อักษรในอีสาน…ต้นธารประวัติศาสตร์

เพ่งพินิจสรรพสาระอันว่าด้วย “ประวัติศาสตร์” คงมีประเด็นเห็นพ้องและเห็นต่างกันอย่างไม่มีที่สิ้นสุด ทั้งนี้ด้วยเหตุที่การอธิบายเรื่องราวทางประวัติศาสตร์ ต้องอาศัยทั้งข้อมูลโบราณคดี ตำนาน พงศาวดาร เรื่องเล่า มาเป็นข้อมูลรองรับข้อสันนิษฐานของผู้รู้ในสำนักคิดต่าง ๆ ซึ่งทุกวันนี้หลายคนคงจะคุ้นเคยกับวาทกรรมที่ว่า จะศึกษาประวัติศาสตร์ของอุษาคเนย์เพื่อเข้าสู่ AEC ต้องลบเส้นแดนประเทศปัจจุบันออกเสียก่อน แต่ “เปิดผ้าม่านกั้ง” คราวนี้ จะขีดเส้นแดนแบ่งประวัติศาสตร์ที่ไม่เกี่ยวกับรัฐชาติแต่เป็นเรื่องยุคสมัย

“สมัยก่อนประวัติศาสตร์” และ “สมัยประวัติศาสตร์” เป็นการแบ่งช่วงเวลาทางพัฒนาการของชุมชนบ้านเมืองตามแบบสากล แบ่งออกเป็น ๒ สมัย โดยขีดเส้นแบ่งที่ช่วงเวลาที่มนุษย์เริ่มมีการประดิษฐ์ตัวอักษรขึ้นมาใช้

การศึกษาเรื่องราวสมัยก่อนประวัติศาสตร์ที่ยังไม่มีตัวอักษร จึงเป็นการวิเคราะห์ตีความหลักฐานทางโบราณคดีที่ขุดค้นพบ เช่น โครงกระดูก เครื่องมือ เครื่องใช้ เครื่องประดับ สมัยก่อนประวัติศาสตร์จึงแบ่งออกเป็น “ยุคหิน” (ยุคหินเก่า ยุคหินกลาง ยุคหินใหม่) และ “ยุคโลหะ” (ยุคสำริด ยุคเหล็ก)

กาลต่อมา มนุษย์ได้ประดิษฐ์อักษรเพื่อใช้ในการสื่อความหมาย เมื่อเรื่องราวการสื่อสารถูกบันทึกลงในวัสดุต่าง ๆ ทั้ง ใบไม้เปลือกไม้ หนังสัตว์ หิน และโลหะ จึงเป็นจุดเริ่มต้นของ “สมัยประวัติศาสตร์”

ตัวอักษร จากเมดิเตอร์เรเนียนสู่อุษาคเนย์

อักษรเก่าแก่ที่ใช้ในยุคแรกในดินแดนลุ่มแม่น้ำโขง เชื่อว่าคือ “อักษรพราหมี” เป็นอักษรที่พราหมณ์ได้แบบอย่างมาจากประเทศตะวันตกเมืองเฟนิเซีย ที่ตั้งอยู่ในฝั่งตะวันออกของทะเลเมดิเตอร์เรเนียน ชาวเฟนิเซียเป็นชาติแรกที่คิดวิธีเขียนหนังสือด้วยตัวอักษรล้วน ไม่ใช้อักษรภาพอย่างชาวอียิปต์หรือจีน

อักษรพราหมีถูกใช้อย่างแพร่หลายในอินเดีย ช่วงพุทธศตวรรษที่ ๓ ต่อมาได้คลี่คลายรูปสัณฐานไปตามบริบท เช่น ในอินเดียเหนือนิยมใช้กระดาษ แต่ในอินเดียใต้นิยมใช้ใบลานทำให้ในช่วงพุทธศตวรรษที่ ๙ – ๑๐ อักษรในอินเดียใต้และเหนือมีรูปสัณฐานที่แตกต่างกันเพื่อความสะดวกในการบันทึก

