การบูชา “ฟ้าหลวง พูราหลวง” ของไทอาหม
นิตยสาร “ทางอีศาน” ฉบับที่ ๗๖
ปีที่ ๗ ประจำเดือนสิงหาคม ๒๕๖๑
นิตยสารรายเดือนของชาวอีสานและคนไททุกภูมิภาค
ลึกซึ้งรากเหง้า เข้าใจปัจจุบัน รู้ทันอนาคต
ต่อไปขอเสนอข้อมูลเกี่ยวกับพิธีสวดบูชา “พูราหลวง-ฟ้าหลวง” และพิธีเมด้ำเมผี ของชาวไทอาหมจากหนังสือ “ขบวนการฟื้นฟูภาษา ความเชื่อ และพิธีกรรมของไทอาหม” (รศ.สุมิตร ปิติพัฒน์, ดำรงพล อินทร์จันทร์ สถาบันไทยคดีศึกษา มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ พ.ศ. ๒๕๔๖)
พิธีกรรมสวดพูราหลวง
“ในกลุ่มคนไทอาหมทุกวันนี้มีการนับถือ “พูราหลวง” หรือบางครั้งเรียกว่า “พร้าหลวง” ซึ่งในทัศนะของนักวิชาการชาวไทยด้านอาหมศึกษา คิดว่าคือ “ฟ้าหลวง” ประมาณว่ามีชาวไทอาหมนับถือความเชื่อนี้มากกว่าห้าหมื่นคน
พิธีกรรมสวดพูราหลวงนี้เป็นพิธีสาธารณะที่มีการชุมนุมกัน สวดขับร่วมกัน เพื่อเป็นการแสดงความเคารพต่อฟ้าหลวงและเทพเจ้าทั้งปวงของชาวอาหม บางครั้งจัดขึ้นเพื่อเป็นการสวดต้อนรับบรรดาแขกคนสำคัญที่มาเยือนชุมชน และทำพิธีสวดเรียกขวัญ ให้พร กระทำพิธีขึ้นที่อาคารทรงแปดเหลี่ยมที่เรียกว่า “หอผี” ซึ่งเป็นสิ่งปลูกสร้างขึ้นใหม่ หรืออาจสร้างขึ้นบนพื้นที่เดิมของโรงสวด (Namghar) ในศาสนาฮินดูไวษณพนิกาย หลังจากส่งเสริมให้ชาวไทอาหมหันกลับมานับถือความเชื่อดั้งเดิมในกระบวนการฟื้นฟูภาษาและวัฒนธรรม
ในบางกรณีมีการจัดกิจกรรมหรืองานสาธารณะขึ้นในพื้นที่ซึ่งแยกต่างหากจากชุมชน บริเวณ กลางแจ้ง โดยจัดสร้างซุ้มปะรำชั่วคราวขึ้นจากไม้ไผ่ คล้ายอาคารทรงแปดเหลี่ยมขึ้นแทนเพื่อประกอบพิธีกรรมนี้ โครงไม้ไผ่ประดับมุงด้วยใบตอง มีเสาหลักไฟทำจากต้นกล้วย มีไม้เสียบรอบเสาแผ่ออกรอบเสาเป็นชั้น ๆ แต่ละชั้นเป็นที่ตั้งของ“กอกไฟ” หรือผางประทีปดินเผาใส่น้ำมันละหุ่งจุดไฟทั้งหมด ๑๐๑ ดวง รอบเสาไล่ระดับจากล่างขึ้นบน ด้านหน้ามีคัมภีร์ไทอาหมที่เรียกว่า “ลิก ลายแปง กากา” วางบนพานทองเหลืองและใช้ใบตองตัดเป็นแปดเหลี่ยมรอง และมีผ้า “กามูซา” รองพื้นอีกชั้น บนพื้นล่างวางกระทงกาบกล้วย ในกระทงมีหมากสด ๓ ผล ใบพลู ๓ ใบ ผลกล้วย ๑ ผล อ้อย ๑ ท่อน ถั่วเขียว “ปิถะ” (แป้งข้าว) เหรียญเงิน จากนั้นปิดด้วยใบตอง ประดับด้วยดอกไม้กระทงละดอก ถ้ามีผู้ร่วมงานต้องการเข้าร่วมบูชาพิธีก็จะนำหมากสด ใบพลู พร้อมเงินมามอบให้หมอ หมอทำพิธีสวดรับของไหว้ดังกล่าวแล้ว นำมารวมไว้ที่รอบ ๆ หลักไฟเช่นกัน
