งานเขียนชุด “มหากาพย์ชนชาติไท” บรรพสอง ‘หนูไฟ เป่าหน’ นักเดินทางผู้ยิ่งยง คงนามไท (ตอนที่ ๒)
งานเขียนชุด “มหากาพย์ชนชาติไท” บรรพสอง ‘หนูไฟ เป่าหน’ นักเดินทางผู้ยิ่งยง คงนามไท (ตอนที่ ๒)
“วัฒนธรรมบั้งไฟ” จัดอยู่ในสังกัดร่วม ‘สายวัฒนธรรมแถน’ ของชาวไท|ลาว กลุ่มต่าง ๆ ที่สืบสายเชื้อเครือมาจาก ‘ชาวไป่เยวี่ย’ ในส่วนสายชาติพันธุ์ไท มายาวนานแต่โบราณสมัย จากการวิจัยสนามของนักวิชาการหลายท่าน รวมทั้งของผู้เขียนเอง ข้อมูลสนามบ่งชี้ว่า ประเพณีบุญบั้งไฟของชาวไทยถิ่นอีสานอยู่ร่วมบริบทประวัติศาสตร์สังคมและวัฒนธรรมมากับชาวลาวแห่งอาณาจักรล้านช้าง ชาวผู้ไทแห่งอาณาจักรแถน ชาวไตมาว (ไทใหญ่) แห่งอาณาจักรไตมาวหลวง และชาวไตโยน (ไตยวน~วงศาไทยเมือง) แห่งแคว้นโยน มณฑลยูนนาน อันมีพิกัดพื้นที่ตรงกับปริมณฑลแว่นแคว้นของอาณาจักร ‘เตียน’ ที่มีมาตั้งแต่สมัยราชวงศ์ฮั่นตะวันตก ดังที่ผู้เขียนได้ชี้ชวนให้เพ่งมอง ‘นาฏยพิธี’ บนฝากลองมโหระทึก และได้นำเสนออย่างเป็นกิจจะลักษณะ ให้มองเห็น ‘ปฐมบท’ ของการปักเสาด้ำ ที่อาณาจักรเตียน ผู้เป็นเจ้าพิธีกรรมของวัฒนธรรมกลองมโหระทึก ที่แสดงกิจกรรมชุมชนและพิธีกรรมของชุมชนชาวเตียนบนฝากลองและหม้อใส่เบี้ย ในหนังสือ ด้ำ แถน กำเนิดรัฐไทฯ (ชลธิรา สัตยาวัฒนา ๒๕๖๑)
เดอลาคูเปรี ศาสตราจารย์ชาวอังกฤษ ประจำมหาวิทยาลัยลอนดอน ผู้เชี่ยวชาญภาษาศาสตร์ของอุษาคเนย์ระบุว่า “ชนชาติไทลาว” ดั้งเดิมมีภูมิลำเนาดั้งเดิมอยู่ตอนกลางของประเทศจีน แถบลุ่มแม่น้ำหวงเหอและแม่น้ำหยางจื้อ มักอาศัยอยู่บริเวณที่ราบหุบเขา เช่น บริเวณที่ราบหุบเขาระหว่างแคว้นสื้อชวนกับส่านซี ในทัศนะของเดอลาคูเปรี มีหลักฐาน “การก่อเมือง” คือ “อาณาจักรไทเมือง” ของชนชาติ “อ้ายลาว” ซึ่งอาจประมาณกาลได้ว่า ชนชาติอ้ายลาวปรากฏตนเป็น “ไทเมือง” เมื่อราว ๔,๐๐๐ ปีล่วงมาแล้ว
ทัศนะของเดอลาคูเปรี มาจากการศึกษาสอบเทียบเอกสารประวัติศาสตร์ของจีนหลายฉบับ ซึ่งบันทึกไว้ชัดเจนว่า มีแว่นแคว้นโบราณที่ชื่อว่า “อ้ายลาว” ส่วนทางการจีนเองก็ยอมรับรู้ว่า ชนชาติ “อ้ายลาว” เป็นชนชาวพื้นเมืองดั้งเดิมของบริเวณพื้นที่ทางตอนใต้ของประเทศจีนปัจจุบัน ชาวอ้ายลาว “สร้างบ้านแปงเมือง” อยู่ที่อาณาบริเวณนี้ ก่อนหน้ากลุ่มวัฒนธรรมอื่น ๆ (ที่ถูกปรับเข้าสังกัดและจัดระเบียบให้เป็น “จีน”) และได้อยู่มายาวนานก่อนที่พวกจีนฮั่นลงมารุกรบราวีจากทางเหนือ แล้วครอบครองพื้นที่ด้วยกำลังทหาร ตามด้วยครอบงำทางวัฒนธรรมโดยการแต่งงานกับหญิงชาวอ้ายลาว