ตัวอักษรในอินเดียเหนือเรียกว่า “อักษรเทวนาครี” ส่วนในอินเดียใต้เรียกว่า “อักษรคฤนถ์” โดยอักษรคฤนถ์จากอินเดียใต้นี้ ได้แพร่เข้าสู่อุษาคเนย์ตั้งแต่พุทธศตวรรษที่ ๑๒ ดังปรากฏจารึก เย ธัมมา สันนิษฐานว่ามีอายุราว พ.ศ.๑๑๐๐ – ๑๒๐๐ ที่พระปฐมเจดีย์ ในไทย  นอกจากนี้ยังมี จารึกแผ่นทองคำเรื่องกถาวัตถุ ในประเทศพม่า อายุราว พ.ศ.๑๐๕๐ – ๑๑๕๐ และในจารึกพระเจ้าภววรมันที่ ๑ ในกัมพูชา พ.ศ.๑๑๕๐ ที่ล้วนแล้วแต่ใช้อักษรคฤนถ์ เหมือนกันกับอักษรในอินเดียใต้ ช่วงราชวงศ์กทัมพะ (Kadamba Dynasty) และราชวงศ์ปัลลวะ (Pallava Dynasty) แสดงให้เห็นถึงอิทธิพลของ อักษรคฤนถ์ที่เข้ามามีอิทธิพลต่อการประดิษฐ์อักษรในอุษาคเนย์

ตัวอักษร…ลุ่มแม่นํ้าโขง

จุดเริ่มต้นของอักษรโบราณลุ่มแม่นํ้าโขง มีพัฒนาการมาจากอักษรคฤนถ์หรืออักษรปัลลวะที่แพร่หลายเข้ามาพร้อมกับการค้าและการเผยแผ่ศาสนาในดินแดนอุษาคเนย์ แล้วค่อย ๆ พัฒนาจนเป็นอักษรอันมีเอกลักษณ์เฉพาะ  ดังนี้

อักษรปัลลวะ มีการใช้ในราวพุทธศตวรรษที่ ๑๒ – ๑๕ ลักษณะตัวอักษรยังคงรูปแบบอักษรอินเดียใต้ คือเป็นทรงกลมและกว้าง มีเส้นโค้ง เส้นหยักที่อ่อนช้อย ตัวอักษรบางตัวมีเส้นดิ่งยาวเลยตัวอักษรตัวอื่นในแนวบรรทัดเดียวกันลงไปด้านล่าง แล้วตวัดปลายเส้นขึ้นด้านบน หลักฐานการใช้อักษรปัลลวะในบริเวณภาคอีสาน เช่น จารึกวัดสุปัฏนาราม จารึกปากน้ำมูล จ.อุบลราชธานี จารึกดอนเมืองเตย จ.ยโสธร จารึกถ้ำเป็ดทอง จ.บุรีรัมย์ เป็นต้น

เป็นที่น่าสังเกตว่า จารึกที่พบในภาคอีสานที่มีอายุในพุทธศตวรรษที่ ๑๒ – ๑๕ นั้นแม้จะใช้อักษรปัลลวะเหมือนกันกับจารึกที่พบในภาคกลาง แต่จารึกภาคอีสานจะใช้ภาษาสันสกฤต ต่างจากภาคกลางที่ใช้ภาษาบาลี ส่วนในภาคเหนือจากจังหวัดสุโขทัย – พิษณุโลกขึ้นไป ไม่พบหลักฐานจารึกอักษรปัลลวะ

อักษรหลังปัลลวะ มีการใช้ในราวพุทธศตวรรษที่ ๑๓ – ๑๕ มีการปรับสัณฐานของตัวอักษรปัลลวะให้มีขนาดเท่ากัน โดยการตัดเส้นดิ่งที่ลากยาวให้มีขนาดสั้นเท่ากับอักษรตัวอื่น แต่บางครั้งพบว่า มีการใช้อักษรหลังปัลลวะปะปนกันกับอักษรปัลลวะ หลักฐานการใช้อักษรหลังปัลลวะในบริเวณภาคอีสาน เช่น จารึกเสาหินขอน จ.นครราชสีมา จารึกสถาปนาสีมา จ.กาฬสินธุ์ จารึกปราสาทหินพนมรุ้ง จ.บุรีรัมย์ เป็นต้น

