งันเฮือนดี : พิธีสนุกสนานในงานศพ

ภาพเกี่ยวกับพิธีศพของสิบสองปันนา โดย บุญช่วย ศรีสวัสดิ์
(พิมพ์ครั้งที่ ๓, ๒๕๕๗ : ๒๔๒)

งานศพในปัจจุบันเป็นงานเศร้าโศกกับการสูญเสียบุคคลอันเป็นที่รัก ซึ่งโลกทัศน์ดังกล่าวน่าจะเริ่มมีมาพร้อมกับการเปิดรับวัฒนธรรมตะวันตกในช่วงรัชกาลที่ ๕ แห่งกรุงรัตนโกสินทร์เป็นต้นมา แต่ร่องรอยหลักฐานที่ปรากฏเกี่ยวกับงานศพในอุษาคเนย์ตั้งแต่ยุคก่อนประวัติศาสตร์กลับให้โลกทัศน์ที่แตกต่างกันออกไปโดยสิ้นเชิง ซึ่งจะได้นํามาเปิดผ้าม่านกั้งในครั้งนี้

มหรสพงานศพ

การมีมหรสพที่ครึกครื้นรื่นเริงในงานศพเป็นเรื่องย้อนแย้งกับทัศนะของคนในยุคปัจจุบัน เพราะเห็นว่าในวาระแห่งการสูญเสียควรที่จะต้องแสดงความอาลัยด้วยความเงียบสงบ แต่เมื่อพิจารณาหลักฐานในอดีตกลับพบว่างานศพเป็นงานที่มีกิจกรรมที่ซับซ้อน โดยเฉพาะในงานศพใหญ่ ๆ เช่น งานพระราชพิธีออกพระเมรุของกษัตริย์และเจ้านาย  จะมีการเล่นมหรสพที่หลากหลายกลายเป็นงานครึกครื้นรื่นเริงของบ้านเมืองจนกระทั่งใน ปี ๒๔๖๓ ต้องมีการออกประกาศให้ข้าราชการ งดหาความเพลิดเพลินในงานศพ ปรากฏในประกาศเรื่อง ห้ามมิให้ข้าราชการในกรมมหาดเล็กและกรมขึ้นกรมสมทบไปดูการมหรสพในระหว่างงานพระเมรุ เมื่อวันที่ ๒๐ พฤษภาคม ๒๔๖๓ ความว่า

“ในการทรงบําเพ็ญพระราชกุศลถวายสมเด็จพระศรีพัชรินทราบรมราชินีนาถ พระพันปีหลวงทุก ๆ  คราวที่แล้วมา ได้สังเกตว่าข้าราชการชั้นผู้น้อยในกรมมหาดเล็กหาได้นำพาที่จะไปเฝ้าทูลละอองธุลีพระบาทในงานนั้น ๆ ไม่กลับตรงข้าม ถือเป็นโอกาสสําหรับเที่ยวเพื่อหาความเพลิดเพลินบันเทิงใจด้วยการต่าง ๆ มีเที่ยวดูการมหรสพเป็นอาทิ” (สมภพ ภิรมย์, ๒๕๓๙ : ๒๒๕)

ขวัญคนตายไปเป็นผีบรรพชน

คน สัตว์ สิ่งของ ต้องมีขวัญซึ่งเป็นพลังศักดิ์สิทธิ์ที่ทําให้สามารถดํารงอยู่ในโลกปัจจุบัน โดยคน สัตว์ สิ่งของจะสามารถดํารงอยู่ในโลกปัจจุบันได้อย่างเป็นปกติเมื่อขวัญยังอยู่ แต่จะเสื่อมถอยหรือสิ้นสภาพไปเมื่อขวัญออกจากสิ่งนั้น ดังเช่น ภาวะการเจ็บป่วยของคนเกิดจากขวัญเดินทางออกไปจากร่างกายชั่วคราว และจะกลับมาเมื่อมีการเรียกขวัญด้วยพิธีกรรม “สู่ขวัญ” ส่วนการตายเป็นปรากฏการณ์ ที่ขวัญเดินทางออกไปจากร่างอย่างถาวร

