๑. แผนที่แสดงคลองสำโรงที่อดีตสยามใช้คลองแห่งนี้ในการเดินทัพเพื่อไปยังแม่น้ำบางปะกง และคลองแสนแสบที่ขุดขึ้นใหม่
๒. ภาพจำลองเรือรบที่ใช้ในสงครามอานามสยามยุทธ์ของกองทัพเรือ
๓. กรมขุนอิศเรศรังสรรค์หรือต่อมาคือพระบาทสมเด็จพระปิ่นเกล้าเจ้าอยู่หัว แม่ทัพเรือคนสำคัญที่รัชกาลที่๓ โปรดให้ยกทัพเรือไปตีเมืองโจดกในปีพ.ศ.๒๓๘๔
ชุมชนลาวในภาคกลางของสยาม (๑๓)
บทความโดย: Guy Intarasopa
วันนี้ขอมาเล่าความ การสงครามอานามสยามยุทธ์ที่คั่งค้างไว้ต่อครับ
หลังจากสยามยกทัพใหญ่ทั้งทัพบกและทัพเรือไปตีญวนหรือเวียดนามในปี พ.ศ. ๒๓๗๖ ดังได้กล่าวไปแล้ว สงครามครั้งนั้นแม้สยามจะเกณฑ์ไพร่พลไปมากถึง ๑๒๐,๐๐๐ คน(ส่วนมากเป็นพลทหารลาว เขมร มอญ มลายู แขกจาม ทหารตะวันตกรับจ้าง) แต่ก็ต้องประสบกับความพ่ายแพ้ถอยกลับอย่างไม่เป็นขบวน ด้วยไม่ชำนาญในพื้นที่ อีกทั้งทัพเรือก็ไม่ชำนาญการรบ เรือรบของสยามก็มีประสิทธิภาพไม่สู้เรือรบของเวียดนาม
ในการยกทัพไปทำสงครามกับญวนในคราวนี้สยามใช้คลองสำโรงในการขนย้ายสิ่งของ อาวุธยุทโธปกรณ์ เพื่อไปยังแม่น้ำบางปะกง แล้วจึงล่องเรือไปเมืองปราจีนบุรี จากนั้นจึงเดินทัพเข้าสู่เขมร แต่เนื่องด้วยคลองสำโรงเป็นคลองที่เล็กและตื้นเขิน ทำให้การเดินทัพเป็นไปด้วยความล่าช้า บางท้องที่ต้องใช้ช้างในการชักลากเรือไปตามลำคลอง อีกทั้งจุดที่คลองสำโรงเชื่อมกับแม่น้ำบางปะกงอยู่ห่างจากเมืองปราจีนมาก และการล่องเรือไปเมืองปราจีนต้องพายเรือทวนน้ำบางปะกงขึ้นไป
หลังเสร็จศึกในปี พ.ศ. ๒๓๗๖ รัชกาลที่ ๓ โปรดให้ขุดคลองขนาดใหญ่ขึ้นใหม่เชื่อมแม่น้ำปะกง ให้เรือเดินสมุทรสามารถแล่นเข้าไปได้ คลองแห่งนี้ก็คือคลองแสนแสบดังที่ผมได้กล่าวไปแล้ว ถือเป็นคลองอันสัญลักษณ์ของการสงครามระหว่างสยามและเวียดนามก็ว่าได้
คลองแห่งนี้เริ่มขุดเพื่อเชื่อมกับคลองแสนแสบช่วงต้นในปี พ.ศ. ๒๓๘๐ แล้วเสร็จราวปี พ.ศ. ๒๓๘๔ ใช้เวลาขุดกว่า ๔ ปี ซึ่งช่วงระยะเวลานี้หรือหลัง พ.ศ. ๒๓๗๖ เป็นต้นมา สยามกับเวียดนามก็มีการกระทบกระทั่งกันเล็กน้อย ต่างฝ่ายต่างเร่งสะสมเสบียงกรังและไพร่พล ช่วงนี้นี่เองมีการโต้ตอบกันไปมาระหว่างสยามกับเวียดนามผ่านจดหมายและตราสารที่ด่าทอกันไปมา เรียกว่าเป็นสงครามน้ำลายก็ว่าได้
เจ้าพระยาบดินทรเดชา(สิงห์) แม่ทัพใหญ่สมัยรัชกาลที่ ๓ นั้นก็ได้ไปประจำการยังเมืองเขมรเพื่อควบคุมดูแลหัวเมืองเขมร และหาโอกาสโจมตีเวียดนาม เมื่อเจ้าพระยาบดินทรฯ ล้มป่วยไม่สบาย ก็เดินทางเข้ามาพักยังกรุงเทพมหานคร รัชกาลที่ ๓ ก็โปรดให้เจ้าพระยายมราชเป็นแม่ทัพยกไปรบกับเวียดนามแทนเจ้าพระยาบดินทรฯ