อักษรขอมโบราณ เป็นการพัฒนารูปสัณฐานต่อเนื่องมาจากอักษรหลังปัลลวะ จนมลักษณะชัดเจนในราวพุทธศตวรรษที่ ๑๕ – ๑๖ ลักษณะเฉพาะที่เป็นเอกลักษณ์คือ “ศก” เกิดจากการเปลี่ยนแปลงลักษณะเส้นบ่าของอักษรหลังปัลลวะ จากที่เคยเป็นเส้นตรงแนวนอนกลายเป็นเส้นหยักโค้ง เหมือนรูปปีกกาติดกับตัวอักษร ตัวอักษรไม่เน้นเส้นดิ่ง และให้ความสำคัญกับพยัญชนะประสมหรือตัวสะกดที่อยู่ใต้บรรทัดซึ่งภายหลังเรียกว่า “เชิง” หลักฐานการใช้อักษรขอมโบราณ เช่น จารึกสด๊กก๊อกธม จ.สระแก้ว ที่สร้างใน พ.ศ.๑๔๘๐ จารึกบ้านตาดทอง จ.ยโสธร จารึกบ่ออีกา จ.นครราชสีมา จารึกหน้าวัดสุปัฏนาราม จ.อุบลราชธานี เป็นต้น

อักษรมอญโบราณ พัฒนาสัณฐานต่อเนื่องมาจากอักษรหลังปัลลวะเช่นกันกับอักษรขอมโบราณ จนมีสัณฐานชัดเจนในราวพุทธศตวรรษที่ ๑๗ – ๑๘ พบเฉพาะจารึกภาคเหนือ ไม่พบในภาคอื่น ๆ ของไทย มีสัณฐานแบบเดียวกับอักษรมอญโบราณที่พบในอาณาจักรพุกาม คือมีรูปทรงกลมมน ปรับเส้นบ่าอักษรปัลลวะให้สั้นลง และตัดบ่าอักษรทิ้งไปในบางตัว ตัวอักษรมีขนาดเท่ากันอยู่ในบรรทัดเดียวกัน อักษรมอญโบราณนี้มีอิทธิพลในภาคเหนือของไทย ต่อมาได้เป็นต้นแบบอักษรยวนหรืออักษรตัวเมืองที่ใช้ตั้งแต่สมัยราชวงศ์มังราย  และได้แพร่อิทธิพลเข้าสู่อาณาจักรล้านช้างและภาคอีสานของไทย

อักษรตัวธรรมอีสาน – ล้านช้าง

มีการในดินแดนอีสาน – ล้านช้าง สำหรับบันทึกเรื่องราวเกี่ยวกับพระพุทธศาสนา เช่น พระไตรปิฎก ฎีกา และชาดกต่าง ๆ เป็นต้น จากความสำคัญดังกล่าวจึงทำให้อักษรตัวธรรมกลายเป็นอักษรชั้นสูงและศักดิ์สิทธิ์ ที่ปรากฏใช้ทั้งในประเทศสาธารณะรัฐประชาธิปไตยประชาชนลาวและในภาคตะวันออกเฉียงเหนือหรือภาคอีสานของไทย มาตั้งแต่ราวพุทธศตวรรษที่ ๒๐

อักษรตัวธรรมอีสาน – ล้านช้าง พัฒนามาจากอักษรมอญโบราณ โดยผ่านอักษรตัวเมืองหรืออักษรยวนก่อน กล่าวคือ ชาวล้านนาได้มีการพัฒนารูปแบบอักษรมอญโบราณเป็นอักษรพื้นเมืองเหนือเรียกว่า “อักษรยวน” หรือ “อักษรตัวธรรมล้านนา” ซึ่งอักษรตัวธรรมล้านนาได้พัฒนามาจากอักษรมอญโบราณจากเมืองหริภุญไชย อักษรตัวธรรมล้านนานี้น่าจะมีใช้ก่อนรัชสมัยพระเมืองแก้ว (พ.ศ.๒๐๓๘ – ๒๐๖๘) และได้แพร่อิทธิพลเข้าสู่อาณาจักรล้านช้างหลวงพระบางจนถึงดินแดนแม่น้ำโขงตอนกลาง

