ความรู้เบื้องต้นเกี่ยวกับแนวคิดสตรีนิยมนักคิดสตรีนิยม และสตรีนิยมสายต่าง ๆ

ความรู้เบื้องต้นเกี่ยวกับแนวคิดสตรีนิยมนักคิดสตรีนิยม และสตรีนิยมสายต่าง

เพลโต (Plato) นักปรัชญากรีก ผู้เขียนถึงความเท่าเทียมทางสังคมระหว่างหญิงชายในหนังสือเรื่อง อุตมรัฐ (The Republic) ภาพประกอบจาก Wikipedia

แม้ เพลโต (Plato) นักปรัชญากรีก เคยกล่าวถึงความเท่าเทียมทางสังคมระหว่างผู้หญิงและผู้ชายอันเป็นรากฐานของรัฐที่ดีงามในหนังสือชื่อ อุตมรัฐ (The Republic)

ทว่าในความเป็นจริงแล้วสถานภาพของผู้หญิงในประวัติศาสตร์นับตั้งแต่สมัยกรีก  โรมัน  ล่วงมาจนถึงยุคกลางของยุโรป ต่ำกว่าผู้ชายมากนัก  ในสมัยกรีก ผู้หญิงมีหน้าที่เพียงแค่ดูแลความเป็นอยู่ของเด็ก ๆ ในครอบครัว  ไม่มีสิทธิในทางการเมืองและกฎหมาย  ในสมัยโรมัน แม้ผู้หญิงชั้นสูงบางคนมีอิทธิพลทางการเมืองในฐานะแม่ของนักรบ และมีสิทธิตามกฎหมายบางอย่าง แต่ผู้หญิงกลับไม่มีสิทธิทางการเมืองเช่นเดียวกับกรีก  ส่วนในยุคกลางของยุโรป ผู้หญิงที่แต่งงานแล้วต้องอยู่ใต้โอวาทสามี เพราะกฎหมายของคริสตจักรที่มีอำนาจสูงสุดในเวลานั้น ไม่อนุญาตให้คู่สมรสหย่าร้าง  ส่วนผู้หญิงชราและผู้หญิงโสด ไม่ว่าจะมีหน้าตาสวยงามหรืออัปลักษณ์ มักจะถูกกล่าวหาว่าเป็นแม่มด เนื่องจากคริสตจักรมีความเชื่อพื้นฐานว่า ความอ่อนแอทำให้ผู้หญิงถูกล่อลวงจากปีศาจได้ง่าย  จากเหตุผลดังกล่าว คำว่า “Feminism” จึงไม่ปรากฏในประวัติศาสตร์โบราณของอารยธรรมตะวันตกเลย

คำว่า “Feminism” และ  “Feminist” ซึ่งแปลเป็นภาษาไทยว่า แนวคิดสตรีนิยมและนักสตรีนิยม ปรากฏครั้งแรกในประเทศฝรั่งเศสและประเทศเนเธอร์แลนด์เมื่อ ค.ศ.๑๘๗๒ (พ.ศ.๒๔๑๕) คริสต์ศตวรรษที่ ๑๙  ซึ่งเป็นยุคโมเดิร์นหรือยุคสมัยใหม่ของยุโรป  ผู้ที่นำคำนี้มาใช้คือ  ชาร์ล  ฟูรีเย (Charles Fourier)  นักปรัชญาฝรั่งเศสผู้ต่อต้านระบบทุนนิยม  ในประเทศอังกฤษพบว่า มีการใช้คำดังกล่าวเมื่อ ค.ศ.๑๘๙๐  (พ.ศ.๒๔๓๓) หลังจากนั้นใน ค.ศ.๑๙๑๐  (พ.ศ.๒๔๕๓) จึงพบในอเมริกา

พจนานุกรมภาษาอังกฤษ ฉบับออกซฟอร์ด (Oxford) นิยามแนวคิดสตรีนิยม (Feminism) ว่า คือความเชื่อว่า ผู้หญิงควรมีสิทธิและโอกาสทางสังคมเท่าเทียมกับผู้ชาย ดังนั้นผู้หญิงจึงต้องต่อสู้เพื่อให้บรรลุถึงเป้าหมายดังกล่าว  ส่วนคำว่า นักสตรีนิยม (Feminist) นั้น หมายถึงผู้สนับสนุนสิทธิและโอกาสทางสังคมของผู้หญิงให้เท่าเทียมกับผู้ชายเพื่อความเสมอภาคทางเพศ  พจนานุกรมภาษาอังกฤษฉบับอื่น ๆ เช่น  ลองแมน (Longman) แมคมิลัน (Macmillan)  เป็นต้น ต่างให้ความหมายในทำนองเดียวกัน  จากความหมายนี้ คำว่าแนวคิดสตรีนิยมจึงเป็นได้ทั้งแนวคิดและขบวนการทางสังคมที่เคลื่อนไหวให้เกิดความเท่าเทียมระหว่างสองเพศ ในขณะที่นักสตรีนิยมนั้นหมายรวมทั้งเพศหญิงและเพศชาย กล่าวโดยย่อ สตรีนิยมคือแนวคิดในการทำความเข้าใจสังคม  วัฒนธรรม รวมไปถึงอุดมการณ์และปฏิบัติการทางการเมือง  โดยมีนักสตรีนิยมทำการศึกษาและเคลื่อนไหวทางสังคมในประเด็นที่เกี่ยวข้องกับเรื่องสิทธิและความเสมอภาคของสตรี

แม้คำว่า สตรีนิยม จะได้รับการนิยามอย่างชัดเจนดังกล่าวมาแล้วข้างต้น อย่างไรก็ตามพบว่า มีมายาคติและความเข้าใจผิดเกี่ยวกับคำว่า สตรีนิยม อยู่บ่อย ๆ  ดังปรากฏว่าคำว่า สตรีนิยม มักจะถูกบิดเบือนให้เป็นขบวนการทางสังคมที่ต้องการเคลื่อนไหว เพื่อให้เกิดการเปลี่ยนแปลงจากระบบชายเป็นใหญ่มาเป็นระบบหญิงเป็นใหญ่ อีกทั้งเป็นขบวนการทางสังคมที่เกลียดชังผู้ชาย  และสนใจแต่เรื่องของผู้หญิงอย่างเดียว ทั้งที่ความเป็นจริงแล้ว แม้ในระยะเริ่มต้นสตรีนิยมได้ให้ความสนใจอยู่เพียงแค่ความเสมอภาคระหว่างหญิงและชาย (โดยเพศสภาพ) ผิวขาว ชนชั้นกลางของสังคมตะวันตก แต่เมื่อโลกเปลี่ยนไป  สตรีนิยมในฐานะขบวนการเคลื่อนไหวทางสังคมก็ได้ทบทวนบทบาทของตนเอง  โดยได้สังเคราะห์แนวคิดและวางเป้าหมายใหม่ไว้ที่การสร้างความเท่าเทียมให้เกิดแก่มนุษยชาติทั้งหมด โดยไม่เลือกเพศสภาพ เพศวิถี  ชนชั้น เชื้อชาติ  และชาติพันธุ์ต่าง ๆ ดังมีการให้นิยามแนวคิดสตรีนิยม (Feminism) ใหม่ว่า  หมายถึงระบบความคิด การกระทำ ขบวนการทางสังคมที่พยายามเปลี่ยนแปลงสภาพทางเศรษฐกิจ สังคม วัฒนธรรม การเมือง อันมีพื้นฐานจากการที่ผู้ชายอยู่ในฐานะได้เปรียบและผู้หญิงอยู่ในสภาพเป็นรอง นอกจากนี้ยังให้ความสนใจในประเด็นที่เกี่ยวกับอิสรภาพส่วนบุคคล ครอบครัว รัฐ การกระจายอำนาจที่ไม่เท่าเทียมกันทางเพศในเศรษฐกิจ การเมือง สังคม และวัฒนธรรม ตลอดจนเรียกร้องให้มีการสร้างสมดุลใหม่ระหว่างเพศในนามของความมีมนุษยธรรมเดียวกันและเคารพในความแตกต่างของกันและกัน

