ขัวหลวง เส้นทางสู่เมืองฟ้าพญาแถน
ปรัมปราคติว่าด้วยจักรวาลทัศน์ของคนตั้งแต่ครั้งบรรพกาล ที่แบ่งจักรวาลเป็นสองส่วน คือ เมืองฟ้าและเมืองลุ่ม อันเป็นความเชื่อเก่าแก่ของชาวอุษาคเนย์
การสืบสาวร่องรอยจักรวาลทัศน์ เรื่องจักรวาลแบ่งเป็นสองที่เชื่อมโยงไปมาหาสู่กัน ยังปรากฏสะท้อนผ่านพิธีกรรมของท้องถิ่นที่หลงเหลือสืบทอดมาจนถึงปัจจุบัน ซึ่งจะได้เปิดผ้าม่านกั้งเรื่องราวเส้นทางสู่เมืองฟ้าพญาแถนที่ปรากฏในเรื่องเล่า พิธีกรรม และตำนานของคนอุษาคเนย์
เมืองฟ้า เมืองแถน เมืองสวรรค์เมื่อบรรพกาล
ก่อนคติไตรภูมิจะเข้ามาในอุษาคเนย์ ได้มีคติ “ทวิภูมิ” เป็นความเชื่อดั้งเดิมของศาสนาผีมาก่อน โดยเชื่อว่าจักรวาลนี้แบ่งเป็น ๒ ส่วน คือ เมืองฟ้ากับเมืองลุ่ม หรือเมืองผีกับเมืองคน จนขัวหลวง เส้นทางสู่เมืองฟ้าพญาแถน “ปลดขัวหลวง” ข้อความในใบลานที่กล่าวถึงการทำลายเส้นทางสู่เมืองฟ้า จนกระทั่งมีการรับคติ “ไตรภูมิ” จากชมพูทวีป
การติดต่อสัมพันธ์ระหว่างคนในอุษาคเนย์กับคนในดินแดนอื่นเช่นชมพูทวีป มีมาแล้วก่อนพุทธกาล แต่หลักฐานยุคประวัติศาสตร์ คือ จารึกโวคาญ (Vo Cañh) ภาษาสันสกฤต พบที่หมู่บ้านโวคาญ เมืองญาตรัง ประเทศเวียดนามเป็นหลักฐานทางจารึกอักษรรุ่นแรกที่เก่าแก่ที่สุดในอุษาคเนย์ ที่ได้รับอิทธิพลจากอักษรอินเดีย สันนิษฐานว่ามีอายุราวพุทธศตวรรษที่ ๗ – ๘ เป็นหลักฐานสำคัญในการติดต่อสัมพันธ์ระหว่างชมพูทวีปและอุษาคเนย์ ในช่วงต้นพุทธกาลถึงพุทธศตวรรษที่ ๑๐ น่าจะหมายถึงการเปิดรับคติพุทธ-พราหมณ์เข้ามาอย่างกว้างขวาง และมีอิทธิพลต่อจักรวาลทัศน์ดั้งเดิมของคนท้องถิ่น ซึ่งแต่เดิมผู้คนในอุษาคเนย์ยอมรับนับถือศาสนาผีมาก่อน โดยปรากฏเรื่องราวของ ผีแถน อยู่ทั่วไป
แถน เทียน ไท้ หมายถึง ผี/เทพเจ้าบนฟ้าที่มีอำนาจศักดิ์สิทธิ์ มีองค์ความรู้เหนือมนุษย์ เป็นต้นกำเนิดวงศ์กษัตริย์ที่มาปกครองมนุษย์ แต่แถนไม่ใช่บรรพชนของมนุษย์ เพราะผีบรรพชน หมายถึงผีขวัญของคนตายที่กลับมาเป็นผีเฮือน ผีบ้าน ผีเมือง หรือผีด้ำ ทำหน้าที่ปกปักรักษาผู้คนและชุมชน