หลักฐานสำคัญคือจารึกต่าง ๆ เช่น จารึกวัดสังคโลกเทวาลัย ในเมืองหลวงพระบาง ระบุจุลศักราช ๘๘๙ ตรงกับ พ.ศ.๒๐๗๐ ตรงกับรัชสมัยพระเจ้าโพธิสาลราช อย่างไรก็ตาม หลักฐานการใช้อักษรตัวธรรมในดินแดนล้านช้างที่เก่าที่สุด คือ จารึกฐานพระพุทธรูปวัดสีสะเกด นครเวียงจันท์ ระบุจุลศักราช ๘๕๒ ตรงกับ พ.ศ.๒๐๓๓ จารึกฐานพระพุทธรูปประธานในพระอุโบสถวัดพระธาตุพนม ระบุจุลศักราช ๘๖๕ ตรงกับ พ.ศ.๒๐๔๖ อักษรตัวธรรมที่ปรากฏบนจารึกเหล่านี้มีสัณฐานเหมือนกับอักษรยวนในภาคเหนือของไทย ในจารึกวัดช้างคํ้า จังหวัดน่าน ระบุศักราช พ.ศ.๒๐๙๑ และจารึกฐานพระพุทธรูปวัดเชียงมั่น จ.เชียงใหม่ ระบุ พ.ศ.๒๐๐๘ รวมถึงจารึกวัดถ้ำสุวรรณคูหา จ.หนองบัวลำภู ระบุ พ.ศ.๒๑๐๖ ตรงกับรัชสมัยพระเจ้าไชยเชษฐาธิราช แสดงให้เห็นว่าอักษรตัวธรรมอีสานและอักษรยวนเป็นอักษรชนิดเดียวกันในยุคต้น แล้วจึงพัฒนาคลี่คลายจนมีความแตกต่างกันอย่างที่เห็นในปัจจุบัน

จากการสำรวจจารึกในภาคอีสานและอาณาจักรล้านช้างโดย ศ.ธวัช ปุณโณทก พบว่า จารึกตัวธรรมอีสานที่เก่าแก่ที่สุดเท่าที่สำรวจพบ คือจารึกที่ฐานพระพุทธรูปวัดสีสะเกด นครเวียงจันท์ จารึกนี้ระบุศักราช ๘๕๒ (พ.ศ.๒๐๓๓) ตรงกับสมัยพระเจ้าราชแสนไทย หรือพระยาล่านํ้าแสนไทย แห่งอาณาจักรล้านช้าง จารึกนี้เป็นหลักฐานยืนยันว่าอาณาจักรล้านช้างมีการใช้อักษรตัวธรรมมาตั้งแต่ก่อนสมัยพระเจ้าโพธิสาลราช ที่มีการกล่าวถึงเรื่องราวการนำพระมหาเถระและพระไตรปิฎกมาจากล้านนาใน “ชินกาลมาลีปกรณ์” ที่ว่า

“…ครั้นถึงวันจันทร์ เดือนญี่ ขึ้น ๑๕ คํ่า ปีมะแม สมเด็จบรมกษัตริย์ปรารถนาจะยังเจ้าเมืองศรีสัตนาคนหุต ให้บังเกิดศรัทธาเลื่อมใส สมณปิก์ชารานิ ปริจ์จชิตวา จึ่งถวายซึ่งสมณะบริขารเป็นอันมาก กับทั้งคู่ผ้าละคู่ ๆ แก่พระสงฆ์เป็นอันมาก มีพระเทพมงคลเถรเป็นประธาน  เปเสสิ ส่งพระเทพมงคลเถรกับทั้งบริวารให้ไปสู่เมืองศรีสัตนาคนหุต กับพระไตรปิฎก ๖๐ พระคําภีร์…”

