ชาดกเรื่องพระโสณะและพระนันทะเลี้ยงดูบิดามารดา
เรื่องราวของพระโสณะและพระนันทะช่วยกันเลี้ยงดูบิดาและมารดา ปรากฏอยู่ในโสณะนันทชาดก เรื่องย่อมีดังนี้
พระโพธิสัตว์ (อดีตชาติของพระพุทธเจ้า) เสวยพระชาติเป็น พระโสณะ บุตรคนโตของพราหมณ์สามีภรรยาคู่หนึ่ง มีน้องชายนามว่า พระนันทะ เมื่อเจริญวัยขึ้นบิดาและมารดาประสงค์ให้พระโสณะแต่งงานมีครอบครัว ทําหน้าที่ดูแลทรัพย์สมบัติสืบไป แต่พระองค์ปฏิเสธ เพราะหวังเพียงปฏิบัติรับใช้มารดาและบิดาจนวาระสุดท้าย จากนั้นก็จะออกบวช เมื่อทราบความดังนั้นแล้วบิดาและมารดาจึงประสงค์ให้พระนันทะแต่งงานแทน แต่ก็ได้รับคำตอบแบบเดียวกัน
เมื่อได้ทราบความประสงค์ของบุตรทั้งสอง พราหมณ์สามีภรรยาจึงสละทรัพย์ทั้งหมดและชักชวนกันออกบวชทั้ง ๔ คน บุตรทั้งสองต่างช่วยกันปรนนิบัติรับใช้มารดาและบิดาในด้านต่าง ๆ ร่วมกันตลอดมา
ทว่าวันหนึ่ง พระนันทะผู้เป็นน้องชายกลับคิดว่าจะให้มารดาและบิดาบริโภคผลไม้ที่ตนหามาได้ก่อน จึงรีบออกไปหาผลไม้แต่เช้า แล้วรีบนํามาให้มารดาและบิดารับประทานทั้ง ๆ ที่ลูกเล็กไปบ้าง ยังดิบเกินไปบ้าง
ฝ่ายพระโสณะผู้เป็นพี่ชายเดินทางไปยังสถานที่ห่างไกลจากอาศรม เลือกหาผลไม้รสชาติอร่อยและสุกกําลังดี เมื่อกลับมาก็พบว่ามารดาและบิดาได้บริโภคผลไม้ของพระนันทะเรียบร้อยแล้ว จึงไม่สามารถทานผลไม้ที่พระโสณะหามาได้อีก เหตุการณ์เป็นเช่นนี้ต่อเนื่องกันมาหลายวัน
พระโสณะเห็นว่าผลไม้ที่พระนันทะมาให้มารดาและบิดาบริโภคคุณภาพไม่ดี จึงเอ่ยให้พระนันทะร่วมกันให้ผลไม้แด่มารดาและบิดาพร้อมกันเหมือนดังก่อน แต่พระนันทะไม่เชื่อฟัง พระองค์จึงขับไล่พระนันทะไป
เมื่อพระนันทะถูกขับไล่ออกมาแล้วก็สำนึกผิด ประสงค์จะกลับไปขอขมาพระโสณะ แต่เพื่อความสมพระเกียรติพระนันทะจึงคิดว่าจะไม่กลับไปขอขมาเพียงลำพัง หากแต่จะใช้ความสามารถของตนทำให้พระเจ้ามโนชะกลายเป็นพระจักรพรรดิราช จากนั้นจะพาพระเจ้ามโนชะพร้อมด้วยพระราชาทั้งหลายจาก ๑๐๑ นคร ไปร่วมขอขมาด้วย
เวลาผ่านไป ๗ ปี ๗ เดือน ๗ วัน พระนันทะช่วยเหลือจนพระเจ้ามโนชะได้เป็นพระเจ้าจักรพรรดพระองค์จึงพาพระเจ้ามโนชะและกษัตริย์เมืองต่าง ๆ เดินทางกลับไปยังอาศรมขอมาต่อพี่ชาย และขออนุญาตปรนนิบัติดูแลมารดาและบิดาบ้าง โดยใหเหตุผลว่าเพราะการเลี้ยงดูบิดาและมารดาเป็นหนทางหนึ่งของการกระทำบุญ ยังผลให้ขึ้นสู่สวรรค์และเป็นสิ่งที่บุคคลต่าง ๆ สรรเสริญ