เมืองแถน เป็นดินแดนศักดิ์สิทธิ์อยู่สูงขึ้นไปซ้อนอยู่บนแผ่นดิน ซึ่งเรียกว่าเมืองคนหรือเมืองลุ่ม เมืองฟ้า และเมืองแถนมีชื่อเรียกอีกอย่างหนึ่งว่า ควงบน เป็นที่อยู่ของแถนทั้งหลาย พจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถานให้นิยามคำว่า ควง หมายถึง บริเวณ เช่นคำว่า ควงไม้ศรีมหาโพธิ์
ในเมืองแถน แถนที่ใหญ่กว่าแถนทั้งหลายเรียกว่า “แถนหลวงฟ้าคื่น” สะท้อนให้เห็นทัศนะของคนโบราณที่เกรงกลัวต่ออิทธิพลเสียงฟ้าร้องฟ้าผ่าว่าแถนเป็นผู้ควบคุม เป็นผู้ทรงพลังอำนาจสูงสุดจึงเป็นหัวหน้าของแถนทั้งหลาย
ต่อมาเมื่อศาสนาจากชมพูทวีปได้เข้ามามีอิทธิพลต่อจักรวาลทัศน์ของคนในอุษาคเนย์ โลกศาสตร์แบบผีโบราณที่มีเมืองฟ้าเป็นดินแดนศักดิ์สิทธิ์ มีพญาแถนหลวงฟ้าคื่นผู้มีอำนาจควบคุมฟ้าร้องฟ้าผ่าเป็นหัวหน้าปกครองเมืองฟ้าจักรวาลทัศน์เหล่านี้ได้ถูกปรับเปลี่ยนเชื่อมโยงกับคติใหม่ โดยการนำแถนหลวงฟ้าคื่นไปซ้อน
ทับกับเทวดาทางพุทธศาสนา คือ “พระอินทร์” แถนทั้งหลายต่างมีชื่อใหม่ตามเทวดาทางพุทธศาสนา เช่น “แถนแต่ง” คือ “วิสสุกรรมเทวบุตร” เป็นต้น และเมืองแถนได้กลืนกลายเป็นเมืองสวรรค์ตามคติไตรภูมิ ดังที่ในวรรณกรรมเรื่องปฐมกัปป์ที่ว่า
“…บัดนี้ จักกล่าวเจ้าแถนหลวงฟ้าคื่น เป็นพ่อเจ้าจอมสร้อยที่เซ็ง ก็หากแม่นสักโกไท้เทโวตนยิ่ง เป็นมิ่งเจ้าจอมสร้อยยอดเสนห์ อันว่า แถนแต่งนั้นหากแม่นวิสสุกรรมเจ้าตนประเสริฐในสวรรค์ ทำฤทธีเป็นซู่อันสอนไว้ อันว่าแถนกลมเฒ่าทั้งบาแถนเถือก กับทั้งหูหิ่งเฒ่าแถนฟ้าฟากสวรรค์ หากแม่นจตุท้าวทั้งสี่ราชา หลิงโลกาซู่ประการแวนเผี้ยน…”
เมืองฟ้าในพงศาวดารล้านช้าง
พงศาวดารล้านช้างกล่าวว่าก่อนที่จะมีมนุษย์ออกมาจากน้ำเต้าปุ้ง จักรวาลนี้แบ่งเป็นเมืองฟ้าและเมืองลุ่ม เมืองฟ้าเป็นดินแดนของแถน ส่วนเมืองลุ่มหรือเมืองคน ผี/แถนและคนเทียวไปมาหากันอยู่เสมอ
“…ดูรา สปุริสทั้งหลาย ดังเราจักรู้มา มีในกาลเมื่อก่อนเถ้าเก่าเล่ามา เป็นคำปรัมปราสืบ ๆ มาว่าดังนี้
กาลเมื่อก่อนนั้น ก็เป็นดินเป็นหญ้าเป็นฟ้าเป็นแถน ผีแลคนเที่ยวไปมาหากันบ่ขาด เมื่อนั้น ยังมีขุนใหญ่ ๓ คน ผู้หนึ่งชื่อว่าปู่ลางเชิง ผู้หนึ่งชื่อขุนคาน แลผู้หนึ่งชื่อขุนเค็ก อยู่สร้างบ้านเมืองลุ่มกินปลา กินปลาเฮ็ดนาเมือง