ข้อความนี้ มักถูกอ้างถึงว่าเป็นจุดเปลี่ยนสำคัญและเป็นจุดเริ่มต้นที่ทำให้อักษรตัวธรรมล้านนาเข้ามามีอิทธิพลต่ออาณาจักรล้านช้าง ทั้งที่ข้อมูลจากจารึกทำให้เห็นว่า อักษรตัวธรรมล้านนาเข้ามาสู่อาณาจักรล้านช้างและน่าจะได้รับความนิยมมาก่อนหน้านั้นแล้ว

สมัยพระเจ้าราชแสนไทย (พ.ศ.๑๙๑๖ – ๑๙๕๙) แห่งอาณาจักรล้านช้าง ตรงกับสมัยราชวงศ์มังรายของอาณาจักรล้านนา ในยุคนี้เป็นยุคที่สองอาณาจักรยังมีความสัมพันธ์กันเป็นอย่างดี ทั้งทางด้านศาสนา ศิลปะ วัฒนธรรม และความสัมพันธ์ทางสายเลือดของเจ้าผู้ปกครองอาณาจักรทั้งสอง

สมัยพระเจ้าติโลกราช (พ.ศ.๑๙๕๒ – พ.ศ.๒๐๓๐) พระมหากษัตริย์ล้านนาแห่งราชวงศ์มังรายพระองค์ที่ ๙ ความสัมพันธ์ของอาณาจักรล้านนา ล้านช้าง และอยุธยา มีปรากฏตามหลักฐานศิลาจารึกวัดจุฬามณี เมืองพิษณุโลก ที่บันทึกถึงการออกผนวชของสมเด็จพระบรมไตรโลกนาถแห่งอยุธยา ว่า

“…ศักราช ๘๒๖ ปีวอกนักษัตร (พ.ศ. ๒๐๐๗) อันดับนั้น สมเด็จพระรามาธิบดีศรีบรมไตรโลกนาถบพิตรเปนเจ้า ให้สร้างอาศรมจุฬามณีที่จะเสด็จออกทรงมหาภิเนษกรม ขณะนั้น เอกราชทั้งสามเมือง คือ พระญาล้านช้าง แลมหาราชระญาเชียงใหม่ แลพระญาหงสาวดี ชมพระราชศรัทธา ก็แต่งเครื่องอัฐบริขารให้มาถวาย…”

เหตุการณ์สำคัญในสมัยพระเจ้าติโลกราชแห่งล้านนา คือ การสังคายนาพระไตรปิฎกครั้งที่ ๘ อันเป็นเหตุให้พระองค์ได้รับถวายพระนามว่า “พระเจ้าศิริธรรมจักรวัติโลกราชามหาธรรมิกราช พระเจ้านครพิงค์เชียงใหม่” และน่าจะได้มีพระสงฆ์จากอาณาจักรล้านช้างเดินทางไปศึกษาที่อาณาจักรล้านนาด้วย

ในสมัยพระเจ้าวิชุลราช (พ.ศ.๒๐๔๔-๒๐๖๓) อาณาจักรล้านช้างได้มีการฟื้นฟูทำนุบำรุงพระพุทธศาสนาแบบลังกาวงศ์ โดยได้รับการสืบทอดมาจากนครเชียงใหม่ ซึ่งเป็นผลมาจากความสัมพันธ์กับล้านนาในด้านศาสนามาตั้งแต่สมัยพระเจ้าติโลกราช

ต่อมาในสมัยพระเจ้าโพธิสาลราช (พ.ศ.๒๐๖๓–๒๐๙๓) พระโอรสของพระเจ้าวิชุลราชพระองค์ได้อภิเษกกับธิดาเจ้านครเชียงใหม่ และได้ขอพระเทพมงคลเถระพร้อมคัมภีร์พระไตรปิฎก ๖๐ คัมภีร์ จากนครเชียงใหม่มาเผยแผ่ที่อาณาจักรล้านช้างใน พ.ศ.๒๐๖๖ ดังปรากฏความในชินกาลมาลีนีที่กล่าวถึงแล้วนั้น

