นิทเช่ปรัชญาโลกสะเทือน (๒)

# นิทเช่ปรัชญาโลกสะเทือน (๒)

# ๑๐ บทเรียนจากนิทเช่

     “งูที่ไม่ลอกคราบจะตาย คนที่ถูกห้ามไม่ให้เปลี่ยนความคิดก็จะคิดไม่เป็น” (นิทเช่)

     นิทเช่ (1844-1900) ไม่ว่าใครจะเรียกว่าบ้าหรืออัจฉริยะ เขาคือ “ประกาศก” (prophet) ของยุคสมัยที่ได้รับความสนใจมากที่สุดในยุคหลัง ๆ  นี้ เขาเป็นนักปรัชญาที่กล้าที่สุดคนหนึ่ง งานของเขาปฏิวัติความคิดและประเมินคุณค่าสังคมใหม่หมด

     นิทเช่บอกใคร ๆ ไว้ว่า งานของเขาคงไม่ได้รับการยอมรับ พิมพ์ไปก็ขายไม่ออก เพราะมันเป็นงานสำหรับอนาคต สำหรับคนรุ่นต่อ ๆ ไป ซึ่งก็เป็นความจริง เพราะวันนี้แทบไม่มีใครไม่รู้จักชื่อนิทเช่ และคำว่า “พระเจ้าตายแล้ว” กับ “อภิมนุษย์” กลายเป็นสัญลักษณ์ของเขาไปแล้ว และกลายเป็น “เรื่องจริง” ของโลกวันนี้ที่คนเชื่อในพระเจ้า ในศาสนาน้อยลง คนแสวงหาคุณค่าและความหมายของชีวิตด้วยตัวเองมากยิ่งขึ้น

     นิทเช่ วางรากฐานให้แนวคิดเอ็กซิสท์และโพสโมเดิร์น เรื่องการมีชีวิตของปัจเจกบุคคลเป็นความรับผิดชอบเสรีที่กำหนดชีวิตด้วยเจตจำนงของตนเอง เขาปิดฉากอภิปรัชญาไปหาอภิมนุษย์ ลงสู่รูปธรรมที่สัมผัสได้ ลงรายละเอียดความผิดชอบในชีวิตของคนแต่ละคน

     ๑๐ บทเรียนจากนิทเช่ คือ แนวทางเพื่อการพัฒนาอภิมนุษย์ ศักยภาพอันยิ่งใหญ่ในตัวคน ในสังคม ในมนุษยชาติ ที่ต้องร่วมกันสร้างเพื่อให้เป็นคน เป็นสังคม เป็นมนุษยชาติที่เป็นอิสระเสรีที่แท้จริง

     ๑. ทำตัวให้ประสานสัมพันธ์  

     “คนเรายังต้องมีความวุ่นวายภายในเพื่อจะได้ก่อเกิดดวงดาวที่เต้นรำ” (One must still have chaos in oneself to be able to give birth to a dancing star)

     นิทเช่เชี่ยวชาญเทพปกรณัม วรรณกรรมกรีกโบราณ เขาใช้เรื่องราวในอดีตเพื่อเปรียบเทียบแนวคิดของเขาว่า ในตัวคนเรามีอยู่ 2 ด้าน ด้านอพอลโล ที่เป็นเหตุผล สำนึก ความรับผิดชอบ  อีกด้าน คือ ดีโอนิส ที่เป็นสัญชาตญาณ จิตใต้สำนึกและอารมณ์ เปรียบได้กับหยินและหยาง ทำอย่างไรให้เกิดความสมดุลระหว่างความเป็นระบบระเบียบ รับผิดชอบและเป็นเหตุเป็นผล กับความเป็นศิลปะ สร้างสรรค์ และอารมณ์ความรู้สึก

     เพื่อจะเปล่งประกายเหมือน “ดาวเต้นรำ” คุณต้องยอมรับความวุ่นวายภายใน (inner chaos) ค้นให้พบ และฟังความรู้สึกและญาณทัศนะของคุณเอง และฟังทั้งสองส่วน  บางครั้งเราฟังด้านหนึ่งมากเกินไป อีกด้านน้อยเกินไป  บางครั้งระบบระเบียบมากเกินไปจนไม่มีที่เพื่อการสร้างสรรค์ ขาดแรงบันดาลใจ  บางครั้งวุ่นวายจนไม่มีระบบระเบียบ

     เราต้องรู้ว่าเมื่อไรเหมาะที่จะใช้ด้านใด จัดการเรื่องบ้าน ครอบครัว ลูก การเงิน การงาน บางครั้งก็ออกไปเที่ยว พักผ่อนหย่อนใจ ทำตัวสบาย ๆ   คนเป็นสถาปนิก วิศวะ ทำงานเป็นระบบ แต่ก็ต้องการช่องว่างเพื่อการคิดสร้างสรรค์  อย่าปฏิเสธสองด้าน แต่จงใช้มันเพื่อตัวคุณเอง

     ๒. หลีกเลี่ยงการมีชีวิตแบบเรื่อยเปื่อย (reactive life) ใช้ชีวิตแบบไม่เป็นตัวของตัวเอง ไม่ซื่อสัตย์ต่อตัวเอง คุณอาจจะทำโน่นทำนี่ไม่หยุด แต่ว่างเปล่าภายใน ไม่มีเป้าประสงค์ คิดถึงเป้าหมายชีวิต กล้าเผชิญกับความเป็นจริง สู้กับอุปสรรคเพื่อจะได้สิ่งที่ต้องการจากชีวิต

