คำผญา (๘)

 

“งัวบ่กินหญ้าแสนสิข่มก็เขาหัก หมูบ่กินฮำแสนสิตีก็ดังเว่อ

วัวไม่กินหญ้าแม้จะกดเขาลงเขาก็หัก หมูไม่กินรำถึงจะตีจมูกก็แตกบาน
 
ความหมาย

คนที่ไม่ยอมทำตามจะบังคับอย่างไรก็ไม่ยอม

สำนวนไทย กล่าวว่า ข่มเขาโคขืนให้กินหญ้า หมายความว่า บังคับขืนใจผู้อื่นให้ทำตามที่ตนต้องการ เช่น จัดแจงแต่งตามอารมณ์เรา ฟังนํ้าเสียงของสำนวนแล้ว ผู้ถูกบังคับขืนใจอาจจะทำตามก็ได้ ทำตามเพราะเกรงในอำนาจบารมีทำตามเพราะเห็นแก่บุญคุณ

แต่ปรัชญาอีสานสำนวนนี้ ฟังนํ้าเสียงแล้วยอมตายดีกว่าจะทำตาม

งัวบ่กินหญ้าแสนสิข่มก็เขาหัก วัวไม่กินหญ้าจะบังคับวัว จะข่มเหงกดเขาลง จะข่มเหงกดหัวลง กดจนเขาหักวัวก็ไม่กิน บังคับอย่างไรก็ไม่ได้ เจ็บก็ยอมเจ็บ ตายก็ยอมตาย

หมูบ่กินฮำแสนสิตีก็ดังเว่อ หมูไม่ยอมกิน รำ จะตีปากให้มันกิน ตีเสียจนปากแตกจมูกฉีกบานออก หมูมันก็ไม่กินอยู่ดี บังคับอย่างไรก็ไม่ได้ เจ็บก็ยอมเจ็บ ตายก็ยอมตาย

ไม่ยอมทำตาม เพราะไม่เห็นด้วย มันขัดแย้งกับความเชื่อ ความคิด ทัศนคติ และวิสัยทัศน์ของตน มันเป็นความรู้สึกที่เด็ดขาด มันเป็นการปฏิเสธอย่างเด็ดขาด และจิตใจก็เข้มแข็งมาก มีความเชื่อมั่นในตัวเองมาก

เมื่อเราตกอยู่ในสถานการณ์ถูกบังคับให้กระทำสิ่งที่เราไม่อยากกระทำ เราจะทำอย่างไร ณ ช่วงเวลาที่ถูกบังคับนั้น เราจะนึกถึงอะไรนึกถึงความเชื่อของตน นึกถึงศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์แล้วยอมเจ็บ ยอมสละชีวิตเพื่อภักดีต่อความเชื่อของตน เพื่อเคารพต่อศักดิ์ศรีของตนหรือเราจะกบฏต่อความเชื่อของตน ละทิ้งศักดิ์ศรีที่มีอยู่ เพื่อรักษาชีวิตไว้ ไม่ยอมเจ็บ ไม่ยอมตาย

ตลอดชีวิตของมนุษย์ คงไม่มีใครไม่ถูกบังคับ เมื่อเป็นเด็กก็ถูกบังคับให้กินข้าว บังคับให้กินนม บังคับให้กินผัก บังคับให้ไปโรงเรียนบังคับให้อ่านหนังสือหรือถูกบังคับให้ทำงาน แต่ตอนนั้นเราอาจรู้สึกเพียงไม่ชอบ ไม่มีความสุขในการกระทำ ยอมทำตามเพราะกลัวถูกตี เรายังไร้เดียงสา ไม่มีความคิดความเชื่อของตนเอง เรายังไม่เคยนึกถึงศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ พอโตขึ้นอีกหน่อยเป็นวัยหนุ่มวัยสาวอาจถูกบังคับให้แต่งงานกับคนที่ตนไม่รัก เราอาจมีความเชื่อของตนเองแล้ว แต่คนที่บังคับเป็นพ่อแม่ เป็นผู้มีพระคุณ จึงต้องยอมตามใจพ่อแม่ ตามความต้องการของผู้มีพระคุณ ทั้ง ๆ ที่มันเจ็บปวด ไม่พอใจ ไม่มีความสุข

นั่นอาจจะเป็นเรื่องส่วนตัว เป็นเรื่องเล็ก ๆ น้อย ๆ แต่ถ้าเป็นเรื่องระดับชาติ บรรพบุรุษของเราคงผ่านการถูกบังคับมาแล้ว เมื่อตกเป็นเชลยก็ดี เมื่ออยู่ในภาวะคับขันก็ตาม ข้าศึกศัตรูอาจบังคับให้เปิดเผยความลับหรือให้กระทำสิ่งใดสิ่งหนึ่งที่เป็นประโยชน์ต่อข้าศึกศัตรู บรรพบุรุษของเราคงไม่ยอมขายชาติ ไม่ยอมทำลายชาติ

การไม่ยอมกระทำตาม เกิดจากความเชื่อมั่นในสิ่งที่ตัวเองยึดถือ เคารพ บูชา ศรัทธารัก ภักดี หวงแหน และสิ่งนั้นเป็นที่ยึดเหนี่ยวจิตใจ

***

คอลัมน์  ปรัชญาอีสาน นิตยสารทางอีศาน ปีที่ ๕ ฉบับที่ ๕๓| กันยายน ๒๕๕๙

.
ราคาเล่มละ ๑๐๐ บาท
สมัครสมาชิก ครึ่งปี ๖๐๐ บาท
หนึ่งปี ๑,๑๐๐ บาท
ตลอดชีพ ๙,๕๐๐ บาท (ได้รับหนังสือย้อนหลัง)
.
สั่งซื้อ// ชำระเงิน // สอบถามเพิ่มเติม ได้ทาง
inbox หนังสืออีศาน m.me/166200246799901
line id : @chonniyom (มี@) คลิก https://lin.ee/amxqtvW
อีบุค ที่ www.mebmarket.com
โทร. 086-378-2516
บริษัท ทางอีศาน จำกัด
244/539 รามอินทราซอย 5 แขวงอนุสาวรีย์ เขตบางเขน กทม. 10220

Related Posts

วิจิตรตา… วัดศรีเทพประดิษฐาราม
การเขียนหนังสือ
ว่าด้วยเงือก (๔) ขวัญไทดํา จากองค์ความรู้ของ ดร.คําจอง
WP2Social Auto Publish Powered By : XYZScripts.com