หากวิเคราะห์ตามแนวคิดของเดอลาคูเปรี โดยอาศัยชื่อ “อ้ายลาว” เป็นกุญแจคำ ไขรหัสวัฒนธรรมอ้ายลาว ประเพณีบุญบั้งไฟแต่ดั้งเดิมน่าจะริเริ่มโดยชนชาติอ้ายลาว ก่อนที่จะมีการอพยพโยกย้ายถิ่นฐานลงมาทางใต้ อาจมีส่วนหนึ่งแยกย้ายไปทางฝั่งตะวันตก แต่ส่วนใหญ่ข้ามฟากไปทางตะวันออกแล้วก่อตั้งอาณาจักรล้านช้างบนสองฟากฝั่งแม่น้ำโขง โดยความเป็นมานี้ ชาวลาวในประเทศลาวปัจจุบันและชาวอีสานในประเทศไทย ต่างมีประเพณีบุญบั้งไฟเป็นวัฒนธรรมร่วมที่แข็งขันที่สุด ชาวลาวทั้งสองฟากฝั่งโขงไม่เพียงแต่มีการจุดบั้งไฟขอฝนตามความเชื่อดั้งเดิม หากยังมีตำนานและวรรณกรรมร่วมที่สะท้อนความเชื่อเรื่องบุญบั้งไฟจำนวนหนึ่ง เช่น เรื่อง “พระยาคันคาก” เรื่อง “ท้าวผาแดง นางไอ่” เป็นต้น ประเพณีจุดบั้งไฟของชาวลาวและไทยลาวที่อีสานจะทำในเดือนหก เพื่อให้ฝนตกต้องตามฤดูกาล ชาวอีสานมีความเชื่อว่า การจุดบั้งไฟทำไปเพื่อบูชาและส่งสัญญาณเตือนพระยาแถน หรือที่บางแห่งแปรรูปความเชื่อเป็น ‘วัสสการเทวดา’ (เทวดาแห่งฝน) ผู้ชอบการบูชาด้วยไฟ เพื่อดลบันดาลให้ฝนตก ไร่นาจะได้อุดมสมบูรณ์
หนูไฟ~บั้งไฟ อัตลักษณ์และอุดมการณ์ชนชาติไท
จากการวิเคราะห์การกระจายตัวของประเพณีบุญบั้งไฟ โดยเริ่มจาก ‘ความท้า’ ของชาวไทใหญ่ จะเห็นได้ถนัดชัดเจนว่า หนูไฟเป่าห้น (เป่าหนทาง~ไกล) ที่ปรากฏตนเพียงน้อยนิดในรูปของ ‘ปริศนาคำทาย’ ในขนบวรรณกรรมของชาวไทใหญ่ ช่างเป็น “นักเดินทางที่ยิ่งยงคงนาม~ คงกระพันชาตรี” เสียนี่กระไร !
ข้อความใน ‘ความท้า’ ด้วยคำถามแสนสั้น เพียง ‘สองกิ๋ว’ และคำตอบก็แสนสั้น ที่แต่งไว้เพียง ‘สองเกลียวขาด’ ที่ว่า:
จางไห่ตื้งซิบสี เป่าปี่ขึ้นเมิ้งผี
[นักดนตรีสิบสี่ เป่าปี่ขึ้นเมืองผี]
จุดปู้งขึ้นฝายไว้ เป๋นหนูไฟ้เป่าห้น
[จุดพุ่งขึ้นฝายไว เป็นหนูไฟเป่าหน]
เป็นคำถาม~คำตอบ สั้นกระชับ ก่ายเกลียวกัน ด้วยคำไทดั้งเดิมเพียง ๑๙ คำ (๒๐ พยางค์) ช่างสามารถบอกกล่าวอะไรได้มากมาย ที่สำคัญที่สุดก็คือ ได้บอก “หนทาง” ที่ก้าวไกลเหลือเกินของ “ปี้อีกน่องแหล้น่องอีกปี้” ซึ่งล้วนแล้วแต่เป็นลูกหลานของ ‘ผีฟ้า พระยาแถน’ ในภูมิรัฐศาสตร์อุษาคเนย์ ในห้วงระยะก่อนประวัติศาสตร์ไม่น้อยกว่าสองพันถึงห้าพันปี จวบจนกระทั่งปัจจุบัน
