ความเร้นลับของวาติกัน ยิ่งกว่ารหัสลับดาวินชี

ความเร้นลับของวาติกัน

   ยิ่งกว่ารหัสลับดาวินชี

# บทนำคำชี้แจง

จุดมุ่งหมายของข้อเขียนชุดนี้ คือ การเรียนรู้จากปรากฏการณ์ การสรุปบทเรียนจากสิ่งที่เกิดขึ้นที่ “วาติกัน”  ในฐานะที่เป็นคาทอลิก เป็นสมาชิกของพระศาสนจักรที่กำลังเผชิญวิกฤติ ไม่อยากเป็นเหมือนนกตัวใหญ่ที่บินไม่เป็นและเอาหัวซุกทราย แต่อยากเป็นนกตัวเล็กที่บินขึ้นไปเพื่อจะได้มองปัญหารอบด้านและหลายมิติ

ข้อเขียนนี้มี 4 ตอน รวม “บทนำ-คำชี้แจง” นี้ ที่ไม่อาจเขียนในวรรคเดียวหรือแม้แต่หน้าเดียว เพราะตระหนักว่า เนื้อหาอาจจะทำให้หลายคนขุ่นเคือง ขัดใจ โดยเฉพาะศาสนิกสายอนุรักษ์ (conservative) ที่รับไม่ได้ ยังไม่นับคน “คลั่งศาสนา” (fanatics/fundamentalist) ที่เห็นว่าเรื่องเหล่านี้เป็น “ตาบู” (taboo ต้องห้าม แตะต้องไม่ได้)

แต่เรื่องที่นำมาพูดถึงเป็นการวิเคราะห์ให้เห็นอาการเจ็บป่วยของพระศาสนจักร ที่ชาวคริสต์คาทอลิกเชื่อว่าเป็น “พระกายของคริสต์” (Body of Christ)  ที่ทุกคนเป็นส่วนหนึ่งของ “พระกาย” นี้  เมื่อเจ็บป่วยที่หนึ่ง โดยเฉพาะที่ “หัวใจ” และที่ “สมอง” ก็จะเจ็บป่วยไปทั่วเพราะทุกส่วนล้วนสัมพันธ์กัน

ผมจึงไม่ได้ต้องการเขียนเรื่องนี้เพื่อ “ประจาน” หรือซ้ำเติมพระศาสนจักร แต่สถานการณ์ปัจจุบันที่เกิดปรากฏการณ์ที่กระทบกระแทกทำร้ายความรู้สึก ความเชื่อและสำนึก และรับไม่ได้ (scandals) ของผู้คนทั่วโลก  เรื่องการคอร์รัปชั่นที่วาติกัน เรื่องการละเมิดทางเพศของนักบวชต่อเด็กในประเทศต่าง ๆ ทั่วโลก

เป็นขยะใต้พรมที่ถูกเปิดออก เปิดเผยทางสื่อใหญ่ไปทั่วโลก แพร่ทางโซเชียลมีเดีย คลิปวิดีโอ สารคดีที่นำเสนอเรื่องเหล่านี้มีคนดูหลายล้านครั้งในเวลาไม่นาน  พระสันตะปาปา พระศาสนจักรทั้งที่วาติกันและทั่วโลกก็ไม่ได้นิ่งเฉย ได้มีการประณาม มีการสอบสวน และให้มีการดำเนินคดีทั้งทางศาสนา (canon laws) และทางโลก (civil laws)  ได้มีการชดเชยเยียวยา “เหยื่อ” ผู้ถูกกระทำที่สหรัฐอเมริกาเป็นเงินกว่า 120,000 ล้านบาท

เรื่องไม่ดีที่ทำร้ายความรู้สึกสำนึก (scandals) เหล่านี้ โดยเฉพาะการละเมิดทางเพศเด็ก (child sexual abuse – pedophile) เป็นปัญหาสาหัสสำหรับพระศาสนจักร  เช่นเดียวกับการฉ้อฉลทางการเงินและการ “มั่วกามเพศเดียวกัน” ของผู้นำศาสนาระดับล่างถึงระดับสูงในวาติกัน ที่ถูกเปิดเผยจากการสืบสวนของสื่ออิตาเลียน

