“มีไหมบ่มีครั่งย้อม มันบ่ห่อนแดงเอง
คันบ่หาฟืมฟัด ต่ำทอบ่มีแล้ว
มีไหมบ่มีเข็มห้อย สิเอาหยังหยิบแส่ว
มีเข็มบ่มีไหมห้อยก้น สิหยิบได้ฮ่อมได๋”
ผญาคำสอนตั้งแต่โบราณบอกกล่าวเล่าความสำคัญของ “ไหม” กับ “ครั่ง” ที่เป็นของคู่กันมาตั้งแต่โบราณสมัย ทำให้เห็นถึงภูมิปัญญาของบรรพชนที่ได้บันทึกเอาไว้เล่าต่อบอกลูกหลาน เมื่อมี “ไหม” ก็ต้องมี “ครั่ง” เพราะมันเป็นของคู่กัน แต่ทุกวันนี้สิ่งเหล่านี้กลับกำลังจะเลือนหายไป
ที่จังหวัดมหาสารคาม นอกจากจะเป็นเมืองแห่งการศึกษาแล้ว ยังถือเป็นพื้นที่ปลูกหม่อนเลี้ยงไหมที่เคยพบว่า มีสถิติเกษตรกรปลูกหม่อนเลี้ยงไหมมากที่สุดในประเทศไทย หลายหมู่บ้านคนเฒ่าคนแก่ยังสืบทอดการปลูกหม่อนเลี้ยงไหมเอาไว้อยู่ แม้ทุกวันนี้จะมีจำนวนลดน้อยลงกว่าแต่ก่อน แต่ก็ยังมีคนสืบต่อทำเป็นอาชีพเสริมหลังฤดูทำไร่ไถนา มีการปรับเปลี่ยนวิธีการเพื่อให้สะดวกเข้ากับยุคสมัย โดยเฉพาะการย้อมสีผ้าไหมจากเดิมที่เคยย้อมจากสีธรรมชาติ ทุกวันนี้หันมาใช้สีเคมีเพื่อความสะดวกสบาย
ในขณะที่ความสะดวกสบายเข้ามาแทนที่ แต่ยังมีคนที่ยังสืบทอดภูมิปัญญาพื้นบ้าน โดยนำเอาพืชพรรณจากธรรมชาติมาย้อมผ้า โดยเฉพาะผ้าไหม และนำไปทอเป็นผ้าไหมผืนงาม แถมยังสืบค้นหาลวดลายโบราณตั้งแต่รุ่นริเริ่มเอาไว้ เพื่อไม่ให้หายไปกับกาลเวลา แถมส่งเข้าประกวดเพื่อล่ารางวัลระดับประเทศ ก็กวาดรางวัลมาได้มากมายเช่นกัน
ณกรณ์ ตั้งหลัก คือชายหนุ่มผู้หลงใหลในความงดงามของผ้าไหมและสีธรรมชาติ โดยเฉพาะสีจากครั่ง เพราะเขามองว่าครั่งคือภูมิปัญญาที่บรรพบุรุษได้ค้นพบและส่งต่อมาให้ลูกหลาน หากไม่ดีไม่มีทางที่บรรพบุรุษจะบันทึกและสืบต่อไว้ เมื่อเขาได้รู้จักครั่งก็ยิ่งทำให้เขาหลงเสน่ห์อย่างถอนตัวไม่ขึ้น
“ผมหลงเสน่ห์ครั่ง เพราะเห็นความมหัศจรรย์ในตัวของมัน ครั่งตัวเดียวย้อมได้สารพัดเฉดสี การไล่เฉดโทนสีจากสีชมพูไปจนถึงสีแดงเข้ม เสน่ห์ของความอมตะของครั่งเลยคือผ้าไหมย้อมครั่งเมื่อไปเจอแสงยูวีจะสามารถสะท้อนแสงได้ และยังรักษาผิวพรรณไม่ให้หมองคล้ำ ยิ่งตากแดดสียิ่งสด สีจะไม่ตายไม่เหมือนสีจากการย้อมชนิดอื่น ๆ ครั่งนี้คือสุดยอดขนาดสีเคมียังสู้ไม่ได้เลย” ณกรณ์บอกเล่าถึงเสน่ห์ของครั่งที่ทำให้เขาหันมาสนใจจนถึงขั้น “คลั่งครั่ง” ในที่สุด