การเดินทางไกลของ หนูไฟ เป่าห้น ที่ยืนยง คงนามไท ให้ภาพความเป็นมาที่มีชีวิตชีวาของชนชาติไทใน “มิติประวัติศาสตร์ห้วงยาว” (La Longue Durée) เป็นภาพความเคลื่อนไหว ที่มีรูปการณ์เป็น ‘ชุมชน~คนรากหญ้า’ (Grass-roots Communities) อันเป็นรูปธรรม ที่สามารถสั่งสมทั้งความเชื่อ ภูมิปัญญา ทักษะ และการประกอบพิธีกรรม มาอย่างยาวนานและยั่งยืน จนกลายเป็นภาพตัวแทน (Representation) ของความเชื่อ~อุดมการณ์อันเป็นนามธรรมที่งดงาม แตกหน่อออกกอไปอย่างหลากหลายเมื่อไปพำนักอยู่ในหลากหลายพื้นที่ โดยทุกหน่อกอของวัฒนธรรม “บุญบั้งไฟ” ล้วนมีพิธีกรรมที่เนื่องด้วยวิถีชีวิตทางการเกษตรแบบพึ่งฟ้าพึ่งฝนรองรับและตกผลึกเป็นความเชื่อที่เป็นอุดมการณ์ร่วมของชนชาติไท|ลาว เพื่อความอยู่ดีกินดีของชุมชน
ในเชิงกระบวนการของการอนุรักษ์วัฒนธรรมที่มีรากร่วมกันนี้ ชาวไทแต่ละกลุ่ม ที่กระจายตัวอยู่ต่างพื้นที่และในระหว่างพื้นที่ ต่างก็มีการพัฒนารูปธรรมของกิจกรรม ความเชื่อ และองค์ประกอบของกิจกรรมและพิธีกรรม รวมถึงรายละเอียดของวัสดุที่ใช้ประกอบพิธีกรรม ตลอดจนถ้อยคำสำนวนภาษาที่ใช้ โดยมี ‘การปรับปรน’ ให้เข้ากับสิ่งแวดล้อมในบริบทต่าง ๆ กัน
การเดินทางไกลและกระบวนการปรับปรนทางวัฒนธรรมของ ‘บุญบั้งไฟ’ อย่างยืนยงคงกะพัน สะท้อนให้เห็นว่า พี่น้องชนชาติไทเรานั้นแม้จะกระจัด กระจาย พลัดพราก ย้ายถิ่น บ้างซัดเซพเนจร จากกันไปตั้งถิ่นฐานในที่แห่งใหม่ ไม่ว่าจะเป็นตำแหน่งแห่งที่ใดก็ตาม พี่น้องไต|ไท|ลาว ของเราก็ยังคงรักษาจิตวิญญาณของ ‘ขนบ’ ดั้งเดิมไว้ได้ อีกทั้งยังสามารถเชิดชูและสืบทอดความคิดความเชื่อที่ได้ยกระดับขึ้นเป็น ‘อุดมการณ์แถน’ อันเป็นอุดมการณ์ของชนชาติไต|ไท|ลาว ไว้ได้อย่างยั่งยืนเป็นพลวัตมาจนถึงทุกวันนี้
ทั้งหมดนี้สะท้อนให้เห็น ‘มิติของความเป็นชนชาติ’ สอดคล้องกับฐานคิดที่น่าสนใจ
ซึ่งได้ตกผลึกเป็นมโนทัศน์เรื่อง “ชนชาติ” แบบ ‘เกลียวขาด’ ชัดเจน
ของอาจารย์ชายชื้น คำแดงยอดไตย อันมีสาระสำคัญว่า:
คำ ‘ชนชาติ’ หมายถึง ‘กลุ่มชาติพันธุ์’ ที่มีลักษณะสำคัญดังนี้
๑. เป็นกลุ่มชนที่มีตัวอักษรหรือตัวเขียนของตน และมีวรรณคดีอย่างมั่งคั่งมั่นคง
๒. มีภาษาพูดที่ประจักษ์
๓. มีวัฒนธรรมของตน
๔. มีชุมชนกระจายอยู่เป็นปึกแผ่น (ไม่เป็นกลุ่มเลื่อนลอยหรือไม่คงที่)
๕. มีสังคมกว้างใหญ่
๖. มีเวียงหรือเมือง ที่มีสิ่งป้องกัน และมีชื่อถิ่นที่ แม่น้ำ ภูเขาในชื่อหรือภาษาของตน
๗. เป็นเมือง หรือเคยเป็นเมืองที่เข้มแข็ง และ
๘. มีประวัติความเป็นมาอันยาวนาน
การจุด ‘ดอกไม้ไฟ’ และ ‘บอกไฟ’ ในล้านนา
