# คามูส์ (๒)

# กาฬวิบัติระบาด (La Peste)

     รัฐบาลไทยและผู้รับผิดชอบนโยบายการป้องกันควบคุมโควิด-19 โปรดอ่านหนังสือเล่มนี้ เพราะไม่ว่าโควิด กาฬโรค หรือโรคห่า มีปัญหาเดียวกัน คือ

     “ไม่ว่าโรคระบาดหรือสงคราม ผู้คนก็ไม่เคยเตรียมพร้อมรับมือ” (คามูส์)

     หลายคนยกให้เป็นนวนิยายยิ่งใหญ่สุดครึ่งหลังของศตวรรษ 20 หนังสือที่กลายเป็นเบสเซลเลอร์อีกรอบหลังจากที่เคยเป็นเมื่อกว่า ๖๐ ปีก่อน ครั้งนั้นเพราะชื่อผู้แต่งและงานเขียน  ครั้งนี้เพราะการระบาดของโควิด-19 ซึ่งมีหลายอย่างคล้ายกับนวนิยายนั้น ที่สำคัญมีข้อคิดบทเรียนที่คนอยากรู้ว่า คามูส์บอกอะไร

     เหตุเกิดที่เมืองโอราน แอลจีเรีย เมื่อหนูนับพันตัวออกไปตายกลางถนน ประชาชนแตกตื่น จนที่สุดทางการก็ออกมาจัดการเก็บซากหนูไปเผา หลังจากนั้นไม่นาน คนเฝ้าตึกที่คุณหมอรีเออทำงานอยู่เสียชีวิตด้วยไข้ที่แปลก เมื่ออีกหลายคนป่วยตายลักษณะเดียวกัน คุณหมอเริ่มแน่ใจว่า นี่คือ โรคระบาดสีดำ หรือกาฬโรค

     เขาเรียกร้องให้ทางการออกมาตรการจัดการโดยด่วน แต่ก็ไม่มีใครฟัง จนกระทั่งเมื่อปรากฏชัดเจนแล้วว่า นี่เป็นการระบาดของโรคร้ายที่ทางการเริ่มตื่นตัว ออกมาตรการ “ล็อคดาวน์เมือง” แต่ก็สายไปแล้ว

     การปิดเมือง (quarantine) ที่วันนี้เรียกว่า ล็อคดาวน์ สร้างความปั่นป่วนทั้งทางเศรษฐกิจและสังคม คนเป็นทุกข์เพราะถูกแยกจากครอบครัว จากคนรัก คร่ำครวญไม่ยอมรับมาตรการเข้มงวด เห็นว่าทุกข์ตนใหญ่กว่าทุกข์ส่วนรวมและปัญหาโรคระบาด  คุณพ่อปาเนอลูเทศน์ว่า โรคระบาดนี้คือการลงโทษของพระเจ้า ที่ชาวเมืองโอรานได้ทำบาปมาก

     คุณหมอรีเออและทีมงานทำงานหนักเพื่อสู้กับโรคระบาด หลายเดือนกว่าชาวเมืองโอรานจะได้สติ เลิกโอดครวญและหันมาร่วมมือกันแก้ปัญหา เพราะมองเห็นว่าเป็นปัญหาส่วนรวมและต้องร่วมมือกัน จนที่สุดโรคระบาดก็ผ่านไป

     แต่หมอรีเออสูญเสียภรรยา และหลายคนก็สูญเสียคนรักไป  หมอรีเออบอกว่า การต่อสู้โรคระบาดจะไม่มีวันสิ้นสุด เพราะเชื่อโรคนี้จะหลับใหลไปหลายปี และอาจกลับมาอีก

     คามูส์อ่านหนังสือเกี่ยวกับโรคโระบาดในประวัติศาสตร์ ความตายสีดำในศตวรรษ ๑๔ ที่คร่าชีวิตผู้คนถึง ๕๐ ล้านคน โรคระบาดที่อิตาลี ๑๖๒๙  ที่คนตาย ๒๘๐,๐๐๐ คน จากแคว้นทอสกานาถึงเวเนโต โรคระบาดใหญ่ที่ลอนดอนในปี ๑๖๖๕ และอื่น ๆ ในเมืองจีนในศตวรรษที่ ๑๘-๑๙

