ตำนานน้ำเต้าปุง
บรรพชนคนพื้นเมืองในดินแดนตั้งแต่แม่น้ำแยงซี (ฉางเจียง) ลงมาจนถึงอุษาคเนย์ทั้งภาคพื้นดินและภาคสมุทร มีรากเหง้าอารยธรรมร่วมกันคือ วิถีชีวิตเพาะปลูกข้าว, การเคารพบูชาน้ำเต้า และผีฟ้า (แถน)
คนพื้นเมืองกลุ่มนี้เป็นคนละชาติพันธุ์กับชาวหัวเซี่ย-บรรพชนของชนชาติฮั่น (จีนแท้) ชาวฮั่นเรียกพวกเขาว่า กลุ่มชนไป่ผู (ชาวผูร้อยจำพวก) ต่อมาเรียกเป็นไป่เยวี่ย (พวกเยวี่ยร้อยจำพวก หรือพวกเวียดร้อยจำพวก) กลุ่มชนเหล่านี้มีคติความเชื่อดั้งเดิมตรงกันอย่างหนึ่งคือ บูชาน้ำเต้า
สมมุติฐานเรื่องทำไมคนบูชาน้ำเต้า มีสองสมมุติฐาน
สมมุติฐานแรกเสนอว่า “น้ำเต้า” คือสิ่งเคารพศักดิ์สิทธิ์แรกเริ่มเลยของมนุษย์ (ก่อนจะนับถือโทเทม totem นับถือเทพเจ้า) “น้ำเต้า” เป็นสัญลักษณ์ของ “กายแม่” การบูชาน้ำเต้าก็คือการเคารพบูชาแม่ (ทางโลกตะวันตก ยุคหินใหม่มีรูปเคารพหินสลักเป็นรูปผู้หญิง คนปัจจุบันเรียกกันว่า “ตุ๊กตาวีนัส”) คนมาจากน้ำเต้าและกลับคืนสู่น้ำเต้าเมื่อตาย ดังนั้นวัฒนธรรมของชนกลุ่มนี้จึงมีเครื่องดนตรีที่เป็นสัญลักษณ์ของน้ำเต้า บรรเลงในพิธีศพ เช่น แคนน้ำเต้า, ปี่น้ำเต้า, กลองมโหระทึก และฝังศพครั้งที่สอง (กระดูก) ในไหหิน, ไหดินเผา, กลองมโหระทึก, โกศ (สัญลักษณ์ของน้ำเต้า)
ชนชาติต่าง ๆ เกือบทั้งหมดที่สืบต่อวัฒนธรรมมาจากบรรพชนคนพื้นเมืองในดินแดนแถบนี้ ล้วนมีเทพปกรณัมเกี่ยวกับ “น้ำเต้า” บ้างก็ว่า คนกำเนิดจากน้ำเต้าโดยตรง (มีมากแถบยูนนาน กุ้ยโจว และอุษาคเนย์) บ้างก็ว่าคนเกิดจากน้ำเต้าทางอ้อม เช่นว่าหมาเกิดจากน้ำเต้า แล้วหมาให้กำเนิดคน บ้างก็ว่าน้ำเต้ามีส่วนช่วยชีวิตคนให้รอดการสูญสิ้นเผ่าพันธุ์ตอนน้ำท่วมโลกโดยตรง บ้างก็ว่าน้ำเต้ามีส่วนช่วยชีวิตคนโดยอ้อมฯ
ขอยกตัวอย่างตำนานเรื่องคนเกิดจากน้ำเต้าของบางชนชาติ เช่น ชนชาติไตในยูนนาน มีตำนานว่า “เมื่อน้ำท่วมโลก มีน้ำเต้าลอยมาลูกหนึ่ง ในน้ำเต้ามีผู้ชายแปดคน เทพธิดาแปลงให้ชายสี่คนกลายเป็นผู้หญิงสี่นาง แปดคนนี้แต่งงานเป็นผัวเมียกัน สืบทอดลูกหลานต่อมา”