หมอหลวงเป็นผู้ปรุง “น้ำหญ้าปลก” ในคนโท เมื่อปรุงน้ำหญ้าปลกแล้ว ประธานหมอหลวงนำสวดดำเนินไปประมาณ ๑-๒ ชั่วโมงเป็นการสิ้นสุดพิธี
ผู้วิจัยพบว่า มีความแตกต่างในรายละเอียดขั้นตอนของพิธีกรรมบางอย่างปรากฏในพิธีกรรมสวดพูราหลวงในแต่ละท้องที่
คือในหมู่บ้าบากาล (Bakal) ของชาวอาหมในเขตเมืองเตมาจี (Dhemaji) ทางด้านตอนบนของแม่น้ำพรหมบุตร พบว่ามีพิธีกรรมสวดพูราหลวงซึ่งกระทำเนื่องในวันรำลึกถึง หล้าเจ็ด หรือ ลาชิต บาร์ภูกาน (Lachit Barphugan) ในวันที่ ๒๔ พฤศจิกายน พ.ศ. ๒๕๔๔ ในช่วงเวลาค่ำ ภายหลังจากร่วมกิจกรรมรำลึกคุณความดีของนักรบชาวอาหมในช่วงกลางวันแล้ว
พิธีสวดพูราหลวงเนื่องในวันหล้าเจ็ด ที่ซุ้มหลักไฟทรงแปดเหลี่ยมซึ่งตั้งอยู่กลางเรือนนำโดยหมอหลวง ๓ ท่าน เครื่องประกอบพิธีได้แก่ “ไม้ห้าง” ทำจากก้านไม้ไผ่สานเป็นตะแกรงตั้งบนเสาก้านใบตอง นำใบตองสองใบวางบนไม้ห้าง นำข้าวสารดิบล้างน้ำ และถั่วเขียว มะพร้าว ขิง มากองพูนกัน มีไข่สดวางอยู่ มีกาบกล้วยแปดเหลี่ยมใส่น้ำและเหล้าอย่างละอัน ด้านบนมีก้านไม้ไผ่เสียบเข้ากับกาบกล้วยรูปสี่เหลี่ยมจำนวน ๘ อัน จับคู่เป็นสี่คู่ไขว้กัน วางตรงกลางของไม้ห้าง วางใบพลูห่อหมากสามอัน มีกระทงรูปแปดเหลี่ยมทำจากกาบกล้วย ๔ อัน ใส่น้ำและเหล้าอย่างละสองอัน มีผางประทีบน้ำมันละหุ่งซึ่งจุดไฟ พร้อมกับจุ่มก้านไม้และเศษใบตองวางไว้ด้านบนจำนวน ๒ อัน ด้านล่างของไม้ห้าง มีกองข้าว ถั่วเขียว มะพร้าว ขิง ไข่ เช่นเดียวกับด้านบน แต่มีเพียงกองเดียว ระหว่างการเตรียมพิธี หมอหลวงผู้จัดเตรียมต้องเอาผ้าปิดปากจมูก ด้วยเชื่อว่าไม่ต้องการให้ปนเปื้อน ในการประกอบพิธีกรรมต้องกระทำอย่างบริสุทธิ์
เริ่มพิธีด้วยหมอหลวงจุดธูปหอม ๓ ดอก ปักที่มุมของไม้ห้างแต่ละแห่ง จากนั้นหมอทั้งหมดสวดนำด้วยบทสวดนำพิธีบูชาต่อพระเป็นเจ้าทั้งหลายของอาหม ที่เรียกว่า “อ้ายสิงเล่า” (บทสวดนำทุกครั้งที่จัดพิธีกรรม) ชาวบ้านเข้าร่วมพิธีสวดไปพร้อม ๆ กับหมออย่างพร้อมเพรียง จากนั้นหมอจึงสวดนำ และให้พรแก่ผู้เข้าร่วมพิธี ซึ่งบางตอนฟังว่า “เฮ็ด ดี เฮ็ด แข่น สอย กน สอย แข่น…” เมื่อมีผู้มอบเงินพร้อมหมากสดและใบพลูเพื่อบูชา หมอก็จะทำการสวดอวยพรให้เช่นกัน เสร็จสิ้นการบูชาและให้พร จะสวดอ้ายสิงเล่าเป็นการเสร็จพิธี