     คามูส์เขียน “กาฬวิบัติ” เป็นนวนิยายปรัชญา เขาพูดถึงสิ่งที่เราไม่รู้จักที่สุดในตัวเรา ที่พร้อมจะระเบิดเป็นภัยต่อชีวิตและฆ่าเราได้ทุกเมื่อ เป็นโรคที่มองไม่เห็น  สิ่งที่เราเรียกว่า “กาฬโรค” จึงเป็นเพียงขณะหนึ่งของการรวมตัวของเชื้อโรคที่สะท้อนว่า คนเราเปราะบางมากและอาจจะถูกทำลายได้ทุกเมื่อ นี่คือภาวะที่คามูส์เรียกว่า “ไร้เหตุผล” (absurd)

     การยอมรับความไร้เหตุผลจะต้องไม่ทำให้เราสิ้นหวัง ตรงกันข้าม ต้องนำไปสู่การแก้ไขให้หลุดพ้น เหมือนชาวเมืองโอรานที่ตอนต้นก็อหังการนึกว่าตนเองเป็นผู้ “อยู่ยงคงกะพัน” รับการมาของโรคระบาดได้

     คนโอรานนึกว่าวันนี้เป็นโลกยุคใหม่ที่มีเครื่องอำนวยความสะดวก มีไฟฟ้า มีรถยนต์ โทรศัพท์ เครื่องบิน หนังสือพิมพ์ ไม่ใช่โบราณเหมือนเก่าก่อนที่เกิดโคระบาดใหญ่คนตายจำนวนมาก  พวกเขาคิดว่า มันหมดไปแล้ว “ยกเว้นคนตาย” (ที่คิดว่ายังไม่หมด) คามูส์เขียนประชด

     คามูส์เห็นว่า ถ้าเรื่องความตาย ไม่มีอะไรที่ก้าวหน้าในประวัติศาสตร์ คนเราไม่อาจหนีไปจากความอ่อนแอได้ การมีชีวิตอยู่ไม่ว่าอดีตหรือปัจจุบันเป็น “ภาวะฉุกเฉิน” เสมอ โรคระบาดเป็นสาเหตุหนึ่งที่ทำให้เห็นว่าชีวิตไม่มีความหมายอะไรเลย

     กระนั้นคนโอรานก็ยังปฏิเสธชะตากรรม แม้ว่าประชากรหนึ่งในสี่ของเมืองกำลังตาย พวกเขายังคิดถึงแต่เหตุผลว่า ปัญหาไม่ควรเกิดกับพวกเขา  คามูส์เห็นว่า ไม่มีวันที่เราจะปลอดภัย เราจึงควรรักเพื่อนมนุษย์และทำงานโดยไม่ต้องมีความหวังหรือความสิ้นหวังเพื่อทำให้ความทุกข์ดีขึ้น  ชีวิตเป็นที่พักแรมไม่ใช่โรงพยาบาล

     คามูส์เขียนว่า เชื้อโรคเป็นเรื่องธรรมดา มีโรคระบาดมากมายในโลกเช่นเดียวกับสงคราม แต่ไม่ว่าโรคระบาดหรือสงคราม ผู้คนก็ไม่เคยเตรียมพร้อมรับมือ เมื่อเกิดสงคราม คนก็บอกว่า “มันคงไม่นาน มันเป็นเรื่องโง่” ก็ใช่ที่สงครามเป็นเรื่องโง่ แต่มันก็เกิดและยาวนาน

     ชาวเมืองโอรานก็เหมือนคนทั้งหลายในโลกที่ไม่เชื่อเรื่องโรคร้าย คิดว่ามันคงอยู่ไม่นาน มันเป็นแค่ฝันร้าย ไม่ได้มีความสัมพันธ์อะไรกับชีวิตมนุษย์ คนจึงยังคงทำงาน เตรียมตัวเดินทาง พวกเขายังคิดว่าตนเองเป็นอิสระ  คามูส์บอกว่า อิสระได้อย่างไรในเมื่อมีโรคระบาด มีเชื้อโรค มีความหิวโหย

