เงินตราโบราณ ในอีสานบ้านเฮา (ตอนที่ ๗)

เงินตราโบราณ ในอีสานบ้านเฮา (ตอนที่ ๗)

เงินแท่งสยามทั้ง ๓ ขนาด

ในช่วงยุคหนึ่งสมัยหนึ่งของอาณาจักรล้านช้างหลวงพระบาง ในฐานะเมืองประเทศราชของสยามตั้งแต่ปี พ.ศ.๒๓๒๒ ได้ผลิตเงินตราอีกรูปแบบหนึ่งที่ไม่เคยผลิตมาก่อน รูปทรงเรียวยาวเช่นเดียวกับเงินฮ้อยหรือเงินคาน แต่ไม่มีตุ่มตามตัวของเงิน ตอกตราสัญลักษณ์สำคัญ ๓-๔ ตรา เงินตราชนิดนี้ยังไม่มีบันทึกหรือข้อมูลแน่ชัดว่าในอดีตเรียกชื่อกันว่าอย่างไร แต่บรรดานักสะสมเงินตราโบราณมักเรียกชื่อเงินตรานี้ว่า “เงินลาด” ซึ่งเป็นชื่อที่ไม่ถูกต้องนัก เพราะมีบันทึกของนักสำรวจชาวฝรั่งเศสชื่อ เอเจียน แอมอนิเย เดินทางเข้ามาสำรวจลาวและภาคอีสานของไทย ในปี พ.ศ.๒๔๓๘ บันทึกเกี่ยวกับ “เงินลาด” ไว้ว่า คือเงินตราที่ผลิตจากทองแดง ทองเหลือง ชาวบ้านผลิตใช้กันทั่วไป มีรูปทรงเรียวยาวคล้ายกับเรือไม่มีการตอกตราใด ๆ (ผมจะเล่ารายละเอียดในฉบับต่อไป) ดังนั้นจึงเป็นที่แน่ชัดว่าเงินตราที่ผมกล่าวถึงนี้ ไม่ได้เรียกชื่อว่าเงินลาดอย่างแน่นอน

ผมมีโอกาสไปหลวงพระบาง จึงได้หาข้อมูลเกี่ยวกับเงินตราชนิดนี้จากบรรดาร้านที่ขายเงินโบราณ รวมทั้งคนแก่คนเฒ่าที่รู้จักเงินตราชนิดนี้เรียกเงินตรานี้ว่า “เงินสยาม” หรือ “เงินแท่งสยาม” เป็นเพราะว่าเงินตรานี้ตีตราจักรซึ่งเป็นตราราชวงศ์จักรีของสยาม และคงเป็นเงินตราที่สยามเข้ามามีบทบาทให้ผลิตขึ้น จึงเป็นที่มาของชื่อนี้ ดังนั้นเพื่อให้สอดคล้องกับที่มา แม้ยังไม่รู้ว่าในอดีตเรียกเงินตราชนิดว่าอย่างไร ผมขอเรียกเงินตราชนิดนี้ว่า “เงินแท่งสยาม” เพื่อความเข้าใจร่วมกัน

จากที่ผมศึกษาค้นคว้ารวมทั้งเก็บสะสมเงินตราชนิดนี้ พบว่าเงินแท่งสยามนี้พบทั่วไปแถวภาคเหนือของลาว เช่นเมืองหลวงพระบาง หลวงน้ำทา อุดมไซ เป็นต้น โดยเฉพาะที่เมืองหลวงนํ้าทาจะพบมากกว่าในเมืองอื่น ๆ จึงเป็นข้อสังเกตว่าในอดีตเมืองแห่งนี้อาจเป็นแหล่งผลิตเงินตรานี้ หรือเป็นศูนย์กลางในการค้าขายที่สำคัญของอาณาจักรล้านช้างหลวงพระบาง

นอกจากนี้แล้วยังพบแถวภาคเหนือของไทยด้วย แต่พบจำนวนไม่มาก นั่นคงเป็นเพราะว่าภาคเหนือของไทยซึ่งก็คือดินแดนล้านนาในอดีตมีดินแดนติดต่อกับอาณาจักรล้านช้างหลวงพระบาง คงมีการติดต่อค้าขายกัน เงินตราเหล่านี้จึงมีแลกเปลี่ยนระหว่างประชาชนของทั้งสองอาณาจักร

แต่ในดินแดนอาณาจักรล้านช้างเวียงจันซึ่งก็คือภาคกลางของลาว และภาคอีสานในปัจจุบัน พบเงินตราชนิดนี้น้อยมาก ทั้งนี้เนื่องมาจากความขัดแย้งกันของทั้งหลวงพระบางและเวียงจันนั้นมีมาตลอดระยะเวลาเป็นร้อยปี จึงทำให้มีการแลกเปลี่ยนหรือค้าขายเกิดขึ้นน้อย และทั้งสองอาณาจักรก็ผลิตเงินตราของตัวเองขึ้นแลกเปลี่ยนภายในอาณาจักร