เขายังบอกอีกว่า การไล่โทนสีของครั่งผ้าน้ำแรกหากมีการผสมครั่งกับน้ำในอัตราส่วน 1 ต่อ 1 สีที่ได้คือสีแดงเข้ม จากนั้นพอย้อมน้ำสองน้ำตามสีจะไล่เฉดอ่อนลงมา ไล่ลงมาเรื่อย ๆ หรือถ้าเอาสีเหล่านี้ไปย้อมทับกับสีอื่น ๆ ก็จะเปลี่ยนวรรณะสี ถ้าครั่งเจอสีสนิมก็จะให้เป็นสีน้ำตาลเม็ดมะขาม ม่วงอ่อน และอื่น ๆ เสน่ห์ตรงนี้เป็นเสน่ห์เฉพาะท้องถิ่น คุณสมบัติที่ทำให้สีครั่งเปลี่ยนไปตามท้องถิ่นคือค่าพีเอชของน้ำ ถ้าน้ำเค็มเป็นกรดสีจะสด แต่ถ้าเป็นด่างพื้นที่ดินตรงนั้นมีสนิมเหล็ก เกลือ สีก็จะปรับเป็นโทนสีเข้ม น้ำตาล เลือดหมู สีเม็ดมะขามแก่และสีอื่น ๆ นี่คือสิ่งที่ธรรมชาติรังสรรสีเคมีก็ทำไม่ได้
“ผมมองว่าสารคามไม่มีจุดเด่นในเรื่องของผ้า ทั้งที่เรามีเกษตรกร คนปลูกหม่อนเลี้ยงไหมเยอะเป็นอันดับต้น ๆ ของประเทศ แต่ไม่มีใครหยิบยกเอาเรื่องนี้มาส่งเสริม หน่วยราชการก็ไปหนุนเสริมเรื่องใหม่ ๆ เช่นการหาลายผ้าประจำจังหวัดมาแทน เราเลยอยากฟื้นฟูสิ่งที่เคยมีให้กลับคืน ไม่ให้หลงลืมไปกับสิ่งใหม่ที่คิดค้น”
“มหาสารคามมีลายผ้าไหมประจำจังหวัดคือ ลายสร้อยดอกหมาก จริง ๆ จุดแข็งของลายประจำจังหวัดคือเรื่องการส่งเสริมให้คนได้นิยมและนำไปใช้ แต่ในขณะเดียวกันมันจะเบียดให้ผ้าลายอื่น ๆ ที่ไม่ใช่ลายสร้อยดอกหมากหายไป มันมีผลดีและผลเสียในตัวมัน ผมไม่ได้ทำผ้าลายสร้อยดอกหมากเพราะมีคนทำเยอะแล้ว ผมเลยมาทำลายอื่น ที่เป็นลายโบราณ ลายโบราณที่พูดถึงมีลายซิ่นขิดไหม เราได้ถอดแบบจากญาแม่หรือสตรีสูงศักดิ์ของเมือง ทั้งญาแม่แก้วประชา ญาแม่แก้วอัตถากร ลูกเจ้าเมืองคนที่ 2 และเราถอดแบบออกมาเพื่อฟื้นฟู ทั้งเรื่องลายผ้า เรื่องการใช้ตีนช่อหรือตีนขิดแบบสารคาม หากมัดหมี่ก็เป็นหมี่คั่นลายเล็ก ๆ เราถอดแบบจากเหล่าญาแม่ ซิ่นบางผืนมี 4 หมี่ในผืนเดียว มีจังหวะการคั่นที่แตกต่างกันไป ผมว่านี่สิคือมรดกที่ควรจะฟื้นฟูและสืบสาน”