ขบวนการทางสังคมที่เคลื่อนไหวให้เกิดความเท่าเทียมระหว่างสองเพศ (ทั้งโดยเพศสภาพและเพศวิถี) ซึ่งเป็นที่รู้จักกันดีในนามขบวนสตรี (Women’s Movement) ของโลกตะวันตกนั้น สามารถแบ่งออกได้เป็น ๔ ยุค  ดังต่อไปนี้

๑. ยุคแรกหรือคลื่นลูกที่หนึ่ง 

ยุคนี้อยู่ในช่วงปลายคริสต์ศตวรรษที่ ๑๙ ถึงต้นคริสต์ศตวรรษที่ ๒๐  ยุคนี้เชื่อว่า ผู้หญิงโดยธรรมชาตินั้นมีความเป็นมนุษย์ที่มีเหตุผลเท่าเทียมกับผู้ชาย แต่ถูกโครงสร้างทางสังคมไม่ว่าจะเป็นกฎหมาย จารีตประเพณี หรือระเบียบปฏิบัติกดทับไว้ ทำให้ผู้หญิงอ่อนแอกว่าผู้ชาย  วิธีคิดดังกล่าว ส่งผลให้ขบวนสตรียุคนี้ ต่อสู้เพื่อเรียกร้องให้ผู้หญิงเป็นอิสระจากการควบคุมของวัฒนธรรมชายเป็นใหญ่  โดยเน้นถึงสิทธิของผู้หญิงในโลกสาธารณะ เช่น สิทธิทางการศึกษา และสิทธิในการออกเสียงเลือกตั้ง (Suffrage or The right to vote) ในขณะที่ความรับผิดชอบในบ้านยังเป็นของผู้หญิงเหมือนเดิม ขบวนสตรีในอังกฤษและอเมริกายุคนี้ดำเนินไปด้วยการเคลื่อนไหวของกลุ่มผู้หญิงผิวขาว ชนชั้นกลาง ทำให้ผู้หญิงได้มาซึ่งสิทธิทางการศึกษาและกฎหมายเท่าเทียมกับผู้ชาย  นักคิด นักเขียนหญิงที่มีอิทธิพลต่อขบวนสตรียุคนี้เป็นอย่างมากคือ แมรี่ โวลสโตนคราฟต์ (Mary Wollstonecraft) เธอเขียน คำประกาศอิสรภาพของผู้หญิง (A vindication of the rights of women)

๒. ยุคที่สองหรือคลื่นลูกที่สอง

ยุคนี้อยู่ในช่วงคริสต์ทศวรรษ ๑๙๖๐ ต่อเนื่องมาจนถึงคริสต์ทศวรรษ ๑๙๙๐ ซึ่งเกิดขึ้นหลังจากสงครามโลกครั้งที่ ๒ สิ้นสุดลงได้ไม่นาน  ยุคนี้ถูกเรียกว่า “ยุคปลดปล่อยสตรี” (Women’s Liberation Movement)  โดยยึดหลักการว่า การพิจารณาประเด็นใด ๆ เกี่ยวกับผู้หญิง จะต้องเลิกกระทำภายใต้กรอบความคิดเดิมที่ถือว่าผู้ชายเป็นศูนย์กลางของความถูกต้อง  ปรัชญาการเคลื่อนไหวของยุคนี้วางอยู่บนฐานคิดของ “Sexual Politics” ซึ่งมองว่า “เรื่องส่วนตัวก็คือเรื่องการเมือง”  เน้นให้ผู้หญิงทุกสังคมทำความเข้าใจความต้องการ และความปรารถนาของตนเองอย่างถ่องแท้

ขบวนสตรีในยุคนี้เริ่มตระหนักในข้อเท็จจริงที่ว่า ผู้หญิงแตกต่างจากผู้ชายโดยธรรมชาติ เช่น ผู้หญิงมีประจำเดือน  ผู้หญิงต้องอุ้มท้อง ดังนั้นการเรียกร้องความเท่าเทียมเพียงแค่การศึกษาและสิทธิทางการเมืองไม่เพียงพอ  จำเป็นต้องให้ความสนใจกับสิทธิทางร่างกายของผู้หญิง (ที่ผู้ชายละเลยและไม่สามารถเข้าใจได้) เป็นการเฉพาะ เช่น สิทธิในการทำแท้ง สิทธิในการคุมกำเนิด ซึ่งสิทธิในการดำเนินชีวิตทางโลกเหล่านี้ของผู้หญิง ขัดต่อบทบัญญัติทางศาสนาอย่างชัดเจน ที่สำคัญยุคนี้ยังพยายามชี้ให้เห็นถึงแนวคิดชายเป็นใหญ่ (Patriarchy) ซึ่งส่งผลต่อการกำหนดบทบาทของผู้หญิงและผู้ชายในทุกสังคม  ก่อให้เกิดความไม่เท่าเทียมระหว่างเพศ  ยกตัวอย่างเช่น  หน้าที่ของผู้หญิงคือต้องทำงานบ้านและสืบพันธุ์  ส่วนหน้าที่ของผู้ชายคือการทำงานนอกบ้านเพื่อหาเลี้ยงครอบครัว  นอกจากนี้ขบวนสตรีในยุคนี้ ยังตั้งคำถามถึงการศึกษาที่มีส่วนร่วมในการสร้างความเป็นหญิง (Femininity) ตามที่สังคมคาดหวัง  ดังปรากฏว่า แม้ผู้หญิงในยุคนี้จะได้รับโอกาสทางการศึกษามากขึ้นเมื่อเปรียบเทียบกับยุคก่อน แต่การศึกษาในยุคนี้กลับเป็นการฝึกความเป็นแม่บ้าน  เช่น  ทักษะในการทำครัว เย็บปักถักร้อย  การทำบัญชี  ในขณะที่การศึกษาสำหรับผู้ชายเป็นไปเพื่อการประกอบอาชีพ  นักคิด นักเขียนหญิงที่มีอิทธิพลในยุคนี้คือ ซีมอน เดอ โบวัวร์  (Simone de Beauvoir)  ผู้เขียนเรื่อง เพศที่สอง (The Second Sex)  และ เคท มิลเล็ตต์ (Kate Millett) ผู้เขียนเรื่อง การเมืองเรื่องเพศ (Sexual Politics)

นอกเหนือจากทำให้ผู้หญิงหันมาทำความเข้าใจกับสถานะของตนอย่างถ่องแท้แล้ว ขบวนสตรีในยุคนี้ ยังให้กำเนิดแนวคิดสตรีนิยมสายต่าง ๆ เช่น  สตรีนิยมสายเสรีนิยม (Liberal Feminism)  สตรีนิยมสายมาร์กซิสต์ (Marxist Feminism) สตรีนิยมสายสังคมนิยม (Socialist Feminism)  สตรีนิยมสายถอนรากถอนโคน (Radical Feminism) สตรีนิยมสายจิตวิเคราะห์ (Psychoanalysis Feminism) ฯลฯ สตรีนิยมสายต่าง ๆ ในยุคนี้เกิดขึ้นเพื่ออธิบายสาเหตุความเป็นรองของผู้หญิง รวมทั้งแสวงหาแนวทางในการกำจัดความเป็นรองของผู้หญิงที่เกิดขึ้นในสังคมด้วย

ชาร์ล ฟูรีเย (Charles Fourier) นักสังคมนิยมชาวฝรั่งเศส ผู้ให้กำเนิดคำว่า Feminism
และ Feminist
๓. ยุคที่สามหรือคลื่นลูกที่สาม