ชนชาติว้าในยูนนาน มีตำนานว่า “เมื่อน้ำท่วมโลก ทะเลกับท้องฟ้าชนกัน มีเรือลำหนึ่งลอยมาจากขอบฟ้า ในเรือมีน้ำเต้าลูกหนึ่ง วัวกำลังหิว เข้าไปแทะน้ำเต้า เมล็ดน้ำเต้าตกลงไปในทะเล งอกออกมาเป็นแผ่นดิน เป็นดอยภู ต่อมาบนดอยภูเกิดลูกน้ำเต้า มีนกมาเจาะน้ำเต้า แล้วมีคนออกมาจากน้ำเต้า”
ชนชาติโลโลในยูนนาน มีตำนานว่า “เทพส่งลูกน้ำเต้ามายังโลกสองลูก ลูกหนึ่งมีผู้ชายชื่อซีซาออกมา อีกลูกหนึ่งมีผู้หญิงชื่อเนซาออกมา พวกเขาให้กำเนิดลูกชาย ๙ คน ลูกสาว ๙ คน ชายหญิงทั้งเก้านี้เป็นผัวเมียกัน ให้กำเนิดชนเผ่าต่าง ๆ เช่น คนฮั่น (จีน), คนอี๋, คนไต, คนธิเบต, คนจิ่งปอ, คนนาซี
กลุ่มไทยสยามแม้จะลืมตำนานนี้ไปแล้ว แต่ก็ยังมีร่องรอยอยู่ในตำนานของชาวลาวเรื่องเกี่ยวกับแถนและขุนบูลม (ขุนบรม) ซึ่งระบุชัดเจนว่าไทยอโยธยาเป็นเชื้อสายของขุนบูลมด้วย
ต่อไปเชิญอ่านตำนานน้ำเต้าปุงจาก “พงศาวดารล้านช้าง” บริเฉทที่สอง ดังนี้
๏ ดูราสปุริสทั้งหลาย ดังเราจักรู้มามีในกาลเมื่อก่อนเถ้าเก่าเล่ามา เปนคำปรำปราสืบ ๆ มาว่าดังนี้ กาลเมื่อก่อนนั้น ก็เปนดินเปนหญ้าเปนฟ้าเปนแถน ผีแลคนเที่ยวไปมาหากันบ่ขาด เมื่อนั้นยังมีขุนใหญ่ ๓ คน ผู้หนึ่งชื่อว่าปู่ลางเชิง ผู้หนึ่งชื่อขุนคาน อยู่สร้างบ้านเมืองลุ่ม กินปลาเฮ็ดนาเมืองลุ่มกินเข้า เมื่อนั้นแถนจึงใช้ให้มากล่าวแก่คนทั้งหลายว่า ในเมืองลุ่มนี้กินเข้าให้บอกให้หมาย กินแลงกินงายก็ให้บอกแก่แถน ได้กินขึ้นก็ให้ส่งขาได้กินปลาก็ให้ส่งรอยแก่แถน เมื่อนั้นคนทั้งหลายก็บ่ฟังคามแถน แม้นใช้มาบอกสองทีสามที ก็บ่ฟังหั้นแล
๏ แต่นั่น แถนจึงให้น้ำท่วมเมืองลุ่ม ลีดเลียงท่วมเมืองเพียงละลายคนทั้งหลายก็ฉิบหายมากนักชะแล
๏ ยามนั้นปู่ลางเชิงแลขุนเด็กขุนคาน รู้ว่าแถนเคียดแก่เขา ๆ จึงเอาไม้ขาแรงเฮ็ดแพเอาไม้แปงเรือนเฮ็ดพวง แล้วเขาจึงเอาลูกเอาเมียเข้าอยู่ในแพนั้น แล้วน้ำจึงพัดเขาขึ้นเมือบน ขนเอาเมือเมืองฟ้าพู้นแล
๏ พระยาแถนจึงถามเขาว่า สูจักมาเมืองฟ้าตูพี้เฮดสัง เขาจึงบอกเหตุการณ์ทั้งมวญพระยาแถนจึงว่าตูใช้ให้ไปกล่าวแก่สูสองสามทีให้ยำแถนยำผีเถ้ายำเจ้ายืนกาย สูสั่งบ่ฟังคำกูจึงเท่าสูแล้ว