เมื่อบูชาแล้วจะนำข้าว ถั่วเขียว มะพร้าว และขิง เครื่องประกอบพิธีมาคลุกเคล้ากับน้ำมันละหุ่งให้เข้ากัน แล้วแจกผู้เข้าร่วมพิธีรอบวง ส่วนไข่จะนำไปผัดน้ำมันแล้วแจกแบ่งโดยทั่วกัน พร้อมด้วยน้ำเหล้าที่ทำจากข้าวเหนียวหมัก ระหว่างรอการประกอบอาหารมื้อค่ำที่ชาวบ้านนำข้าวและอาหารมาปรุงภายในเรือนเจ้าแสง หมอหลวงร้องเพลงประกอบเครื่องดนตรีพื้นเมืองภาษาไทและอัสสัมมิส ชาวบ้านจะแจกอาหารรอบวงให้ผู้เข้าร่วม เมื่อพร้อมกันทั้งหมดแล้ว สวดอ้ายสิงเล่า จากนั้นจึงกินอาหารได้ หลังอาหารมื้อค่ำแต่ละคนแยกย้ายกันกลับบ้าน”
“ฟ้าหลวง / แถน” นั้น แยกไม่ออกจากการนับถือ “ผี” จึงขอเสนอ “พิธีเมด้ำเมผี” ของชาวไทอาหม ประกอบไว้ด้วย (จากหนังสือที่ได้อ้างอิงไว้แล้วข้างต้น หน้า ๓๔ – ๓๖)
ที่มาและความหมายของเมด้ำเมผี
“นิยามความหมายของพิธีเมด้ำเมผีในปัจจุบันนี้ มีแหล่งอ้างอิงจากการค้นคว้าเอกสารโบราณเป็นสำคัญ
บี.เจ.เทอร์วิล B.J.Terwiel 1980 สันนิษฐานว่า “เมด้ำ เมผี” มาจาก “เมืองด้ำ เมืองผี” อันหมายถึงที่พำนักของบรรพบุรุษ และต่อมาเพี้ยนเป็น “เมด้ำ เมผี” เป็นพิธีกรรมเฉลิมฉลองที่กษัตริย์และบรรดาข้าราชบริพารจัดขึ้นอย่างยิ่งใหญ่ โดยจัดขึ้นที่ แจ้รายดอย และใช้เวลาประกอบพิธีกรรมหลายวัน มีการฆ่าสัตว์หลายชนิดระหว่างการประกอบพิธี ได้แก่ ช้าง ม้า วัว ควาย กวาง หมูไก่ พร้อมด้วยผลไม้จำนวนมาก
ขณะที่ รณี เลิศเลื่อมใส (๒๕๔๔) อธิบายความหมายของ “เมด้ำ” หรือ “เฮ็ดแขกด้ำ” ว่าเป็นพิธีกรรมสำคัญของสังคมไทอาหมตั้งแต่อดีต ด้วยเป็นพิธีกรรมที่มีความหมายในการรวมไพร่พล แม่ทัพ นายกอง ขุนศึก ขุนนาง และเจ้าฟ้า เพื่อการก่อตั้งอาณาจักรขึ้น พิธีนี้จะจัดร่วมกับ “เรียกขวัญเมืองบ้าน” และ “เรียกขวัญช้างม้า”
รณี (๒๕๔๔) พบว่า ในบันทึกการจัดพิธีบูชาหลังเสร็จศึกใหญ่ครั้งแรก เมื่อเจ้าหลวงเสือก่าฟ้าเดินทางจากอาณาจักรเมาหลวงข้ามเทือกเขาปาดไก่ ต่อสู้เอาชนะชนเผ่าอื่น ๆ หลายกลุ่มระหว่างทาง จนมาถึงลำน้ำหก เจ้าฟ้าจึงสั่งให้ข้าทั้งหลายฟันไม้ทำแพ ขนม้าศึก ๓๐๐ ตัวขึ้นแพ เตรียมล่องลงมาตามลำน้ำหก ที่ริมแควน้ำหก