ตำนานพื้นบ้านในฐานะหลักฐานประวัติศาสตร์สองฝั่งโขง

ตำนานพื้นบ้านในฐานะหลักฐานประวัติศาสตร์สองฝั่งโขง

แม่นํ้าโขง คนสองฝั่งโขงเรียก (นํ้า) แม่ของ ภาพนี้เป็นภาพลายเส้นฝีมือช่างในคณะสํารวจชาวยุโรปที่เดินทางเข้ามาสํารวจ ระหว่าง พ.ศ.๒๔๐๙ – ๒๔๑๑ เมื่อปลายแผ่นดินรัชกาลที่ ๔ ถึงต้นแผ่นดินรัชกาลที่ ๕ (ขอบคุณภาพจากหนังสือ Treasure From Laos)

                เรื่องราวของหลักฐานประวัติศาสตร์ในประเทศไทยเป็นเรื่องกว้างน่าสนใจ และมีสิ่งใหม่ ๆ  เกิดขึ้นอยู่เกือบตลอดเวลา ทั้งนี้เพราะหลักฐานทางประวัติศาสตร์มีหลากหลาย กระจัดกระจายอยู่ตามที่ต่าง ๆ และไม่มีความสมบูรณ์ในตัวของตัวเองอย่างไรก็ตามหลักฐานทางประวัติศาสตร์ก็มีความสําคัญยิ่งในฐานะที่เป็นประทีปส่องสว่าง ช่วยให้มนุษย์สามารถประเมินความเป็นจริงของพฤติกรรมทางสังคมของมนุษย์ในอดีตได้ใกล้เคียงที่สุด

                เป็นที่ทราบกันดีแล้วสําหรับนักประวัติศาสตร์และผู้สนใจวิชาประวัติศาสตร์ว่า การหาหลักฐานเพื่อจำลองภาพในอดีตเป็นสิ่งที่ไม่ง่ายนัก เพราะวิชาประวัติศาสตร์เป็นศาสตร์ที่มีระบบระเบียบแบบแผน และวิธีการที่ซับซ้อน ภาพในอดีตจะมีความถูกต้องและแม่นยํามากน้อยแค่ไหน ก็ขึ้นอยู่กับหลักฐานที่ผู้ศึกษาค้นคว้าจะแสวงหามาได้และตีความได้ตรงกับความจริงมากที่สุดเท่านั้น

                วิชาประวัติศาสตร์เป็นวิชาสากล หลักฐานประวัติศาสตร์ในประเทศหนึ่งประเทศใดสามารถจําแนกได้นับแต่จารึก ตํานาน พงศาวดาร ตลอดจนงานวรรณกรรม บันทึกส่วนตัว จดหมาย ฯลฯ รวมทั้งหลักฐานที่ไม่ใช่ลายลักษณ์อักษรนานาประเภท การศึกษาประวัติศาสตร์ให้ได้ดีนั้นผู้ศึกษาจะต้องรู้จักการใช้และตรวจสอบหลักฐานดังกล่าวนี้ เป็นอย่างดีในที่นี้ผู้เขียนจะกล่าวถึงเฉพาะการใช้เอกสารท้องถิ่นอีสานและล้านช้าง โดยพิจารณาทางด้านประวัติศาสตร์และวัฒนธรรม

๑. เอกสารท้องถิ่นอีสานและล้านช้าง

            ๑.๑ นิยามเอกสาร หมายถึงข้อเขียน บันทึกเรื่องราวแสดงกิจการเหตุการณ์ที่ปรากฏอันมีมาแต่ปางหลัง รวมทั้งแสดงความเชื่อ ความศรัทธา และเรื่องราวของเหตุการณ์ที่สังคมนั้น ๆ คัดลอกสืบต่อกันมา