เพื่อเสริมให้เห็นความสำคัญของ ‘บั้งไฟ|หนูไฟ’ ในสถานะที่เป็น ‘ตัวละครเอก’ ในบทวรรณกรรมระดับมหากาพย์ชนชาติไท ผู้เขียนได้ใช้ความพยายามทำการวิจัยเอกสาร (หายาก) เพิ่มเติม พบหลักฐาน ‘การจุดดอกไม้ไฟ’ ที่น่าจะเก่าแก่ที่สุดใน โคลงนิราศหริภุญชัย
โคลงนิราศหริภุญชัย เป็นโคลงโบราณของล้านนา แต่งเมื่อพุทธศักราช ๒๐๖๐ ศาสตราจารย์ ดร.ประเสริฐ ณ นคร เป็นผู้วินิจฉัยปีที่แต่งโคลงนิราศหริภุญชัย โดยอาศัยคำว่า ‘เมิงเป้า’ ที่พบในต้นฉบับ ซึ่งแปลว่าปีฉลู ศกที่สี่ นับอย่างจีน ตรงกับปีฉลูนพศกในจุลศักราช เทียบได้ตรงกับปีเมิงเป้าเพียงปีเดียวคือ พ.ศ.๒๐๖๐ ตรงกับรัชสมัยของพญาเมืองแก้ว (พ.ศ.๒๐๓๘-๒๐๖๘) พญาเมืองแก้วเป็นกษัตริย์ลำดับที่ ๑๒ ในราชวงศ์มังราย (พญามังรายทรงสร้างเมืองเชียงใหม่เมื่อ พ.ศ.๑๘๓๙) ลักษณะคำประพันธ์ของโคลงนิราศหริภุญชัย แต่งเป็นโคลงดั้นจำนวน ๑๘๐ บท จารลงในใบลานและบันทึกลงในพับสาด้วยอักษรไทยนิเทศและอักษรธรรมล้านนา (ตัวเมือง) ต้นฉบับนิราศนี้มีหลายสำนวน แต่ละสำนวนมีความเหมือนและแตกต่างกันบ้าง เนื้อหากล่าวถึงการพลัดพรากจากนางอันเป็นที่รัก ผู้แต่งได้เดินทางจากเมืองเชียงใหม่ไปนมัสการพระธาตุหริภุญชัยในเมืองลำพูนด้วยขบวนเกวียน เริ่มออกจากวัดพระสิงห์ในเมืองเชียงใหม่ ผ่านสถานที่สำคัญต่าง ๆ และพักค้างคืนที่ตลาดต้นไร ๑ คืน เมื่อได้ไปนมัสการพระธาตุหริภุญชัยในเมืองลำพูน พักแรมในเมืองลำพูน ๑ คืน แล้วเดินทางกลับเชียงใหม่ ในการเดินทางตลอดเส้นทางนี้ ผู้แต่งได้พรรณนาถึงเส้นทางการเดินทางและสิ่งที่พบเห็นระหว่างการเดินทาง โดยเชื่อมโยงสิ่งที่พบเห็นกับความรู้สึกที่ต้องพลัดพรากจากนาง เมื่อไปถึงที่หมาย ผู้แต่งโคลงนิราศหริภุญชัยได้บรรยายให้เห็นภาพของการแสดงมหรสพโบราณในงานไหว้พระธาตุหริภุญชัยไว้หลายสิ่งหลายอย่าง ซึ่งบางอย่างยังรักษาสืบทอดมาจนถึงปัจจุบัน บางอย่างก็สูญหายไปกลายเป็นเพียงภาพแห่งความทรงจำเท่านั้น เช่น การฟ้อนหางนกยูง การไต่สายหนัง การไต่บันไดดาบ การเล่นดนตรีสลับกับการขับร้อง ซึ่งมีเครื่องดนตรีหลายชนิด เช่น แคน ฆ้อง ปี่ไฉน
ในงานไหว้พระธาตุหริภุญชัยครั้งนี้ มีการนำดอกไม้ไฟชื่อต่าง ๆ มาจุดด้วย การทำดอกไม้ไฟนั้นสันนิษฐานว่าล้านนาคงจะได้รับมาจากจีน มีความเป็นไปได้ว่าภายหลังล้านนาอาจจะคิดและพัฒนากรรมวิธีผลิตเองได้ ดังที่อาจารย์อรุณรัตน์ วิเชียรเขียว ระบุว่าได้เคยพบพับสาที่อยู่ในหอสมุดมหาวิทยาลัยคอร์แนล สหรัฐอเมริกา มีข้อความบรรยายว่า