เหล่านี้ได้ทำลายความน่าเชื่อถือ ความไว้วางใจ (trust) ทั้งต่อศาสนจักรโดยรวมและต่อนักบวช ผู้นำศาสนาทั้งที่วาติกันและในพระศาสนจักรท้องถิ่นทั่วโลก เป็นบาดแผลทางใจ (trauma) และทางจิตวิญญาณที่ไม่ได้เป็นปัญหาเฉพาะของบุคคลเท่านั้น แต่เป็นปัญหาร่วมของพระศาสนจักรที่ทุกฝ่ายต้องร่วมมือกันแก้ไข ไม่ใช่ด้วยการสวดภาวนาเท่านั้น แต่ให้รับรู้ปัญหาและหาทางป้องกันไม่ให้เกิดขึ้นอีก

# กว่าจะมาเขียนเรื่องนี้

ผมเรียนปรัชญาและเทวศาสตร์ที่กรุงโรมเมื่อปี 1965-1972 ได้ปริญญาตรีและโททางปรัชญาและทางเทวศาสตร์ (รวม 4 ใบ)  ผมไปถึงโรมตุลาคม 1965 กำลังมีการปิดการประชุมสังคายนาวาติกันที่ 2 พอดี  ผมจึงได้ศึกษาเล่าเรียนทั้ง 7 ปีในบรรยากาศใหม่ กระบวนทัศน์ใหม่ ภายใต้จิตวิญญาณที่ได้มีการฟื้นฟู ตามแนวทางที่พระสันตะปาปายอห์นที่ 23 ผู้ริเริ่มสังคายนา เรียกว่า aggiornamento คือ การทำให้สมสมัย

ผมศึกษาในมหาวิทยาลัยนานาชาติ มีนักศึกษาที่เตรียมตัวบวชเป็นบาทหลวงจาก 50-60 ประเทศทั่วโลก และได้บวชที่กรุงโรมเมื่อปี 1972  ผมกลับมาทำหน้าที่ประจำวัดที่สกลนคร และสอนปรัชญาที่วิทยาลัยแสงธรรม สามพราน นครปฐม  ไปศึกษาปริญญาเอกที่มิวนิกแล้ว “สึก” ซึ่งโป๊บผู้เดียวสามารถอนุมัติได้ รวมเวลา “บวช” 6 ปี

หนังสือลาไปถึงวาติกันเมื่อปี 1978 แต่ยังไม่ได้เซ็น พระสันตะปาปาปอลที่ 6 ถึงแก่อสัญกรรม  ต่อมาไปอยู่บนโต๊ะพระสันตะปาปาจอห์นปอลที่ 1 ซึ่งอยู่ในตำแหน่งเพียง 33 วันก็ถึงแก่อสัญกรรม  จากนั้นจึงไปถึงพระสันตะปาปาจอห์นปอลที่ 2 ในปี 1980 ผมจึงได้รับอนุมัติให้ “สึก” ได้

การ “อนุมัติ” คือ การยกเว้นจากการปฏิบัติหน้าที่ทางศาสนา สามารถแต่งงาน มีชีวิตแบบฆราวาสทั่วไปได้ แต่ตามความเชื่อก็ยังเป็น “พระตลอดนิรันดร์” (Tu es sacerdos in eternum)  ถ้ามีเหตุจำเป็นฉุกเฉินบางกรณีผมยังอาจทำหน้าที่ได้ หรือทางศาสนจักรอาจเรียกกลับไปทำหน้าที่อีกได้ถ้าหากจำเป็นและเห็นควร

ผมเล่าเรื่องนี้ เพราะเรื่องราวที่เขียน 3 ตอนต่อไปนี้ ไม่ได้มาจากการค้นคว้าเอกสารและการฟังการดูเทปต่าง ๆ ในยูทูปเท่านั้น แต่มาจากประสบการณ์ตรงที่ได้มีโอกาสไปสัมผัสบรรยากาศของ “วาติกัน” ถึง 7 ปี ได้เข้าไปในเซนต์ปิเตอร์นับครั้งไม่ถ้วน เพราะที่พักและมหาวิทยาลัยที่ผมเรียนอยู่บนเนินจานิโกโล อยู่ตรงกันข้ามกับมหาวิหารเซนต์ปิเตอร์และที่ประทับของพระสันตะปาปา

ผมได้รับโอกาสให้ไป “ช่วยมิสซา” และอ่านบทอ่านระหว่างพิธีมิสซาของพระสันตะปาปาปอลที่ 6 ในพิธีกรรมใหญ่ในวันสำคัญทางศาสนา ในมหาวิหารเซนต์ปิเตอร์ (ดูภาพ)  พระสันตะปาปาปอลที่ 6 ที่วันนี้ได้รับการประกาศเป็นนักบุญเช่นเดียวกับพระสันตะปาปาจอห์นที่ 23 และจอห์นปอลที่ 2