ทีนั้นพระยาแถน จึงให้เขาไปอยู่ที่บึงดอนแถนลอหั้นแล แต่นั้นน้ำจึงแห้งจึงบกเปนพื้นแผ่นดิน เขาจึงไหว้ขอพระยาแถนว่า ตูข้อยนี้อยู่เมืองบนบ่แกว่นแล่นเมืองพ้าบ่เปน ตูข้อยขอไปอยู่เมืองลุ่มลิดเลียง เมืองเพียงพักย่อมพู้นเทอญ เมื่อนั้นพระยาแถนจึงให้เอาลงมาส่ง ทั้งให้ควายเขาลู่แก่เขา จึงเอากันลงมาตั้งอยู่ที่นาน้อยอ้อยหนูก่อหั้นแล แต่นั้นเขาจึงเอาควายนั้นเฮ็ดนากิน นานประมาณ ๓ ปี ควายเขาก็ตายเสีย เขาละซากควายเสียที่นาน้อยอ้อยหนูหั้นแล้ว อยู่บ่นานเท่าใด เครือหมากน้ำก็เกิดออกฮูดังควายตัวตายนั้นออกยาวมาแล้ว ก็ออกเปนหมากน้ำเต้าปูง ๓ หน่วย แลหน่วยนั้นใหญ่ประมาณเท่ารินเขาปลูกเข้านั้น เมื่อเครือหมากนั้นแก่แล้ว คนทั้งหลายก็เกิดมาอาไศรยซึ่งหมากน้ำ เปนดังนางอาสังโนเกิดในท้องดอกบัวเจ้าฤๅษีเอามาเลี้ยงไว้ คนทั้งหลายฝูงเกิดในผลหมากน้ำเต้าฝูงนั้นก็ร้องก้องนีนันมากนัก ในหมากน้ำนั้นแล
๏ ยามนั้นปู่ลางเชิงจึงเผาเหล็กชีแดงชีหมากน้ำนั้น คนทั้งหลายจึงบุเบียดกันออกมาทางฮูทีชีนั้น ออกมาทางฮูทีนั้นก็บ่เบิ่งคับคั่งกัน ขุนคานจึงเอาสิ่วไปสิ่วฮู ให้เปนฮูแควนใหญ่แควนกว้าง คนทั้งหลายก็ลุไหลออกมานานประมาณ ๓ วัน ๓ คืนจึงหมดหั้นแล คนทั้งหลายฝูงออกมาทางฮูชีนั้นแบ่งเปน ๒ หมู่ ๆ หนึ่งเรียกชื่อไทยลม หมู่หนึ่งเรียกชื่อไทยลี ผู้ออกทางฮูสิ่วนั้นแบ่งเปน ๓ หมู่ หมู่หนึ่งเรียกชื่อไทยเลิง หมู่หนึ่งเรียกชื่อไทยลอ หมู่หนึ่งเรียกชื่อไทยควางแล
๏ แต่นั้นฝูงปู่ลางเชิง จึ่งบอกสอนเขาให้เฮ็ดไฮ่ไถนา ทอผ้าทอสิ้นเลี้ยงชีวิตเขา แล้วก็ปลูกแปงเขาให้เปนผัวเปนเมีย มีเย่ามีเรือนก็จึงมีลูกหญิงลูกชายมากนักแล เมื่อนั้นปู่ลางเชิงเล่าบอกให้เขารักพ่อเลี้ยงรักแม่เลี้ยง เคารพยำเกรงผู้เถ้าผู้แก่กว่าตนเขาแล อยู่หึงนานไปพ่อแม่เขาก็ตาย ท่านปู่ลางเชิงเล่าบอกให้เขาไหว้พ่อแม่เขาแล้วให้ส่งสการเมี้ยนซากฝูงออกมา ทางฮูสิ่วให้เผาเสีย เก็บดูกล้างสร้อยสีแล้วให้แปงเถียง ใส่ลูกไว้ให้ไปส่งเข้าส่งน้ำชุมื้อ ฝูงออกทางฮูชีนั้นให้ฝังเสียแล้วแปงเถียงกวมไว้เล่า ให้ไปส่งเข้าน้ำชุวันคั้นเขาไปบ่ได้ปู่ลางเชิงบอกให้แต่งเพื่อน เข้าเหล้าไว้ห้าห้องเรือนเขา แล้วให้เขาเรียกพ่อแม่เขาฝูงตายนั้นมากินหั้นแล