มีสูตรการทำดอกไม้ไฟของล้านนาให้สามารถจุดแล้วดอกไม้ไฟพุ่งขึ้นบนอากาศเป็นลวดลายหรือดอกดวงต่าง ๆ ความข้อนี้สอดคล้องกับโคลงนิราศหริภุญชัย ซึ่งผู้แต่งบรรยายไว้ว่า มีการจุดดอกไม้ไฟพุ่งขึ้นเป็นลวดลายต่าง ๆ ดอกขจร (ล้านนาเรียก ดอกสลิด) ดอกมหาหงส์ (ล้านนาเรียก ดอกตาเหิน) บัวบาน และใบไทร (ล้านนา เรียกใบไฮ) ดังปรากฏในโคลงบทนี้:
“ผกาเพลิงพุ่งแจ้ง สทธการศรีเศียรเทศทัง
ศรีเศียรเทศทังทวยหาร ใหม่ก้อ
ครนครันแบ่งบัวบานใบนิโครธ พรั่งเอ่
มิใช่บุญน้องน้อ มิได้ดู”
ส่วนหลักฐานเกี่ยวกับการทำ ‘บอกไฟ’ และการจุด ‘หนูไฟ’ นั้น พบหลักฐานเก่าแก่ที่สุดในงานไหว้บวงสรวง ‘ผีนาค’ ที่จังหวัดเชียงราย เมื่อ พ.ศ.๒๔๖๐ อันเป็นปีที่ ‘ฮ่า’ (โรคห่า) ลงเมือง ในที่นี้จะได้เล่าถึง ‘พิธีกรรม’ สำคัญนี้ เพื่อสะท้อนให้เห็นว่า บทบาทของ ‘บั้งไฟ|บอกไฟ|หนูไฟ’ นั้น ไม่ใช่พิธีกรรมท้องถิ่นของชาวลาว|ชาวอีสานในไทยเท่านั้น หากเป็น ‘มรดกวัฒนธรรมร่วมเชื้อสาย’ ของ ‘ชนชาติไท’ อย่างแท้จริง
ผู้บันทึกเรื่องราวอันน่าสนใจนี้คือนายแก้วมงคล ชัยสุริยันต์ เดิมคือเจ้าแก้วมงคล ณ เชียงใหม่ บุตรชายคนโตของเจ้าหนานเหลา ณ เชียงใหม่ กับเจ้ากุยคำ (ธิดาเจ้าราชวงศ์บัวระกต กับแม่เจ้าวันดี)
ใน พ.ศ.๒๔๖๐ อันเป็นปีที่ ‘ฮ่า’ (โรคห่า) ลงเมืองนั้น พระราชโยธา (เจิม ปันยารชุน) เป็นผู้ว่าราชการจังหวัดเชียงราย ท่านได้ทราบว่าทางเมืองเชียงใหม่ ลำพูน ลำปาง ได้บัดพลีบูชาเสาอินทขีลและผีเสื้อเมืองเพื่อขับไล่โรคห่า จึงคิดจะสะเดาะเคราะห์เมืองอย่างนั้นบ้าง ได้ปรึกษากับพระยารัตนาณาเขต (เจ้าเมืองไชย) เจ้าเมืองเชียงรายคนที่ ๔ (คนสุดท้าย) ตกลงกันว่าจะบวงสรวงผีนาค ด้วยขณะนั้นใกล้กับวันวิสาขบูชา เดิมเมืองเชียงรายมีการบวงสรวงผีนาคในวันวิสาขบูชา แต่ได้เว้นว่างมาหลายปี คือเลิกไม่ได้ทำพิธีมาตั้งแต่ พ.ศ.๒๔๕๖ เนื่องจาก ‘ฮ่า’ ลงเมืองครั้งนี้หนักมาก โรคนี้เรียกตามภาษาชาวล้านนาว่า ‘ขี้ฮากสองกอง’ คือ ‘อหิวาตกโรค’ ลง ‘กินคน’ ครั้งนี้เริ่มเกิดขึ้นใน ‘สหรัฐไทยใหญ่’ ก่อน แล้วลุกลามลงมาแทบทั่วกันหมดทุกเมือง ประชาชนตื่นตระหนกเดือดร้อนกันมาก ในช่วงเวลานั้นเมืองเชียงรายเลิกวิธีการปกครองเมืองแบบเก่าแล้ว มีการตั้งศาลากลางจังหวัดที่เมืองเชียงราย แล้วมีเมืองต่าง ๆ ที่เดิมเคยมีศักดิ์เสมอกับเมืองเชียงรายมาแต่ก่อน คือ เมืองฝาง เชียงแสนเชียงของ เชียงคำ เมืองเทิง และเมืองพะเยา ล้วนกลายเป็นอำเภอขึ้นต่อจังหวัดเชียงราย ซึ่งมีพระยารัตนาณาเขต (เมืองไชย ณ ลำพูน) เป็นที่นายอำเภอเมือง ส่วนผู้ว่าราชการจังหวัดก็คือ พระราชโยธา ‘งานบวงสรวงผีนาค’ ครั้งนี้ พระครูเมธังกรญาณ ผู้เป็น ‘ราชครูเมือง’ พร้อมทั้งเจ้าคณะจังหวัด อาจารย์หลวงฯ อาจารย์รองฯ โหราหลวงเก่า (ปู่เจ้า) โหราหลวงใหม่ ได้มาประชุมกันพร้อมหน้าที่ ‘หอขวางคุ้มหลวง’ ต่อหน้าพระยารัตนาณาเขต ปรึกษาตกลงกันจะจัดทำตามแบบอย่าง ‘ครั้งตั้งเมือง’ เชียงราย กำหนดงาน ๕ วัน เริ่มแต่วันขึ้น ๑๒ ค่ำจนถึงวันแรมค่ำ ๑ เดือน ๘ โดยจะมีขบวนแห่นาคและเครื่องไทยทานทุกวัน จำนวนพระสงฆ์เข้าพิธีภาวนานับประคำ (นั่งปรก) ๑๐๘ รูป รับบิณฑบาตสังฆทาน ๑,๐๐๐ รูป โดยกะให้มี ‘การพนัน’ ตลอดงานกลางวัน เมื่อรายงานข้อตกลงเรื่องแผนการจัดงานและพิธีการแล้ว ปรากฏว่าพระราชโยธาขอให้จัดแต่เพียงพอสมควรด้วยเป็นเวลา ‘ห่าลงเมือง’ จึงให้ลดเหลือวันงาน ๓ วัน และงดการเล่นพนัน กับลดจำนวนพระสงฆ์รับบิณฑบาตสังฆทานเหลือเพียง ๒๕๐ รูป ในงานพิธีตั้งเมืองนั้น แต่เดิมต้องจูงควายมาร่วมเข้าพิธีเป็นการเอิกเกริก ครั้งนี้ก็ปล่อยให้เจ้าของควายนำควายมาเข้าขบวนตามใจสมัครเพราะควายก็ล้มตายด้วยโรคห่ามาก รายละเอียดยังมีอีกมากมายเหลือจะคณา เฉพาะในที่นี้จะระบุข้อมูลเฉพาะส่วนที่เกี่ยวกับ ‘บั้งไฟ’ หรือ ‘บอกไฟ’ เท่านั้น
‘บอกไฟ’ เป็นหนึ่งในเครื่องสักการะ ‘ผีนาค’ ใช้สำหรับบูชากลางวัน แบ่งเป็น ๒ ประเภท คือ
๑. ‘บอกไฟหล่อ’ คือ จุดให้แล่นไปตามพื้นดิน
๒. ‘บอกไฟขึ้น’ สำหรับจุดให้ลอยขึ้นไปบนอากาศ
‘บอกไฟหล่อ’ นั้นทำอย่างเดียวกับ ‘บอกไฟขึ้น’ เมื่อประกอบหางและหัวเสร็จแล้วเอาล้อผูกติดที่หัว วางลงกับพื้นดิน ทำด้วยรูปสัตว์ต่าง ๆ ผูกติดไว้ ‘บอกไฟขึ้น’ ทำด้วยกระบอกไม้ไผ่สีสุก มีหางทำด้วยไม้เฮี้ย และมีลูกโหว้ (โหวด) ผูกติดที่หัวให้มีเสียงดังเมื่อเวลาแล่นขึ้นไปบนอากาศแล้วตกลงมา โดยปกติทำใหญ่และเล็กต่างกันหลายขนาด แต่สำหรับการบวงสรวงผีนาคครั้งนี้ พ่อเมืองต้องจัดให้ทำขึ้นเป็นขนาดใหญ่กระบอกหนึ่ง ‘น้ำหนักดินเฝ่าแสนหนึ่ง ราว ๑ หาบ’ นอกจากนี้ประชาชนผู้มีศรัทธาก็จัดทำมาบูชาเพิ่มอีกมากและมีหลายขนาด ตั้งแต่ใหญ่ลงไปหาเล็ก “น้ำหนัก ‘ดินเฝ่า’ เพียงฮ้อยเดียวราว ๑ ชั่งก็มี” รวมทั้งหมดมีจำนวน ‘บอกไฟ’ ถึงราว ๕๐๐-๖๐๐ บอก ต้องแบ่งจุดกันหลายวัน กระบอกที่เป็นส่วนของพ่อเมืองนั้นใหญ่กว่าเพื่อน ในเวลาจุดนั้น ยังมี ‘บอกไฟ’ ที่เป็นบริวารอีกหลายอย่าง และต้องล่ามสายฝักแคจากโรงพิธีไปยังร้านที่จุด ‘บอกไฟ’ ยาวหลายร้อยวา
