คันไถโบราณ ตํานานและความเชื่อของชาวนา

คันไถโบราณ ตํานานและความเชื่อของชาวนา

การไถนาแบบโบราณหาชมได้ยากมากในปัจจุบัน

แบกไถ ไป่ท่ง ลงนา

สองขา ล้าไถ ไล่แอก

แฮงฮุด ขุดปลิ้น ดินแหลก

ควายแบกแอก คนแบกไถ ในนาท่ง

เสียงหายใจของควายดังฮึด ๆ ฟึดฟัด ๆ พ้นผ่านออกจมูกทั้งสองข้าง มันออกแรงเพื่อพยายามทำตามเจ้าของของมันที่บังคับให้มันเดินตรงไปข้างหน้า สายเชือกตะพายที่ร้อยผ่านรูจมูกทั้งสองข้างถูกเหนี่ยวรั้งให้ตึง คอถูกสวมด้วยแอกที่มีเชือกผูกโยงไปยังคันไถ มันออกแรงเดินตรงไปข้างหน้า ส่วนเจ้าของควายออกแรงกดคันไถให้ต่ำลง ผาลไถถูกปักจมลงสู่ใต้ผิวดิน ทันทีที่ควายก้าวเดินต่อไปก็จะเผยให้เห็นดินถูกขุดพลิกขึ้นในทันทีเช่นกัน นี่คือ “การไถนาแบบโบราณ”

ชาวนาจีนในสมัยโบราณก็มีการทำนาโดยใช้ควายไถนา
และสร้างคันไถขึ้นมาเป็นอุปกรณ์สําคัญในการทํานา
คันไถโบราณ นับเป็นอุปกรณ์ในการทํานาที่มีตํานาน
และความเชื่อของชาวนามาช้านาน

การทำนาในอดีตนั้น “คันไถ” เป็นอุปกรณ์สำคัญ คันไถในอดีตจะทำด้วยไม่มีเพียงผาลไถ ปะขางไถ และขอสำหรับเกาะผอง (ท่อนไม้ที่ไว้ผูกเชือกต่อจากแอกที่คอควาย) เท่านั้นจึงจะทำด้วยเหล็กหรือโลหะ ไม้ที่ใช้ทำคันไถจะต้องเป็นไม้เนื้อแข็ง เช่น ไม้ประดู ไม้พะยูง ไม้มะค่า เพื่อความคงทนแข็งแรง ตัวไถประกอบด้วยไม้สามชิ้น ได้แก่ คันไถ หางไถ และหัวหมู ต้องนำมาประกอบเข้าด้วยกันโดยการต้องลิ่มยึด ซึ่งส่วนที่ผูกติดกับควายจะมีส่วนประกอบดังนี้

หางไถ คือส่วนที่ชาวนาใช้จับขณะไถนา เป็นไม้ชิ้นเดียวที่ทำให้เป็นลักษณะเอียงจากหัวหมูประมาณ ๑๕ องศา ยาวมาจนถึงส่วนที่จะต่อเข้ากับคันไถ และเจาะรูสี่เหลี่ยมผืนผ้าทะลุชิ้นไม้เพื่อใส่ลิ่มต่อเข้ากับคันไถ เหนือส่วนนี้ขึ้นไปจะทำเป็นรูปโค้งเพื่อสะดวกต่อการจับ เวลาประกอบเข้าเป็นตัวไถแล้ว ส่วนนี้จะตั้งขึ้นและส่วนโค้งก็จะยื่นไปด้านหลังตั้งอยู่ระดับสะเอว

คันไถ คือส่วนที่ยื่นออกไปด้านหน้า เพื่อเชื่อมต่อกับส่วนที่ผูกควาย เป็นไม้อีกท่อนหนึ่งที่เป็นส่วนประกอบของตัวไถ ส่วนที่ต่อเข้ากับหางไถจะทำเป็นเดือยตัวผู้เพื่อใช้ต่อเข้ากับรูเดือยตัวเมียที่หางไถ ทำให้แน่นโดยใช้ลิ่มตอกยึดเข้ากับด้านบนเพื่อให้ไม้สองชิ้นประกอบกันแน่น ส่วนปลายยื่นออกไปข้างหน้า โค้งทำมุมต่ำลง จะมีปลายจะงอยขึ้นมา เพื่อใส่ตะขอสำหรับต่อเข้ากับผองไถ

หัวหมู คือส่วนที่ใช้ไถดิน จะประกอบด้วยไม้หนึ่งชิ้นบากปลายให้แหลมและมีลักษณะบาน เจาะรูเดือยตัวเมียสี่เหลี่ยมสำหรับต่อเข้ากับหางไถ ส่วนท้ายจะทำเป็นรูปท่อนกลมยาว เพื่อรักษาระดับไถเวลาไถนา ส่วนประกอบที่เป็นเหล็กตรงส่วนหัว จะเป็นรูปทรงแหลมกลวงเรียกว่า ผาลไถ ใช้สวมเข้ากับตัวไม้แล้วยึดติดด้วยตะปู ส่วนที่เป็นเหล็กแผ่นรับขึ้นมาอีกชิ้นหนึ่งเรียกว่า ปะขางไถ ใช้บังคับดินที่ถูกไถ หรือที่เรียกว่า ขี้ไถ ให้พลิกไปตามแนวที่ต้องการ