ยุคนี้อยู่ในช่วงคริสต์ทศวรรษ ๑๙๙๐ เป็นต้นมา เป็นยุคที่ได้รับอิทธิพลจากปรัชญาหลังสมัยใหม่ (Post Modernism) ที่ไม่เห็นด้วยกับการยึดติดความเป็นสากลและความเป็นคู่ตรงข้ามของปรัชญาสมัยใหม่ (Modernism)  ส่งผลให้เกิดการไม่เห็นด้วยกับการพิจารณาปัญหาสตรีอย่างเป็นสากลโดยไม่คำนึงถึงเงื่อนไขทางประวัติศาสตร์  จึงเกิดการตั้งคำถามต่อขบวนการเคลื่อนไหวทางสังคมของยุคที่ผ่านมา ปรัชญาการเคลื่อนไหวของขบวนสตรียุคนี้ไปไกลถึงขั้นมองว่า ปัญหาความสัมพันธ์ของมนุษย์ไม่ได้จำกัดอยู่เพียงแค่ปัญหาเพศสภาพ (Gender) ที่มีแค่หญิงและชาย  แต่มีการมองเพศวิถี (Sexuality) ที่ไม่ได้ยึดติดอยู่กับเพศสภาพอย่างหลากหลายซับซ้อนมากขึ้น  มีการให้ความสนใจต่อปัญหาอัตลักษณ์และความสัมพันธ์ของผู้มีความหลากหลายทางเพศ (LGBT) โดยดึงเอาหลักมนุษยนิยมมาใช้ในการวิเคราะห์  พร้อมทั้งชี้ให้เห็นว่า ขบวนสตรีควรจะมองเรื่องเพศแบบ Genderless ที่ไม่เกี่ยวกับเพศสภาพ แต่เกี่ยวกับเจตจำนง และย้ำว่า การมองปัญหาความสัมพันธ์ระหว่างเพศแบบ Gender ทำให้เราไม่อาจหลีกหนีจากกับดักความคิดที่มีลึงค์เป็นศูนย์กลาง (Phallocentric) ได้

๔. ยุคที่สี่หรือคลื่นลูกที่สี่

ยุคนี้คือยุคปัจจุบัน  เนื้อหาหลักของขบวนสตรี ยุคนี้ไม่แตกต่างจากยุคก่อน ๆ ที่ผ่านมา เพียงแต่เป็นยุคที่ใช้ความก้าวหน้าของเทคโนโลยีการสื่อสาร สร้างเครือข่ายการเคลื่อนไหวบนโลกออนไลน์  นักสตรีนิยมที่เป็นตัวแทนสำคัญของยุคนี้คือ เอ็มมา วัตสัน (Emma Watson) ทูตสันถวไมตรีของสหประชาชาติ ผู้มาพร้อมกับแฮชแท็กที่ว่า #He for She เพื่อรณรงค์ให้กลุ่มผู้ชายเข้ามาเป็นส่วนหนึ่งของการสร้างความเท่าเทียมระหว่างมนุษยชาติ สื่อออนไลน์ที่ขบวนสตรียุคนี้ใช้คือ Instagram, Tumblr, Facebook, Twitter, Blog และการใช้ hashtag

เอ็มมา วัตสัน (Emma Watson) ทูตสันถวไมตรี ของสหประชาชาติผู้ใช้สื่อออนไลน์เคลื่อนไหวเพื่อความเท่าเทียมทางเพศระหว่างหญิงชาย ภาพประกอบจาก Wikipedia
นักคิด นักเขียน และนักเคลื่อนไหวสตรีนิยม 

ความสัมพันธ์ที่ไม่เท่าเทียมกันระหว่างเพศหญิงและเพศชาย ซึ่งทำให้ผู้หญิงถูกผู้ชายเอาเปรียบทั้งทางร่างกาย จิตใจ เศรษฐกิจ สังคม วัฒนธรรม และการเมือง  มีมาตั้งแต่ยุคโบราณ และสืบเนื่องมาจนถึงปัจจุบัน  นักสตรีนิยมเชื่อว่า ศาสนา จารีต ขนบธรรมเนียมประเพณี  กฎหมาย ระเบียบปฏิบัติ ศิลปะ วรรณกรรม หรือแม้แต่วิทยาศาสตร์ ล้วนเป็นเครื่องมือทางสังคมที่ผู้ชายใช้ในการผดุงความไม่เท่าเทียมนี้ไว้

ซิกมันด์ ฟรอยด์ (Sigmund Freud) ผู้เป็นเจ้าของแนวคิด Phallocentric ที่กล่าวว่าอวัยวะเพศชายเป็นสัญลักษณ์ของพลังและอำนาจ ภาพประกอบจาก Wikipedia

แนวคิดจิตวิเคราะห์ของ ซิกมันด์ ฟรอยด์  (Sigmund Freud) ในคริสต์ศตวรรษที่ ๑๙  ที่รับรู้กันโดยทั่วไปว่า ตั้งอยู่บนพื้นฐานขององค์ความรู้แบบวิทยาศาสตร์  นับเป็นแนวคิดหนึ่งซึ่งส่งเสริมและค้ำจุนการดำรงอยู่ของสังคมชายเป็นใหญ่ได้เป็นอย่างดี แนวคิด Phallocentric ที่อ้างว่าอวัยวะเพศชายเป็นสัญลักษณ์ของพลัง อำนาจ ผู้กระทำ และผู้เลือก นำไปสู่การสร้างวาทกรรมตอกย้ำความเป็นรอง  ความด้อยกว่า และความอ่อนแอของผู้หญิง  ในทัศนะของฟรอยด์ เด็กหญิงคือคนที่ถูกตอน ดังนั้นเมื่อเธอโตขึ้น เธอจึงแสวงหา ปรารถนาครอบครององคชาติของคนอื่น เพื่อชดเชยความรู้สึกจากการที่ถูกตอนไปในวัยเด็ก  ฟรอยด์อธิบายว่า ผู้หญิงต้องการครอบครององคชาติผู้ชายทั้งเพื่อความสุขสมและเพื่อความรู้สึกว่ามีอำนาจ แนวคิดนี้ไม่เพียงแต่แพร่หลายในโลกตะวันตก ทว่ายังมีอิทธิพลต่อความสัมพันธ์ของหญิงชายในโลกตะวันตกอย่างมหาศาลอีกด้วย

ท่ามกลางการยอมรับแนวคิดกระแสหลักชายเป็นใหญ่ ว่าเป็นเรื่องปกติ ธรรมดา และเป็นธรรมชาติของสังคมตะวันตก  แนวคิดชายขอบแนวคิดหนึ่งที่เรียกว่า สตรีนิยม กลับปฏิเสธอำนาจของระบบชายเป็นใหญ่ในเวลานั้น  และโต้กลับแนวคิดชายเป็นใหญ่ด้วยการแสวงหาหลักฐานและเหตุผลจากองค์ความรู้ของศาสตร์ต่าง ๆ ที่พัฒนาขึ้นมา  นักคิดสตรีนิยมดังกล่าวประกอบด้วยผู้ชายและผู้หญิง แม้ว่าโดยภาพรวมจะเป็นผู้หญิงก็ตาม

แมรี่ โวลสโตนคราฟต์ พ.ศ.๒๓๐๒ – ๒๓๔๐ (Mary Wollstonecraft  ค.ศ.๑๗๕๙ – ๑๗๙๗)
แมรี่ โวลสโตนคราฟต์ (Mary Wollstonecraft) นักคิด นักเขียนหญิงชาวอังกฤษ เธอเขียนหนังสือเรื่อง คำประกาศอิสรภาพของผู้หญิง (A vindication of the rights of women) ภาพประกอบจาก Wikipedia

แมรี่  โวลสโตนคราฟต์ เป็นนักคิด นักเขียนหญิงชาวอังกฤษ ผู้ไม่พอใจกับสังคมที่เธอกำเนิดขึ้นมา ในที่สุดเธอตัดสินใจเลือกใช้ชีวิตในฝรั่งเศสยุคปฏิวัติ เธอคิดว่าฝรั่งเศสเหมาะสมกับตนเองมากกว่าอังกฤษ

สมัยที่แมรี่ โวลสโตนคราฟต์ มีชีวิตอยู่นั้น ทางเลือกสำหรับผู้หญิงอังกฤษมีไม่มากนัก เพราะผู้หญิงในอุดมคติของสังคมอังกฤษสมัยนั้นคือการเป็นแม่และเมีย ส่วนอาชีพอื่น ๆ ที่ผู้หญิงพอจะทำได้ก็คือเป็นพี่เลี้ยงเด็ก พยาบาล และครู  สถานภาพการเป็นผู้หญิงโสดและผู้หญิงหย่าร้างที่ไม่ได้รับการยอมรับจากสังคมในเวลานั้น ทำให้ผู้หญิงน้อยคนที่เลือกเส้นทางนี้ต้องมีชีวิตอย่างยากลำบาก