สุจิตต์ วงษ์เทศ (๒๕๕๙ : ๕๐) อธิบายว่า ลายวง ๆ วนเวียนซ้อนกันหลายชั้นบนหม้อบ้านเชียง คือลายขวัญ คนอุษาคเนย์จัดพิธีศพหลายวันที่สุดในโลก ด้วยความสนุกสนานรื่นเริง ด้วยการร้องรําทําเพลงเพื่อเรียกขวัญที่หายให้กลับคืนร่างเดิม แต่หากขวัญไม่กลับร่างนั้นคือคนตาย แต่ขวัญไม่ตาย โดยขวัญจะไปรวมพลังกับขวัญบรรพชนเพื่อคุ้มครองชุมชนและเผ่าพันธุ์

แม้จะทําพิธีเรียกขวัญผู้ตายอยู่หลายวันก็ไม่สามารถเรียกขวัญให้กลับมาได้ จนเป็นที่แน่ใจแล้วว่าเกิดการ “ตาย” เพราะขวัญไม่ยอมกลับแล้ว จึงต้องทําพิธี “ส่งขวัญ” โดยการบอกทางไปเมืองฟ้าให้กับ “ขวัญ” เพื่อไปเป็นผีบรรพชนแล้วกลับมาคุ้มครองผู้ที่ยังอยู่พิธีกรรมส่งขวัญนี้ ปรากฏร่องรอยในบทอ่านนำทางผู้ตายจากบ้านไปสู่เมืองฟ้าของชาวไทดำที่เรียกว่า “สาส์นส่ง” โดยเริ่มบรรยายการเดินทางของขวัญจากประตูบ้านไปสู่แม่นํ้าดํา จนถึง “ดํ้าดอย” ซึ่งเป็นที่อยู่ของบรรพชน และหากเป็นขวัญของสามัญชนจะไปอยู่ที่ “เลียนปานน้อย” หากเป็นขวัญของเจ้าจะไปอยู่ที่  “เลียนปานหลวง” เมื่อขวัญคนเป็นไปส่งขวัญผู้ตายแล้วขวัญคนเป็นที่ไปส่งจะกลับมาสู่บ้านเรือน

การตายที่ปรากฏบนร่องรอยความเชื่อในดินแดนอุษาคเนย์จึงไม่ใช่การสูญเสีย หรือพลัดพราก เพราะถือว่าขวัญซึ่งไม่มีวันตายจะเปลี่ยนสถานภาพบทบาทไปเป็นผู้บรรพชน และกลับมารวมกันปกป้องคุ้มครองสมาชิกของครอบครัวชุมชนอย่างไม่มีวันแยกจากกัน

“งันเฮือนดี” ในคําบอกเล่าของปราชญ์โบราณ

ร่องรอยของการร้องรําทําเพลงเพื่อเรียกขวัญผู้ตายให้กลับมาสร้างกลายเป็นแบบแผนที่เป็นเอกลักษณ์ในพิธีศพของชาวอุษาคเนย์ ที่ต้องมีความครึกครื้นรื่นเริงซึ่งในปัจจุบันได้ถูกแทนที่ด้วยความเงียบสงบเพื่อแสดงความอาลัย แต่ในวัฒนธรรมลุ่มแม่น้ำโขงยังปรากฏเรื่องราวของพิธีสนุกสนานในงานศพ เรียกว่า “งันเฮือนดี”

เรื่องราวของ “งันเฮือนดี” ปรากฏในงานของพระโพธิวงศาจารย์ (ติสโส อ้วน) (๒๔๖๙ : ๓๐ – ๓๑) เรื่อง ลัทธิธรรมเนียมต่าง ๆ ภาคที่๑๘ ตอนที่ ๓ ว่าด้วยประเพณีของชนชาวมณฑลอีสาน ความว่า