จนกระทั่งในปี พ.ศ. ๒๓๘๔ หลังขุดคลองแสนแสบแล้วเสร็จ รัชกาลที่ ๓ โปรดให้กรมขุนอิศเรศรังสรรค์(ต่อมาคือพระบาทสมเด็จพระปิ่นเกล้าเจ้าอยู่หัว) ยกทัพเรือไปตีเมืองโจดก ผลของสงครามในครั้งนั้นก็ไม่ต่างจากสงครามในปี พ.ศ. ๒๓๗๖ คือกองทัพเรือต้องพ่ายแพ้กลับมาด้วยเรือรบด้อยประสิทธิภาพกว่าเวียดนาม รัชกาลที่ ๓ จึงมีดำริให้ต่อเรือรบให้มีประสิทธิภาพอย่างเรือรบของเวียดนามอีกกว่า ๘๐ ลำ
การสงครามระหว่างสยามกับเวียดนามมีเรื่องราวมากมาย ดังที่เจ้าพระยาบดินทรเดชาได้รวบรวมเป็นตำราเกี่ยวกับการสงครามในครั้งนั้นไว้กว่า ๕๐ เล่ม รบกันตั้งแต่ปี พ.ศ. ๒๓๗๖ จนกระทั่งถึงปี พ.ศ. ๒๓๙๐ ก็ไม่สามารถเอาชนะกันได้เด็ดขาด สิ้นเปลืองงบประมาณและผู้คนไปเป็นจำนวนมาก รัชกาลที่ ๓ จึงขอเจรจาสงบศึกกับเวียดนามที่มีมาอย่างยาวนาน อีกทั้งขณะนั้นเวียดนามก็กำลังประสบปัญหากับการยึดครองดินแดนของฝรั่งเศส ทำให้มีการเจรจาตกลงสงบศึกกันขึ้น เป็นการปิดฉากสงครามอานามสยามยุทธ์
การสงครามครั้งนั้นสยามได้กวาดต้อนผู้คนที่อยู่ใกล้ชายแดนเวียดนามเข้ามาอยู่ในดินแดนของสยามจำนวนมาก ผู้คนที่ถูกกวาดต้อนมาส่วนมากเป็นคนลาว ไทพวน(เมืองหัวพัน) ผู้ไท(แถบแขวงสะหวันนะเขตในปัจจุบัน) ญวน(เมืองพุทไธมาศ เมืองกำป๊อด) ดังที่ผมได้กล่าวลงรายละเอียดไว้ก่อนหน้านี้
ท่านที่สนใจสามารถไปศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ เพราะมีรายละเอียดค่อนข้างมาก ผมเพียงสรุปสั้นๆให้เห็นภาพครับ ท่านที่ไม่ได้อ่านรายละเอียดเกี่ยวกับการกวาดต้อนคนลาวเข้าสู่ภาคกลางของสยามและเรื่องราวของการสงครามอานามสยามยุทธ์ตั้งแต่ต้น สามารถเข้าไปอ่านบทความที่ผมเขียนไว้และนิตยสารทางอีศานได้กรุณารวบรวมไว้เป็นตอน ๆ ครับ
อ่าน: ชุมชนลาวในภาคกลางของสยาม (๑)
อ่าน: ชุมชนลาวในภาคกลางของสยาม (๒)
อ่าน: ชุมชนลาวในภาคกลางของสยาม (๓)
อ่าน: ชุมชนลาวในภาคกลางของสยาม (๔)
อ่าน: ชุมชนลาวในภาคกลางของสยาม (๕)
อ่าน: ชุมชนลาวในภาคกลางของสยาม (๖)
อ่าน: ชุมชนลาวในภาคกลางของสยาม (๗)
อ่าน: ชุมชนลาวในภาคกลางของสยาม (๘)
อ่าน: ชุมชนลาวในภาคกลางของสยาม (๙)
อ่าน: ชุมชนลาวในภาคกลางของสยาม (๑๐)
อ่าน: ชุมชนลาวในภาคกลางของสยาม (๑๑)
อ่าน: ชุมชนลาวในภาคกลางของสยาม (๑๒)
อ่าน: ชุมชนลาวในภาคกลางของสยาม (๑๔)