๏ แต่นั้นคนทั้งหลายฝูงเกิดมาในน้ำเต้า ฝูงออกมาทางฮูสิ่วนั้นเปนไทย ฝูงออกมาทางฮูชีนั้นเปนข้า คนฝูงนั้นลวดเปนข้อยเปนไพร่เขาเจ้าขุนทั้งสามนั้นแล เมื่อนั้นคนแผ่พวกมามากนัก มากอย่างทรายหลายอย่างน้ำ ท่อว่าหาท้าวหาพระยาบ่ได้ ปู่ลางเชิงทั้งขุนเด็กขุนคานบอกสอนเขาก็บ่แพ้ แม้ว่าใคเขาก็บ่เอาคำ ขุนทั้งสามก็จึงขึ้นเมือขอหาท้าวพระยากวนแถนหลวง พระยาแถนจึงให้ขุนครูแลขุนครอง ลงมาเปนท้าวพระยาแก่เขาหั้นแล
๏ เมื่อขุนทั้งสองลงมา สร้างบ้านก็บ่เปลืองสร้างเมืองก็บ่กว้าง สูกินเหล้าชุมื้อชุวัน นานมาไพร่ค้างทุกขค้างยากก็บ่ดูนา
๏ ปางนั้นพระยาแถนหลวงจึงให้ท้าวผู้มีบุญ ชื่อว่าขุนบูลมมหาราชาธิราช (บรมมหาราชาธิราช) อันได้อาชญาพระยาแถนแล้ว ก็จึ่งเอารี้พลคนทั้งหลายลงเมือเมืองลุ่มลีดเลียงเมืองเพียงคักค้อย มาอยู่ที่นาน้อยอ้อยหนูอันมีลุ่มเมืองแถนหั้นก่อนแล
๏ ทีนั้นคนทั้งหลายฝูงออกมาแต่น้ำเต้าปูงนั้น ผู้รู้หลักนักปราชญ์นั้นเขาก็มาเปนลูกท่านเบ่าเธอขุนบูลมมหาราชา แลผู้ใบ้ช้านั้นเขาก็อยู่เปนไพร่ไปเปนป่า สร้างไฮ่เฮ็ดนากินแล
๏ เมื่อนั้นขุนบูลมมหาราชา ก็เจรจากับเจ้าขุนทั้งหลายฝูงลงมาพร้อมตนนั่นว่า แรกแต่นี้เมื่อน่าเราจักเฮ็ดสิ่งใด ให้มีอันนุ่งอันกินแก่คนทั้งหลายนี้จา แต่ก่อนพู้นพระยาแถนเจ้าให้ขุนคองลงมาปกห้อมคนทั้งหลายดังนั้น สองเขามาสร้างบ้านก็บ่เปลือง สร้างเมืองก็บ่กว้างแถนจึงถกเขาหนีเมือเมืองบน ขนเขาหนีเมือเมืองฟ้าพู้นแล้ว ในที่นี้แถนเล่าให้เราพี่น้องลงมาปกมาฮวมเขานี้แลมาดูคนทั้งหลายนี้ มากดังทรายหลายดังน้ำ เราจะคิดการอันใดให้มีอันห่มอันปกเขา ให้มีอันจักกินแก่เขานี้จา มาเราเปนพี่น้องให้ขุนเสลิงเมือไหว้สาพระยาแถนเจ้าเทอญ ยามนั้นขุนเสลิงก็เมือไหว้เมือสาเล่าแก่พระยาแถนชุประการหั้นแล