ลุ่มกินเข้า
เมื่อนั้นแถนจึงใช้ให้มากล่าวแก่คนทั้งหลายว่า ในเมืองลุ่มนี้กินเข้าให้บอกให้หมายกินแลงกินงายก็ให้บอกแก่แถน ได้กินขึ้นก็ให้ส่งขาได้กินปลาก็ให้ส่งรอยแก่แถน เมื่อนั้นคนทั้งหลายก็บ่ฟังคามแถน แม้นใช้มาบอกสองที
สามที ก็บ่ฟังหั้นแล
แต่นั่น แถนจึงให้น้ำท่วมเมืองลุ่ม ลีดเลียงท่วมเมืองเพียงละลายคนทั้งหลายก็ฉิบหายมากนักชะแล…”
ข้อความข้างต้นมาจากพงศาวดารล้านช้างที่เรียบเรียงเป็นอักษรไทย รวมอยู่ในประชุมพงศาวดารที่มีการพิมพ์เผยแพร่มาตั้งแต่ พ.ศ. ๒๔๕๑ และถูกใช้ในทางวิชาการเรื่อยมา แต่ในสาระสำคัญเดียวกันนี้ พบว่า มีพงศาวดารล้านช้าง เรื่องขุนบูลม หรือขุนบรม ที่มีถ้อยคำในส่วนรายละเอียดที่แตกต่างออกไป เช่น ฉบับใบลาน
ชื่อ ลำขุนบูลม พบที่ วัดเกตุมะติการาม เมืองจำพอน สะหวันนะเขต ประเทศลาว ความว่า
“นะโมตัสสัตถุสะธะโว ดูรา สัปปุริสสะ ปุตตะนัตตาทั้งหลาย ดังเฮาจักรู้มานี้ ในกาลเมื่อลางลาวเล่าผู้เฒ่าเขารู้อ้างอ่าวกล่าวมาเป็นปรัมปราสืบ ๆ กันมาดังนี้
ในกาลเมื่อก่อดินเป็นหญ้าก่อฟ้าเป็นแผ่นผีแลคนทั้งหลายเทียวไปมาหาบ่ขาด เมื่อนั้นยังมีขุนผู้ใหญ่ ๓ คน ผู้ชื่อว่า ปู่ลางเชิง ผู้ ๑ ชื่อว่า ขุนเค็ด ผู้ ๑ ชื่อว่า ขุนคาน อยู่สร้างบ้านเมืองลุ่มกินปลา อยู่เฮ็ดนาเมืองลุ่มกินข้าว
เมื่อนั้นแถนหลวงจีงใช้ให้มาบอกกล่าวแก่คนทั้งหลายว่าไทเมืองลุ่มกินข้าวก็ให้บอกให้หมายกินแลงงายก็ให้จำให้บอกแก่แถนพุ้นเน้อว่าอัน เมื่อนั้น คนทั้งหลายก็บ่ฟังคำแถน ๆ
จีงบอก ๒ ที ๓ ที ก็บ่ฟังหั้นแล
แต่นั้น แถนจีงให้น้ำถ่วมซุมเมืองลุ่มลัดเลียง ซายซานเพียงคุงฟ้า คนทั้งหลายจีงจิบหายตายไปมากนักหั้นแล…”
ส่วนฉบับใบลานชื่อ นิทานขุนบูลม พบที่วัดโพทะลาม เมืองปากลาย ไชยะบุรี ประเทศลาว ความว่า
“นะโมตัสสัตถุ นราสสะ โภ สัมพุทโธ ดูราสัปปุริสสะปุตตะนัตตาทั้งหลาย ดังเฮาจักรู้มานี้ ในกาลเมื่อลางลาวเก่า ผู้เฒ่ารู้เขาอ้างกล่าวมา เป็นปรัมปราสืบ ๆ กันมาดังนี้