รัชกาลพระเจ้าโพธิสาลราชนี้ เป็นช่วงที่อาณาจักรล้านช้างได้เข้ามามีอํานาจเหนือดินแดนภาคอีสาน จึงน่าจะมีการนำอักษรตัวธรรมเข้ามาใช้ในการติดต่อราชการ การค้า และการเผยแผ่พุทธศาสนาในดินแดนภาคอีสานด้วย

เมื่ออาณาจักรล้านนานครพิงค์เชียงใหม่ขาดผู้สืบราชสมบัติ พระเจ้าไชยเชษฐาธิราช พระโอรสของพระเจ้าโพธิสาลราช ได้เสด็จไปครองนครเชียงใหม่ระหว่าง พ.ศ.๒๐๙๑ – ๒๐๙๓ แต่เมื่อพระเจ้าโพธิสาลราชเสด็จสวรรคต ใน พ.ศ.๒๐๙๓ พระเจ้าไชยเชษฐาธิราชจึงต้องเสด็จกลับมาครองอาณาจักรล้านช้าง การเสด็จกลับมาครั้งนั้น พระเจ้าไชยเชษฐาธิราชน่าจะได้นําเอาพระธรรมคัมภีร์ วรรณกรรม นักปราชญ์ ราชบัณฑิต ตลอดจนช่างฝีมือจากอาณาจักรล้านนากลับมายังอาณาจักรล้านช้างด้วยเป็นอันมาก  ดังนั้นอักษรตัวธรรมที่ใช้กันแพร่หลายในอาณาจักรล้านนา รวมถึงศิลปะวิทยาการและวิถีวัฒนธรรมจากล้านนา น่าจะได้เข้ามามีบทบาทมากยิ่งขึ้นในอาณาจักรล้านช้าง

จากยุคต้นของการแลกเปลี่ยนทางวัฒนธรรมระหว่างอาณาจักรล้านช้างกับล้านนา อักษรตัวธรรมของทั้ง ๒ อาณาจักร มีรูปลักษณ์และอักขรวิธีแบบเดียวกัน ต่อมารูปแบบของอักษรตัวธรรมล้านนาและอักษรตัวธรรมล้านช้างได้พัฒนาจนมีความแตกต่างกันออกไป เช่น ตัวอักษรธรรมล้านนามีการเพิ่มรูปวรรณยุกต์ ส่วนอักษรตัวธรรมล้านช้างไม่มี แต่ได้มีการปรับรูปลักษณ์ของอักษรบางตัวจนมีความแตกต่างกับอักษรตัวธรรมล้านนา ดังที่ปรากฏรูปลักษณ์และอักขรวิธีในเอกสารและหลักฐานต่าง ๆ ที่ปรากฏอยู่ในดินแดนล้านช้างและภาคอีสานจนถึงปัจจุบัน

นอกจากอักษรตัวธรรมล้านช้างจะถูกใช้ในการจารึกเรื่องราวบนแผ่นโลหะ ดินเผา หรือแท่งหินแล้ว การบันทึกเรื่องราววรรณกรรมตํานานต่าง ๆ ที่มีเนื้อหาขนาดยาว มักจะบันทึกในใบลานอันเป็นจารีตที่สืบทอดมาจากวัฒนธรรมอินเดียฝ่ายใต้และลังกาที่เผยแผ่เข้ามาพร้อมกับพุทธศาสนา

อย่างไรก็ตาม เรื่องราวการเข้ามาของอักษรพร้อมกับพุทธศาสนาในดินแดนอีสาน – ล้านช้าง กลับเข้ามาในเส้นทางที่แตกต่างจากข้อมูลข้างต้น ด้วยเหตุที่ตํานานสําคัญ เช่น “ตํานานอุรังคธาตุ” กลับกล่าวถึงเส้นทางเข้ามาประดิษฐานพระอุรังคธาตุและพุทธศาสนา อีกหลายเส้นทาง  ทั้งจากเมืองพระนคร ในสมัยพระเจ้าฟ้างุ้มครองอาณาจักรล้างช้าง และจากลุ่มนํ้าเจ้าพระยา ตั้งต้นที่เมืองละโว้ – โยธยา ผ่านเส้นทางโบราณเข้าสู่เมืองโคราชและพิมาย อันเป็นประเด็นน่าวิเคราะห์ถึงประวัติศาสตร์การเข้ามาของพุทธศาสนาและการค้าสู่แผ่นดินอีสาน – ล้านช้าง เพื่อเป็นการเชื่อมโยง “เครือญาติ – ประวัติศาสตร์ – วัฒนธรรม ของคนอุษาคเนย์” ต่อไป