แมรี่ โวลสโตนคราฟท์ เป็นนักสตรีนิยมต้นแบบของแนวคิดสตรีนิยม เธอไม่ได้แค่เพียงเขียนหนังสือ แต่ชีวิตของเธอยังเป็นแบบอย่างให้นักสตรีนิยมรุ่นหลังด้วย หลังจากที่อาชีพครูของเธอพังทลายลง เพราะเพื่อนหญิงคนสนิทของเธอที่เป็นผู้ก่อตั้งโรงเรียนล้มป่วย เธอตัดสินใจเป็นนักเขียน การตัดสินใจของเธอถือว่าต้องใช้ความกล้าหาญมาก เนื่องจากในยุคนั้นไม่เคยมีใครเลี้ยงตัวได้ด้วยการเขียนหนังสือเลย เธอเคยประกาศว่า เธอจะเป็นมนุษย์สายพันธุ์ใหม่ The First of New  Genius

แมรี่ โวลสโตนคราฟท์ เขียนหนังสือชื่อ คำประกาศอิสรภาพของมนุษย์ (Vindication of the rights of men)  เพื่อตอบโต้ เอ็ดมุนด์ เบริก (Edmound Berg) นักเขียนอังกฤษที่เขียนวิพากษ์การปฏิวัติฝรั่งเศสด้วยท่าทีอนุรักษ์นิยม ชื่อหนังสือของเธอบ่งบอกว่าเธอให้ความสำคัญกับสิทธิมนุษย์มากเพียงใด หนังสือเล่มนี้ทำให้เธอมีชื่อเสียงภายในเวลาอันรวดเร็ว จากนั้นใน ค.ศ.๑๗๙๐ (พ.ศ.๒๓๓๓) เธอจึงเขียนหนังสือ ว่าด้วยการปฏิวัติฝรั่งเศส (The French Revolution)  ซึ่งเป็นผลพวงจากการเดินทางไปฝรั่งเศสเพื่อสังเกตการณ์และเข้าร่วมการปฏิวัติ แต่หนังสือที่ทำให้เธอได้รับการยอมรับว่าเป็นนักสตรีนิยมต้นแบบคือหนังสือชื่อ คำประกาศอิสรภาพของผู้หญิง  (A vindication of the rights of women) เธอเขียนเรื่องนี้ก่อนย้ายไปอยู่ที่ฝรั่งเศส เนื้อหาของหนังสือเกี่ยวข้องกับการเรียกร้องสิทธิให้ผู้หญิง เพื่อตอบโต้ต่อรายงานสภาฝรั่งเศสที่มีผู้เสนอว่า ผู้หญิงควรได้รับการศึกษาเฉพาะในเรื่องที่เกี่ยวข้องกับการดูแลบ้านเท่านั้น เธอเขียนหนังสือเล่มนี้ด้วยความโกรธเกรี้ยว โจมตีวิธีคิดแบบสองมาตรฐานของระบบชายเป็นใหญ่ ตัวอักษรของเธอเต็มไปด้วยความรู้สึกเดือดพล่าน ทว่าเปี่ยมไปด้วยพลัง

ชีวิตส่วนตัวของ แมรี่ โวลสโตนคราฟท์ ไม่สู้จะราบรื่นนัก เพราะ “กิลเบริต อิมเลย์” (Gilbert Imlay) นักผจญภัยชาวอเมริกัน สามีคนแรกของเธอที่พบในฝรั่งเศสทิ้งเธอไปหลังจากเธอมีลูกสาวคนแรก จากนั้นเธอแต่งงานกับ “วิลเลี่ยม ก๊อดวิน” (William Godwin) และมีลูกกับเขา แต่เธอโชคร้ายเพราะหลังจากที่เธอให้กำเนิดลูกสาวคนที่สอง ร่างกายของเธอติดเชื้อและนำไปสู่การเสียชีวิตในที่สุด

คลารา เซทคิน พ.ศ.๒๔๐๐-๒๔๗๖ (Clara Zetkin  ค.ศ.๑๘๕๗-๑๙๓๓)
คลารา เซทคิท (Clara Zetkin) ผู้นำการเคลื่อนไหวสตรีสังคมนิยมสากล นักการเมือง นักการศึกษา และนักปรัชญา

“คลารา เซทคิน” เกิดที่แคว้นแซกโซนี ประเทศเยอรมนี เธอเกิดที่หมู่บ้านยากจนบริเวณเชิงเขาเออร์ซา  เพื่อนของเธอในวัยเด็กล้วนแต่เป็นเด็กที่มาจากครอบครัวยากจน พวกเด็ก ๆ ชอบร้องเพลงพื้นบ้านจนเนื้อเพลงประทับในความทรงจำของเธอว่า “ตอนเช้ากินมันฝรั่งแก้หิว ตอนเที่ยงก็ต้มมันฝรั่งด้วยน้ำเปล่า ตอนเย็นก็กัดมันฝรั่งทั้งเปลือก มันฝรั่ง…มันฝรั่ง….แล้วก็มันฝรั่ง”

คลารา เซทคิน ได้มีโอกาสเห็นความเอารัดเอาเปรียบของระบบทุนนิยม ที่กระทำต่อทั้งกรรมกรหญิงและชายเมื่อเธอเข้าไปเรียนที่วิทยาลัยฝึกหัดครู การได้เรียนรู้มากขึ้นเรื่อย ๆ ในช่วงเวลานี้ ทำให้เธอเชื่อมั่นว่าทางออกในการแก้ปัญหาความอดอยากยากแค้นของคนจนคือแนวคิดสังคมนิยม  ความคิดของเธอตกผลึก  เมื่อเธอเข้าเป็นอาจารย์ในมหาวิทยาลัยของรัฐเมื่อ ค.ศ.๑๘๗๘ (พ.ศ.๒๔๒๑)  และได้มีโอกาสเข้าไปร่วมพูดคุย ประชุม และชุมนุมกับกรรมกรอยู่บ่อย ๆ รวมถึงสมัครเป็นสมาชิกพรรคคนงานสังคมนิยมในเยอรมนี (Sozialistische Arbeiterpartei-SAP) ในปีเดียวกัน

ที่ประเทศอเมริกา ในวันที่ ๘ มีนาคม ค.ศ.๑๙๐๗ (พ.ศ.๒๔๕๐) คลารา เป็นผู้นำกรรมกรหญิง โรงงานทอผ้า เมืองชิคาโก เรียกร้องให้นายจ้างลดเวลาการทำงานของกรรมกรหญิงให้เหลือเพียงวันละ ๘ ชั่วโมง พร้อมขอให้ปรับปรุงสวัสดิการอื่น ๆ ด้วย การเคลื่อนไหวของเธอครั้งนี้แม้จะไม่ประสบความสำเร็จ แต่ก็เป็นการจุดประกายให้สตรีทั่วโลกตื่นตัวครั้งใหญ่

การต่อสู้ของคลารา เซทคิน ประสบความสำเร็จเมื่อวันที่ ๘ มีนาคม ค.ศ.๑๙๑๐ (พ.ศ.๒๔๕๓) เมื่อที่ประชุมสมัชชาสตรีสังคมนิยม ครั้งที่ ๒ ประกาศที่เมืองโคเปนเฮเกน ประเทศเดนมาร์ก ให้มีการรับรองระบบสามแปด พร้อมทั้งมีการปรับค่าจ้างให้เท่าเทียมกับกรรมกรชาย คุ้มครองสวัสดิการสตรีและแรงงานเด็ก และประกาศให้วันที่ ๘ มีนาคมของทุกปีเป็นวันสตรีสากล

คลารา เซทคิน ไม่เพียงแต่เป็นผู้นำการเคลื่อนไหวสตรีสังคมนิยมสากลเท่านั้น แต่เธอยังเป็นนักการเมือง นักการศึกษา นักปรัชญา และผู้สนใจวรรณคดีและศิลปะนอกจากนี้เธอยังเป็นเพื่อนรักของ โรซา ลุกเซมบูร์ก (Roza Luksemberg) นักปฏิวัติหญิงชาวโปแลนด์อีกด้วย

ฟรีดริช เอ็งเงิลส์ พ.ศ.๒๓๖๓-๒๔๓๘ (Friedrich Engels ค.ศ.๑๘๒๐-๑๘๙๕)
ฟรีดริช เอ็งเงิลส์ (Friedrich Engels) นักสังคมนิยมผู้เขียนหนังสือเรื่อง กำเนิดครอบครัว ทรัพย์สินส่วนตัว และการกดขี่ทางเพศ (The Origin of the Family, Private Property and the State) ภาพประกอบจาก Wikipedia