หลังจาก “สึก” ผมได้เป็นอาจารย์ประจำที่มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ในเวลาเดียวกันทำงานพัฒนาชนบทร่วมกับสภาคาทอลิกแห่งประเทศไทยเพื่อการพัฒนา ซึ่งมีบิชอบบุญเลื่อน หมั้นทรัพย์ เป็นผู้นำ  จากนั้นได้ก่อตั้งมูลนิธิหมู่บ้าน และลาออกจากราชการมาทำงานกับชุมชนเต็มเวลา

ไปทำงานเอดส์ เป็นผู้จัดการโครงการไทย-ออสเตรเลียป้องกันเอดส์ภาคเหนือ โครงการเอดส์ในเขตลุ่มน้ำโขงของยูนิเซฟ และเป็นผู้อำนวยการโครงการเอดส์ของสหประชาชาติในเอเชียแปซิฟิก  จากนั้นมาก่อตั้งและเป็นผู้อำนวยการสถาบันส่งเสริมวิสาหกิจชุมชน, โครงการมหาวิทยาลัยชีวิต และก่อตั้งสถาบันการเรียนรู้เพื่อปวงชน  จนถึงวันนี้ที่ก่อตั้ง Life Academy และสถาบันการเรียนรู้ตลอดชีวิต การเรียนรู้ไร้พรมแดนและไร้ขีดจำกัด

# การเป็นคริสต์ศาสนิกที่ดีคืออะไร

นับว่าเป็นบุญที่ได้เข้าเรียนใน “สามเณราลัย” (seminary) จนได้บวช ได้ศึกษาเล่าเรียนที่กรุงโรม ได้ศึกษาปริญญาเอกที่สถาบันปรัชญาชั้นสูง ซึ่งดำเนินการโดยคณะเยซุอิตที่มิวนิก เยอรมนี ซึ่งขณะนั้นมีคุณพ่อคาร์ล ราห์เนอร์ (Karl Rahner) ประจำอยู่  นักเทวศาสตร์ที่ได้รับการยกย่องว่ายิ่งใหญ่ที่สุดท่านหนึ่งของศตวรรษที่ 20 ที่ปรึกษาสำคัญของสังคายนาวาติกันที่ 2

ท่านเป็นคนเดียวที่รอแสดงความยินดีผมอยู่หน้าประตูห้องที่ผมสอบวิทยานิพนธ์ปริญญาเอก เมื่อวันที่ 20 กุมภาพันธ์ 2521 ที่ผมไปสอบคนเดียว อยู่ในห้องคนเดียวกับอาจารย์ผู้สอบ 4 คน เป็นเวลา 4 ชั่วโมง อาจารย์ที่ปรึกษาของผม (ที่เยอรมันเรียก บิดาวิทยานิพนธ์ Dissertationsvater) เป็นฆราวาส เคยเป็นเลขานุการของคุณพ่อราห์เนอร์ ตอนที่ท่านเป็นอาจารย์ที่มหาวิทยาลัยมิวนิก ซึ่งตั้งอยู่ติดกัน

คุณพ่อราห์เนอร์มอบหนังสือเล่มเล็กพร้อมคำอวยพรและลายเซ็นของท่าน บอกว่าท่านได้อ่านงานของผมแล้ว (เพราะทางสถาบันจะวางไว้ก่อนสอบประมาณ 1 เดือนให้อาจารย์ในสถาบันอ่าน) ขอชื่นชม และขอให้ประสบความสำเร็จในหน้าที่การงาน

ผมเล่าเรื่องนี้ เพราะเนื้อหาวิทยานิพนธ์และการศึกษาปรัชญาและเทวศาสตร์ของผมได้รับอิทธิพลจาก Karl Rahner คนหนึ่ง และจาก Hans Kueng นักเทวศาสตร์ผู้ยิ่งใหญ่อีกท่านหนึ่ง ซึ่งถึงแก่กรรมไปเมื่อ 6 เมษายน 2021 อายุ 93 ปี  ท่านนับผมเป็น “เพื่อน” (friend) แบบฝรั่ง ทั้ง ๆ ที่ท่านอายุมากกว่าผมมาก