เงินแท่งสยาม ชนิด ๔ ตรา ที่ผิวเงินที่เคลือบไว้หลุดลอกออกหมดแล้ว

เงินแท่งสยามนี้มีด้วยกัน ๓ ขนาดคือ ขนาดใหญ่หนักประมาณ ๗๔-๗๖ กรัม ขนาดกลางหนักประมาณ ๓๕-๓๘ กรัม ขนาดเล็กหนักประมาณ ๑๗-๑๙ กรัม รูปแบบนํ้าหนักดังกล่าวพบว่าสอดคล้องกับระบบน้ำหนักของจีนหรือเวียดนามคือระบบเงินตำลึงจีน โดยหนึ่งตำลึงจีนจะหนักประมาณ ๓๘ กรัม ในขณะที่หนึ่งตำลึงของสยามจะหนักประมาณ ๖๐ กรัม หรือสี่บาท ทำให้เงินแท่งสยามทั้ง ๓ ขนาด มีขนาดตามระบบเงินตำลึงจีนคือสองตำลึง หนึ่งตำลึง และครึ่งตำลึง ตามลำดับ

ลักษณะของเงินตรานี้เป็นแท่งเรียวยาว ทำจากทองแดงแล้วชุบด้วยเงิน จนน่าแปลกใจว่าเหตุใดเงินตราชนิดนี้จึงไม่ทำจากโลหะเงินทั้งแท่ง แต่กลับทำจากทองแดงแล้วชุบด้วยเงิน เพราะเงินตราที่ได้รับการยอมรับจากคนทั่วไปสมัยนั้นมักทำด้วยโลหะเงินทั่วทั้งชิ้นเงิน

ด้านหน้าของเงินแท่งนี้จะตอกตราไว้อย่างน้อย ๓ ตราคือ ตราจักรซึ่งเป็นสัญลักษณ์ของราชวงศ์จักรีของสยาม ตราจักรนี้ใช้สมัยรัชกาลที่ ๒-๓ ของสยาม จึงสามารถประมาณอายุหรือช่วงเวลาที่มีการใช้เงินตราชนิดนี้ว่า อาจอยู่ในช่วงปี พ.ศ.๒๓๕๒-๒๓๙๔ ซึ่งเป็นช่วงสมัยรัชกาลที่ ๒-๓ ของสยาม และอาจเป็นไปได้ว่าเงินตราชนิดนี้ได้ถูกผลิตขึ้นในอาณาจักรล้านช้างหลวงพระบาง หลังจากที่สยามได้ยกทัพไปปราบอาณาจักรล้านช้างเวียงจันจนราบคาบแล้ว กระทั่งเวียงจันถูกเผาจนไม่เหลือความเป็นบ้านเมืองในปี พ.ศ.๒๓๗๑

หลังเหตุการณ์ในครั้งนั้นสยามได้เข้าไปมีบทบาทในการปกครองของล้านช้างมากขึ้น โดยเฉพาะในดินแดนของอาณาจักรล้านช้างเวียงจันที่สยามเข้าไปปกครองทั้งหมด ภายหลังทำลายเวียงจันแล้ว สยามคงเข้าควบคุมอาณาจักรล้านช้างหลวงพระบางมากขึ้น รวมถึงเรื่องการผลิตเงินตราชนิดนี้ด้วย

ตราประทับที่สองซึ่งประทับไว้ตรงกลางของเงินเป็นตราช้างทรงเครื่องยศของกษัตริย์ มองเห็นลวดลายของผ้าที่พาดไว้ที่ตัวช้างซึ่งเป็นลักษณะของช้างทรง ช้างดังกล่าวนี้เป็นรูปแบบที่พบเฉพาะในเงินตราของล้านช้างหลวงพระบางเท่านั้น สื่อหรือบ่งบอกถึงความเป็นอาณาจักรล้านช้างหลวงพระบาง

อีกตราหนึ่งจะเป็นตราสัตว์ซึ่งอาจเป็นสัญลักษณ์ของเมืองสำคัญของอาณาจักร อันได้แก่ ตราเต่า ตราปลา ตราหอยกาบและตราผีเสื้อ (แมงกะเบื้อ) ตราเหล่านี้มีลวดลายค่อนข้างชัดเจน และตีตราได้ค่อนข้างประณีต บ่งบอกว่าเป็นงานผลิตหรือทำมาจากโรงกษาปณ์ของหลวงอย่างแน่นอน ส่วนด้านหลังของเงินตรานี้ไม่ตอกตราสัญลักษณ์ใด ๆ

เงินแท่งสยามนี้พบว่ามีการผลิตเป็นชุดคือ ตราเต่า ตราปลา ตราหอยกาบ ตราผีเสื้อ ผลิตแต่ละตราแบบครบชุดทั้ง ๓ ขนาดคือ สองตำลึง หนึ่งตำลึง และครึ่งตำลึงจีน ขนาดที่พบมากกว่าขนาดอื่นคือหนึ่งตำลึงจีน