เจ้าฟ้าจัดพิธีบูชาด้ำให้ช่วยชูค้ำในการทำศึกใหญ่ด่านแรก ไม่ใช่ศึกย่อยกับชาวดอยอย่างที่ผ่านมา แต่เป็นศึกชิงบ้านชิงเมืองที่ตั้งดินแดนอยู่แล้ว ช่วงระยะเวลาช่วง ๓๐๐ ปีแรกของการปกครองอาณาจักรเมืองนุนสุนคำ ปรากฏบันทึกถึงการจัดพิธีกรรมนี้ในบันทึกเอกสารโบราณ ปรากฏในพิธีบูชาเป็นครั้งแรก เมื่อสมัยเจ้าหลวงเสือก่าฟ้า เดินทางเข้ามายังดินแดนนี้…
‘เมื่อเจ้าหลวงก่าฟ้าเดินทางจากเมืองเมา มาจากที่นั่นต้องข้ามดอยใหญ่นับแสน จนออกมาถึงที่แควน้ำหก ข้ามดอยลาลิงมาแล้ว เจ้าฟ้าจึงให้หา หมู ไก่ เป็ด ของทุกอย่างที่หาได้มารวมกันไว้ แล้วจัดบูชาเซ่นไหว้ด้ำพ่อแม่ด้ำปู่ย่า ด้ำทั้งหลายของตระกูล ด้ำใหญ่แห่งตระกูลขุน เจ้าฟ้าจัดพิธีไหว้อย่างใหญ่โต คุกเข่าก้มหัวลงให้ด้ำใหญ่แห่งตระกูลขุน และบอกกับปู่ฟ้าว่า กูก็ลงมาจากเมืองกอง ขออย่าให้พังพ่าย อย่าได้ต้องภัยใด ขอให้ได้เมืองได้บ้าน ให้ข้ามฟากนี้ไปได้ ปรารถนาใดก็ให้ได้เถิดเจ้าของกู เจ้าฟ้าแผดขวานคำของเจ้าของกูเอย’…
ปัญญาชนของชาวไทอาหมบางคนสันนิษฐานว่า เมด้ำเมผี เป็นพิธีกรรมโบราณในการบูชาบรรพบุรุษ ที่เกิดขึ้นตั้งแต่ยุคก่อนประวัติศาสตร์ แล้วเป็นมรดกร่วมเช่นเดียวกันกับกลุ่มคนไทในภูมิภาคเอเชียอาคเนย์ หรือกล่าวว่า เป็นการบูชาบรรพบุรุษที่ฝั่งแม่น้ำฮวงโหของอาณาจักรจุงเกา Chung Kuo ก่อนจะเป็นอาณาจักรจีนเมื่อประมาณ ๓,๓๐๐ ปีก่อนคริสตกาล พิธีนี้คล้ายกับพิธีเสนเมืองของไทดำ และไทอื่น ๆ ในเวียดนาม
ในตอนหนึ่งของ ลิก ลาย แปง กา กา และ อาหม-บุราญจี มีเนื้อความตอนกำเนิดเทพเจ้าจากไข่แดงตรงกันว่า แสงกำฟ้า ลูกคนที่สามของฟ้า ผู้สร้างจักรวาล ซึ่งได้เป็นกษัตริย์ปกครองเมือง ภายหลังขัดคำสั่งฟ้า จึงตายเป็นผี ลูกชื่อ แสงก่อฟ้า เมื่อตายกลายเป็น ด้ำผีเรือน
ตั้งแต่สมัยอาณาจักรเป็นต้นมา ทุกเดือนห้าตามปฏิทินไทอาหม จะทำพิธี เมด้ำ เมผี จะจัดขึ้นบริเวณ หอผี และ หอผีฟ้าเหนือหัว ที่ แจ้รายดอย สถานที่ซึ่งมี ม่อยด้ำ หลุมฝังศพอดีตกษัตริย์และราชวงศ์ การประกอบพิธีกรรมจะมีการสร้าง เรือนด้ำ ซึ่งเป็นสถานที่ติดต่อระหว่างลูกหลานกับด้ำบนฟ้า และทำพิธีบูชาเทพเจ้าและผี ด้วยสัตว์หลายชนิด เป็นเวลาเจ็ดวัน
หลังจากอาณาจักรไทอาหมสิ้นสุดลง และอัสสัมตกเป็นอาณานิคมของอังกฤษแล้ว บรรดาหมอก็ยังประกอบพิธี อุมฟ้า และ เมด้ำเมผี อย่างต่อเนื่องมาจนถึงปัจจุบัน………