                หากเป็นเอกสารท้องถิ่นอีสานและล้านช้างน่าจะต้องนิยามให้ชัดเจนไปอีกว่า บันทึกโดยใช้ภาษาถิ่นอีสาน หรือภาษาที่ใช้ใน สปป.ลาว และอักษรที่ใช้ในท้องถิ่นก่อนที่อักษรไทยปัจจุบันได้แพร่กระจายเข้าไปเมื่อสมัยระบบโรงเรียน (เริ่มตั้งแต่สมัยรัชกาล ที่ ๕) นั่นคืออักษร “ตัวธรรม” และ “อักษรไทยน้อย” เนื้อหาของเอกสารเหล่านั้น อาจจะเป็นเรื่องเล่าสืบ ๆ กันมา และบันทึกลงในเอกสารสมัยหลังก็ได้

                ๑) ศิลาจารึกอีสานสมัยไทย – ลาว

                ๒) วรรณกรรม ซึ่งพบค่อนข้างมากทั้งจํานวนเรื่องและจํานวนฉบับ

                ๓) ตํานานพื้นบ้าน รวมทั้งตํานานฝ่ายวัดและตํานานฝ่ายเมือง

                ๔) เอกสารใบจุ้ม (หนังสือคําสั่งทางราชการ)

                ๕) ตําราวิชาการ พุทธศาสนา

                เอกสารทั้ง ๕ ประเภทดังกล่าวข้างต้น นักประวัติศาสตร์จะใช้ประโยชน์ในการศึกษาประวัติศาสตร์สังคม และความเชื่อของท้องถิ่น ๓ ประเภทด้วยกัน คือ ศิลาจารึกอีสานสมัยไทย  – ลาว เอกสารใบจุ้มและตํานานพื้นบ้าน ส่วนวรรณกรรมพื้นบ้านส่วนหนึ่งก็มีประโยชน์ในระดับหนึ่งแต่อ่อนกว่า ๓ ประเภทดังกล่าว

                ในการเสนอบทความนี้จะเน้นเฉพาะตำนานพื้นบ้าน เพราะเหตุว่าตำนานพื้นบ้านให้สาระสำคัญทางด้านประวัติศาสตร์สังคมและวัฒนธรรม

รัตนพิมพวงศ์ ชินกาลมาลีปกรณ์ และอุรังคธาตุ ตำนานที่อิงคติความเชื่อทางพุทธศาสนาถูกผลิตซํ้าหลายครั้ง (ขอบคุณภาพจาก www.siambooks.com)
ตํานานพระยาเจือง (เจื๋อง) วีรบุรุษของคนสองฝั่งโขง ตอนประสูติได้มีของทิพย์เกิดขึ้น ๓ อย่าง คือ พระแสงทิพย์ แส้ทิพย์และคนทีทิพย์ (หม้อนํ้าทิพย์)

๒. ตํานานพื้นบ้านอีสานและล้านช้าง

            ๒.๑ ตํานานพื้นบ้านไทย มี๓ ลักษณะคือ

                – ตํานานคือนิทานพื้นบ้าน ซึ่งหมายถึงนิทานปรัมปรา (Fairy tale) ตํานานท้องถิ่น (Legend) และเทพนิยาย (Myth) ทั้ง ๓ ประเภทดังกล่าวรวมเข้าด้วยกัน

                – ตำนานคือบันทึกประวัติศาสตร์ศาสนาอันเกิดจากศรัทธา ความเชื่อและความวิตกว่าพุทธศาสนาจะเสื่อมก่อน ๕,๐๐๐ ปีงานบันทึกประวัติศาสตร์ศาสนาจะเน้นถึงการเผยแพร่พุทธศาสนาในดินแดนสุวรรณภูมิเช่น ชินกาลมาลีปกรณ์ มูลศาสนา รัตนพิมพวงศ์ตํานานอุรังคธาตุ หรืออุรังคนิทาน (อีสาน) ฯลฯ