“ที่บ้านของผู้ตายนั้นตั้งแต่วันที่ตายไปตอนกลางคืนมีผู้คนที่รู้จักรักใคร่แลวงศาคณาญาติพร้อมทั้งเพื่อนบ้านที่ใกล้เคียงมางันกัน เรียกว่างันเรือนดี (คือคนมาประชุมช่วยพร้อมกัน) การที่กระทําเช่นนี้เขากล่าวกันว่า การล้มตายเช่นนี้ย่อมเปนที่โศกสลดใจแก่วงศาคณาญาติแลครอบครัวผู้ที่รู้จักรักใคร่นับถือแลเพื่อนบ้านใกล้เคียงต้องมาช่วยกันทําการรื่นเริงเกรียวกราวเฮฮา แทนที่จะช่วยโศกเศร้าสลด เพราะรู้อยู่แล้วว่า ครอบครัววงศาคณาญาติของผู้ตายย่อมมีความเศร้าโศกสลดเปนธรรมดา ก็ไม่ควรจะช่วยเพิ่มเติมให้ความเศร้าโศกสลดนั้นทวีมากขึ้น ต้องช่วยกันทําความรื่นเริงเกรียวกราวเฮฮา เพื่อเจ้าของบ้านจะได้ลืมความโศกเศร้าสลดนั้น

หญิงสาวชายหนุ่มก็มาพูดหยอกเย้ากันในงานนี้ผู้ที่เป่าแคนเปนก็เอาแคนมาเป่าเล่นหมอลำ พวกที่อ่านหนังสือเปนก็หาหนังสือเรื่องคำกลอนโบราณมาอ่าน เช่นเรื่องสังข์ศิลป์ไชย เรื่องการะเกษ เหล่านี้เปนต้น แลมีการเล่นอีกหลายอย่าง เช่นหมากหาบ (หมากแยก) เสือกินหมู (เสือกินวัว)  หมากเกิ้งตะเวน (เสือตกถัง) หมากแก้งขี้ช้าง (ทอดไม้) พวกของเล่นเหล่านี้มีชอบเล่นอยู่ในพวกหญิงสาวชายหนุ่ม ถ้าใครแพ้ชนะกันมักมีทุบตีหยอกเย้ากันในหมู่คณะหญิงสาวชายหนุ่ม ถ้าคนที่มีอายุแล้วหันไปฟังหนังสือที่เขาอ่าน

การงันเรือนดีชนิดนี้นับตั้งแต่วันที่ตายไปบางทีมีจนถึงวันนําศพไปเผาหรือฝัง ถ้าเปนผู้ที่ตระกูลเชื้อวงศ์มีบันดาศักดิ์อย่างมากงันกันตั้งเดือนอย่างน้อยก็ ๓ วัน ๕ วัน ๗ วัน ตามฐานานุรูปของคนพื้นเมือง เมื่อนําศพไปเผาหรือฝังเสร็จแล้ว กลับมาต้องทําบุญเรือน สวดมนต์เย็น ๓ วัน รุ่งขึ้นฉันเช้า ในระหว่าง ๓ วัน ที่สวดมนต์นั้น มีงันเรือนดีเหมือนกัน เมื่อพระฉันเช้าเสร็จแล้ว เปนเสร็จการศพผีเท่านี้”

ส่วนในหนังสือประเพณีโบราณไทยอีสานของ ปรีชา พิณทอง (๒๔๙๕ : ๓๙) อธิบายว่า “งันเฮือนดีเฮือนที่มีศพอยู่เรียก เฮือนดีที่เรียกเช่นนั้นถือเอานิมิตของผู้มา คือบรรดาญาติพี่น้อง เมื่อได้ยินข่าวใครตายลง  จะพากันนำข่าวของเงินทองมาช่วยเหลือ มาคบงันจนงานเสร็จ” นิยามนี้เหมือนจะอธิบายว่า ญาติพี่น้องมาทําความดีรวมกันในเรือนที่มีคนตาย เลยเรียก เฮือนดีหรือเรือน (ที่ญาติมาทําความ) ดี