ใน ค.ศ.๑๘๘๔ (พ.ศ.๒๔๒๗) ฟรีดริช เอ็งเงิลส์ ได้เขียนหนังสือเรื่อง กำเนิดครอบครัว ทรัพย์สินส่วนตัว และการกดขี่ทางเพศ  (The Origin of the Family, Private Property, and  The State)  หนังสือเล่มนี้ได้รับการแปลเป็นภาษาไทยโดย กุหลาบ สายประดิษฐ์ เมื่อ พ.ศ.๒๕๒๔  เอ็งเงิลส์ได้อ้างผลการศึกษาทางมานุษยวิทยาของ เลวิส เอช มอร์แกน (Lewis H Morgan) เขาเชื่อว่า รูปแบบการสมรสที่เป็นบ่อเกิดของครอบครัวในยุคดึกดำบรรพ์ เป็นรูปแบบการสมรสหมู่หรือสำส่อนระหว่างชายหญิงรุ่นเดียวกันที่มิใช่พี่น้องสืบสายเลือด รูปแบบการสมรสเช่นนี้ทำให้ไม่เกิดความริษยาหรือหึงหวงในเรื่องเพศ มนุษย์ทั้งหลายจึงเป็นพี่น้องหรือ “สังคมญาติ” กันหมด หมู่มนุษย์รวมกันเป็นครอบครัวอันหนึ่งอันเดียวกัน พวกผู้ใหญ่ต่างถือว่าเด็ก ๆ ที่เกิดจากการสมสู่ของพวกเขาทั้งหลายเป็นลูกเต้าของพวกเขาทุกคน

เอ็งเงิลส์ได้ให้ข้อสังเกตว่า รูปแบบของครอบครัวที่เกิดจากการสมรสหมู่  นำไปสู่สังคมมารดาหรือหญิงเป็นใหญ่ เนื่องจากไม่สามารถระบุได้ว่าชายใดเป็นบิดาของเด็ก  จากเหตุผลดังกล่าวทำให้การสืบสายโลหิตทางฝ่ายหญิงเท่านั้นที่ได้รับการยอมรับนับถือในสังคม และเกิดการสืบมรดกจากทางมารดา กฎเกณฑ์ทางสังคมเช่นว่านี้มีอยู่ตลอดยุคของคนป่า (Savage) และยังปรากฏให้เห็นในยุคอนารยชน (Barbarism)

ตั้งแต่ยุคคนป่าจนถึงยุคอารยชนขั้นต้น เอ็งเงิลส์พบว่า มนุษย์ในสมัยนั้นยังไม่รู้จักการสะสม การหาอาหารเพื่อดำรงชีพนั้นเป็นไปวันต่อวัน มนุษย์จึงมีทรัพย์สินจำกัด ซึ่งเป็นแค่ของส่วนกลางที่ใช้ร่วมกัน  ทรัพย์สินส่วนกลางเหล่านี้ได้แก่  ที่อยู่อาศัย เครื่องนุ่งห่ม เครื่องมือที่เกี่ยวกับการทำอาหาร เครื่องมือที่ใช้เป็นอาวุธ เป็นต้น  เอ็งเงิลส์เชื่อว่า สังคมที่มนุษย์ยังไม่มีทรัพย์สินส่วนตัว เป็นเงื่อนไขสำคัญที่ทำให้ความสัมพันธ์ของมนุษย์หญิงชายช่วงนี้ดำเนินไปอย่างเท่าเทียม

จุดเปลี่ยนจากทรัพย์สินส่วนรวมมาเป็นทรัพย์สินส่วนตัวเกิดขึ้นเมื่อผ่านเข้าสู่ยุคอารยชน ยุคนี้มนุษย์เริ่มรู้จักการเลี้ยงสัตว์เพื่อเป็นอาหารสำรองแล้ว เผ่าชนที่มีความก้าวหน้าในการเลี้ยงสัตว์คือพวกอารยันในอินเดีย และพวกเซไมท์ที่บาบิโลเนียน อัสสิเรียน ฟินิเซียน ยิว และอาหรับ  พวกเขาเลี้ยงฝูงม้า ลา แกะ แพะ และหมู การมีฝูงสัตว์นั่นเอง ที่ทำให้ผู้ชายซึ่งทำหน้าที่ดูแลฝูงสัตว์ตระหนักถึงความสำคัญของตนเองในฐานะผู้ครอบครองทรัพย์สิน และเกิดความคิดที่จะทำให้ทรัพย์สมบัติของตนตกเป็นของลูก  เอ็งเงิลส์สันนิษฐานว่า ความคิดนี้ทำให้ผู้ชายล้มล้างประเพณีสืบมรดกทางมารดา  ส่งผลให้เกิดระบบผัวเดียวเมียเดียวซึ่งผู้หญิงต้องเชื่อฟังผู้ชายเพื่อเป็นหลักประกันความเป็นพ่อของบุตร นับแต่นั้นเป็นต้นมาครอบครัวที่ปราศจากความเสมอภาคเท่าเทียมระหว่างมนุษย์จึงเกิดขึ้น  ผู้หญิงและเด็กที่ไม่มีทรัพย์สิน ต้องพึ่งพิงผู้ชายที่เป็นหัวหน้าครอบครัว

ซีมอน เดอ โบวัวร์ พ.ศ.๒๔๕๑ – ๒๕๒๙ (Simone de Beauvoir ค.ศ.๑๙๐๘ – ๑๙๘๖)
ซีมอน เดอ โบวัวร์ (Simone de Beauvoir) นักปรัชญาหญิงชาวฝรั่งเศสผู้เชื่อในปรัชญาอัตถิภาวะนิยม เธอเขียนหนังสือเรื่อง “เพศที่สอง” (The second sex) ภาพประกอบจาก Wikipedia

ซีมอน เดอ โบวัวร์ เป็นนักปรัชญาหญิงชาวฝรั่งเศสผู้เชื่อในปรัชญาอัตถิภาวะนิยม เธอเขียนหนังสือเรื่อง เพศที่สอง (The second sex) คัมภีร์เฟมินิสต์อันลือลั่นซึ่งเป็นที่มาของวาทะ “เราไม่ได้เกิดมาเป็นผู้หญิง แต่เราได้กลายมาเป็น (ถูกทำให้เป็น) ผู้หญิงในภายหลัง”

ซีมอน เดอ โบวัวร์ ยอมรับว่า ผู้หญิงและผู้ชายมีความแตกต่างกันทางสรีระ (sex) ซึ่งเป็นความแตกต่างทางธรรมชาติ แต่เธอไม่ยอมรับว่า “ความเป็นหญิง” และ “ความเป็นชาย” (gender) มีอยู่จริงตามธรรมชาติหรือเป็นสิ่งที่ติดตัวมาแต่กำเนิด  ในทางตรงกันข้ามเธอมองว่า ความเป็นหญิงและความเป็นชายเป็นสิ่งที่สังคมสร้างขึ้นผ่านการอบรมเลี้ยงดู ที่เรียกว่า “การกำหนดบทบาททางเพศ” การกำหนดบทบาททางเพศ ไม่เพียงแต่ก่อให้เกิดความแตกต่างระหว่างหญิงและชาย แต่ยังนำสังคมไปสู่ระบบปิตาธิปไตยหรือชายเป็นใหญ่ ระบบที่ผู้ชายโดยรวมมีอำนาจเหนือผู้หญิงโดยรวม และเป็นระบบที่ทำให้ผู้หญิงรู้สึกว่า บทบาทของผู้สนองความต้องการของเพศชายนั้นเป็นสิ่งที่น่าปรารถนา เพราะสังคมจะเชิดชูและยกย่องว่าเป็นผู้หญิงที่ดี ส่งผลให้ผู้หญิงตกเป็นฝ่ายเสียเปรียบทั้งทางร่างกาย จิตใจ เศรษฐกิจ  สังคม วัฒนธรรม และการเมือง ซีมอน เดอ โบวัวร์ เสนอว่า การกดขี่และการเอารัดเอาเปรียบระหว่างเพศจะหมดสิ้นไปก็ต่อเมื่อผู้หญิงเปลี่ยนแปลงโลกทัศน์  กล่าวคือ ผู้หญิงต้องสำนึกในความเป็นมนุษย์ของตนเองอย่างเต็มภาคภูมิ ความเป็นมนุษย์อย่างเต็มภาคภูมิของผู้หญิงจะเกิดขึ้นได้ ก็ต่อเมื่อผู้หญิงมีเสรีภาพในการสร้างสรรค์คุณค่าให้ชีวิต ทั้งในเรื่องการงานและเรื่องส่วนตัว