คุณพ่อ Han Kueng เป็นบาทหลวง “พื้นเมือง” คือ ไม่สังกัด “คณะนักบวช” (religious order) ท่านเป็นชาวสวิส แต่ศึกษาและสอนที่เยอรมนี ที่มหาวิทยาลัย Tuebingen ที่เดียวกับคุณพ่อ Joseph Ratsinger ซึ่งต่อมาคือพระสันตะปาปาเบเนดิกต์ที่ 16 (Tuebingen มหาวิทยาลัยเก่าแก่มีชื่อเสียงที่ ศ.ดร.เจตนา นาควัชระ ไปศึกษาปริญญาเอกด้านวรรณกรรมวิจารณ์)

ท่านเป็นที่ปรึกษาหนุ่มที่สุดคนหนึ่งในสังคายนาวาติกันที่ 2 เป็นนักเทวศาสตร์ นักปรัชญาหัวก้าวหน้า เขียนหนังสือแนววิพากษ์ศาสนจักรที่สำคัญหลายเล่ม ที่โด่งดังและแปลเป็นหลายภาษาทั่วโลก คือ The Church (พระศาสนจักร) และ Infallibility ความพลาดพลั้งมิได้ของพระสันตะปาปา ซึ่งท่านตั้งคำถามและแสดงความกังขาในเรื่องนี้ ที่เป็นข้อความเชื่อ (dogma) ที่มีการประกาศในสังคายนาวาติกันที่ 1 เมื่อปี 1870 และหนังสือ Being Christian (Christ sein) ที่เป็นเบสท์เซลเลอร์ แปลไปหลายสิบภาษา

ความคิดที่ก้าวหน้าจนดูก้าวร้าวสำหรับหลายคน ท่านถูกพระศาสนจักรห้ามสอนเทวศาสตร์ไม่ว่าที่ไหนในโลก  ท่านจึงได้ตั้งสถาบันศาสนสัมพันธ์ที่มหาวิทยาลัยเดิม และเดินทางไปปาฐกถาทั่วโลก รวมทั้งไปพบปะนักคิด นักปราชญ์ในศาสนาต่าง ๆ

คุณพ่อฮันส์ คุง ได้อ่านงานของผม เมื่อจะมาเมืองไทย ได้ขอให้ผมช่วยประสานให้ท่านได้ไปพบท่านพุทธทาสภิกขุ ที่สวนโมกข์ ไชยา สุราษฎร์ธานี ซึ่งผมก็ได้พาท่านไป และได้สนทนากับท่านพุทธทาสอยู่สองวัน

คุณพ่อฮันส์ คุง ส่งหนังสือของท่านมาให้ผมเกือบทุกเล่ม นับผมเป็นกัลยาณมิตรคนหนึ่ง  ผมได้ไปเยี่ยมท่านที่ทือบิงเก้นเมื่อปี 2534 ปี (ดูภาพ)  หลัง ๆ นี้ไม่ได้ติดต่อท่านบ่อยนัก ท่านสุขภาพไม่ค่อยดีแล้ว

คุณพ่อคาร์ล ราห์เนอร์ และคุณพ่อฮันส์ คุง มีความเห็นทางปรัชญาศาสนาและเทวศาสตร์ต่างกันในหลายเรื่อง ซึ่งไม่ขอนำพูดถึงที่นี่ แต่เป็นความแตกต่างที่ไม่ได้เป็นความขัดแย้งรุนแรง เป็นทัศนะจากการตีความที่มีฐานคิดไม่เหมือนกัน และมีมาตลอดประวัติศาสตร์

เล่าเรื่องของนักเทวศาสตร์นักปรัชญาทั้งสองท่านนี้ เพื่อเรียนว่า ผมมีวิธีคิดอย่างไร ได้มาจากไหน และไม่ได้วิจารณ์เรื่อง “วาติกัน” และ “พระศาสนจักรคาทอลิก” ด้วยความมุ่งร้าย แต่ด้วยความปรารถนาที่จะชี้ให้เห็นปัญหา ที่มาสาเหตุเพื่อจะได้ร่วมกันแก้ไข รักษาความเจ็บไข้ได้ป่วยทางจิตวิญญาณนี้

“เสรี พพ”  23 กันยายน 2021

หมายเหตุ : ติดตามเรื่อง “ความเร้นลับของวาติกัน” ต่อเนื่องกันสามตอนจากนี้

WP2Social Auto Publish Powered By : XYZScripts.com