ข้อมูลของ “งันเฮือนดี” จากที่ยกคําปราชญ์โบราณมาอธิบาย จะเห็นถึงรูปแบบพิธีกรรมว่าเป็นการเรียกกิจกรรมในงานศพของชาวอีสาน แต่ยังไม่ได้ให้นิยามความหมายที่ชัดเจนถึงที่มาของ “งันเฮือนดี”

งันเฮือนดี คัดลอกลายเส้นจากกลองมโหระทึกอายุราว ๒,๕๐๐ ปีพบในเวียดนาม

นิยามและความหมายของ “งัน”

งัน อธิบายตามความหมายในสารานุกรมภาษา อีสาน ไทย อังกฤษ โดย ปรีชา พิณทอง (๒๕๓๒) ไว้ว่า

คบงัน (กริยา) ฉลอง สมโภช การแสดงความรื่นเริงในงานเช่นร้องลําทําเพลง เรียก มหรสพ มโหสบ มโหสบคบงัน ก็ว่า

งัน (กริยา) ทําให้เอิกเกริก ฉลอง สมโภช การฉลองงานเรียก งัน เช่น งันกฐิน งันอัฏฐะ งันกองบวช งันต้นดอกผึ้ง งันเฮือนดี เรือนที่มีคนตายเรียก เฮือนดี การแสดงมหรสพ เช่น อ่านหนังสือผูก ร้องลํา และการเล่นต่าง ๆ เรียก งันเฮือนดี

งัน (วิเศษ) อึกทึก อึงมี่ เสียงอึกทึก เรียกเสียงงัน เสียงนัน นี่นัน ก็ว่า อย่างว่า ฟังยินระงมงันนอกในเสมอฟ้า (ฮุ่ง)

ดังนั้น งัน จึงมีนัยยะที่แสดงถึง งานฉลองสมโภชที่มีเสียงดังอึกทึก หรืองานฉลองสมโภชอย่างเอิกเกริก

เฮือนดี คือ เฮือนผี

เมื่อสืบค้นคำว่า เฮือน ที่ใช้เกี่ยวกับงานศพของไทลื้อในสิบสองปันนา ในหนังสือไทยสิบสองปันนา เล่มสอง โดย บุญช่วย ศรีสวัสดิ์ (พิมพ์ครั้งที่ ๓, ๒๕๕๗ : ๒๕๔ – ๒๕๕) พบว่า มีเฮินยิน, เฮินฮาย,  เฮินแนน มีคําอธิบาย ดังนี้

เฮินยิน ตรงกับภาษาไทยพายัพ ลําปาง เชียงใหม่ เชียงราย ของเราว่า “เรือนเย็น” หมายถึง บ้านของคนตายที่มีแต่ความเงียบ ความเศร้าโศก การไปเรือนเย็นเพื่อไปเป็นเพื่อนเจ้าของบ้านและทําให้บ้านคนตายหายความเงียบเหงาวิเวกวังเวงไปบ้าง

เฮินฮ้าย เวลาศพยังอยู่บนบ้านเขาเรียกบ้านคนตายนั้นว่า “เฮินฮ้าย” หรือเรือนร้าย ตามสำเนียงภาษาไทยกลางของเรา คำว่า “ฮ้าย” ในที่นี้หมายถึง โรคภัยไข้เจ็บความชั่วร้ายที่ภูตผีปีศาจมาทําให้คนตายอย่างหนึ่ง อีกอย่างหนึ่งดวงวิญญาณของผู้ตายคงเวียนวนไปมาใกล้ ๆ กับร่างศพของตน ความหวาดกลัวภูตผีปีศาจ ดวงวิญญาณ เป็นเหตุให้เรียก “เฮินฮ้าย”

เฮินแนน ตรงกับ “เรือนนัน” หมายถึงบ้านที่มีเสียงนันหรือเสียงผู้คนดังจอแจ คือบ้านที่มีความสนุกสนานรื่นเริง