๏ เมื่อนั้นพระยาแถนหลวงจึ่งให้แถนแต่งแลพิศณุกรรมลงมาแต่แปงแก่เขา แถนแต่งจึงมาแต่ยามให้ทำไร่ทำนา ปลูกเข้าปลูกผักปลูกลูกไม้หัวมันทั้งมวญอันจักควรกิน เล่าบอกยามอันทอผ้า หาที่หากเปนเชื้อชาติพืชพรรณยาแถนชื่อ แถนกรม แถนตรา เกลางกเกลางา ตับค้ายเกิดเมืองคนมาเอาปฏิสนธิด้วยโอปปาติกะชาติองอาจนักหนา ทั้งอรรคชายานางนาฎ โฉมพิลาศชื่อนางแอกแดง ทั้งนางยมพาลาแฝงฝ่ายข้าง ทั้งให้ช้างงาแดงกอดลงมาทั้งกองฮาง เงินฮาง ง้าวกับทั้งตาวฮางกร แลดาบเหล็กพวนฝักหวาย ทั้งง้าวปายชายด้ำมาศ ทั้งเกิบแลดาบฝักคำ ทั้งคันธนูกับแล่ง หอกละมังแมงคันคำทั้งให้ไถกลอนมาสอนคำแปงคำ ให้จำนำแห่แหนเขาเจ้าทั้งสามแถนปลงความว่า ให้ขุนเสลิงลงถือแถนคำ ให้ขุนคานลงมาถือศรคำ ให้ขุนคองลงฮางถือง้าว ให้ขุนเมืองลงมาถือตาวฮางกร ให้ขุนทอนเลาถือดาบฝักหอย ให้ขุนแวนลงถือง้าวปลายไชย ให้ขุนพีลงถือเกิบฝักคำ ให้ขุนพลลงถือมุกคันคำ ให้ขุนพานลงถือธนู
๏ เมื่อนั้นขุนบูลมจึ่งขัดไถ้แสง สพายแวงสลิคันไชย ถือตาวแมวี กับมีดน้อยสวยเรียมแล้วก็จึ่งขึ้นขี่ช้างงาเกี้ยวงากอด จึ่งเอานางแอกแดงขี่ถัดขุนบูลมนั้น แลเอานางยมพาลาขี่ตามแล้วแถนจึ่งให้ขุนสารขี่ตอนช้างขุนบูลมลงมาแถนเล่าให้ขุนค้ายถือเสียมลงมาตามหลัง ขุนยี่ให้ถือพ้าถือมีดมา ขุนอุ่นให้ถือขวานถือแอกลงมา ขุนคำให้ถือไถ่ถือเปดลงมามวญ ขุนทั้ง ๘ นี้จึ่งมาตามหลังขุนบูลมราชาแล ส่วนพิศณุกรรมจึ่งบอกคุณอันเข่นพร้ามีดจกเสียมเครื่องเวียกการช่างเขาทั้งมวญ เล่าบอกคุณอันทำหูกทอฝ้าย แพรเขมฝ้ายด้ายไหมทั้งมวญ อันควรนุ่งควรกินทั้งมวญหั้นแล
๏ แถนจึ่งสั่งสอนขุนบูลม ผู้เปนท้าวเปนพระยาในลุ่มฟ้านี้ว่าไทยควางให้ออกหาขุนควาง ไทยวีให้ออกหาขุนวี ไทยเลิงให้ออกหาขุนเลิง ไทยเลนให้ออกหาขุนเลน ไทยลอให้ออกหาขุนลอ แถนแต่งเล่าจึ่งว่ากับขุนบูลมดังนี้ ตั้งแรกแต่นี้เมื่อน่า ชาวเมืองลุ่มนี้ได้กินขึ้นให้ส่งขาแก่แถน ได้กินปลาให้ส่งรอยแก่แถน ให้เฮ็ดแหวนเฮ็ดหัวส่งแก่ล่าม ใช้แถนแต่มื้อลวงคะลำแก่ผู้ชาย มื้อรวายให้คะลำแก่ผู้หญิง เดือนเจี๋ยงให้คะลำพื้น มื้อกดมื้อกาบเดือน
๏ ให้กะลำพื้น มื้อเต่ามื้อระวาย พักบาทอย่าราน พักบาทขวานอย่าป้ำ ฟืนหาบน้ำอย่าตัก สากอย่าตำอย่าร่อน ได้จึ่งจะดีก็สูตาย