การเรียงร้อยเรื่องราว ที่จารึกทั้งด้วยอักษรปัลลวะ หลังปัลลวะ ขอมโบราณ มอญโบราณ จนเป็นอักษรตัวธรรมอีสาน – ล้านช้าง จากจารึกทั้งในใบลาน ดินเผา แท่งศิลา แผ่นโลหะ ฐานพระและรูปเคารพ โดยการเชื่อมความจากวลีสู่วลี ประโยคต่อประโยค เรียงร้อยตามลําดับเวลา เช่นนั้นแล คือสื่อสะท้อนหน้าที่ของ อักษรในอีสาน…ในฐานะบทบันทึก…ต้นธารประวัติศาสตร์

อ้างอิง

ธวัช ปุณโณทก. (๒๕๒๒) .วรรณกรรมอีสาน. กรุงเทพฯ : โอเดียนสโตร์.

____ (๒๕๔๐). อักษรโบราณอีสาน : อักขระวิทยาอักษรตัวธรรมและไทยน้อย. กรุงเทพมหานคร : สยามเพรสแมเนจเม้นท์.

 ____ (๒๕๔๘) . การอ่านจารึกสมัยต่าง ๆ. พิมพ์ครั้งที่ ๓. กรุงเทพฯ : สํานักพิมพ์มหาวิทยาลัยรามคําแหง.

พระรัตนปัญญา. (๒๕๕๔). ชินกาลมาลีนี. กรุงเทพฯ : ศรีปัญญา.

เพ็ญพักตร์ ลิ้มสัมพันธ์. (๒๕๒๖). อักษรธรรมอีสาน. นครปฐม : ภาควิชาภาษาตะวันออก คณะโบราณคดี มหาวิทยาลัยศิลปากร.

ยอร์ช เซเดส์. (๒๕๐๔). ตํานานอักษรไทย. กรุงเทพฯ : กระทรวงศึกษาธิการ.

สินชัย กระบวนแสง. (๒๕๑๗). อักษรไทยภาคเหนือ. (กรุงเทพฯ) : หน่วยศึกษานิเทศก์ กรมการฝึกหัดครู.

***

คอลัมน์ เปิดผ้าม่านกั้ง นิตยสารทางอีศานฉบับที่ ๕๒ ปีที่ ๕ ประจำเดือนสิงหาคม ๒๕๕๙

.
ราคาเล่มละ ๑๐๐ บาท
สมัครสมาชิก ครึ่งปี ๖๐๐ บาท
หนึ่งปี ๑,๑๐๐ บาท
ตลอดชีพ ๙,๕๐๐ บาท (ได้รับหนังสือย้อนหลัง)
.
สั่งซื้อ// ชำระเงิน // สอบถามเพิ่มเติม ได้ทาง
inbox หนังสืออีศาน m.me/166200246799901
line id : @chonniyom (มี@) คลิก https://lin.ee/amxqtvW
อีบุค ที่ www.mebmarket.com

โทร. 086-378-2516
บริษัท ทางอีศาน จำกัด
244/539 รามอินทราซอย 5 แขวงอนุสาวรีย์ เขตบางเขน กทม. 10220

Related Posts

ว่าด้วย เงือก (๓) คติความเชื่อเรื่องเงือกของชาวไทในเวียดนามและลาว จากเอกสารภาษาไทย
ฤๅสับปะรดเป็นหัวอยู่ใต้ดิน
[๗] ปาจิต อรพิม ในงานศิลปะ (๒) วัดบ้านยางทวงวราราม อายุ ๒๒๐ ปี
WP2Social Auto Publish Powered By : XYZScripts.com