     โรคระบาดไม่ใช่การลงโทษของพระเจ้า หมอรีเออซึ่งเป็นตัวแทนของคามูส์ บอกว่า เด็กน้อยที่ตายในโรงพยาบาลทำอะไรผิดจึงต้องถูกลงโทษ  มันคือความไร้เหตุผล อย่าได้หาเหตุผล ทั้งหมดที่คนพยายามแก้ไขปัญหาก็ไม่ใช่วีรกรรมอะไร มันเป็นหน้าที่

     หน้าที่ที่ดูเหมือน “ไร้เหตุผล” เหมือนซิซิฟุสที่เข็นหินขึ้นเขาและไม่ถึงสักทีชั่วนิจนิรันดร์ แต่คามูส์ก็ทำให้คุณหมอรีเออเป็นตัวแทนของเขาในการแสวงหาความสุขในชีวิต หมอชอบกลิ่นดอกไม้ เห็นความงามยามสนธยา ชอบว่ายน้ำในทะเลเหมือนคามูส์

     ทุกคนมีเชื้อโรคในตัว ไม่มีใครปลอดโรค และโรคร้ายพร้อมที่จะออกอาการเมื่อได้เงื่อนไขที่เหมาะสม เมื่อเราอ่อนแอ เมื่อได้ตัวกระตุ้นจากเงื่อนไขภายนอก หรือเชื้อโรคอื่นมาผสม

     นับเป็นความไร้เหตุผลที่คามูส์เห็นว่า เราต้องไม่ยอมจำนน ไม่ต้องฆ่าตัวตาย แต่ต้องสู้ โดยรับผิดชอบต่อชีวิตของเราเอง มีความสุขกับสิ่งดี ๆ และความงามรอบตัวเรา และโดยการสร้างความหมายของเราเองในโลกที่ไม่มีความหมายนี้

     เราทำสิ่งนี้ด้วยการดิ้นรนทนต่อความทุกข์ยากและเผชิญความตาย แม้ว่าความพยายามอาจล้มเหลว  นี่คือฮีโร่ของนวนิยายเรื่องนี้ที่ทำให้เห็น โดยต่อสู้อย่างท้าทายต่อความไร้เหตุผล

     กาฬโรค คือ สิ่งที่บ่งบอกความไร้เหตุผล ไม่มีความยุติธรรมว่าใครอยู่ใครตายจากโรคนี้ ไม่มีความหมายทางศีลธรรมหรือทางเหตุผล ไม่ว่าตำนานหรือบรรดาเทพเจ้าที่โกรธกริ้ว (และลงโทษ) จะอธิบายได้ กาฬโรคไม่มีเหตุผล และไม่ยุติธรรม

     ความคิดหวังต่าง ๆ ไม่ช่วยอะไร มันบิดเบือนความเป็นจริง การรักษาแบบอัศจรรย์ก็ไม่มี การรักษาจริงก็ไม่รู้เมื่อไรจะมา ชีวิตจึงไม่มีอะไรแน่นอน ทรัพย์สินหรือการศึกษาไม่อาจปกป้องเราจากโรคร้ายได้ แต่คนก็ลืมเรื่องเหล่านี้ พวกเขาแปลกใจที่ชีวิตช่างเปราะบาง และสถานภาพของตนไม่อาจปกป้องตนเองได้

     กาฬโรคมีอยู่ทั่วไป คนเจ็บป่วยและตาย คนบ้าสร้างปัญหา หลายชาติฆ่าล้างเผ่าพันธุ์  เราอยู่ในโลกที่เต็มไปด้วยกาฬโรค กาฬโรคอยู่กับเราเสมอ ชีวิตเราอาจจบได้ทุกเมื่อ  ความตายไม่ได้อยู่ที่ปลายทาง มันอยู่ที่นี่ ขณะนี้ มันเป็นเพื่อนในชีวิตที่เปลี่ยนผ่านนี้ ที่จริง กาฬโรคจะฆ่าเราทั้งหมด