๏ เมื่อนั้นแถนแต่งแล้วพิศณุกรรมคั้นว่าสั่งสอนมวญขุนบูลมราชากับอำมาตยแลทั้ง หลายดังนี้แล้ว ก็จึ่งเมือบอกเมือเล่าแก่พระยาแถนว่ามือขวาให้ห้ามผู้ชาย มือซ้ายให้ห้ามผู้หญิง เผือข้อยทั้งสองก็ไปแต่ง แปงบอกสอมเขาชุประการแล้ว เมื่อนั้นพระยาแถนเล่าถามว่าเครื่องอันจักเล่นจักหัว แลเสพรำคำขับทั้งมวญนั้นยังได้แต่งแปงให้แก่เขาไป ยามนั้นแถนแพนจึงว่าเครื่องฝูงนั้นข้อยไป่ได้แต่งแปงกาย เมื่อนั้นพระยาแถนหลวงจึงให้ศรีคันธพะเทวดา ลาลงมาบอกสอนคนทั้งหลายให้เฮ็ดฆ้องกลองกรับ เจแวงปีพาทยพิณเพี้ยะเพลงกลอนได้สอนให้ดนตรีทั้งมวญ แลเล่าบอกส่วนครูอันขับฟ้อนฮ่อนนะสิ่งสว่าง ระเมงละมางทั้งมวญถ้วนแล้วก็จึ่งเมื้อเล่าเมื้อไหว้แก่พระยาแถนหลวงชุประการหั้นแล
๏ เมื่อนั้นพระยาแถนหลวงจึ่งกล่าวว่า แต่นี้เมือน่า อย่าให้เขาขึ้นมาหาเฮาซ้ำสองทีทอญแม้นเราก็อย่าลงไปหาเขาซ้ำสองทีทอญ แถนหลวงจึ่งให้ตัดข้อหลวงอันแรงกายหลายหลวงอันแรงเรียวนั้นเสีย แต่นั้น ผีแลคนลวดบ่เทียวไปมาหากันได้หั้นแล.”
ตำนาน “น้ำเต้าปุง” เป็นเรื่องเล่าปรำปราไม่น่าเชื่อไม่น่าสนใจสำหรับหลาย ๆ คน แต่เราสามารถ “ทิ้งกากเอาแก่น” ค้นหานัยที่ซ่อนอยู่ได้
นั่นคือ “น้ำเต้า” มีส่วนผูกพันกับการเกิดอารยธรรมของมนุษย์ (การก้าวข้ามพ้น “การดำรงชีวิตแบบล่าและเก็บ” มาสู่การเพาะปลูกเริ่มจากน้ำเต้า)
และ “มนุษย์” ทุกเผ่าพันธุ์ล้วนกำเนิดจากรากเหง้าต้นเค้าเดียวกัน
ผู้คนในอุษาคเนย์กำเนิดจากน้ำเต้าทางฮูชีฮูสิ่ว เป็นสัญลักษณ์แสดงความผูกพันเป็นพี่น้องกันของชาติพันธุ์ในอุษาคเนย์
ในอดีต ก่อนที่ศาสนาต่าง ๆ จะแพร่เข้าปรับเปลี่ยนวัฒนธรรมดั้งเดิมในอุษาคเนย์กลุ่มชนเหล่านี้มีรากวัฒนธรรมร่วมกัน ครั้นผ่านการหลอมรวม ประสานสัมพันธ์กับวัฒนธรรมจากแหล่งอื่น ๆ จึงก่อตัวเป็นชาติพันธุ์ต่าง ๆ ในอุษาคเนย์ ในห้วงประวัติศาสตร์ยุคก่อน ๆ กลุ่มชาติพันธุ์เหล่านี้ล้วนเคยเป็นเครือญาติผูกดองกัน
แม้จะมียามดีกันบ้าง ทำศึกกันบ้าง ตามธรรมชาติของ “คน”ก็ตาม แต่เราไม่ควรเอาประวัติการเป็นศัตรูมากำหนดอนาคตของอุษาคเนย์ ภารกิจปัจจุบันของวิญญูชนคือช่วยกันสร้างประวัติศาสตร์สำหรับอนาคต (คือทำวันนี้) ที่งดงามของชาวอุษาคเนย์ร่วมกันทุกเผ่าพันธุ์.
ภาพปก นิตยสารทางอีศาน ฉบับแฮกหมาน