‘บริวารบอกไฟ’ ของพ่อเมืองนั้น ได้แก่
๑. สายมะผาบ คือ ‘ฝักแค’
๒. สะโป๊ก คือ ปล้องไม้ระเบิดทำด้วยไม้ไผ่สีสุก
๓. บอกไฟจักจั่น ทำด้วยฝักเมล็ดมะม่วง (ตะไล)
๔. บอกไฟนกกระจาบ (คือ จักจั่น แต่ไม่มีหาง)
๕. บอกไฟลูกหนู
ในรายการละเอียดนี้ พบว่ามีข้อมูลเกี่ยวกับ ‘ดอกไม้ไฟ’ สำหรับใช้จุดบูชาเวลากลางคืน ประกอบด้วย
๑. ไฟดอกไม้ คือ ไฟพะเนียง
๒. ไฟดอกไม้ปวง คือ กังหันหมุน
๓. ไฟช้างร้อง
๔. ไฟดาว คือ พลุ
๕. ไฟเทียน (น่าจะเป็น พุ่มระทา)
‘ความท้า’ ว่าด้วยเรื่องการจุด ‘หนูไฟ’ แม้ในบททายปริศนาสั้น ๆ ยังมีความพิเศษเพิ่มเติม ตรงที่มีการระบุถึงการบรรเลงดนตรีประกอบพิธีกรรม ‘จุดหนูไฟ’ ของชาวไทใหญ่ ที่ว่า:
“มีนักดนตรี ๑๔ คน ร่วมกัน ‘เป่าปี่’ ด้วยปล้องไม้ไผ่
ให้เสียงดังยาวไกลไปจนถึงเมืองผี”
ในงานบวงสรวงผีนาคครั้งนั้น พบว่า มี ‘ดนตรีปี่อ้อ’ บรรเลงตามปะรำภายในบริเวณคุ้มหลวง มีคำอธิบายว่า”
ปี่อ้อ มีสองสำรับ ๆ หนึ่งเรียกว่า ‘ปี่จุมสาม’ คือ มีปี่ ๓ เล่ม คนซอหญิง ๑ ชาย ๑ เคล้าเสียงปี่ บางทีซอเคล้าเสียงหญิงชาย บางทีก็ซอคนละบทเป็นทำนองเล่นเพลง
ปี่อ้ออีกสำรับหนึ่งนั้นเรียก ‘ปี่จุม ๕’ มีปี่อ้อ ๕ เล่ม คนซอชาย ๑ หญิง ๔ หรือ ชาย ๒ หญิง ๕ ซอเคล้าเสียงทั้งปี่และคน ปี่อ้ออีกสำรับหนึ่งนั้นเรียก ‘ปี่จุม ๕’ มีปี่อ้อ ๕ เล่ม คนซอชาย ๑ หญิง ๔ หรือ ชาย ๒ หญิง ๕ ซอเคล้าเสียงทั้งปี่และคน ปี่อ้ออีกสำรับหนึ่งนั้นเรียก ‘ปี่จุม ๕’ มีปี่อ้อ ๕ เล่ม คนซอชาย ๑ หญิง ๔ หรือ ชาย ๒ หญิง ๕ ซอเคล้าเสียงทั้งปี่และคน
การแต่งกายของพวกปี่อ้อ ชายแต่งตามปกติ หญิงแต่งเต็มที่ เวลาฟ้อนสวมเล็บ กลางคืนหญิงฟ้อนเทียนไฟ ชายฟ้อนช่อดอกไม้ เป็นการฟ้อนแบบหยอกกันคือ ‘หญิงใช้ไฟลนชาย และชายเป็นฝ่ายปัดป้อง’ วิธีฟ้อนนั้น คุกเข่าฟ้อน”
ตอนดึก ๆ ใกล้ปิดงานของแต่ละคืน จะมีการฟ้อนลา คำขับตอน ‘ลา’ นั้น เนื้อหาจะเป็นการขอพร ที่น่าสนใจมากก็คือ ‘คำขอพร’ ที่มีการบันทึกไว้นั้น แม้จะมีรูปการณ์ความคิดและท่าที ‘จานีตนิยม’ ครอบไว้ แต่ก็สอดแทรก ‘เนื้อใน’ บางอย่างที่สะท้อนให้เห็นว่า ชาวเชียงรายมีปัญหาอะไรในใจ ณ เวลานั้น
‘คำขับขอพร’ ที่ควรพินิจ มีว่า:
ลา สดุดี…
“ยอสิบนิ้ว ข้อยขึ้นไหว้สา ถวายปู๋จาต่างดวงดอกไม้
อุติ้สเถิงเติงเจ้าที่ไหว้ บัวบาทเหง้าไท้ติ๊ราชขวัญเมือง
เตโชเรืองฤทธิ์ขามกล้า คนตังหลายหญิงจายถ้วนหน้า
ล้วนมานบน้อมเบื้องบาทบัวทอง ได้เบ่งบุญเจ้าบ่มีเศร้าหมอง