“ผมเกิดมาเป็นคนในเมือง แต่เป็นคนที่เก็บสะสมผ้าโบราณ ผ้าเก่า และชอบเรื่องลวดลายผ้า ชอบศึกษาองค์ความรู้ใหม่ ๆ เรื่องผ้า จนทำให้เกิดแรงบันดาลใจ จนนำไปสู่การศึกษา วิจัย และเกิดจากการเรียนรู้ครูพักลักจำ จนกระทั่งหลงใหลในผ้าไหมทอมือ และการย้อมสีจากธรรมชาติ”
“ล่าสุดเราได้ฟื้นฟูหมี่สอดสารคาม เดิมเป็นเทคนิคเกาะล้วงที่มีอัตลักษณ์ชัดเจน แตกต่างจากเกาะล้วงภาคเหนือของไทยลื้อ เพราะเกาะล้วงของเราสามารถใส่ได้ 2 ด้าน ทั้งด้านในและนอก ของไทยลื้อใส่ได้ด้านเดียว เราอนุมานเองว่าเราต้องทำเกาะล้วงที่ต้องใส่ได้สองด้าน โดยไปเจอลายผ้าที่สิมบ้านยางทวง อำเภอบรบือ จังหวัดมหาสารคาม ซึ่งที่วัดแห่งนี้มีสิมหรือโบสถ์โบราณที่มีฮูปแต้ม ในฮูปแต้มมีภาพเขียนผู้หญิงนุ่งซิ่น มองแล้วเป็นลวดลายเดียวกันกับหมี่สอด เราเลยอนุมานว่าถอดแบบลายจากสิมมาเป็นลายผ้า ตั้งชื่อให้สอดคล้องกับจังหวัดเพื่อให้คนนึกได้ว่ามาจากสารคามว่าผ้าไหม หมี่สอดสารคาม
“ส่วนที่สนใจเรื่องครั่ง เพราะพอเรารู้ว่าผ้าไหมทำอย่างไร การสร้างสีธรรมชาติเป็นอย่างไร ก็ทำให้เราอยากรู้ว่า แหล่งต้นทางของสีธรรมชาติต่าง ๆ มาจากไหน เพราะถ้าเรื่องย้อมครามคนเข้าใจว่ามาจากสกลนคร แต่ย้อมครั่งเราก็ต้องขับรถไปซื้อที่จังหวัดสุรินทร์ เราเอามาย้อมที่สารคาม เราอยากรู้ว่าสุรินทร์เอาครั่งมาจากไหน เขาบอกว่าไปซื้อมาจากลำปาง เราก็ตามหาครั่งที่ลำปาง พอไปหาจริง ๆ คนลำปางบอกว่าซื้อครั่งมาจากมหาสารคามนี่เอง เราเลยได้ไปศึกษาพบว่าที่อำเภอบรบือ มีชาวบ้านมากถึง 200 หลังคาเรือนเลี้ยงครั่งขาย และพอไปสำรวจจริง ๆ พบว่าที่นี่คือแหล่งเลี้ยงครั่งที่ใหญ่มาก จึงได้หารือกับหน่วยงานราชการอื่น ๆ ว่าน่าจะหนุนให้มหาสารคามเป็นเมืองแห่งครั่ง เพราะครั่งคือราชาแห่งสีย้อมไหม”
