ทศวรรษสากลของภาษาพื้นเมือง
วันที่ ๙ สิงหาคมของทุกปี สหประชาชาติกำหนดให้เป็นวัน “ชนพื้นเมืองดั้งเดิมของโลก” ปัจจุบันชนเผ่าพื้นเมืองมีสัดส่วนร้อยละ ๖.๒ ของประชากรโลก มีภาษาพูดกว่า ๔,๐๐๐ ภาษา (ทั้งโลกมีภาษากว่า ๗,๐๐๐ ภาษา) ซึ่งภาษาจำนวนมากนี้กำลังเสี่ยงต่อการสูญหาย ดังนั้นจึงเกิดโครงการ “ทศวรรษสากลของภาษาพื้นเมือง (พ.ศ.๒๕๖๕ – ๒๕๗๕)” ขึ้น โดย ยูเนสโก (UNESCO) – องค์การการศึกษา วิทยาศาสตร์และวัฒนธรรมแห่งสหประชาชาติ เป็นผู้รับผิดชอบ
มีการคาดกันว่า อีก ๕ ปีข้างหน้าภาษาที่บรรพชนคนบนโลกนี้สร้างสรรค์กันมานับพัน ๆ ปี ด้วยประสบการณ์ ภูมิปัญญาและวุฒิภาวะ จะหายไปอีก ๕๐๐ กว่าภาษา และเมื่อไม่นานมานี้ ชาวทุ่งหญ้าสเต็ปในประเทศรัสเซีย หนึ่งในสองคนที่ยังพูดภาษา Saami ได้เพิ่งเสียชีวิตไป สำหรับประเทศไทยที่มีภาษากว่า ๗๐ ภาษา วันนี้เกือบ ๒๐ ภาษาอยู่ในภาวะวิกฤติ
ดังข้อมูลภาคสนามของ ผศ.ดร.สถิตย์ ภาคมฤค เรื่องพี่น้องชาวทะวืง (โซ่ทะวืง) กลุ่มชาติพันธุ์ที่พูดภาษาตระกูลออสโตรเอเชียติก สาขาเวียด (เวียด – เหมื่อง) ที่อยู่แอ่งสกลนคร ระบุว่า “…การสำรวจ พ.ศ.๒๕๓๙ มีคนพูดภาษาทะวืงได้ ๗๕๐ คน และสำรวจครั้งล่าสุด พ.ศ.๒๕๕๐ พบว่าเหลือผู้พูดภาษาทะวืงจำนวน ๗๐๐ คน โดยคนทั้งโลกเหลือผู้พูดภาษาทะวืงราว ๒,๔๒๐ คนเท่านั้น”
สถานการณ์การสิ้นสูญไปของภาษาขณะนี้ค่อย ๆ ลุกลามหายไปเหมือนมะเร็งร้าย แม้ไม่หนักหน่วงรุนแรงเหมือนอดีตที่มีการใช้ปืนบังคับและประหัตประหารกันทางการเมือง โดยแนวคิดคลั่งชาติ สังคมเชิงเดี่ยว และยึดมั่นปัญหาความมั่นคง
สาเหตุที่กำลังเกิดวิกฤติภาษา ได้แก่ ขาดการอนุรักษ์ โลกเข้าสู่ยุคโลกาภิวัตน์ การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ การอพยพย้ายถิ่น การพัฒนาเมืองที่กลืนกินชนบท จนกระทั่งภาษาถิ่นนั้นไม่สามารถใช้ได้ในชีวิตจริง
รศ.ดร.เสรี พงศ์พิศ สรุปไว้อย่างหนักแน่น “ภาษาไม่ได้เป็นเพียงเครื่องมือสื่อสาร แต่สร้างวิธีคิด วิธีปฏิบัติ ก่อเกิดจารีตประเพณี วิถีชุมชน ภาษาสร้างประวัติศาสตร์ เชื่อมอดีตกับปัจจุบัน สร้างสรรค์อนาคต ภาษาเป็นพลังอันยิ่งใหญ่ในการสร้างอำนาจและรักษาอำนาจ”
ทศวรรษสากลของภาษาพื้นเมือง จึงเป็นการรักษาและฟื้นคืนภาษาแม่ ลดความเหลื่อมล้ำ สร้างภูมิปัญญาและความเชื่อมั่นของคนท้องถิ่นทุกชาติพันธ์ุ สร้างพลังแห่งพหุวัฒนธรรม ซึ่งเป็นกระบวนการเพื่อพัฒนาประเทศที่สำคัญยิ่ง