ซ่างแต้มฮูป อีสาน ล้านนา สู่อารยธรรมสุวรรณภูมิ
ทางอีศาน ฉบับที่ ๑๔ ปีที่๒ ประจำเดือนมิถุนายน ๒๕๕๖
คอลัมน์: ศิลปะนำชีวิต
Column: Art Will Lead The Way
ผู้เขียน : ครูเบิ้ม เติมศิลป์
พักกิจกรรมสำหรับเด็กและเยาวชนกับการสร้างสรรค์ผลงานศิลปะไว้สักครู่ เรามาดูข่าวความเคลื่อนไหวในแวดวงบันเทิง เอ๊ย ! แวดวงศิลปะของบ้านเราดูจะคึกคักขึ้นมาบ้างแล้ว สังเกตจากนิทรรศการของสังคมศิลป์ถิ่นสยาม หลายกลุ่มหลายสถาบันที่ได้ใช้พื้นที่ของหอศิลป์ต่าง ๆ โดยเฉพาะในเมืองใหญ่เขาเปิดให้ชมฟรีครับ
เสียดายครับครูเบิ้มอยู่ต่างจังหวัดโอกาสจะชมนั้นยาก แต่อย่างว่าครับยุคนี้มันดิจิตอล (Digital) อินเตอร์เน็ต (Internet) เฟซบุ๊ก (Facebook) ยุคสมัยใหม่ เรามีวิธีชมงานทางออนไลน์ (Online)กันได้ เพียงแต่จับมือแสดงความยินดีกันไม่ได้เท่านั้นเอง
ฉบับนี้ศิลปะนำชีวิตจะขอนำท่านผู้อ่านมารู้จักกับช่างวาดชาวอีสานย้ายถิ่นฐานไปอยู่ล้านนาไปตามหาความงามแห่งสุนทรียรสเลาะเลียบประเทศเพื่อนบ้าน เป็นซ่างแต้มฮูปตามภาษาอีสาน หรือภาษาทางนครหลวงเวียงจัน นครหลวงพระบาง หรืออีกหลายแขวง ภาษาก็คือ ๆ คล้าย ๆ อีสานบ้านเฮานี่แหละครับ ซ่างแต้มฮูปคนนี้ได้ไปบันทึกมาด้วยเส้นสีของนักเดินทางที่ตามหาความงามผ่านงานศิลป์ อีกทั้งยังมีผลงานภาพประกอบที่ปรากฏในบทความของนิตยสารทางอีศานมาบ้างแล้ว มารู้จักเขาเลยดีกว่าครับ
ครูเบิ้ม : ช่วยแนะนำตัวเองหน่อยครับ การศึกษา ภูมิลำเนาเดิมและปัจจุบัน
ศุภวัตร : ผม ศุภวัตร ทองละมุล เกิดที่สุรินทร์ แต่เติบโตที่ศรีสะเกษ คุณพ่อผมเป็นครูคุณแม่ก็ทำงานบ้านดูแลลูก ๆ มีพี่น้องอยู่ ๔ คน เวลาพ่อไปไหนมักจะพาไปด้วย โดยเฉพาะเสาร์อาทิตย์ก็จะไปโรงเรียน และที่ห้องสมุดโรงเรียนก็มีหนังสือต่าง ๆ มากมาย ให้เปิดดูและอ่าน จนบ่ายคล้อยพ่อจึงพากลับบ้าน ผมชอบศิลปะตั้งแต่เด็ก ๆ เพราะพ่อของผมวาดรูปด้วยและเล่นดนตรีเป็นอ่านตัวโน้ตสากลได้ พอโตมาอีกนิดก็มาเรียนที่วิทยาลัยอาชีวศึกษาอุบลราชธานี จนสุดท้ายจบภาควิชาทัศนศิลป์ คณะศิลปกรรมศาสตร์ จุฬาลงกรณมหาวิทยาลัยครับ หลังจากจบการศึกษาแล้วผมก็ย้ายตัวเองไปทำงานศิลปะที่เชียงใหม่และอยู่ที่นั่นจนปัจจุบัน…
ครูเบิ้ม : ทำไมจึงเลือกเดินเส้นทางศิลปะ ที่คนในสังคมบางกลุ่มเขาคิดว่าเป็นอาชีพศิลปินไส้แห้ง
ศุภวัตร : ผมเข้าใจว่า ความทุกข์และความสุขคงจะมีกันอยู่ในทุกวิชาชีพนะครับ การอยู่รอดของชีวิตและความเป็นอยู่เราก็ควรใช้จ่ายที่เหมาะสมผมเป็นคนที่รู้ตัวรู้ตน มีชีวิตที่สัมพันธ์กับค่าใช้จ่ายมีอะไรที่ทำแล้วไม่เบียดเบียนตนเองและคนอื่นก็จะทำ โดยเฉพาะสิ่งที่เรียกว่าอาชีพสุจริต การเลี้ยงชีพตามกำลังความสามารถของตน ทุกข์ก็รู้ สุขก็รู้ครับ
ครูเบิ้ม : ขอถามแบบเชย ๆ เพราะครูเบิ้มบางทีก็มีความเชย ขอถามว่ามีคนเคยบอกว่าเนื้อหาผลงานเชยไหม ?