ในกาลเมื่อก่อเป็นดินเป็นหญ้าเป็นฟ้าเป็นแถน ผีแลคนทั้งหลายไปมาหากันบ่ขาด เมื่อนั้นยังมีขุนผู้ใหญ่ ๓ คน ผู้ ๑ ชื่อว่า ปู่ลางเชิง ผู้ ๑ ชื่อว่า ขุนเค็ด ผู้ ๑ ชื่อว่า ขุนคาน อยู่สร้างบ้านเมืองลุ่มกินปลา อยู่เฮ็ดนาเมืองลุ่มกินข้าว
เมื่อนั้นแถนจีงใช้ให้มาบอกกล่าวแก่คนทั้งหลายว่า ไทเมืองลุ่มกินข้าวก็ให้บอกให้หมาย กินแลงงายก็ให้จำให้บอกแก่แถนพุ้นเน้อ คนทั้งหลายก็บ่ฟังคำแถน ๒ ที ๓ ที ก็บ่ฟังหั้นแล
แต่นั้น แถนจีงให้น้ำถูมถ่วมเมืองลุ่มลีดเลียง ซายซานเพียงคุงฟ้า คนทั้งหลายก็จิบหายมากนัก…”
ชื่อว่าเมืองฟ้ากับเมืองลุ่มในพงศาวดารล้านช้างนิทานขุนบรม แสดงถึงที่ตั้งทางภูมิศาสตร์ในจินตนาการของคนในอดีตได้อย่างชัดเจนว่า ดินแดนทั้งสองเป็นพื้นที่ซ้อนชั้นกันอยู่โดยเบื้องล่างคือเมืองลุ่มหรือเมืองคน เบื้องบนคือเมืองฟ้าหรือเมืองแถน ซึ่งถูกแปลงให้เป็นสวรรค์ในช่วงหนึ่งพันห้าร้อยปีที่ผ่านมา
เส้นทางสู่เมืองฟ้า
ตามที่พงศาวดารล้านช้างนิทานขุนบรม กล่าวถึงเหตุการณ์ที่แถนไม่พอใจที่คนในเมืองลุ่มไม่ทำตามคำสั่งแถนที่ว่า กินข้าวก็ให้บอกให้หมาย กินแลงงายก็ให้จำให้บอกแก่แถนพุ้นเน้อ แถนจึงให้น้ำท่วมเมืองลุ่ม เป็นเหตุให้ขุนผู้ใหญ่ทั้ง ๓ ในเมืองคนต่อแพจนกระทั่งน้ำพัดแพไปสู่เมืองฟ้า
“…ยามนั้นปู่ลางเชิงแลขุนเค็กขุนคาน รู้ว่าแถนเคียดแก่เขา ๆ จึงเอาไม้ขาแรงเฮ็ดแพเอาไม้แปงเรือนเฮ็ดพวง แล้วเขาจึงเอาลูกเอาเมียเข้าอยู่ในแพนั้น แล้วน้ำจึงพัดเขาขึ้นเมือบน ขนเอาเมือเมืองฟ้าพู้นแล…”
เส้นทางไปสู่เมืองฟ้าโดยทางน้ำจึงไม่ใช่เส้นทางปกติที่มีมาแต่เดิม สมัยที่ ผีแลคนทั้งหลายไปมาหากันบ่ขาด
แต่เนื้อเรื่องมาปรากฏในอีกตอนหนึ่งว่า
“…เมื่อนั้นพระยาแถนหลวงจึงกล่าวว่า แต่นี้เมือหน้า อย่าให้เขาขึ้นมาหาเฮาซ้ำสองทีทอญ แม้นเราก็อย่าลงไปหาเขาซ้ำสองทีทอญ แถนหลวงจึงให้ตัดข้อหลวงอันแรงกายหลายหลวงอันแรงเรี่ยวนั้นเสีย แต่นั้นผีและคนลวดบ่เที่ยวไปมาหากันได้หั้นแล…”
เป็นอันสงสัยในหมู่นักวิชาการไทยที่อาศัยประชุมพงศาวดารเป็นฐานข้อมูลมาหลายทศวรรษว่า “ข้อหลวง” อันเป็นเส้นทางสู่เมืองฟ้าที่พญาแถนสั่งให้ตัดทิ้ง จน ผีและคนลวดบ่เที่ยวไปมาหากันได้หั้นแล คืออะไร???