ซีมอน เดอ โบวัวร์ ไม่เพียงแต่เขียนหนังสือเพื่อเสนอแนวคิดสตรีนิยมเท่านั้น  แต่เธอยังใช้ชีวิตตนเองเป็นแบบอย่างของยุคสมัย  เธอไม่เพียงแต่ไม่ปรับตัวให้เข้ากับสิ่งที่สังคมฝรั่งเศสในสมัยนั้นกำหนดไว้ให้ผู้หญิง  แต่เธอยังไม่ยี่หระกับประเพณีสังคมทั้งมวล อีกทั้งยังแสดงความก้าวหน้าล้ำสมัยด้วยการไม่ยอมรับโชคชะตา แต่กำหนดโชคชะตาด้วยตนเอง  เธอเป็นนักประท้วง นักต่อต้านการกดขี่ทุกรูปแบบไม่ว่าการกดขี่นั้นจะอยู่ในปริมณฑลส่วนตัวหรือสาธารณะ  ในปริมณฑลส่วนตัว เธอประท้วงความเป็นแม่ การทำงานบ้านที่สังคมยัดเยียดให้ผู้หญิงทำฝ่ายเดียว  เธอยืนยันสิทธิในร่างกายตนเองของผู้หญิง สนับสนุนการทำแท้งของผู้หญิงที่ไม่พร้อมจะเป็นแม่  ส่วนปริมณฑลสาธารณะ เธอเข้าร่วมรณรงค์เพื่อให้ผู้หญิงมีสิทธิเลือกตั้ง  ความเป็นนักสตรีนิยมของเธอที่ไปไกลจนถึงความเป็นนักมนุษยนิยมก็คือการแสดงทัศนะเรื่องสันติภาพ  เธอย้ำว่าผู้หญิงต้องร่วมกันต่อสู้เพื่อสันติภาพในฐานะที่เป็นส่วนหนึ่งของมนุษยชาติ มิใช่ในฐานะผู้หญิง

มาร์กาเร็ต มีด  พ.ศ.๒๔๔๔-๒๕๒๑ (Margaret Mead ค.ศ.๑๙๐๑-๑๙๗๘)
มาร์กาเร็ต มีด (Margaret Mead) นักมานุษยวิทยาวัฒนธรรม ชาวอเมริกัน ผู้มีอิทธิพลต่อขบวนสตรี ภาพประกอบจาก Wikipedia

มาร์กาเร็ต มีด เป็นนักมานุษยวิทยาวัฒนธรรมชาวอเมริกัน นอกจากนี้เธอยังเป็นนักพูดทางสื่อมวลชนที่มีชื่อเสียงอีกด้วย งานศึกษาทางมานุษยวิทยาของเธอที่เกี่ยวกับบทบาททางเพศของชนเผ่าดั้งเดิมต่าง ๆ นับว่ามีอิทธิพลต่อขบวนสตรีมาก  การศึกษาของ มาร์กาเร็ต มีด ทำให้โลกรู้ว่า ความเชื่อว่าผู้หญิงโดยธรรมชาติเป็นเพศที่อ่อนแอและอ่อนโยนกว่าผู้ชาย ดังที่สังคมตะวันตกกล่าวอ้างนั้นไม่เป็นความจริง  เพราะในสังคมชนเผ่าบางเผ่าแถบนิวกีนี (New Guinea) ที่เธอได้ศึกษา ผู้หญิงมีลักษณะก้าวร้าวและเป็นผู้นำ  ในขณะที่ผู้ชายมีลักษณะอ่อนโยนและเป็นผู้ตาม 

มาร์กาเร็ต มีด ยืนยันว่า ผลการศึกษาสามชนเผ่าที่นิวกินีให้หลักฐานชัดเจนว่า ความก้าวร้าวและความอ่อนโยนมิใช่เรื่องธรรมชาติ แต่เป็นเรื่องทางสังคมหรือวัฒนธรรม  เธอได้ยกตัวอย่างชนเผ่า “อราเปช” (Arapesh) ที่มีความนุ่มนวล สุภาพ แบ่งปัน และใจดี ทั้งผู้หญิงและผู้ชาย  ในขณะที่ชนเผ่า “มันดูกูเมอร์”  (Mundugumor) เผ่าเพื่อนบ้าน มีนิสัยตรงกันข้าม เพราะทั้งผู้หญิงและผู้ชายของเผ่านี้ต่างดุร้าย ชอบการแข่งขัน และเห็นแก่ตัวพอ ๆ กัน  ส่วนชนเผ่า “แชมบูลิ” (Tchambuli) นั้น  มีลักษณะตรงข้ามกับสังคมตะวันตกอย่างสิ้นเชิง กล่าวคือผู้หญิงจะเป็นผู้นำครอบครัวในการหาอาหาร พวกเธอมีอำนาจเหนือผู้ชาย พวกเธอโกนหัว และไม่สวมเครื่องประดับ  แตกต่างจากผู้ชายในเผ่าที่จะใช้เวลาส่วนใหญ่สำหรับการแต่งตัวเพื่อความสวยงาม หลงใหลในโรมานซ์ และชอบการซุบซิบนินทา

เคท มิลเล็ตต์ พ.ศ.๒๔๗๗ – ๒๕๖๐ (Kate Milett ค.ศ.๑๙๓๔ – ๒๐๑๗)
เคท มิลเล็ตต์ (Kate Milett) นักเคลื่อนไหวและนักเขียนสตรีนิยมชาวอเมริกัน งานเขียนของเธอ คือ “การเมืองเรื่องเพศ” (Sexual Politics) ภาพประกอบจาก Wikipedia

เคท มิลเล็ตต์ เป็นนักเขียนสตรีนิยม นักการศึกษา ศิลปิน และนักเคลื่อนไหวสตรีนิยมชาวอเมริกัน เธอเข้าเรียนที่มหาวิทยาลัยออกซฟอร์ด และเป็นผู้หญิงชาวอเมริกันคนแรกที่ได้ปริญญาเกียรตินิยมอันดับหนึ่งจากวิทยาลัยเซนต์ฮิลดาออกซฟอร์ด งานเขียนของเธอ การเมืองเรื่องเพศ (Sexual Politics) มีอิทธิพลอย่างมากต่อการเคลื่อนไหวทางสังคมของขบวนสตรียุคที่ ๒  ลิซา ฟีเตอร์สโตน (Liza Featherstone) นักหนังสือพิมพ์หญิงชาวอเมริกันได้ยกย่องเธอว่า การทำแท้งอย่างถูกกฎหมายซึ่งเป็นสิทธิทางด้านร่างกายของผู้หญิงในการกำหนดชะตากรรมของตนเองว่าพร้อมจะเป็นแม่เมื่อใด เกิดขึ้นได้เพราะผู้หญิงที่ชื่อว่า เคท มิลเล็ตต์

เบ็ตตี ฟรีดน พ.ศ.๒๔๖๔ – ๒๕๔๙ (Betty  Friedan ค.ศ.๑๙๒๑ – ๒๐๐๖)
เบ็ตตี ฟรีดน (Betty Friedan) นักเคลื่อนไหวสิทธิสตรีและนักเขียนหญิงชาวอเมริกัน เธอได้เขียนหนังสือเรื่อง ความลี้ลับของผู้หญิง (Feminine Mystique) ภาพประกอบจาก Wikipedia