เงินแท่งสยาม ชนิดตอกตรา ๔ ตรา ตราที่ตอกเพิ่มคือตราจักรคล้ายดอกจัน

นอกจากนี้แล้วยังพบว่ามีชุดเงินแท่งสยาม ที่ผลิตเป็นชุดที่ตอกตรา ๔ ตราด้วย โดยตราที่ตอกเพิ่มคือตราคล้ายดอกจัน มีกลีบ ๘ กลีบ มีลักษณะคล้ายกับตราราชลัญจกรที่พบในใบจุ้มเลขที่ ๕ ที่เก็บรักษาไว้ที่หอสมุดแห่งชาติ ท่าวาสุกรี กรุงเทพมหานคร ซึ่งเป็นใบจุ้มที่กษัตริย์อาณาจักรล้านช้างเวียงจัน มีคำสั่งหรือราชโองการไปถึงขุนทั้ง ๔ นายทั้ง ๘ โดยระบุในรายละเอียดอีกว่าตราจุ้มนี้คือตรามหาไชยหลวง ลงศักราชไว้ท้ายหนังสือว่า ๒๓๔๙ ซึ่งหมายถึงปีพุทธศักราชตรงกับสมัยเจ้าอนุวงศ์ของล้านช้างเวียงจัน

แต่ก็คงเป็นไปได้ยากว่า อาณาจักรล้านช้างหลวงพระบางจะนำตราราชลัญจกรของกษัตริย์อาณาจักรล้านช้างเวียงจันที่มีความบาดหมางกันมาตลอด มาตอกลงในเงินตราของตัวเอง ตราดังกล่าวคงเป็นตราราชลัญจกรของกษัตริย์องค์ใดองค์หนึ่งของหลวงพระบาง ที่ใช้คล้ายกันกับตราราชลัญจกรของกษัตริย์เวียงจัน และอาจผลิตในช่วงที่อาณาจักรล้านช้างเวียงจันถูกสยามทำลายไปแล้ว เนื่องจากว่าตราดังกล่าวน่าจะเป็นขนาดย่อ

เงินแท่งสยามที่ได้กล่าวไปแล้วนั้น มีความสำคัญทางประวัติศาสตร์เป็นอย่างมากที่ได้เป็นหลักฐานอ้างอิงกับข้อมูลทางประวัติศาสตร์ ว่ายุคหนึ่งสมัยหนึ่งสยามได้เข้ามามีบทบาทในอาณาจักรล้านช้างหลวงพระบาง ทั้งทางด้านการปกครองและทางเศรษฐกิจ แต่เงินตราเหล่านี้ก็ไม่เป็นที่รู้จักอย่างกว้างขวางมากนัก นั่นแสดงว่าผลิตใช้ในระยะเวลาที่ไม่นาน และไม่ได้ผลิตใช้ต่อเนื่องเฉกเช่นเดียวกับเงินฮ้อย เพราะในที่สุดหลังอาณาจักรล้านช้างทั้ง ๓ อาณาจักรเสื่อมอำนาจลง เงินตราพวกนี้ก็ถูกหลงลืมไปแทบสิ้น ผู้คนหันกลับไปใช้เงินตราของเพื่อนบ้านหรือเจ้าประเทศราชอย่างสยาม เนื่องจากราชสำนักอ่อนแอ ระบบการผลิตเงินตราก็คงหยุดชะงักลง

ฉบับนี้พอไว้สํ่านี้ก่อนเนาะ ฉบับหน้ามาพ้อกันใหม่ สะบายดี !!!

****

ติดตามตอนก่อนหน้าได้ที่

เงินตราโบราณ ในอีสานบ้านเฮา

เงินตราโบราณ ในอีสานบ้านเฮา (ตอนที่ ๒)

เงินตราโบราณ ในอีสานบ้านเฮา (ตอนที่ ๓)

เงินตราโบราณ ในอีสานบ้านเฮา (ตอนที่ ๔)

เงินตราโบราณ ในอีสานบ้านเฮา (ตอนที่ ๕)

เงินตราโบราณ ในอีสานบ้านเฮา (ตอนที่ ๖)

สมัครสมาชิก ครึ่งปี ๖๐๐ บาท

หนึ่งปี ๑,๑๐๐ บาท

ตลอดชีพ ๙,๕๐๐ บาท (ได้รับหนังสือย้อนหลัง)

.

สั่งซื้อ// ชำระเงิน // สอบถามเพิ่มเติม ได้ทาง

inbox หนังสืออีศาน m.me/166200246799901

line id : @chonniyom (มี@) คลิก https://lin.ee/amxqtvW

อีบุค ที่ www.mebmarket.com

Related Posts

ด อ ก จ า น (Palasha) “เล็บแดงแห่งกามเทพ”…มิ่งไม้มหามงคล
ทองกวาว/จาน ในมิติทางการแพทย์
จิตแพทย์ ในชาติพันธุ์อีศาน
WP2Social Auto Publish Powered By : XYZScripts.com