     สิ่งที่เราต้องทำ คือ ทำเหมือนหมอรีเออ ทำหน้าที่ ยอมรับความไร้เหตุผลของความเจ็บป่วย ความตาย และความไร้ความหมาย และสู้กับมัน เขารักษาคนไข้ด้วยความเห็นใจในชะตากรรมที่ไม่ควรได้รับ

     เราทุกคนมีกาฬโรค เราอยู่กับมัน เราไม่คู่ควรกับมัน ไม่มีอะไรมีความหมายมากกว่านี้  อย่างไรก็ดี สิ่งที่เราทำได้ คือ การดูแลกันเอง

     คามูส์แสดงให้เห็นว่ามันง่ายเพียงใดที่จะเห็นว่า โรคระบาดเป็นแค่เรื่องน่ารำคาญ ดูกรณีของการระบาดของโควิด-19 จากอู่ฮั่นไม่กี่สัปดาห์กี่เดือนก็ระบาดไปทั่วโลก จากไม่กี่คนไปเป็นแสนเป็นล้าน สิบล้าน ร้อยล้าน สิ่งที่เกิดขึ้นช็อคคนจีนและคนทั่วโลก ไม่มีใครคิดว่ามันจะร้ายแรงและรวดเร็วจนตั้งรับไม่ทันขนาดนี้

     คามูส์เขียนไว้ใน “กาฬวิบัติ” ว่า โรคระบาดกับสงครามเหมือนกันตรงที่คนไม่มีความพร้อมรับมือ เพราะไม่คิดว่ามันจะเกิด เพราะหลงตัวเองว่าอยู่ในยุคใหม่ที่วิทยาการต่าง ๆ ก้าวหน้า น่าจะเอาอยู่ ป้องกันได้ หรือถ้าเกิดก็แก้ไขได้

     ความโกลาหลจากกาฬโรคระบาดที่โอรานเป็นภาพเดียวกันกับสิ่งที่เกิดที่เมืองจีน ที่ประเทศต่าง ๆ และในโลกโดยรวม  ต่างกันแต่มิติที่กว้างใหญ่ขึ้นและความรุนแรงของที่ส่งผลต่อชีวิตและความเป็นอยู่ ทั้งทางเศรษฐกิจ การเมือง และสังคมอย่างไม่เคยมีมาก่อน เพราะโลกใบใหญ่ได้กลายเป็นเมืองเล็ก ๆ เหมือนโอราน เพราะโลกาภิวัตน์ที่เชื่อมโลก ผู้คนและทุกสิ่งเข้าด้วยกัน 

     คามูส์เริ่มเขียนนวนิยายนี้หลายปีก่อนสงครามโลกครั้งที่สอง และเขียนจริง ๆ ระหว่างสงคราม ตอนที่เขาเป็นบรรณาธิการหนังสือพิมพ์ Combat (สู้) สิ่งพิมพ์ใต้ดินต่อต้านนาซี  ด้วยเหตุนี้ จึงมีการตีความว่า นวนิยาย La Peste เป็นเรื่องราวเปรียบเทียบปรากฏการณ์นาซีและฟัสชิสม์ หรือเผด็จการขวาจัดที่ครอบงำฝรั่งเศส ค่อย ๆ แพร่กระจายไปจนครอบครองฝรั่งเศสเกือบหมดเหมือนกาฬโรคที่ระบาดไปทั่วโอราน

     หมอรีเออในนนวนิยายคือตัวคามูส์เอง ที่ต้อสู้กับนาซีและฟัสชิสม์ ด้วยการทำหน้าที่สู้กับ “ความไร้เหตุผล” ของลัทธินี้ที่ก่อสงคราม  ในเวลาเดียวกัน เขาก็เห็นว่า คนฝรั่งเศสไม่ได้รู้สึกรู้สาอะไรกับภัยนาซี มีแต่โอดครวญถึงความไร้เหตุผลและความบัดซบของสงคราม ที่ทำให้ยากลำบากและพัดพรากจากคนรัก การตีความนี้ก็ไม่ผิดจากความตั้งใจของคามูส์เองที่เขาบอกในการให้สัมภาษณ์ 