พระโสณะจึงตอบว่า การเลี้ยงดูบุคคลในตระกูลเป็นหน้าที่ของพี่ชายคนโต เมื่อตนเป็นพี่ชายคนโตภาระทั้งหมดจึงเป็นของตน พระนันทะจึงกล่าวตอบว่า เช่นนั้นแล้วให้พระโสณะปรนนิบัติมารดาและบิดา ส่วนตนจะปรนนิบัติพระโสณะแทนพระโสณะจึงเห็นว่าน้องชายได้ลดทิฐิลงแล้วจึงยกโทษให้ พร้อมทั้งอนุญาตให้ปรนนิบัติมารดาหรือบิดาคนใดคนหนึ่ง ในที่สุดพระนันทะก็ได้ดูแลปรนนิบัติมารดา
เนื้อหาของโสณนันทชาดกที่สรุปความมาไว้ข้างต้นนั้น สะท้อนถึงหลักคำสอนให้ลูกกตัญูกตเวทีต่อบิดาและมารดาอย่างชัดเจน ซึ่งเป็นบรรทัดฐานทางสังคมทุกยุคทุกสมัยก็ว่าได้
เรื่องราวของพระโสณะและพระนันทะร่วมกันปรนนิบัติดูแลบิดาและมารดา ได้รับการถ่ายทอดเป็นภาพสลักบนใบเสมาศิลปะทวารวดีแผ่นหนึ่ง พบจากอำเภอกุฉินารายณ์ จังหวัดกาฬสินธุ์ จัดแสดงในพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ ขอนแก่น ขนาดความสูง ๑๖๓ เซนติเมตร กว้าง ๕๓ เซนติเมตร หนา ๒๗ เซนติเมตร องค์ประกอบภาพประกอบด้วยรูปบุคคล ๔ คน แต่งกายแบบนักบวช หมายถึงครอบครัวของพระโสณะทั้ง ๔ คน คือ บิดา มารดา พระโสณะ และพระนันทะ
ภาพบุรุษที่อยู่บนสุดของด้านซ้ายน่าจะได้แก่บิดา ส่วนมารดาอยู่ตํ่าลงมาทางขวา แลเห็นถันชัดเจน พระโสณะคือบุคคลที่มีขนาดใหญ่ที่สุดซึ่งอยู่ตํ่าลงมาทางด้านซ้าย นั่งขัดสมาธิ มือทั้งสองวางอยู่บนตัก ส่วนพระนันทะอยู่ตํ่าลงมาทางด้านขวาของพระโสณะ นั่งคุกเข่า ประนมมือไหว้ ขอขมาพระโสณะอยู่
ใบเสมาสลักภาพโสณนันทชาดกแผ่นนี้ นับเป็นหนึ่งในหลักฐานที่สะท้อนถึงความเลื่อมใสศรัทธาในพุทธศาสนาของผู้คนชาวอีสานเมื่อกว่าพันปีที่แล้ว และถือเป็นประจักษ์พยานว่าการปรนนิบัติเลี้ยงดูบุพการีเป็นบรรทัดฐานทางสังคมของผู้คนสมัยนั้นด้วย
ภาพเล่าเรื่องบนใบเสมาสมัยทวารวดีที่แฝงคําสอนเรื่องความกตัญูต่อบิดาและมารดายังมีตัวอย่างอีกมากมาย สามารถนํามาขยายผลสร้างภาพความสัมพันธ์ระหว่างบุคคลในครอบครัว หน้าที่ บทบาท ที่แต่ละคนต้องปฏิบัติต่อกันได้เป็นอย่างดี
***
คอลัมน์ เมืองอีสานเมื่อพันปี นิตยสารทางอีศาน ปีที่ ๓ ฉบับที่ ๒๕ | พฤษภาคม ๒๕๕๗
.
ราคาเล่มละ ๑๐๐ บาท
สมัครสมาชิก ครึ่งปี ๖๐๐ บาท
หนึ่งปี ๑,๑๐๐ บาท
ตลอดชีพ ๙,๕๐๐ บาท (ได้รับหนังสือย้อนหลัง)
.
สั่งซื้อ// ชำระเงิน // สอบถามเพิ่มเติม ได้ทาง
inbox หนังสืออีศาน m.me/166200246799901
line id : @chonniyom (มี@) คลิก https://lin.ee/amxqtvW
อีบุค ที่ www.mebmarket.com
โทร. 086-378-2516
บริษัท ทางอีศาน จำกัด
244/539 รามอินทราซอย 5 แขวงอนุสาวรีย์ เขตบางเขน กทม. 10220