ศุภวัตร : สิ่งที่อยู่รอบ ๆ ตัวเรานั้นช่างสวยงาม เราคุ้นเคยกับวัฒนธรรมประเพณี พอมาวาดหรือสร้างสรรค์ขึ้นมาเป็นผลงานทางศิลปะแล้วผมมีความสุขมาก หากผมจะถามว่าฝรั่งวาดถ้วยกาแฟเหตุใดเราจึงไม่คิดว่าเชย ความคิดแบบนี้น่าสนใจมาก ทีนี้พอผมวาดวัฒนธรรมไทยก็ไม่คิดว่าเชยหรืออะไร ผมไม่คิดอย่างนั้น ผมมีแต่ความสุขที่ได้วาดเนื้อหาสาระที่มีความเป็นไทย หรือแม้กระทั่งการวาดสิ่งที่เป็นวัฒนธรรมของเราด้วย
ครูเบิ้ม : แรงบันดาลใจของการสร้างสรรค์ผลงานเพื่อแสดงนิทรรศการแต่ละชุดมีฮีโร่ศิลป์ไหม หรือไอดอลนั่นล่ะ
ศุภวัตร : เนื่องจากว่าผมวาดภาพต่อเนื่องมาตลอด ก็มาคิดว่าเราแข็งแรงในความคิดและฝีมือพอสมควร ฉะนั้นจึงสร้างสรรค์ผลงานออกมาเป็นชุด ๆ อย่างต่อเนื่อง จนในขณะที่ให้สัมภาษณ์นี้ก็เป็นนิทรรศการแสดงเดี่ยวครั้งที่ ๘ แล้ว ผมมีฮีโร่ศิลป์มั้ย ผมไม่มี เพราะผมชอบงานของศิลปินบางคนและบางอย่างเท่านั้น บางคนชอบสีไม่ชอบเนื้อหา ผมชอบงานของหลาย ๆ คน ฉะนั้นผมจึงไม่มีใครพิเศษครับ
ครูเบิ้ม : รูปแบบและลักษณะเฉพาะตัวมีการค้นหามากน้อยเพียงใด มีความจำเป็นไหมครับ
ศุภวัตร : รูปแบบเฉพาะตัวเกิดจากการทำงานมาอย่างต่อเนื่องและจะคลี่คลายไปเองเอกลักษณ์นั้นผมก็คิดว่าคือตัวเรานี่แหละ เราสร้างสรรค์ศิลปะ มันคือผลงานของเรา เป็นเอกลักษณ์ของเราในทุก ๆ วัน
ครูเบิ้ม : วิธีถ่ายทอดผลงานศิลปะมีหลากหลายรูปแบบ ทั้งการใช้พู่กันลม ดรออิ้ง และการปาดชาร์โคล ความรู้สึกแตกต่างกันอย่างไรครับ
ศุภวัตร : การถ่ายทอดผลงานทางศิลปะผมใช้เทคนิคทั้งพู่กันลมและดรออิ้งนั้น ยอมรับว่าทั้ง ๒ เทคนิคมีความแตกต่างกันอย่างสุดขั้ว เทคนิคพู่กันลมมีขั้นตอนในการสร้างสรรค์ที่มีความยุ่งยากซับซ้อนมาก กว่าจะเสร็จแต่ละชิ้นต้องใช้เวลา ส่วนเทคนิคดรออิ้งด้วยดินสอดำนั้นก็เป็นเทคนิคที่เราคุ้นเคยกันเป็นอย่างดีอยู่แล้ว ซึ่งก็เข้าใจกันอยู่คือจับดินสอก็วาดได้เลย เป็นอะไรที่สะดวกและง่ายกว่า แต่การวาดภาพชุดอารยธรรมสุวรรณภูมินี้มีความต่อเนื่อง ทำงานวาดเส้นแทบจะไม่เคยหยุดเลย จนถึงช่วงเวลาที่ต้องแสดงงาน ก็ยังคงถือว่าการเผยแพร่งานในชุดนี้เป็นช่วงการทำงานเช่นกันครับ
