๑. สภาพคลองแสนแสบ บริเวณบางกะปิ ในปัจจุบัน พ.ศ. 2557
๒. แผนที่แสดงระยะทางคลองแสนแสบเริ่มจากคลองมหานาค จนถึงแม่น้ำบางปะกง
๓. แผนที่คลองแสนแสบที่เชื่อมต่อกับคลองมหานาค จากคลองมหานาคเชื่อมกับคลองผดุงกรุงเกษม ไหลลงแม่น้ำเจ้าพระยา บริเวณบางลำภู
ชุมชนลาวในภาคกลางของสยาม (๑๒)
บทความโดย: Guy Intarasopa
“คลองแสนแสบ คลองขุดที่ยาวที่สุดในประเทศไทย กว่า ๙๐ กิโลเมตร”
หากยึดตามบันทึกของเจ้าพระยาบดินทรเดชา(สิงห์ สิงหเสนี) แม่ทัพไทยที่ไปบัญชาการรบในสงครามอานามสยามยุทธ์ระบุว่า
“ครั้นถึง ณ เดือนยี่ขี้นสี่ค่ำ ในปีระกานพศกจุลศักราช ๑๑๙๙ปี (พ.ศ.๒๓๘๐) เป็นปีที่ ๑๔ในรัชกาลแผ่นดินที่ ๓ กรุงเทพฯ พระบาทสมเด็จพระพุทธเจ้าอยู่หัว มีพระบรมราชโองการดำรัสสั่งให้ พระยาศรีพิพัฒน์รัตนราชโกษา(ชื่อทัด)เป็นแม่กองจ้างจีนขุดคลอง ตั้งแต่ตำบลหัวหมากต่อคลองบางกะปิไปทางตะวันออก ทะลุที่บางกะหนากฝั่งแม่น้ำเมืองฉะเชิงเทรา รางวัดทางยาว ๑,๓๓๗เส้น ๑๙ วา ๒ ศอก กว้าง ๖ วา ราคาค่าจ้างขุดเส้นละ เจ็ดสิบบาท รวมเงินทั้งค่าฟันตอไม้ ค่าแก้คลองพระโขนงข้างปลาย รวมเป็นเงินพันสองร้อยหกชั่งสิบสามตำลึง สองบาทสลึงเฟื้อง ขุดอยู่ถึงสีปีเศษจึงสำเร็จแล้วตลอด เป็นลำคลองเรื่อเดินได้ เมื่อปลายปีชวดโทศกจุลศักราช ๑๒๐๒ ปี เป็นปีที่ ๑๗ในรัฃกาลที่๓ กรุงเทพฯ ชนสามัญเรียกว่า “คลองแสนแสบ”
คลองแสนแสบตามที่เจ้าพระยาบดินทรเดชากล่าวถึงนี้ คือคลองแสนแสบช่วงปลายคือตั้งแต่หัวหมากไปจนถึงแม่น้ำบางปะกง หากแต่คลองแสนแสบนี้มีหลายช่วง ขุดขึ้นหลายสมัย มีประวัติศาสตร์มากมายกว่าที่ระบุหรือบันทึกไว้มาก แบ่งออกเป็นหลายช่วงคือ
๑.คลองมหานาค(ถือเป็นส่วนหนึ่งของคลองแสนแสบ)
๒.คลองแสนแสบช่วงต้น เริ่มตั้งแต่คลองมหานาคไปจนถึงหัวหมาก
๓.คลองแสนแสบช่วงปลาย เริ่มตั้งแต่หัวหมากไปจนถึงแม่น้ำบางปะกง เรียกอีกชื่อว่า “คลองบางขนาก”
