเต็มๆ จัดแบ่งเป็นทอด ๆ เลยทีเดียว
การฉ้อฉลในโครงการนี้ทำกันแทบจะทุกกลุ่ม / ทุกขั้นตอน ตั้งแต่การแจ้งพื้นที่นาที่ไม่ตรงไปตรงมา / แอบขายใบประทวน / เอาข้าวจากเพื่อนบ้านชายแดนมาสวมสิทธิ์ / กด-โก่งราคารับซื้อ / สมคบกันตรวจสอบคุณภาพ / สีข้าวไม่ได้ตามมาตรฐาน / เก็บข้าวในโกดังแบบยัดไส้ ฯลฯ เรียกว่าจากต้นน้ำถึงปลายน้ำเลย ผลคือประชาชนทุกคนกลายเป็นเหยื่อความฉ้อฉลนี้โดยปริยาย ชาวนาเป็นเหยื่อของการถูกนำมาอ้างชื่อให้เป็นผู้รับการช่วยเหลือคนทั่วไปก็กระจายกันแบกรับภาระหนี้สินจากความล้มเหลว ตลาดข้าวซึ่งภาคเอกชนปลุกปั้นมาถูกทำลายลงไป ข้าวไทยในตลาดโลกถูกชิงพื้นที่และปริมาณไปโดยไม่มีคำตอบถึงอนาคต รัฐบาลไร้น้ำยาที่จะระบายข้าวสู่ตลาด (อ้างว่าเป็นความลับแบบจีทูจี !) และถ้าหากนำออกขายได้ประเทศก็จะต้องอับอายคุณภาพข้าวที่หมกเม็ดกันไว้ในโกดังอีกเด้งหนึ่ง นี่คือผลิตผลความฉ้อฉลของการเมืองล้วน ๆ !!! นี่ไง ที่บอกว่า ข้าวนี้นะมีรส ให้ชนชิมทุกชั้นชน…