เมื่อเส้นทางปกติถูกตัด ผู้จะขึ้นไปเมืองฟ้าได้จึงต้องเป็นผู้มีฤทธิ์ เพราะต้องเหาะขึ้นไป ซึ่งเป็นวิธีเดียวที่พญานาคบอกแก่พญาคันคาก จากความในนิทานพญาคันคากที่ว่า
“…ก็จิ่ง ถามนาโคนาคี ที่ทางทันเค้า
เมืองแถนพุ้น หนทางยังฮอด รือบ่
นาคกล่าวต้าน ทางขึ้นบ่ห่อนมี พระเฮย
เอฺยียวว่า จบเพทเพี้ยง ไปเทิงอากาศ บ่ฮู้
อันว่า ทางไต่พื้น เทียวขึ้นบ่ห่อนมี พระเฮย”
พญาคันคากจึงสั่งต้องสร้างทางไปเมืองแถน โดยให้นาคและปลวกก่อดินและหินขึ้นเป็นดังภูเขาเพื่อเป็นเส้นทางไปรบกับแถน
“…เขาก็ ผันผยองอุ้ม ภูดอยหลายหน่วย
ติดต่อตั้ง กันขึ้นก่อสูง
ปลวกก็ ขนดินขึ้น ถมทางนำนาค
ดูแก่นหมั้น เหมือนเพี้ยงดั่งภู
นับแต่ แปงทางได้ สามปีทัดเที่ยง
ก็จิ่ง เพียงจอมดอย ฮอดเมืองแถนพุ้น”
นอกจากนี้ ในวรรณกรรมเรื่อง ท้าวฮุ่งท้าวเจือง บทที่ ๔๓๙๓ ยังกล่าวถึงวิธีการไปเมืองฟ้าอีกเส้นทางหนึ่ง โดยการเดินทางของท้าวฮุ่งเพื่อไปเมืองฟ้าได้ใช้ “บันไดทองผีก่าย”
“กับทัง ผู้เผ้าเชื้อน้องพี่ อามคาย
อวนจัก ลาสองศรีด่วนเมือ เมืองฟ้า
หลิงเห็น ฮงฮงเหลื่อมกระไดทอง ผีก่าย พุ้นเย้อ
พลคั่งเท้าแดนฟ้า ครื่นเครง
ถึงแม้ว่าทั้ง ๓ ชุดข้อมูลจากพงศาวดารล้านช้างนิทานขุนบรม นิทานพญาคันคาก และท้าวฮุ่งท้าวเจืองจะเป็นชุดข้อมูลจากวรรณกรรมต่างประเภท ที่อาจเป็นการผิดกาลเทศะในการอ้างอิงความสัมพันธ์ที่เชื่อมโยงกัน แต่นัยที่แฝงเร้นในเนื้อเรื่องที่กล่าวถึงโลกทัศน์เกี่ยวกับเส้นทางสู่เมืองฟ้ากลับสอดรับกันอย่างน่าสนใจ
เส้นทางสู่เมืองฟ้า ความคลาดเคลื่อนหลายทศวรรษ
การพิจารณาเส้นทางไปสู่เมืองฟ้าในยุคแรกตามพงศาวดารล้านช้างนิทานขุนบรม เพื่ออธิบายคำว่า “ข้อหลวง” จึงเป็นความพยายามค้นหาที่สำคัญยิ่งในเชิงวิชาการ เพื่อตอบคำถามเกี่ยวกับจักรวาลทัศน์ของยุคบรรพกาล
ผู้เขียนได้สอบค้นเอกสารใบลานพบว่านิทานขุนบรมมีหลายสำนวน และสำนวนที่กล่าวว่า มีในกาลเมื่อก่อนเถ้าเก่าเล่ามา เป็นคำปรัมปราสืบ ๆ มา นั้น กลับไม่พบคำว่า “ข้อหลวง” ดังที่ปรากฏในประชุมพงศาวดารที่ถูก