                – ตํานานคือบันทึกเรื่องราวเกี่ยวกับบ้านเมือง กษัตริย์ ราชวงศ์ เหตุการณ์ต่าง ๆ เกี่ยวกับสังคมสมัยอดีต ทั้งเหตุการณ์ที่ปรากฏทางธรรมชาติและเหตุการณ์ที่ปรากฏทางประวัติศาสตร์แต่ระเบียบวิธีการบันทึกนั้นจะใช้ความเชื่อทางศาสนา และสิ่งศักดิ์สิทธิ์อธิบายปรากฏการณ์ซึ่งอาจจะเป็นคนละทัศนะกับปัจจุบัน เช่น ตำนานสุวรรณโคมคำ ตำนานสิงหนวัติกุมาร นิทานเรื่องขุนบรม ฯลฯ

                การบันทึกตํานานทางศาสนาดูเหมือนว่าจะนิยมบันทึกมาก ทั้งจํานวนเรื่อง และจํานวนฉบับทั้งนี้เพราะชาวพุทธมีความเชื่อว่า “การบันทึกตํานานศาสนานั้นเป็นการสืบศาสนาให้เจริญอยู่ถึง ๕,๐๐๐ ปีและได้อานิสงส์ไม่แพ้การสร้างปูชนียสถาน” อีกประการหนึ่งชาวพุทธเริ่มวิตกกังวลถึงการเสื่อมของพุทธศาสนาอย่างรวดเร็วในอินเดีย อันเป็นสาเหตุจูงใจให้คำนึงว่าพุทธศาสนาอาจจะดำรงอยู่ไม่ถึง ๕,๐๐๐ ปีตามพุทธทํานายก็เป็นได้ ฉะนั้นจะพบว่าชาวพุทธในอาณาจักรสุโขทัย อาณาจักรล้านนา และล้านช้าง ต่างก็เร่งที่จะสร้างถาวรวัตถุตำราวิชาการ และตำนานเพื่อเป็นการสืบศาสนาให้ยืนยาวต่อไป ซึ่งความวิตกกังวลเรื่องความเสื่อมโทรมของพระพุทธศาสนานั้น ปรากฏอยู่ในศิลาจารึกสุโขทัยที่สร้างสมัยพระยาลิไทยด้วย  (ศิลาจารึกนครชุม (หลักที่ ๓) ของพระยาลิไทย สร้างเมื่อ พ.ศ.๑๙๐๐ ในบรรทัดที่ ๓๓ – ๓๔ ได้กล่าวว่า “…(พ.ศ.๒๐๐๐) พระไตรปิฎกนี้จักหาย หาคนจักรู้แท้มิได้เลย…พระมหาชาติหาคนสวดแลมิได้เลย ธรรมชาดกอันอื่นไซร้มีต้นหาปลายมิได้ มีปลายหาต้นมิได้เลย จําพวกพระอภิธรรมไซร้พระปัฏฐานและพระยมกก็จักหาย…(พ.ศ.๔๐๐๐) อันว่าฝูงชีจักทรงผ้าจีวรหามิได้เลย เท่ายังมีผ้าเหลืองน้อยหนึ่งเหน็บใบหู…”

            ๒.๒ จุดประสงค์ในการบันทึกตำนาน จากการศึกษาธรรมเนียมการบันทึกตํานานของภาคเหนือและภาคอีสาน (รวมทั้งล้านช้าง) น่าจะสรุปได้ดังนี้

                ๑) ความวิตกกังวลต่อความเสื่อมสิ้นของพุทธศาสนาที่ชาวพุทธได้เห็นตัวอย่างการเสื่อมอย่างรวดเร็วในอินเดียการบันทึกการอ่าน – ฟังตํานานพุทธศาสนา และประวัติศาสนาเป็นส่วนหนึ่งที่ทำให้ชาวพุทธระมัดระวังและตระหนักถึงการเสื่อมโทรมของพุทธศาสนา เพื่อเป็นการชะลอความเสื่อมได้อีกโสตหนึ่ง

                ๒) การได้อ่าน – ฟัง และสร้างตํานานเชื่อว่าเป็นการทําบุญกุศลของชาวพุทธอย่างหนึ่งที่ได้อานิสงส์ พอที่จะไปเกิดในโลกพระศรีอารยเมตไตรย หรือเป็นการสะสมบุญบารมีไว้ในชาติหน้า