บุญช่วย ศรีสวัสดิ์อธิบายอีกว่า ชาวไทยลื้อหลังจากไปส่งศพที่ป่าช้ากลับมาบ้าน จะนําเครื่องไทยทานที่จะทำบุญมาวางตรงที่เคยตั้งศพพร้อมทั้งสิ่งของคนตายแล้วตีฆ้องกลองเสียงดัง “ตอบตอบ มอง ตะลอบ ตอบ มอง” ตลอดทั้งคืน ตีประมาณครึ่งชั่วโมงต่อครั้งตั้งแต่หนึ่งทุ่ม โดยชาวบ้านจะผลัดกันตีเพื่อเรียกให้ผีกลับมาเอาเครื่องถวายทาน แต่บางบ้านไม่ให้มีการตีฆ้องกลองหรือการละเล่น เขาว่าเป็น “เฮินยิน เบ่าใจ่ เฮินแนน”

๑ (เฮือนเย็น เปล่าใช่ เฮือนนัน คือ เรือนเงียบไม่ใช่เรือนเสียงดัง, – – ยุทธพงศ์)

จะเห็นได้ว่า ไม่ปรากฏคําว่า “เฮือนดี” ดังเช่นในวัฒนธรรมอีสาน/ลาว และยังไม่มีคําอธิบายคําว่า “เฮือนดี” ในพจนานุกรมอีสานเอาไว้

ผู้เขียนมีความเห็นว่า “เฮือนดี” ไม่ได้หมายถึงเรือนที่มีงานศพ แต่หมายถึง “เฮือนผี” ซึ่งหมายถึง “โลงศพ” เพราะเมื่อมีคนตายจะมีการทําโลงใส่ศพไม่ได้ซื้อจากร้านเช่นในปัจจุบัน ซึ่งคนอีสานเรียกโลงศพว่า “เฮือน” แต่ไม่ใช่เฮือนคนเพราะเป็นเฮือนผี

สมัยก่อนหากเป็นพ่อแม่เจ้าของบ้าน จะแกะไม้แป้นปูมาทําเป็นโลงศพโดยมีคําเรียกว่า “ไปตัดไม้มงคลมาทําเฮือน” นอกจากนี้ยังมีพิธีกรรมในขณะเผาศพที่ไฟกําลังลุกไหม้กองฟอน ลูกหลานผู้ตายจะตักนํ้าไปสาดที่โลงศพที่กําลังไหม้ไฟ แล้วพูดเอะอะเสียงดังขึ้นว่า “มาช่วยกันดับไฟหน่อย ไฟกําลังไหม้เฮือนพ่อใหญ่/แม่ใหญ่แล้ว” จากคําเรียกดังกล่าวสะท้อนถึงร่องรอยการเรียกโลงศพว่า “เฮือนผี” ซึ่งต่อมาเรียกว่า “เฮือนดี” เพื่อความเป็นมงคล

โลงศพของคนอีสาน มีลักษณะปากผายก้นสอบ เช่นเดียวกับของชาวสิบสองปันนา ซึ่งบุญช่วย ศรีสวัสดิ์ อธิบายว่า โลงศพต่อออกไปเป็นรูปเรือ

คำอธิบายว่าโลงศพเป็นรูปเรือ ทำให้นึกถึงภาพเรือส่งผีขวัญในกลองทอง (มโหระทึก) ว่านั่นคือเฮือนผีในยุคก่อนประวัติศาสตร์ ในภาพมีหมอผีเป่าแคน ขับฟ้อน คือการ “งันเฮือนดี” เพื่อเรียกผีขวัญให้กลับมาสู่ร่างด้วย

สันนิษฐานว่า ในวัฒนธรรมล้านนาแต่ก่อนคงใช้คําว่าเฮือนผีเช่นกัน แต่ต่อมาเมื่อมีคําบาลีเข้ามาจึงเปลี่ยนมาใช้ “ปราสาทศพ” ซึ่งมีความหมายตรงตัวว่า “เฮือนผี” ส่วนในอีสานได้เปลี่ยนจาก “เฮือนผี” เป็น “เฮือนดี” เพื่อไม่ให้ถูกตําหนิว่าปากไม่เป็นมงคลดังที่ใช้ในปัจจุบัน