เบ็ตตี ฟรีดน เป็นนักเขียนหญิงชาวอเมริกันและเป็นนักเคลื่อนไหวสิทธิสตรี  เธอได้เขียนหนังสือเรื่อง ความลี้ลับของผู้หญิง (Feminine  Mystique) หนังสือของเธอมีที่มาจากงานวิจัยใน ค.ศ.๑๙๕๐ (พ.ศ.๒๔๙๓) โดยเก็บข้อมูลจากเพื่อนหญิงร่วมรุ่นที่เรียนจาก “สมิธ คอลเลจ” (Smith College) วิทยาลัยเดียวกัน ภายหลังจากที่ไม่ได้พบกันนานถึง ๑๕ ปี จากการศึกษาเธอพบว่า ท่ามกลางอิทธิพลของฟรอยด์ในหนังสือและบทความมากมายที่เน้นว่า บทบาทแม่และเมียในอุดมคติคือสิ่งสำคัญที่เติมเต็มชีวิตผู้หญิง การสัมภาษณ์เพื่อนของเธอที่เป็นแม่บ้านทำให้เธอรู้ว่า ในชีวิตจริงผู้หญิงเหล่านี้กลับรู้สึกถึงปัญหาบางอย่าง ซึ่งพวกเธอไม่รู้ว่าควรจะเรียกมันว่าอะไรดี  เบ็ตตี ฟรีดน จึงเรียกปัญหาของเพื่อนหญิงที่เป็นแม่บ้านเหล่านี้ว่า “ปัญหาที่ไม่มีชื่อ” (The problem that has no name)

หนังสือเรื่อง ความลี้ลับของผู้หญิง (Feminine Mystique) อธิบายว่า หลังสงครามโลกครั้งที่ ๒ ผู้หญิงถูกกระตุ้นให้จำกัดบทบาทอยู่เพียงแค่เป็นแม่และเมียในอุดมคติ  แต่การพูดคุยกับเพื่อนเก่าที่ไม่ได้พบกันนานทำให้เบ็ตตี ฟรีดน รู้ว่า ในบรรดาเพื่อนหญิงทั้งหมดที่เธอพบนั้น  ไม่มีคนใดเลยที่มีความสุขกับบทบาทแม่และเมียในอุดมคติตามที่สังคมคาดหวัง  ผู้หญิงเหล่านี้ต่างรู้สึกสลดหดหู่ต่อการมีชีวิต เพราะพวกเธอถูกสังคมกดดันให้อยู่ภายใต้การควบคุมของผู้ชาย  ทั้งทางร่างกาย จิตใจ สติปัญญา เศรษฐกิจ สังคม  วัฒนธรรม  ฯลฯ

เบ็ตตี ฟรีดน ได้ศึกษาปัญหาผู้หญิงตั้งแต่ ค.ศ.๑๙๕๐ (พ.ศ.๒๔๙๓) ระหว่างศึกษานี้ เธอพยายามจะเผยแพร่ผลงานของเธอที่นิตยสารผู้หญิงสมัยนั้น  แต่ปรากฏว่านิตยสารทั้งหมดที่เธอส่งไปปฏิเสธงาน ของเธอได้รับการตีพิมพ์ ปี ค.ศ. ๑๙๖๓ (พ.ศ.๒๕๐๖) เมื่อกระแสสตรีนิยมในอเมริกาแพร่หลายและขบวนสตรีเฟื่องฟู

สตรีนิยมสายต่าง ๆ

สตรีนิยมสายเสรีนิยม (Liberal Feminism)

สตรีนิยมสายเสรีนิยม ถือได้ว่าเป็นสำนักคิดแรกของสตรีนิยม ได้รับอิทธิพลทางความคิดจากแนวคิดเสรีนิยม สตรีนิยมสายนี้เชื่อมั่นในความมีเหตุผลของมนุษย์ ดังนั้นจึงพยายามเรียกร้องให้ผู้หญิงเปลี่ยนแปลงตัวเองให้เป็นมนุษย์ที่มีเหตุผลเช่นเดียวกับผู้ชาย โดยเน้นเรื่องความเท่าเทียมของสิทธิเสรีภาพระหว่างเพศ เช่น สิทธิในการเลือกตั้ง สิทธิในการศึกษา สิทธิในการประกอบอาชีพ  และสิทธิอื่น ๆ ที่เท่าเทียมตามกฎหมาย แนวคิดสตรีนิยมสายนี้ได้รับการวิจารณ์ว่า เป็นแนวคิดของผู้หญิงชนชั้นกลางและชนชั้นสูงเท่านั้น

สตรีนิยมสายมาร์กซิสต์หรือสังคมนิยม (Marxist or Socialist Feminism)

สตรีนิยมสายมาร์กซิสต์หรือสังคมนิยมมองว่า ความเสียเปรียบในบทบาทของผู้หญิงมีที่มาจากการขูดรีดของระบบทุนนิยม  ระบบทุนนิยมไม่ให้คุณค่ากับงานบ้านของผู้หญิง เพราะงานบ้านไม่มีค่าตอบแทนเป็นตัวเงิน แต่ถ้าผู้หญิงทำงานนอกบ้าน การแบ่งแยกแรงงานตามเพศของระบบทุนนิยมก็จะทำให้ผู้หญิงได้รับค่าจ้างต่ำกว่าผู้ชาย จากเหตุผลดังกล่าวผู้หญิงจึงเป็นชนชั้นล่างสุดที่ถูกกดขี่โดยระบบนี้  สตรีนิยมสายมาร์กซิสต์หรือสังคมนิยมเสนอว่า  ผู้หญิงจำเป็นต้องมีส่วนร่วมในการปฏิวัติสังคม โค่นล้มระบบทุนนิยมเคียงบ่าเคียงไหล่กับผู้ชาย ด้วยวิถีเช่นนี้เท่านั้นที่จะทำให้การกดขี่สตรีหมดไปจากสังคม

สตรีนิยมสายถอนรากถอนโคน  (Radical Feminism)

สตรีนิยมสายถอนรากถอนโคนให้ความสนใจในการต่อต้านการกดขี่ทุกรูปแบบและทุกที่  สตรีนิยมสายนี้ เสนอให้มีการเปลี่ยนระบบความสัมพันธ์เชิงอำนาจโดยไม่ยึดติดกับเพศสรีระ นอกจากนี้ยังให้ความสนใจเรื่องสิทธิในร่างกาย และอนามัยเจริญพันธุ์ของผู้หญิง  แนวคิดสำคัญของสตรีนิยมสายนี้คือ การเมืองเรื่องเพศ (Sexual Politics) ซึ่งเสนอว่า ระบบชายเป็นใหญ่ (Patriarchy) คือระบบที่ผู้ชายมีอำนาจเหนือผู้หญิงและสามารถควบคุมผู้หญิงให้อยู่ภายใต้ความต้องการของผู้ชาย ระบบนี้ได้กระทำผ่านกระบวนการขัดเกลาทางสังคมโดยมีครอบครัวเป็นสถาบันหลักในการทำหน้าที่ สตรีนิยมสายถอนรากถอนโคนยังชี้ให้เห็นว่า การกดขี่สตรีของระบบชายเป็นใหญ่ทำให้ทุกคนในสังคมยอมรับโดยปริยายว่า สถานะความเป็นรองของผู้หญิงในความสัมพันธ์เป็นเรื่องปกติและเป็นเรื่องธรรมชาติ ระบบชายเป็นใหญ่ทำให้ผู้ชายเป็นผู้ครอบครองอำนาจสูงสุด ได้ผลประโยชน์ทางเศรษฐกิจ และมอบความชอบธรรมให้กับพฤติกรรมทางเพศของผู้ชาย

สตรีนิยมสายวัฒนธรรม (Cultural Feminism)

สตรีนิยมสายวัฒนธรรมเป็นแนวคิดที่แตกออกมาจากสตรีนิยมสายถอนรากถอนโคน สตรีนิยมสายนี้มองว่า การดำรงอยู่ของวัฒนธรรมผู้หญิง เช่น การดูแลเอาใจใส่ ความสามารถในการสร้างความสัมพันธ์กับคนอื่น เป็นสิ่งที่เหนือกว่าความก้าวร้าว การชอบแข่งขัน ซึ่งเป็นวัฒนธรรมของผู้ชาย  ดังนั้นผู้หญิงจึงไม่มีความจำเป็นที่จะต้องมีบทบาทเทียบเท่ากับผู้ชาย การเปลี่ยนแปลงสถานภาพสตรีที่กำหนดให้ผู้ชายเป็นตัวตั้ง แล้วพยายามทำให้ผู้หญิงไปเทียบเท่า ถือว่าเป็นการสร้างความรุนแรงให้กับผู้หญิงอีกทางหนึ่ง  สตรีนิยมสายวัฒนธรรมพยายามชี้ให้เห็นว่า ระบบชายเป็นใหญ่ได้สร้างวัฒนธรรมของผู้ชายที่เป็นหลักขึ้นมา โดยส่งผ่านนิทาน ศาสนา ศิลปะ วรรณกรรม ฯลฯ  จึงทำให้ผู้หญิงที่ปรากฏในงานวัฒนธรรมเหล่านี้เป็นผู้หญิงปลอม  สตรีนิยมสายวัฒนธรรมพยายามให้คุณค่าใหม่แก่ลักษณะของผู้หญิงที่เคยถูกมองว่าด้อย เช่น ความเฉยไม่แสดงออก (Passivity) แสดงถึงการรักสันติ