มีสุขสมป๋องเปื้อบุญเจ้ากว้าง ล้วนจื้นจูอยู่กินแต่งสร้าง
สัตถรูมล้างป้ายพระสมปาร เทพบันดาลหื้อพระผาบแป๊
เพื่อบุญเจ้าหนักศักดิ์ใหญ่เที่ยงแท้ ไผบ่อาดแก้ฤทธิ์บุญจู
แถมเอ็นดูหมู่จุมไพร่น้อย จุมไพรไตยมีใจส่างส้อย
มาคมเคียมบาท ไต๊นาฯ”
ลา ขอพร
“ขอบุญฤทธิ์ เจ้าจีวิตคุ้มขังวังสา ปวงปะจาหลามไหลใหญ่น้อย
ตัวปงสาคณาหมู่ข้อย ตุ๊กถี่ถ้อยตังสัตว์ตังคน ทั่วตุ๊กหนหื้อหายห่างไฮ้
ปวงอุบาทว์พยาธิร้อนไหม้ ตังเต็บไข้หื้อคลาดคลาหนี หี้อได้สนุกมีสุขมีสรี
มีสวัสดีทุกหนแห่งหล้า ตังส้มสูกลูกไม้ข้าวกล้า หื้อได้ไจยโจ้คอุดมหลาย
แถมฝนฟ้าตามาหยาดยาย ดังพระปายเจยจายปั๊ดไม้ ทั่วเตสาอานาไกลใกล้
หื้อจ้อบแบบกองเมือง ที่ขัดเคืองหื้อคลายง่ายคิด
ขอบุญฤทธิ์เจ้าดลบันดาล จาวตลาก๋ารพ่องานทุกเบื้อง
หย่าหื้อยาดเยื้องจากแบบกองธัมม์ หี้อเป๋นหลักกำคติเตี้ยงหมั้น
ผะก๋ารหนึ่งนั่นพ่อเจ้าเหนือหัว อย่าหื้อสังบังใจหื้อมัว
หื้อบานเหมือนบัวแบ่งบานลางน้ำ จุมมัตฉาบอนมาจ๊ะก๊ำ
มาจมกลิ่นซ้ำโลดคะนองจล หื้อฝูงจาวจนทั่วหนแห่งห้อง
ทั่วผะเตสต๊องมาจื้นจมบุญ ขอหื้อเต๋จ๊ะพ่เจ้าอาดุล
ได้อนุกูลหมู่จุมไพร่ฟ้า หื้ออยู่จุ้มเย็นเป็นสุขถ้วนหน้า ด้วยบุญบัวบาท ต๊าวนาฯ”
เมื่อฟ้อนสดุดีจบแล้ว ก็ฟ้อนขับลำนำอื่นบำเรอต่อไปจนได้เวลา ๒๓.๐๐ น. จึงเลิก ต่อนี้ผู้ฒ่าผู้แก่ที่เป็นอาจารย์น้อยตามหมู่บ้านต่าง ๆ มาอยู่เฝ้าและผลัดเปลี่ยนกันหลับนอนไปจนสว่าง ในระหว่างนี้มีการสนทนาธรรม หรืออ่านคำโคลงสุภาษิตบ้าง เล่าเรื่องเจี๊ย-นิทาน หรืออ่านคำลิลิตซึ่งเรียกว่า “กำมาส” เป็นเรื่องประวัติและตำนานบ้างสู่กันฟัง โดยมากการอ่านกำมาส-ลิลิตนั้น ตกเป็นหน้าที่ของหญิงสาวชายหนุ่มอ่านคู่กัน ให้ผู้เฒ่าผู้แก่ฟัง พวกอาจารย์น้อยมักจะโจทนาธรรมอย่างปุจฉาวิสัชนา หรือสักรวาทีปรวาทีเป็นพื้น
เมื่อสว่างแล้ว ส่งสำรับคาวหวานไปถวายพระภิกษุขั้นสมภารตามวัดต่าง ๆ และภิกษุที่ทางสังฆมณฑลเกณฑ์มาเข้าพิธีบวงสรวงผีนาคซึ่งมาจากตำบลไกล และมักมาอย่างธุดงค์หรือมารุกขมูลอยู่ตามชายทุ่งนาและชายป่าชายเขาภายนอกเมือง สำรับคาวหวานนั้นมีสลากจารด้วยใบตาล ใส่ไว้ข้างในเป็นข้อความว่า
“ขันข้าวนี้คนนั้นตานอุทิศผลให้แก่ (พ่อเมืองชื่อนั้นที่ล่วงลับไปแล้ว)”
พระรับประเคน แล้วอ่านสลาก และสวดยถาสัพพี กรวดน้ำกัลปนาผลไปยังผู้รับทันทีก่อนฉัน
ส่วนที่หอขวางในคุ้มหลวงก็ตั้งสำรับเลี้ยงผี เลี้ยงคน ตามธรรมดามีซอเคล้าปี่อ้อบำเรอตลอดเวลานั้น”