เมื่อเฮือนดีหมายถึง เฮือนผี (โลงศพ/เรือส่งผีขวัญ) ดังนั้น งันเฮือนดี จึงหมายถึงงานฉลองเฮือนดี/เฮือนผี ซึ่งเป็นบ้านใหม่ และพาหนะไปสู่โลกหลังความตาย เหมือนงานฉลองขึ้นบ้านใหม่ของคนเป็น ที่จะต้องมีการละเล่นเอิกเกริกเสียงดัง แต่เสียงดังเอิกเกริกใน “งันเฮือนดี” มีวัตถุประสงค์เพื่อเรียกผีขวัญให้กลับคืนมายังร่างที่นอนอยู่ในเฮือนดี/เฮือนผี ถ้าหากคนตายไม่ฟื้นซึ่งหมายถึงผีขวัญไม่กลับมา ญาติพี่น้องจะเตรียมพร้อมทําพิธีกรรมเพื่อที่จะส่งผีขวัญไปสู่โลกหลังความตายที่เมืองฟ้า หรือบาดาล สุดแท้แต่คติความเชื่อ เพื่อให้ขวัญของผู้ตายไปเป็นผีบรรพชน โดยใช้ เฮือนดี/เฮือนผี ที่มีลักษณะเป็นเรือทําหน้าที่เป็นพาหนะในการเดินทางไปสู่โลกหลังความตายต่อไป

อ้างอิง

บุญช่วย ศรีสวัสดิ์ (๒๕๕๗). สิบสองปันนา เล่ม ๒. พิมพ์ครั้งที่ ๓. กรุงเทพฯ : สํานักพิมพ์ศยาม.

ปรีชา พิณทอง. (๒๔๙๕). ประเพณีโบราณไทยอีสาน. อุบลราชธานี : ศิริธรรมออฟเซ็ท.

___________. (๒๕๓๒). สารานุกรมภาษา อีสาน ไทย อังกฤษ. อุบลราชธานี : ศิริธรรมออฟเซ็ท.

พระโพธิวงศาจารย์ (ติสโส อ้วน). (๒๔๖๙). ลัทธิธรรมเนียมต่าง ๆ ภาคที่ ๑๘ ตอนที่ ๓. กรุงเทพฯ : โสภณพิพรรฒธนากร.

สมภพ ภิรมย์. (๒๕๓๙). พระเมรุมาศ พระเมรุและเมรุสมยกรุงรัตนโกสินทร์. พิมพ์ครั้งที่ ๓. กรุงเทพฯ : อมรินทร์.

สุจิตต์ วงษ์เทศ. (๒๕๕๙). วัฒนธรรมร่วมอุษาคเนย์ในอาเซียน. กรุงเทพฯ : นาตาแฮก.

***

คอลัมน์ เปิดผ้าม่านกั้ง นิตยสารทางอีศาน ปีที่ ๖ ฉบับที่ ๖๕ | กันยายน ๒๕๖๐

.
ราคาเล่มละ ๑๐๐ บาท
สมัครสมาชิก ครึ่งปี ๖๐๐ บาท
หนึ่งปี ๑,๑๐๐ บาท
ตลอดชีพ ๙,๕๐๐ บาท (ได้รับหนังสือย้อนหลัง)
.
สั่งซื้อ// ชำระเงิน // สอบถามเพิ่มเติม ได้ทาง
inbox หนังสืออีศาน m.me/166200246799901
line id : @chonniyom (มี@) คลิก https://lin.ee/amxqtvW
อีบุค ที่ www.mebmarket.com


โทร. 086-378-2516
บริษัท ทางอีศาน จำกัด
244/539 รามอินทราซอย 5 แขวงอนุสาวรีย์ เขตบางเขน กทม. 10220

Related Posts

คําผญา (๒๐)
เขากินอะไรเป็นข้าวกัน
มากกว่ากาละแม คือทับหลังงามแท้ที่ศีขรภูมิ
WP2Social Auto Publish Powered By : XYZScripts.com