ผองไถ ส่วนนี้จะเป็นไม้ท่อนกลม ๆ มีขอเหล็กติดอยู่ตรงกลางเพื่อยึดเข้ากับขอเหล็กของคันไถ ส่วนหัวทั้งสองข้างจะทำเป็นปมหยัก เพื่อใช้เชือกผูกติดกับปลายที่แอกคอควาย

แอก คือไม้ที่ทำขึ้นเพื่อวางบนคอควาย มีลักษณะเหมือนเขาควายกางออก ตรงกลางนูนขึ้นเพื่อให้รับเข้ากับคอควายได้พอดี ส่วนปลายสองข้างไว้ผูกเชือกต่อเข้ากับผองไถ

ผองคอควาย คือส่วนที่อยู่ใต้คอควาย เป็นไม้ชิ้นแบน ๆ ทำให้เป็นรูประมาณครึ่งวงกลม ด้านบนเรียบเพื่อให้รับเข้าได้กับคอควาย ส่วนด้านล่างจะทำรูเพื่อร้อยเชือกผูกให้ผองคอควายติดกับแอกและแนบกับคอควายได้พอดี

ผาลไถ เป็นส่วนประกอบของคันไถนา และเชื่อว่ามีความศักดิ์สิทธิ์

สำหรับคันไถ และ ผาลไถนา จะมีคติความเชื่อมาตั้งแต่โบราณว่า “ผาลไถนา” นี้มีคุณทางไสยเวทย์สามารถป้องกันภูตผีปีศาจได้ ผีเห็นผาลไถจะเกรงกลัวมาก เพียงนำน้ำมาล้างที่หัวไถ แล้วนำไปพรมคนที่ถูกผีเข้าผีก็จะออกทันที ในด้านเมตตามหานิยมก็ยังเชื่ออีกว่า ผาลไถ ทำอะไรก็ผ่านสะดวกสมความปรารถนาตามความต้องการ พลิกเรื่องร้าย ๆ ให้กลับกลายเป็นดี เมื่อนำมาแช่โอ่งน้ำไว้อาบไว้กินก็จะไม่ถูกคุณไสยเข้ามาทำร้าย

กล่าวกันว่า แม้แต่ “คันไถ” ก็สามารถนำมาป้องกันผีและสัมภเวสีที่จะเข้ามาในบริเวณบ้านได้  ด้วยการนำคันไถเก่า ๆ ผ่านการไถนามาแล้ว นำมาขุดดินบริเวณรั้วบ้าน จากนั้นนำไปขุดฝังไว้ในบ้านพร้อมกับคลุมดินให้เรียบร้อย เชื่อว่าจะได้พุทธคุณ “กำแพงเพชร ๙ ชั้น” “ยันต์สวรรค์ ยันต์ฟ้า” ส่วนข้อเสียก็คือ วิญญาณของบรรพบุรุษ ปู่ย่า ตายาย พ่อแม่ พี่น้อง ที่ล่วงลับไปแล้ว จะไม่สามารถเข้าไปในบริเวณบ้านได้ ด้วยอำนาจของ “กำแพงเพชร ๙ ชั้น” นั่นเอง

คนสมัยโบราณ เมื่อผาลไถนาหมดอายุจากการใช้งานแล้ว ก็จะนำมาเป็นเครื่องราง ยิ่งถ้านำไปให้อาจารย์หรือพระเกจิที่มีพุทธคุณสูง ๆ ปลุกเสก ก็ยิ่งจะมีพลังอำนาจบารมีเพิ่มมากขึ้น ในสมัยก่อนคนนิยมตัดเป็นชิ้นเล็ก ๆ ให้ลูกหลาน ญาติมิตรไว้ใช้เพื่อเป็นสิริมงคล และเพื่อเตือนสติ ให้รู้คุณค่าของเครื่องมือสำคัญที่ช่วยให้คนมีข่าวกิน ดังคำโบราณที่กล่าวไว้ว่า “ไถฮากไม้ขะยูงคันนี้ เคยได้ไถขุดค้น ได้ไถโพนไถนาฮุด ดุดนำฮอยควายบักตู้บู๋หม่น ก่นดิน เป็นทรัพย์สินที่สูงค่า คุณค่าหากมีหลาย”

***

คอลัมน์ วิถีชาวนา นิตยสารทางอีศาน ปีที่ ๔ ฉบับที่ ๔๔ | ธันวาคม ๒๕๕๘

.
ราคาเล่มละ ๑๐๐ บาท
สมัครสมาชิก ครึ่งปี ๖๐๐ บาท
หนึ่งปี ๑,๑๐๐ บาท
ตลอดชีพ ๙,๕๐๐ บาท (ได้รับหนังสือย้อนหลัง)
.
สั่งซื้อ// ชำระเงิน // สอบถามเพิ่มเติม ได้ทาง
inbox หนังสืออีศาน m.me/166200246799901
line id : @chonniyom (มี@) คลิก https://lin.ee/amxqtvW
อีบุค ที่ www.mebmarket.com

โทร. 086-378-2516
บริษัท ทางอีศาน จำกัด
244/539 รามอินทราซอย 5 แขวงอนุสาวรีย์ เขตบางเขน กทม. 10220

Related Posts

ถั่วเหลือง ถั่วแระ และถั่วเน่า
กิ น ก้ อ ย ซี้ น
มังมูน บุญข้าว : เสาค้ำวัฒนธรรมอีสาน
WP2Social Auto Publish Powered By : XYZScripts.com