“เรื่องมหาสารคามเมืองครั่ง เคยหารือกับนายเกียรติศักดิ์ จันทรา ผู้ว่าราชการจังหวัดคนก่อน ท่านเห็นด้วย แต่ท่านย้ายไปอยู่จังหวัดอื่นเสียก่อนทำให้เสียโอกาสไปมาก แต่ก็ไม่เป็นไร เพราะทางสำนักงานพัฒนาชุมชนก็เห็นความสำคัญ โดยการส่งเสริมให้เกษตรกรย้อมสีจากธรรมชาติ และมีหมู่บ้านที่ประสบความสำเร็จเรื่องนี้คือ บ้านโคกล่าม อำเภอพยัคฆภูมิพิสัย, บ้านห้วยทราย อำเภอนาเชือก, บ้านหนองผง อำเภอนาดูน, บ้านหนองบัวน้อย อำเภอเชียงยืน ซึ่งกลุ่มเหล่านี้เป็นกลุ่มเครือข่ายย้อมสีธรรมชาติ ส่วนลวดลายผ้าไหมที่คมชัดเด่นที่สุด ต้องยกให้บ้านกุดน้ำใส อำเภอนาเชือก และบ้านกุดรัง อำเภอกุดรังที่มัดหมี่ลายสวยมาก”
นอกจากนั้นเขายังพบว่า ที่อำเภอบรบือ เป็นแหล่งผลิตครั่งที่ใหญ่ที่สุด และมีคุณภาพที่สุด เพราะที่อำเภอแห่งนี้มี 3-4 หมู่บ้านในตำบลโนนม่วง เลี้ยงครั่งกันเกือบทุกหลังคาเรือน โดยราคาครั่งตกราคากิโลกรัมละ 200 บาท และเมื่อคิดรายได้ต่อครอบครัวแล้ว แต่ละปีตำบลแห่งนี้มีรายได้เข้าตำบลมากเกือบ 10 ล้านบาทต่อปีเลยทีเดียว
“ผ้าไหมที่ใช้สีธรรมชาติย้อม โดยเฉพาะสีจากครั่งราคาต่อผืนสูงกว่าผ้าไหมที่ย้อมจากสีเคมี ปกติผ้าไหมสีเคมีจะราคาประมาณผืนละ 1,500 -2,500 บาท แต่ถ้าเป็นผ้าย้อมสีธรรมชาติจะตกราคาผืนละ 4,000 – 100,000 บาท นี่แหละคือ ผลตอบรับความยากของการย้อมสีจากธรรมชาติ และมูลค่าที่เพิ่มขึ้นก็ทำให้เกษตรกรหลายคนหันมาย้อมสีจากธรรมชาติแทน เพราะเหนื่อยแต่คุ้มแถมปลอดภัยทั้งคนสวมใส่และคนทำด้วย” ณกรณ์บอก
นอกจากนั้นเขาและสมาชิกเครือข่ายย้อมสีธรรมชาติ ได้ส่งผ้าไหมที่อนุรักษ์ลายโบราณ ส่งประกวดในเวที “งานตรานกยูงพระราชทาน” และกวาดรางวัลมาทุกรางวัลตั้งแต่ปี 2560 เป็นต้นมา
จนทุกวันนี้ชื่อ “ณกรณ์ ตั้งหลัก” ได้ถูกแต่งตั้งเป็นที่ปรึกษาของกรมหม่อนไหม และเป็นคนรุ่นใหม่ที่เชี่ยวชาญเรื่องการย้อมไหมจากสีธรรมชาติอย่างแท้จริง และอีกสิ่งหนึ่งที่เขาบอกว่าภาคภูมิใจที่สุดและเป็นความภาคภูมิใจของกลุ่มย้อมสีธรรมชาติและจังหวัดมหาสารคามคือฉลองพระองค์ของสมเด็จพระนางเจ้าสุทิดา พัชรสุธาพิมลลักษณ พระบรมราชินี ที่พระองค์ได้สวมใส่ตัดเย็บจากผ้าไหมประชาชนที่ถวายผืนแรกแถมเป็นผ้าไหมที่ย้อมด้วยครั่งเมืองมหาสารคามอีกด้วย.