ทางอีศาน 37 : ปิดเล่ม
คอลัมน์: ปิดเล่ม
Column: Last But Not Least
นิตยสาร “ทางอีศาน” ฉบับที่ ๓๗
ปีที่ ๓ ประจำเดือนพฤษภาคม ๒๕๕๘
ฉบับ: ทางข้างหน้า…ทางอีศาน
กอง บ.ก.
ภาพเส้นทางคมนาคมในพื้นที่ลุ่มแม่นํ้ามูลตอนบนแถบจังหวัดนครราชสีมาในอดีตก่อนการตัดถนนมิตรภาพ(ภาพถ่ายสมัยรัชกาลที่ ๗)
หลังจากทางรถไฟตัดไปถึงโคราชในสมัยรัชกาลที่ ๕ เศรษฐกิจ – สังคมอีสานเริ่มมีความเคลื่อนไหวเปลี่ยนแปลงรวดเร็วขึ้น
เรื่องแรกเลย คือ กำเนิดแรงงานข้ามถิ่นชาวอีสานลงไปขายแรงงานในภาคกลางของประเทศไทย
เนื่องจากมีการบุกเบิกขยายพื้นที่ทำนาในปริมณฑลรอบกรุงเทพฯ กันอย่างมโหฬาร และการค้าขายข้าวกับตลาดสากลขยายตัวมากขึ้น เกิดความต้องการแรงงานในการทำนาผลิตข้าวเพื่อขายส่งออกเพิ่มขึ้น เกิดพลังดึงดูดแรงงานรับจ้างจากภาคอีสานให้ลงไปรับจ้างทำนา ซึ่งมีการเดินทางโดยรถไฟที่สะดวกมากขึ้นเป็นปัจจัย
เรื่องที่สอง คือ เนื่องจากการขนส่งสินค้าจากชนบทอีสานผ่านโคราชลงสู่กรุงเทพฯ สะดวกขึ้น ผ้าไหมทอมีตลาดที่กว้างขึ้น ดังที่ สมเด็จฯ กรมพระยาดำรงราชานุภาพ ทรงบันทึกไว้ในคราวเสด็จตรวจราชการมณฑลอีสานว่า “ราคาผ้าไหมที่สตรีทอในภาคอีสานราคาสูงขึ้นจากเดิมก่อนจะมีทางรถไฟไปถึงโคราช”
การปฏิรูปการศึกษาในสมัยรัชกาลที่ ๕ ก็ได้สร้างปัญญาชนรุ่นใหม่ให้กับภาคอีสานจำนวนมาก ประกอบด้วยกลุ่มข้าราชการท้องถิ่น ครู พระสงฆ์ นักกฎหมาย คหบดี ชาวบ้านผู้มีภูมิความรู้ ซึ่งพัฒนาตัวเองผ่านการศึกษาสมัยใหม่ที่เปิดโอกาสให้คนทุกชนชั้นเข้าสู่ระบบการศึกษา และปัญญาชนรุ่นใหม่เหล่านี้จำนวนไม่น้อย ก็มีความตื่นตัว ขานรับความเปลี่ยนแปลงครั้งใหญ่เมื่อเกิด “ปฏิวัติ ๒๔๗๕”
“การเผยแพร่ประชาธิปไตยในอีสาน ระยะแรกนั้นบรรยากาศเป็นการประนีประนอมของกระบวนการทางการเมือง ระหว่างกระบวนการเปลี่ยนผ่านทางการเมืองจากระบอบเก่าไปสู่ระบอบใหม่ เป็นการสร้างสมดุลอำนาจ โดยลักษณะสำคัญที่จะมีการสืบสานแนวคิดประชาธิปไตยนั้นคือการไม่สนองตอบต่อยุคสมัยของระบอบเก่า ควบคู่ไปกับการส่งเสริมภาพลักษณ์และสถานะของระบอบใหม่ รวมทั้งมีข้อวิพากษ์วิจารณ์ต่อระบอบใหม่เองด้วย และมีความพยายามผลักดัน ยกสถานะตนเองของปัญญาชนเข้าสู่วงการเมืองระดับชาติซึ่งก็คือ ‘ส.ส.อีสาน’…
ผลจากการปฏิวัติ ๒๔ มิถุนา ๒๔๗๕ ส่งผลสะเทือนต่อเศรษฐกิจการเมืองภาคอีสาน ทำให้ความเปลี่ยนแปลงจาก “รัฐสมบูรณาญาสิทธิราชย์” มาสู่ “รัฐประชาธิปไตย” หรือ “รัฐประชาชาติ” เกิดขึ้นทั้งในเชิงโครงสร้างทางการเมืองเศรษฐกิจ และสังคมวัฒนธรรม ส่งผลต่อการเปลี่ยนแปลงในภาคอีสาน ๓ ประเด็นหลัก คือ
๑. บทบาทและอำนาจทางการเมืองของกลุ่มเจ้านายท้องถิ่นและข้าราชการในระบอบเก่า
๒. ความคาดหวังต่อความเปลี่ยนแปลงที่จะเกิดขึ้นในระบบพื้นฐานทางเศรษฐกิจภายใต้ระบอบใหม่
๓. การเปิดโอกาสการมีส่วนรวมทางการเมืองของคนทุกชนชั้น”
(สรุปความจากคำบรรยายเรื่อง “การเผยแพร่ประชาธิปไตยในภาคอีสานหลังการปฏิวัติ ๒๔๗๕” ของ กันย์ ชโลธรรังษี ในงานสัมมนา “จาก ๑๐๐ ปี ร.ศ.๑๓๐ ถึง ๘๐ ปีประชาธิปไตย” จัดโดยภาควิชาประวัติศาสตร์ คณะอักษรศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย วันที่ ๒๒ มิถุนายน ๒๕๕๕)
ในช่วงทศวรรษ ๒๔๗๐ (พ.ศ. ๒๔๗๑ – ๒๔๘๐) สภาพสังคม เศรษฐกิจ และการเมืองของภาคอีสานเป็นอย่างไร ? จึงเป็นประเด็นที่น่าสนใจยิ่ง
“ทางอีศาน” ฉบับที่สองของปีที่ ๔ (เดือนมิถุนายน ๒๕๕๘) จะนำเสนอเรื่องนี้