งานเมด้ำเมผีในปัจจุบัน
เดิมพิธีเมด้ำเมผีมิได้กำหนดระบุวันแน่นอน หากกระทำกันในเดือน ๕ หรือตามปฏิทินของอัสสัมแล้วก็คือเดือน Phagun ตรงกับช่วงปลายเดือนกุมภาพันธ์หรือต้นเดือนมีนาคม แต่การกำหนดวันที่ชัดเจนเกิดขึ้นเมื่อผู้นำและปัญญาชนชาวไทอาหม ผลักดันให้พิธีกรรมเมด้ำเมผีเป็นพิธีสำคัญอย่างหนึ่ง เช่นเดียวกับพิธีกรรมตามความเชื่อศาสนาฮินดู ซึ่งมีการกำหนดวันจัดแน่นอน และได้รับการรองรับจากรัฐบาลให้เป็นวันหยุดราชการประจำปี
สภาหมอหลวงชาวไทอาหมทั้งปัตซากุและทั่วรัฐอัสสัม จึงกำหนดวันเพื่อประกอบพิธีกรรมเมด้ำเมผีพร้อมกัน และเสนอรัฐบาลของอัสสัมใน ค.ศ.๑๙๘๓ ให้รับรองว่า วันที่ ๓๑ มกราคม ของทุกปีเป็นวันจัดพิธีกรรมนี้”
ข้าพเจ้าขอตั้งสังเกตว่า พิธีเมด้ำเมผีดั้งเดิมอาจจะเกี่ยวพันกับ พิธีกรรมไหว้ ฟ้า/แถน ไหว้บรรพชน ไหว้ผีบ้านผีเมือง (เสนเมือง) พิธีกรรมในเทศกาล “วันสามเดือนสาม” 三 月 三 ของชาวจ้วง ในกวางสี
ซึ่งจะทำกันตั้งแต่ต้นเดือนสามจีน (มีนาคม) แต่ละหมู่บ้านจะจัดเวียนกันไปเพื่อไม่ให้ตรงกัน ชาวบ้านจากหมู่บ้านถิ่นอื่นจะได้มาร่วมงานได้ ในเทศกาลนี้จะมีการตีกลองมโหระทึก ไหว้ (บอกกล่าว) “ตัวฟ้า / โตผ่า” เพื่อให้ฟ้าฝนตกต้องตามฤดูกาล
ซึ่งเทศกาล/พิธีกรรมเหล่านี้ ก็คือต้นเค้าของ “สงกรานต์” และประเพณียิงบั้งไฟ ในประเทศไทย -ลาว นั่นเอง (หลังจากที่คนไทยดึกดำบรรพ์รับอิทธิพลวัฒนธรรมชมภูทวีปแล้ว ได้ยืมคำว่า “สงกรานต์” มาใช้) และก็อาจจะมีรากเหง้าร่วมกับพิธีเสนเมือง ของชาวไทดำ ในเวียดนามด้วย
พิธีเสนเมืองนั้น จะต้องฆ่าควายสองตัว เซ่นไหว้ พญาแถนกับเงือก (ผู้ควบคุมดูแลเรื่องน้ำ และการเดินทางของ “ผีขวัญ” กลับเมืองแถน”)
“หอผี” ใหญ่ของเมืองเชียงดงเชียงทอง (หลวงพระบาง) คือบริเวณที่ทุกวันนี้เป็น “วัดสังคะโลก” พระเจ้าวิชุลราช ทรงสั่งให้รื้อ หอผีและบ่อเงือกเสีย แล้วสร้างเป็นวัดพุทธศาสนาขึ้น และมีคำสั่งห้ามทำพิธีบูชาผี (ผีฟ้า/แถน) แต่ชาวลาวก็มิได้ละทิ้งการบูชาแถน ยังคงสืบทอดต่อมา
สรุป
พิธีเมด้ำเมผีนี้ เป็นส่วนหนึ่งของวัฒนธรรมแถน ที่ชาวไทอาหมยังคงสืบทอดอนุรักษ์ไว้ได้มาตราบถึงทุกวันนี้
พิธีพูราหลวงของชาวไทอาหมพิธี เมด้ำ ของชาวไทอาหม