สตรีนิยมสายนิเวศ (Ecofeminism)

สตรีนิยมสายนิเวศเป็นแนวคิดที่แตกออกจากสตรีนิยมสายถอนรากถอนโคนเช่นเดียวกับสตรีนิยมสายวัฒนธรรม สตรีนิยมสายนี้เชื่อว่า ผู้หญิงมีความแตกต่างจากผู้ชายและดีกว่าผู้ชายโดยธรรมชาติ และจากเงื่อนไขทางชีวภาพ เช่น การให้กำเนิดลูก ทำให้ผู้หญิงมีความเชื่อมโยงกับธรรมชาติ เชื่อมโยงกับโลกมากกว่าผู้ชาย สตรีนิยมสายนิเวศปฏิเสธความเชื่อที่ว่าวัฒนธรรม (ตัวแทนวิธีคิดของผู้ชาย) สูงส่งกว่าธรรมชาติ (ตัวแทนวิธีคิดของผู้หญิง) ดังนั้นมนุษย์จึงควรชื่นชมยินดีกับธรรมชาติ และควรปฏิเสธเทคโนโลยีต่าง ๆ ที่ทำลายธรรมชาติ ความเชื่อของสตรีนิยมสายนี้นำไปสู่การฟื้นฟูความรู้ ความเชื่อพิธีกรรมโบราณที่ให้ความสำคัญกับการบูชาพระแม่เจ้า พระจันทร์ สัตว์ต่าง ๆ รวมทั้งระบบการสืบพันธุ์ของผู้หญิง

สตรีนิยมสายหลังสมัยใหม่ (Post Modern Feminism)

สตรีนิยมสายหลังสมัยใหม่ ไม่เห็นด้วยกับแนวคิดของสตรีนิยมสายเสรีนิยม สตรีนิยมสายมาร์กซิสต์หรือสังคมนิยม  และสตรีนิยมสายถอนรากถอนโคน  เพราะเห็นว่าแนวคิดดังกล่าวมองปัญหาผู้หญิงแบบเหมารวม  สตรีนิยมสายหลังสมัยใหม่โต้แย้งว่า ในโลกของความจริง ผู้หญิงมีความหลากหลาย ผู้หญิงต่างชนชั้น ต่างภาษา ต่างสีผิว ต่างชาติพันธุ์  ต่างท้องถิ่น และต่างวัฒนธรรมมีปัญหาไม่เหมือนกันเลย  ดังนั้นการแก้ไขปัญหาด้วยแนวคิดเดียวที่มองปัญหาผู้หญิงแบบเป็นสากล  โดยไม่คำนึงถึงความแตกต่างทางอัตลักษณ์เฉพาะตนของผู้หญิงแต่ละคน  ไม่เพียงแต่ไม่ใช่การแก้ปัญหาหากยังเป็นการสร้างปัญหาให้แก่ผู้หญิงอีกด้วย

แนวคิดสตรีนิยมหลังสมัยใหม่ถูกโจมตีทั้งจากสตรีนิยมสายเสรีนิยม สตรีนิยมสายมาร์กซิสต์หรือสังคมนิยม และสตรีนิยมสายถอนรากถอนโคน  เพราะเห็นว่าแนวคิดของสตรีนิยมหลังสมัยใหม่มีแนวโน้มที่จะทำลายความเป็นอันหนึ่งอันเดียวกันของขบวนสตรี 

ขบวนสตรีในประเทศไทย

แม้ประวัติศาสตร์ขบวนสตรีในประเทศไทยจะเริ่มจากชนชั้นล่าง ดังเช่นการต่อสู้ของทาสหญิงในสมัยรัชกาลที่ ๔ และกรรมกรหญิงเมื่อ พ.ศ.๒๕๑๘  แต่นักวิชาการด้านสตรีศึกษามองว่า ประวัติศาสตร์การต่อสู้ของผู้หญิงชั้นล่างเหล่านี้กลับถูกลืมในสังคมไทย  การต่อสู้ของขบวนสตรีที่ปรากฏให้เห็นในสื่อบ่อย ๆ มักจะเน้นความสำเร็จด้านกฎหมายของนักสิทธิสตรีสายเสรีนิยม (Liberal Feminists) ความสำเร็จดังกล่าวตอบสนองได้แต่เพียงข้อเรียกร้องของผู้หญิงชั้นกลางและชั้นสูงที่มีเพียงแค่ร้อยละ ๒๐ ของจำนวนสตรีไทยทั้งหมดเท่านั้น ในขณะที่ผู้หญิงชั้นล่างอีกร้อยละ ๘๐  รู้สึกว่า ปัญหาหลักที่พวกเธอเผชิญอยู่คือความยากจน เช่น การไม่มีที่ดินทำกิน การได้รับค่าจ้างต่ำ การไม่สามารถค้าขายเพราะนโยบายของรัฐ การเข้าสู่ธุรกิจบริการทางเพศ การไม่สามารถเข้าถึงฐานทรัพยากรธรรมชาติ ฯลฯ  ดังนั้นความสำเร็จของขบวนสตรีที่มาจากผู้หญิงชั้นกลางและชั้นสูงในประเทศไทยจึงไม่อาจเป็นตัวแทนของขบวนสตรีในภาพรวมได้เลย

สำหรับการต่อสู้ของขบวนการสตรีเพื่อนำไปสู่การมีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้นของผู้หญิงชั้นล่าง เช่น ชาวนา ชาวสวน ชาวไร่ กรรมกร หญิงบริการ ฯลฯ นั้น  แม้เครือข่ายด้านแรงงานและด้านสตรีจากภาคประชาชนได้ผนึกกำลังกันต่อสู้เพื่อความเป็นธรรมอย่างต่อเนื่อง แต่การเปลี่ยนแปลงกลับเป็นไปอย่างเชื่องช้า  ทั้งนี้เนื่องจากการแก้ไขปัญหาระดับโครงสร้างของประเทศไทยเป็นไปได้ยาก คนทำงานมักจะเผชิญอุปสรรคที่เกิดจากอคติและมายาคติอันมีที่มาจาก ความเชื่อ ค่านิยม ระเบียบปฏิบัติ ในสังคมจารีตประเพณีอยู่เสมอ

****

อ่านเรื่อง ความรู้เบื้องต้นเกี่ยวกับแนวคิดสตรีนิยมนักคิดสตรีนิยม และสตรีนิยมสายต่าง ๆ ต่อได้ที่ นิตยสารทางอีศาน ฉบับที่ ๑๐๗ เดือนมีนาคม ๒๕๖๔

ราคาเล่มละ ๑๐๐ บาทสมัครสมาชิก ครึ่งปี ๖๐๐ บาทหนึ่งปี ๑,๑๐๐ บาทตลอดชีพ ๙,๕๐๐ บาท (ได้รับหนังสือย้อนหลัง)

สั่งซื้อ// ชำระเงิน // สอบถามเพิ่มเติม ได้ทาง inbox หนังสืออีศาน m.me/166200246799901

line id : @chonniyom (มี@) คลิก https://lin.ee/amxqtvW

shopee : https://shp.ee/texe8nd

LnwShop : https://www.thaibookfair.com/seller/chonniyom-eshann โทร. 086-378-2516

Related Posts

“คารคี” ฤๅษีหญิงแห่งโลกตะวันออก
ร่องรอยหลักฐาน
แม่ผู้เพาะต้นกล้าภาษา และวัฒนธรรมไทยในสวิส
WP2Social Auto Publish Powered By : XYZScripts.com