คลองแสนแสบนี้หากจะว่ากันตามความเป็นจริงแล้ว จุดเริ่มต้นของคลองเริ่มจากคลองมหานาค ที่ระบุไว้ในพงศาวดารฉบับพระราชหัตถเลขาว่า “ลุศักราช ๑๑๔๗(พ.ศ.๒๓๒๘) ปีมะเส็ง สัปตสก ทรงพระกรุณาให้ตั้งกองสักเลกไพร่หลวงสมกำลังและเลกหัวเมืองทั้งเดิมทั้งขึ้น…. แล้วเกณฑ์เลกลาวเขมรหัวเมืองให้ขุดคลองพระนครด้านตะวันออก แต่วัดเชิงเลนขึ้นมาถึงวัดสระแก(วัดสระเกศ)ไปถึงวัดบางลำพู ให้ออกบรรจบแม่น้ำสองข้างทาง…ขุดคลองหลอดจากคูเมืองเดิมสองคลองออกไปบรรจบคูใหม่นอกเมือง”แล้วให้ขุดคลองใหญ่เหนือวัดสระเกศ พระราชทานนามว่า คลองมหานาค”
คลองมหานาคนี้ขุดขึ้นโดยเชลยลาว เขมร ซึ่งถูกกวาดต้อนมา แล้วนำมาเป็นแรงงานในการขุดคลอง สร้างแปลงพระนคร หลังจากนั้นราวปีพ.ศ.๒๓๒๙ ทัพสยามนำกำลังเข้าตีนครรัฐปัตตานี หัวเมืองมลายู นำเชลยศึกชาวมุสลิมจำนวนมากเข้ามายังกรุงเทพฯ รวมทั้งชาวมุสลิมแขกจามที่นำมาจากสงครามกับกัมพูชาด้วย ชาวมุสลิมที่นำเข้ามาเป็นเชลยนี้น่าจะมีส่วนสำคัญในการขุดคลองแสนแสบช่วงต่อจากคลองมหานาคไปจนถึงหัวหมาก พอขุดคลองแสนแสบช่วงต้นเสร็จ คงมีการให้เชลยมุสลิมเหล่านี้ตั้งบ้านเรือนริมคลองที่ขุดขึ้น โดยเฉพาะบริเวณบ้านครัว ซึ่งเป็นชุมชนมุสลิมขนาดใหญ่
ส่วนคลองแสนแสบช่วงปลายที่เจ้าพระยาบดินทรเดชากล่าวถึงนั้น มีชื่อเรียกอีกชื่อคือคลองบางขนาก เป็นคลองที่ขุดขึ้นเพื่อเชื่อมต่อกับคลองบางกะปิ เชื่อมแม่น้ำเจ้าพระยากับแม่น้ำบางปะกงเข้าด้วยกัน การขุดคลองแสนแสบช่วงปลายขึ้นนี้มีจุดประสงค์เพื่อลำเลียงอาวุธยุทโธปกรณ์ตลอดจนไพร่พลเพื่อไปต่อรบกับเวียดนาม ในสงครามอานามสยามยุทธ์ หรือกล่าวโดยง่ายๆก็คือเป็นเส้นทางลัดให้การเดินทัพสะดวกมากขึ้นนั่นเอง
คลองแสนแสบช่วงปลายนี่เองที่มีความยาวมากที่สุดคือกว่า ๖๐ กิโลเมตร เริ่มขุดในปีพ.ศ.๒๓๘๐ แล้วเสร็จในปีพ.ศ.๒๓๘๓ ใช้เวลาในการขุดกว่า ๔ ปีจึงแล้วเสร็จ หลักฐานที่มีการบันทึกไว้ว่าจ้างคนจีนขุด ซึ่งเป็นข้อมูลเพียงส่วนหนึ่งเท่านั้น หลักฐานชั้นอื่นๆก็มีอยู่ค่อนข้างน้อยและเลือนหายไปตามกาลเวลา แต่จากคำบอกเล่าของบรรพบุรุษชาวลาว ชาวมลายู ล้วนบอกในทิศทางเดียวกันว่า เป็นคลองที่ใช้กำลังแรงงานจากเชลยเป็นคนขุด และคงมีการจ้างแรงงานคนจีนช่วยขุดด้วยเพื่อให้คลองแล้วเสร็จโดยเร็ว ให้ทันการศึกสงคราม