     แต่ตอนที่เขามีความคิดที่จะเขียนเรื่องนี้ เขาอายุยังไม่ถึง 30 เลย และไม่ได้คิดที่จะเปรียบเปรยกับนาซีและฟัสชิสม์ แต่เมื่อเกิดสงครามและเขาต้องเขียนในที่หลบซ่อน ก็ทำให้เปรียบเทียบกาฬโรคกับฟัสชิสม์ได้

     อำนาจเผด็จการก็เหมือนกับเชื้อโรคในตัวเรา มันก็คงอยู่กับสังคมไปตลอด มันจะปะทุขึ้นมาเมื่อไรก็ได้ถ้ามีเงื่อนไขที่เหมาะสม  อย่างกรณีโควิด-19 และกรณีนายโดนัลท์ ทรัมป์ และผู้นำประเทศต่าง ๆ ในยุโรป แอฟริกา เอเชีย ที่ใช้อำนาจเผด็จการเบ็ดเสร็จปกครองประเทศ

     กาฬโรค โคโรนาไวรัส และลัทธิเผด็จการเบ็ดเสร็จ เป็นความไร้เหตุผลที่บัดซบที่คงอยู่กับเราและสังคมของเรา ในยุคโลกแห่งศตวรรษที่ ๒๑  นี่คือความเป็นจริงที่เราต้องเผชิญและก้าวข้ามให้ได้เพื่อจะได้ค้นพบความหมายที่เราสร้างเอง ไม่ใช่ให้ “อำนาจ” ใดมากำหนด

     ความสำนึกใน “ความไร้เหตุผล” นำไปสู่การขัดขืน การขบถ ปฏิเสธที่จะยอมจำนน แต่คามูส์ก็วิพากษ์การเมืองที่ขบถต่อความไร้เหตุผลแบบไม่เชื่อในคุณค่าอะไร ไม่มีอะไรที่มีความหมาย จึงทำอะไรก็ได้ ฆ่าคนก็ได้ จึงมีการฆ่าล้างเผ่าพันธุ์กันภายใต้อำนาจเผด็จการนาซี หรือคอมมิวนิส์สตาลินและเหมา

     เขาเคยเป็นสาชิกพรรคคอมมิวนิสท์ตอนยังเป็นนักศึกษาในแอลจีเรีย ต่อมาลาออกเพราะรับการแนวปฏิบัติที่รุนแรงไม่ได้ เขาวิพากษ์สังคมนิยมว่าปฏิเสธศาสนากับพระเจ้า แต่สร้างศาสนาและทำตัวเป็นพระเจ้าเสียเอง

     คามูส์เสนอว่า ถ้าจะขบถจริง ไม่ใช่ปฏิเสธความไร้เหตุผลแล้วไปสู่ความว่างเปล่า แต่คือการมีคุณค่าร่วม ต้องสามัคคีเป็นหนึ่ง ต้องเคารพศักดิ์ศรีและสิทธิของผู้อื่น ไม่ใช่ใช้อำนาจทำลายล้างอย่างฟัสชิสม์และสังคมนิยมคอมมิวนิสท์ทำ

เขาบอกว่า “วิธีเดียวที่จะอยู่ในโลกที่ไม่เสรีนี้ คือ คุณต้องมีชีวิตที่อิสระที่สุด จนการมีชีวิตอยู่ของคุณคือการขบถ” และคุณสามารถพูดได้ว่า “ฉันขบถ ฉันจึงเป็นอยู่” (I rebel, therefore I exist – The Rebel)

เสรี พพ  ๑๓ เมษายน  ๒๐๒๑

WP2Social Auto Publish Powered By : XYZScripts.com