เรียบเรียงเป็นอักษรไทย
ลำขุนบูลม ฉบับใบลานวัดเกตุมะติการาม
จารด้วยอักษรตัวธรรม มีเนื้อความว่า “…พญาแถนหลวงจีงให้เขา ตัดขัวหลวงอันเป็นกายแต่ปถมอันคนแฮงเทียวนั้นเสียหั้นแล แต่นั้นเฮาอย่าให้คนเทียวไปมาหากันได้ เมื่อนั้นขุนบรมราชาเป็นท้าวพญาในเมืองลุ่มนี้สร้างบ้านก็บ่เรืองสร้างเมืองก็บ่กว้าง…”
ส่วน นิทานขุนบูลม ฉบับใบลานวัดโพทะลาม จารด้วยอักษรตัวธรรม มีเนื้อความว่า “…จีงกล่าวว่า แต่นี้เมือหน้าอย่าให้เขาขึ้นมาหาเฮาซ้ำ ๒ นั้นท้อน แม่นเฮาก็อย่าได้ลงไปหาเข้าซ้ำ ๒ นั้นท้อน พญาแถนหลวงจีงให้เขา ปลดขัวหลวงอันแฮงกายหลายหลวงอันแฮงเทียวนั้นเสีย แต่นั้นผีแลคนลวดบ่เทียวไปมาหากันได้หั้นแล…”
จึงพอสันนิษฐานได้เบื้องต้นว่า นิทานขุนบรมในประชุมพงศาวดารที่เรียบเรียงเป็นอักษรไทย ได้บันทึกเส้นทางไปเมืองฟ้าคลาดเคลื่อนเป็น “ข้อหลวง” แต่เอกสารต้นฉบับเป็น “ขัวหลวง”
ขัว เป็นคำเก่าแปลว่า สะพาน ส่วนหลวงเป็นคำขยายให้รู้ว่าสิ่งนั้นยิ่งใหญ่ ขัวหลวงจึงหมายถึงสะพานขนาดใหญ่ สะพานนี้เป็นเส้นทางเชื่อมต่อระหว่างเมืองฟ้ากับเมืองลุ่มที่ผีและคนทั้งหลายใช้เทียวไปมาหากันบ่ขาด
ขัวหลวงของพญาแถนถูกตัดหรือปลดไปแล้ว จึงจินตนาการไม่ออกว่ามีหน้าตาอย่างไร แต่ในโลกใบนี้ยังสะพานเชือกถักของชาวอินคาเรียกว่า “เกสวาชาก้า” เป็นเทคโนโลยีโบราณที่ใช้เป็นเส้นทางเชื่อมระหว่างหน้าผาเหนือแม่น้ำในเทือกเขาแอนดีสของเปรู ปัจจุบันเป็นมรดกโลก ทำให้ต่อยอดจินตนาการต่อไปว่า สะพานแขวนลักษณะคล้ายเกสวาชาก้า ที่มีขนาดใหญ่ปลายข้างหนึ่งอยู่ที่เมืองลุ่ม และมีปลายข้างหนึ่งอยู่ที่เมืองฟ้า คงเป็นภาพลักษณ์ของ “ขัวหลวง” อันเป็นเส้นทางสู่เมืองฟ้าพญาแถนเป็นแน่…
นิตยสาร “ทางอีศาน” ฉบับที่ ๗๓
ปีที่ ๗ ประจำเดือนพฤษภาคม ๒๕๖๑
นิตยสารรายเดือนของชาวอีสานและคนไททุกภูมิภาค
ลึกซึ้งรากเหง้า เข้าใจปัจจุบัน รู้ทันอนาคต