                ๓) ตํานานเป็นเครื่องช่วยจรรโลงให้อายุพุทธศาสนายืนยาวได้ถึง ๕,๐๐๐ ปี ชาวพุทธเท่านั้นที่มีหน้าที่ในการรักษาอายุไขของพุทธศาสนาไม่ให้เสื่อมลงโดยรวดเร็ว ฉะนั้นชาวพุทธจึงมีหน้าที่สร้างตํานานอ่าน – ฟัง และคัดลอกเมื่อชํารุด

                ๔) ทั้งการศึกษาตํานาน – การคัดลอกตํานานเป็นการเชื่อมโยงอดีตให้เข้ากับปัจจุบัน (สมัยที่สร้างตำนาน) เพื่อให้สอดคล้องกับพุทธทำนาย ฉะนั้นชาวพุทธจะได้เรียนรู้ประวัติพุทธศาสนา นับตั้งแต่สมัยเริ่มต้นจนถึงปัจจุบันของตํานานอีกด้วย

                ๒.๓ ประเภทของตํานาน นักวิชาการที่ศึกษาตํานานมักจะแบ่งตํานานเป็น ๒ กลุ่ม ในที่นี้จะยึดเป็นแนวเดียวกัน แม้ว่าตํานานของอีสานและล้านช้างจะแยกเนื้อหาและระเบียบการบันทึกเป็น ๒ กลุ่มได้ยากก็ตาม แต่พิจารณาระเบียบการบันทึก และจิตสํานึกของการบันทึกก็พอจะอธิบายได้เป็น ๒ กลุ่มได้ดังนี้

                ๑) ตํานานฝ่ายวัด มีวัตถุประสงค์สําคัญในการอธิบายเรื่องราวของพุทธศาสนา ตั้งแต่อยู่อินเดียและได้เผยแผ่เข้ามาสู่อุษาคเนย์ เพื่อให้ชาวพุทธได้เข้าใจเรื่องราวและศรัทธาต่อพระศาสนาอีกโสตหนึ่ง ฉะนั้นเนื้อหาของตํานานฝ่ายวัดจึงเน้นเรื่องการประดิษฐานพระพุทธศาสนาในดินแดนล้านช้างและอาณาจักรใกล้เคียง เช่น ล้านนา อยุธยา เป็นต้น ส่วนสภาวะสังคมและเหตุการณ์บ้านเมืองหรือพระมหากษัตริย์ที่ทรงเป็นศาสนูปถัมภ์จึงเป็นเนื้อหาสาระประกอบการประดิษฐานพุทธศาสนา ตัวอย่าง เช่น อุรังคนิทาน พื้นพระแทรกคำ พื้นพระบาง และตํานานพระแก้วมรกต

                ๒) ตํานานฝ่ายเมือง มีวัตถุประสงค์สําคัญในการบันทึกเหตุการณ์บ้านเมือง เผ่าพันธุ์ กลุ่มชน กษัตริย์ และราชวงศ์ ระเบียบวิธีบันทึกนิยมใช้กึ่งนิทานปรัมปรา กึ่งประวัติศาสตร์ท้องถิ่น ฉะนั้น เนื้อหาจึงให้ความสําคัญเรื่องการกําเนิดโลกและจักรวาล และบุคคลที่เป็นต้นกําเนิดเผ่าพันธุ์ บุคคลที่เป็นผู้สร้างสรรพสิ่งเพื่อมนุษยชาติและชนชั้นผู้ปกครองวีรบุรุษประจำเผ่าพันธุ์ เป็นต้น ตำนานฝ่ายเมืองได้แก่  นิทานเรื่องขุนบรม (พงศาวดารล้านช้าง) ท้าวฮุ่งหรือเจือง (พระยาเจื๋อง) ปฐมมูลและปฐมกัป

