คนกับกลอน

วรรณคดีและชีวิตสามัญ

คือคลังแห่งภาษา

ภาษาคืออาวุธสำหรับการดำรงชีวิต

การเลี้ยงชีพให้มีความสุข การดำรงชีวิตให้อยู่รอด (ในโลกที่แสนจะโหดร้าย) ต้องพึ่งพาภาษาอย่างมาก ขั้นต้นคือภาษาพูด ลองนึกดูสิว่า ผู้ป่วยอาภัพที่เป็นใบ้พูดไม่ได้นั้น ทำให้การดำรงชีวิต การเลี้ยงชีวิตของเขาลำบากขึ้นกว่าคนอื่นเพียงใด ขั้นต่อมาคือภาษาเขียน อ่านออกเขียนได้ ย่อมช่วยในการดำรงชีพได้มากกว่าผู้ที่อ่านไม่ออกเขียนไม่ได้

รู้ภาษาหลายภาษาเท่าใดก็ยิ่งดี สมองคนเราคิดจากภาพออกมาเป็น “คำศัพท์” คนเรารู้คำศัพท์มากเท่าใด ก็ยิ่งคิดได้มากคิดได้กว้างได้ลึกกว่าคนที่รู้คำศัพท์น้อย

อย่านึกว่า การเรียนวิชาภาษาไทย ให้อ่านวรรณกรรม วรรณคดี มาก ๆ มันไม่มีความหมายไร้ประโยชน์ต่อการดำรงชีวิต เปล่าเลย มันมีความหมายมากจริง ๆ เพราะมันจะทำให้คนเราคิดได้มากคิดได้ลึกได้กว้างขึ้น

แหล่งที่มาของคำศัพท์ และความรู้ทางภาษาไทย นอกจากหนังสือทุกประเภทแล้ว วรรณคดีจะมีส่วนช่วยมาก เพราะนำเราย้อนยุคไปรับความรู้จากอดีต คนที่รับรู้เรื่องราวของอดีต ย่อมได้เปรียบคนที่ละเลยความรู้เหล่านั้น ไม่สนใจว่าบรรพชนเรามีชีวิตในสภาพใด พูดภาษาใช้คำศัพท์กันอย่างไร

แหล่งที่มาของคำศัพท์และความรู้ทางภาษาไทยอีกแหล่งหนึ่ง ชาวบ้าน สามัญชนคนชนบททั่วประเทศ

ศรีอินทรายุทธ(นายผี) เขียนไว้ตอนหนึ่งใน “ศิลปาการแห่งกาพย์กลอน” ว่า

“ผู้ปรารถนาจะค้นหาภาษาไทยที่ถูกต้องนั้น ย่อมจะค้นหาได้แต่ในที่เดียว นั่นคือ ในประชุมประชาสามัญชนคนไทยทั้งหลาย ทั้งนี้เพราะภาษาไทยย่อมเกิดขึ้น ดำรงอยู่ และขยายตัวไปก็แต่ในหมู่ชนเช่นว่านั้นเท่านั้น หาใช่ในหมู่นักปราชญ์ราชบัณฑิตไม่

ด้วยเหตุนี้ ผู้ที่เขียนกาพย์กลอนซึ่งจะต้องรู้วิชาภาษาและหนังสือดี ก็จะต้องมีชีวิตอยู่ท่ามกลางประชาสามัญชนคนไทยทั่วไป ในท่ามกลางประชาสามัญชนคนไทยทั่วไปนั้น มีบ่อฤาขุมแห่งสรรพวิชาอยู่ ไม่ว่าจะเป็นวิชาแห่งการดำเนินชีวิตทั่วไป ฤาจะเป็นวิชาเฉพาะด้านใดด้านหนึ่ง

กวีและนักกลอนผู้ใด มัวหมกมุ่นอยู่แต่ในวงการนักปราชญ์ราชบัณฑิตชั้นสูง และเหินห่างจากมวลประชาสามัญชน กวีและนักกลอนผู้นั้น ไม่เพียงแต่จะสูญเสียสรรพวิชาในขุมอันอุดมสมบูรณ์โดยธรรมชาติแหล่งนี้ไป หากยังจะสูญเสียวิชาภาษาและหนังสือที่แท้จริงไปด้วย ข้อนี้ย่อมจะเป็นอุปสรรคในการเขียนกาพย์กลอนของเขา”

ผู้ที่รักการเขียนกาพย์กลอน ควรได้อ่านกาพย์กลอนชั้นครู อ่านคำวิเคราะห์ข้อเด่น ข้อบกพร่อง ที่มีคนวิจารณ์ไว้ คนเราต้องมีครู ไม่มีครูตัวเป็น ๆ คอยแนะนำเรา ก็ยังมี “หนังสือ” ทำหน้าที่เป็นครูได้

และสำหรับผู้ที่ใฝ่ฝันอยากจะไปถึง “สถานะกวี” ท่านควรจะได้อ่าน “กวีนิพนธ์”เด่น ๆ ของทุกยุคสมัย ไม่ถึงขั้นว่าต้องอ่านครบทุกเล่ม แต่ท่านต้องเข้าใจลีลากวีของทุกยุคสมัย รับรู้ว่าคนโบราณเขาสร้างสรรค์อะไรไว้บ้าง มันยอดเยี่ยมอย่างไร ? มันไม่เหมาะกับยุคปัจจุบันอย่างไร ?

เขียนกวีให้ได้ดี เป็นการเรียกร้องให้เอาชนะตัวเอง พร้อม ๆ กับที่ต้องพยายามเอาชนะ “ของโบราณ” ด้วย

เขียนกวีเทียบคุณค่าวรรณศิลป์กับกวีโบราณ นี่เรียกร้องในทาง รูปแบบ ลีลา บทกวีเป็นเรื่องของปัจเจกชน “เนื้อหา” นั้นเรียกร้องกันมิได้หรอก มันแล้วแต่ “บารมี” กับ “วิบาก” ที่แต่ละคนสะสมมา แต่ลีลาของแต่ละคนก็ควรเป็นอัตลักษณ์ของเราเอง

อย่างไรก็ตาม การเข้าใจอัตลักษณ์ของตนเองมันยากมาก ก่อนที่จะมีอัตลักษณ์ลงตัว จำเป็นต้องศึกษาลีลาของคนโบราณเสียก่อนด้วย

ส่วนในด้านเนื้อหา มันต้องเป็นไปตามยุคสมัย

แต่ก็อย่าลืมว่า “สุนทรียรส” นั้นมันมีความเป็นสากลและเป็น อ กาลิโก อยู่ ลีลากวีของเราก็เป็นส่วนหนึ่งของสุนทรียรส ลีลาจึงมีความสำคัญพอ ๆ กับเนื้อหาของเรา

เขียนเรียกร้องให้อ่านหนังสือวรรณคดีโบราณ

แต่หนังสือวรรณคดีโบราณก็หาอ่านยาก ผมจึงขอยกตัวอย่างกวีโบราณที่ยอดเยี่ยมมาเผยแพร่ ณ เวทีนี้ ขอเริ่มจากกวีประเภทกลอนก่อนเป็นอันดับแรก

เชิญติดตาม……………….(ทุกวัน)

WP2Social Auto Publish Powered By : XYZScripts.com