ครูเบิ้ม : เป็นคนอีสานทำไมเลือกไปตั้งถิ่นฐานที่ดินแดนล้านนาครับ
ศุภวัตร : ในช่วงที่จบใหม่ ๆ ผมอยากจะทำงานศิลปะ ตอนนั้นเรียนก็อยู่กรุงเทพฯ อยากเปลี่ยนที่ทำงานวาดรูปบ้าง ในความจริงผมอยู่ที่ไหนก็ได้ไม่ติดที่ครับ ตอนหลังมาผมก็ไปอยู่อีสานบ้าง ที่อื่นบ้าง
ครูเบิ้ม : มีปรัชญาในการทำงานศิลปะอย่างไรบ้างครับ
ศุภวัตร : ผมเลือกที่จะทำงานด้านวาดรูปก็ต้องมีระเบียบวินัย และทำงานวาดรูปทุก ๆ วัน ถ้าไม่มีความจำเป็นหรือธุระอื่นมาแทรกครับ และชีวิตก็เป็นอย่างนี้ในทุก ๆ วัน
ครูเบิ้ม : อยากให้พูดถึงนิทรรศการศิลปะครั้งล่าสุดที่หอศิลป์จามจุรี
ศุภวัตร : การแสดงครั้งนี้เป็นการแสดงเดี่ยวครั้งที่ ๘ ผลงานดรออิ้งที่รวบรวมมาตลอด ๓ ปี ผลงานที่แสดงเป็นเรื่องอารยธรรมสุวรรณภูมิเนื้อหาสาระบ่งบอกถึงวัฒนธรรมประเพณีในดินแดนสุวรรณภูมิที่เราอยู่นี่แหละ แต่ภาพทั้งหมดเป็นขาว – ดำ โดยใช้โปสการ์ดเก่าและภาพปัจจุบันที่เราไปเห็นมา
ครูเบิ้ม : มีอะไรฝากถึงแฟนเพลง เอ๊ย ! แฟนศิลป์บ้างครับ
ศุภวัตร : ขอขอบคุณที่บางท่านติดตามดูงานและก็สนับสนุนผลงานมาตลอด ตั้งแต่ครั้งแรกที่แสดงผลงานครับ
ครูเบิ้ม : ความรู้สึกของศุภวัตรเกี่ยวกับการเคลื่อนไหวของวงการศิลปะบ้านเรา
ศุภวัตร : วงการศิลปะในบ้านเราก็พัฒนาไปไกลมากแล้ว เทคโนโลยีอินเตอร์เน็ตทำให้เราได้เห็นผลงานคนอื่นใกล้มากขึ้น เราอยู่ที่บ้านก็สามารถดูงานเปิดนิทรรศการไปพร้อม ๆ กันได้ การเรียนศิลปะมีมากขึ้น ศิลปินกับคนในสังคมใกล้ชิดกันมากกว่าแต่ก่อน บ้านเมือง ผู้คน และวงการศิลปะในบ้านเราพัฒนาไปในทางที่ดีมากครับ…
การทำงานศิลปะที่ศิลปินได้มุ่งมั่นสร้างสรรค์นั้น ก็เพื่อให้สังคมได้รับรู้ความเป็นไปในคุณค่าแห่งความงาม มีรสนิยมและความดีประดับไว้ในโลกใบนี้ คุณว่าจริงไหมล่ะครับ