ท่าวฮุ่ง ท้าวเจือง ยืนบนหลังช้างพานคําทําขึ้นใหม่โดยสุลักษณ์ บุนปาน จากภาพสลัก “เสียมกุก” บนระเบียงปราสาทนครวัด
ใบลานท้าวฮุ่ง ท้าวเจือง เก็บไว้ในสํานักหอสมุดแห่งชาติ กรุงเทพฯ

                เป้าหมายของการบันทึกตํานานฝ่ายเมือง คือ

                – เพื่อตอบสนองความอยากรู้อยากเห็นของชนรุ่นหลังและสร้างความบันเทิงให้แก่ผู้ฟังอีกโสตหนึ่ง

                – เพื่ออธิบายความเป็นมาของเผ่าพันธุ์ จักรวาลโลกตามทัศนะท้องถิ่น หรือความเชื่อดั้งเดิมที่สืบทอดกันมา เช่น ปู่สังกะสา ย่าสังกะสีหรือปู่เยอ ย่าเยอ

                – เพื่ออธิบายความสําคัญของวีรบุรุษประจําเผ่าพันธุ์ เช่น เรื่องขุนบรม

                แต่อย่างไรก็ตาม การบันทึกตํานานฝ่ายเมือง จะได้รับอิทธิพลแนวคิดทางพุทธศาสนาอยู่ไม่น้อย เช่น การอธิบายการกำเนิดชนชั้นผู้ปกครองว่าเป็นผู้มีปัญญาบารมี คู่บุญกับพระพุทธศาสนา และจะเป็นผู้ที่ฟื้นฟูศาสนาให้เจริญถาวร แม้ว่าตำนานฝ่ายเมือง จะเป็นแนวคิดของท้องถิ่นก่อนพุทธศาสนาจะเข้ามาดำรงอยู่ในดินแดนแถบนี้ก็ตาม แต่การจดบันทึกนั้น น่าจะนิยมจดบันทึกไล่เลี่ยกับการจดบันทึกตํานาน ฝ่ายวัด นั่นคือ เรื่องราวปรัมปราที่เล่าสืบขานกันปากต่อปาก ผ่านชั่วคนหนึ่งสู่อีกรุ่นหนึ่งแต่ได้บันทึกเป็นลายลักษณ์ เมื่อครั้งพุทธศาสนาเฟื่องฟูคือราวพุทธศตวรรษที่ ๒๐ ถึง ๒๑ ซึ่งชาวพุทธเร่งพลังที่จะจรรโลงพุทธศาสนาให้ยืนยงอยู่ต่อไป ไม่ให้เป็นไปตามคําทํานายที่ปรากฏอยู่ในศิลาจารึกนครชุมดังกล่าว

***

คอลัมน์  ฮุ่งเฮืองเมืองปราชญ์   นิตยสารทางอีศาน ปีที่ ๕ ฉบับที่ ๕๗ | มกราคม ๒๕๖๐

.
ราคาเล่มละ ๑๐๐ บาท
สมัครสมาชิก ครึ่งปี ๖๐๐ บาท
หนึ่งปี ๑,๑๐๐ บาท
ตลอดชีพ ๙,๕๐๐ บาท (ได้รับหนังสือย้อนหลัง)
.
สั่งซื้อ// ชำระเงิน // สอบถามเพิ่มเติม ได้ทาง
inbox หนังสืออีศาน m.me/166200246799901
line id : @chonniyom (มี@) คลิก https://lin.ee/amxqtvW
อีบุค ที่ www.mebmarket.com
โทร. 086-378-2516
บริษัท ทางอีศาน จำกัด
244/539 รามอินทราซอย 5 แขวงอนุสาวรีย์ เขตบางเขน กทม. 10220

Related Posts

ยกอ้อ ยอคาย ไหว้ครู บูชาคุณ
[๑๒] คนพิมาย : คนท้องถิ่นหรือผู้บุกรุก
ชื่อท่าฟ้อนแม่บทอีสาน (๑)
WP2Social Auto Publish Powered By : XYZScripts.com