ขณะนั้นสยามมีเชลยศึกจำนวนมากทั้งเชลยลาว(ที่ถูกกวาดต้อนมาหลังสยามทำลายเวียงจันทน์ลงอย่างราบคาบตั้งแต่พ.ศ.๒๓๗๑) เชลยมลายู เชลยเขมร โดยเฉพาะชาวมุสลิมมลายูนั้นดูจะเป็นเชลยต่างชาติที่มีจำนวนมากพอสมควรในพระนคร คงได้อาศัยเชลยเหล่านี้เป็นแรงงานในการขุดคลอง รวมถึงต่อมาได้เป็นกำลังสำคัญในการศึกสงครามกับเวียดนามด้วย
ส่วนคำว่าแสนแสบนั้น มีความหมายในหลายทิศทาง ตามการตีความไปตามบริบทที่รับรู้ต่างกัน คือ
๑. ความหมายว่า แสนแสบ เพราะคลองแห่งนี้มียุงชุม มือไม้ต้องปัดยุงเป็นพัลวัน ยุงกัดจนปวดแสบปวดร้อนไปทั้งตัว
๒. อีกความเชื่อหนึ่งคือเชื่อว่า แสนแสบ เพี้ยนมาจากคำว่า แซนแญป ในภาษามลายู ซึ่งแปลว่าเงียบสงบ ชาวมลายูที่ถูกกวาดต้อนมาจากปัตตานีและหัวเมืองมลายู ภายหลังให้มาอยู่ริมคลองแห่งนี้ มักเรียกคลองนี้ว่า สุไหงแซนแญป ซึ่งแปลว่าคลองที่เงียบสงบ
๓. แต่ในความหมายของคนลาว เข้าใจกันดีว่าคลองแห่งนี้คือคลองแห่งความเจ็บปวด แสนแสบ เนื่องจากเป็นคลองที่คนลาวถูกใช้ให้เป็นแรงงานขุดคลองอย่างยากลำบาก มันเป็นความทุกข์ทรมานที่ได้รับการเล่าขานสืบต่อมาให้ลูกหลานลาวรับรู้ที่มาของคลองแห่งนี้ว่าแสนแสบอย่างไร
ภายหลังขุดคลองแล้วเสร็จในปีพ.ศ.๒๓๘๓ ได้มีชุมชนมากมายเกิดขึ้นบริเวณคลองแห่งนี้ โดยเฉพาะชุมชนมุสลิม ซึ่งส่วนมากคือชาวมุสลุมจากมลายู ที่ถูกกวาดต้อนมาสมัยรัชกาลที่๑-๓ ยาวไปตามคลองตั้งแต่เขตหัวหมาก บางกะปิ หนองจอก มีนบุรี เรื่อยไปจนถึงฉะเชิงเทรา
ภายหลังคลองแห่งนี้ได้กลายเป็นเส้นทางคมนาคมขนส่งที่สำคัญระหว่างกรุงเทพฯกับหัวเมืองตะวันออก ปัจจุบันถือเป็นคลองสำคัญในการคมนาคมทางน้ำของกรุงเทพมหานคร แต่สภาพน้ำในคลองมีสภาพเน่าเสียมากจากขยะที่สะสมหมักหมมมานาน
อ่าน: ชุมชนลาวในภาคกลางของสยาม (๑)
อ่าน: ชุมชนลาวในภาคกลางของสยาม (๒)
อ่าน: ชุมชนลาวในภาคกลางของสยาม (๓)
อ่าน: ชุมชนลาวในภาคกลางของสยาม (๔)
อ่าน: ชุมชนลาวในภาคกลางของสยาม (๕)
อ่าน: ชุมชนลาวในภาคกลางของสยาม (๖)
อ่าน: ชุมชนลาวในภาคกลางของสยาม (๗)
อ่าน: ชุมชนลาวในภาคกลางของสยาม (๘)
อ่าน: ชุมชนลาวในภาคกลางของสยาม (๙)
อ่าน: ชุมชนลาวในภาคกลางของสยาม (๑๐)
อ่าน: ชุมชนลาวในภาคกลางของสยาม (๑๑)
อ่าน: ชุมชนลาวในภาคกลางของสยาม (๑๓)
อ่าน: ชุมชนลาวในภาคกลางของสยาม (๑๔)