นิตยสาร “ทางอีศาน” ฉบับที่ ๗๔
ปีที่ ๗ ประจำเดือนมิถุนายน ๒๕๖๑
นิตยสารรายเดือนของชาวอีสานและคนไททุกภูมิภาค
ลึกซึ้งรากเหง้า เข้าใจปัจจุบัน รู้ทันอนาคต
สาวด้ำปางบรรพ์ : ‘ด้ำนาย-ด้ำปู่’ (๖)
โดย ชลธิรา สัตยาวัฒนา
การศึกษาเรื่องใด ๆ ต้องมี “เครื่องมือ” (Device) และ “วิธีวิทยา” (Approach) ในการวิเคราะห์วิจัยและตีความหมาย ถ้ามีเครื่องมือดีและใช้วิธีวิทยาได้สอดคล้องกับสิ่งของ เรื่องราว และบริบทที่จะศึกษา ผลการศึกษาก็จะบรรลุเป้าหมาย แม้นหากว่ามีเครื่องมือดีแต่ใช้วิธีวิทยาที่ไม่สอดคล้อง การศึกษาเรื่องนั้นอาจจะไม่บรรลุเป้าหมายที่วางไว้ หรือแม้เข้าใจว่าบรรลุแล้ว ผลการศึกษาอาจหลงทิศผิดทางได้
แนวทางการสืบสาวรกรากคนไท ชุมชนไท-ลาว กับความเป็นไท/ไต/ลาว/ไทย/สยาม และชื่อชาติพันธุ์อื่น ๆ หรือกลุ่มวัฒนธรรมที่ประเด็นการศึกษาเกี่ยวข้องเชื่อมโยงไปถึงก็เช่นเดียวกัน เป็นความพยายามที่จะศึกษาชุมชนไท-ลาวโดยใช้สหศาสตร์ ที่สำคัญยังเป็นการศึกษาเรื่องราวของ “ชุมชนดึกดำบรรพ์” โดยการยึดโยงกับชุมชนร่วมสมัยปัจจุบัน เพื่อตรวจสอบค้นหาร่องรอย
ส่วนเสี้ยวหรือแม้แต่เศษอณู อันอาจกล่าวได้ว่าเป็นต้นแบบต้นเค้าของระบบความเชื่อดั้งเดิมแบบไท-ลาว (Traditional belief system) โครงสร้างสังคม (Social organization) และรหัสทางวัฒนธรรม (Cultural code) ที่แฝงฝังมากับระบบและโครงสร้างนั้น เป็นการใช้ความพยายามที่จะ “ถอดรหัสชีวพันธุกรรมทางวัฒนธรรม” ของคนไท ชุมชนไท-ลาว กับความเป็น ไท/ไต/ไทย/สยาม นั่นเอง
ด้วยสมมติฐานว่า ชุมชนไท-ลาวดึกดำบรรพ์อาจสามารถส่งต่อและสืบทอด “รหัสพันธุกรรมทางวัฒนธรรม” ข้ามเวลาข้ามยุคข้ามสมัย ข้ามเขตบ้านคามเมือง ข้ามขอบขัณฑสีมา รวมทั้งข้ามพรมแดนรัฐชาติสมัยใหม่ได้ จึงเป็นสิ่งที่สืบค้น-สืบสาว-สืบทอดได้ในเชิงกระบวนการ โดยการใช้วิธีวิทยาของศาสตร์หลาย ๆ สาขา
ความหลากเลื่อนของภาษา กับ ความเลื่อนไหลของอำนาจ (La Différence vs Power Shift) ภาษา เป็นเครื่องมือสื่อสารเพื่อให้คนรู้เรื่องเข้าใจกัน แต่ภาษา “ดีดดิ้น” ได้ ถ้านำเอาถ้อยคำในภาษามาศึกษาอย่างตายตัว โดยไม่ทันคำนึงถึงธรรมชาติของภาษา ก็อาจพาเข้ารกเข้าพงได้
/ด้ำ/ มิใช่ /ด้าม/ “หมื่นด้ำพร้า” กับ “หมื่นด้ามพร้า (หากมี)” เป็นคนละคนคนละความกันแน่นอน
มาถึงคำว่า “ปู่” นั้น สำคัญไฉน? ในทางมานุษยวิทยาสังคม (Social Anthropology) คำว่า “ปู่” เป็น “คำสำคัญ” จัดว่าเป็น “Keyword” ในการศึกษาสังคมไท-ลาวในเชิงโครงสร้าง เพื่อถอดรหัสทางสังคม วัฒนธรรม และการเมือง ของพหุสังคมอุษาคเน
ในแง่ของอักษรศาสตร์ การศึกษาชุดถ้อยคำ “ผีปู่ย่า” ของทางเมืองเหนือโดยเฉพาะเชียงใหม่ เปรียบเทียบกับ “ผีปู่ตา” ของทางอีสาน และ “ผีตายายโนรา” ไม่อาจดำเนินไปอย่างบรรลุมรรคผลหากใช้เพียงวิธีวิทยาของสำนักภาษาศาสตร์โครงสร้าง ต้องใช้มานุษยวิทยาสังคม มานุษยวิทยาวัฒนธรรม และเศรษฐศาสตร์การเมือง มาขยายมุมมอง จึงจะสามารถทำความเข้าใจความหมายที่ซ่อนอยู่เบื้องลึกอย่างมหัศจรรย์พันลึกของชุดคำไทดั้งเดิมง่าย ๆ เพียง ๔ คำนี้ คือ ปู่ ย่า ตา ยาย อะไรจะปานนั้น !
มีห้วงเวลายาว ๆ อีกห้วงหนึ่ง ที่ผู้หญิงเคยเป็นใหญ่มาก่อน สถานภาพของความเป็น “แม”่ กับบทบาทของความเป็น “นาย” ของผู้หญิง ในระบอบสังคมชุมชนบรรพกาลช่วงต้น ๆ ได้ดำเนินคู่ขนานกันไปในห้วงเวลาที่ยาวนานมากห้วงหนึ่ง ก่อนที่จะเปลี่ยนผ่านจาก “สังคมมาตาธิปไตย” ที่มีแม่เป็นใหญ่ ไปสู่ “สังคมปิตาธิปไตย” ที่พ่อเป็นใหญ่
***อ่านฉบับเต็มเรื่อง สาวด้ำปางบรรพ์ : ‘ด้ำนาย-ด้ำปู่’ (6) ได้ใน นิตยสารทางอีศาน ฉบับที่ ๗๔ เดือนมิถุนายน ๒๕๖๑ และในหนังสือด้ำ แถน กำเนิด รัฐไท