     ทุกวันนี้เรามีเทคโนโลยี มีสิ่งอำนวยความสะดวก ความสนุกสนานรื่นเริงบันเทิงใจ ลองลดเวลาดูทีวี ดูมือถือลง ใช้เวลาให้น้อยลงกับเรื่องไร้สาระ กับคนที่ไม่มีสาระหรือที่เป็นพิษกับชีวิตคุณ หรือเลิกทนอยู่กับงานที่ไม่มีคุณค่ากับชีวิตในระยะยาว  ถามตัวเองว่าต้องการอะไรจริง ๆ ในชีวิต หยุดเป็นเพียง “ผู้ชม” แต่เป็น “ผู้แสดง” เอาชีวิตมาไว้ในมือคุณ

     ๓. หลีกเลี่ยงความขุ่นข้องหมองใจ ความไม่พอใจกับใคร ชชๆ แบบยาวนานไม่ยอมลืม เพราะมันเป็นพิษ เป็นวิธีคิดแบบทาส เครื่องหมายของความอ่อนแอ ทำร้ายตัวเอง คนเข้มแข็งจะลืมเรื่องเก่า เริ่มต้นใหม่ ไม่จดจำความผิดหวังขมขื่นนานเกินไป แก้ได้ด้วยการคิดบวก มีชีวิตที่เต็มเปี่ยม ไม่พะวงกับเรื่องเล็กที่มีผลลบต่อชีวิต ไม่ได้แปลว่าคุณไม่ทำอะไร แต่เมื่อว่ากล่าวหรือมีปฏิกิริยาแล้วก็จบ ไม่ปล่อยให้มันปั่นป่วนชีวิตยาวนาน

     ถ้ามีคนทำไม่ดีกับคุณก็ตอบโต้ได้ แล้วลืมมันเสีย ไม่ขุ่นเคืองอีก ไม่เป็นคนขี้บ่นได้ทุกเรื่องทุกวันไม่หยุด เพราะมันเป็นพิษทำร้ายตัวคุณเอง

     ๔. อย่าติดตามปรมาจารย์แบบตาบอด ไม่ว่าปรัชญาในอดีต นักปราชญ์ราชบัณฑิตสำนักไหน เรียนรู้ ศึกษาให้ดี แต่สุดท้ายให้สร้างปรัชญาของคุณเอง เหมือนตัวนิทเช่เองก็ทำเช่นนั้น เขาศึกษาปรัชญาตะวันตกอย่างลึกซึ้งแล้วมาคิดปรัชญาของเขาเอง

     บางครั้งต้องปฏิเสธของเก่า แม้เสี่ยงต่อการสูญเสียสถานภาพทางสังคม การเป็นตัวของตัวเองอาจจะเกิดขัดแย้งกับปรมาจารย์ในอดีตและปัจจุบัน อย่าตามใครแบบไม่ลืมหูลืมตา จงใช้ปรีชาญาณของปรมาจารย์เป็นเป็นแรงบันดาลใจให้ค้นหาปรัชญาของเราเอง

     ๕. จงตามหา “ทำไม” (why) ของคุณ แล้วคุณจะพบ “อย่างไร” (how) เมื่อคุณพบเหตุผลของการมีชีวิตอยู่ คุณก็สามารถอดทนต่ออะไรก็ได้ รับได้หมด จงมองตัวเองในกระจกแล้วภูมิใจในตัวเอง แล้วเดินตามดาวประจำทางของคุณ คุณจะพบชีวิตที่แท้จริง (authentic life)  ชีวิตตามเส้นทางกับคุณค่าของคุณ กับภายในตัวคุณเอง จริงใจกับตัวเอง คุณอาจไม่ถึงเป้าหมาย แต่คุณก็ได้เดินตามทางที่ใช่แล้ว ตามเสียงเพรียกแห่งชีวิต

     ๖. ความทุกข์ทำให้คุณเข้มแข็งขึ้น “อะไรที่ไม่ทำลายผม ทำให้ผมเข้มแข็งขึ้น” (What does not destroy me, makes me stronger)  เขาแนะนำให้เราเป็นเหมือนนกฟินิกส์ ที่พร้อมที่จะลุกจากเถ้าถ่าน คืนชีพ เพื่อเติบโต  เราต้องทำลายตัวเองเพื่อจะได้เกิดใหม่และเข้มแข็งกว่าเดิม

     ความเจ็บปวดทำให้เราเข้มแข็งกว่าเดิมถ้าเรารู้ว่าจะเรียนรู้จากมันอย่างไร  ทุกโอกาสเป็นการเรียนรู้ กระบวนการเรียนรู้เป็นการเปลี่ยนแปลง (transformative) ไม่คิดถึงแต่ผลลัพธ์ (outcomes)  ไม่ใช่ความสำเร็จหรือความล้มเหลวที่สำคัญที่สุด แต่บทเรียนที่ได้รับต่างหาก เราเรียนรู้และเติบโตอย่างไรตรงนั้น ล้มแล้วลุกเหมือนนกฟินิกส์

     ๗. หลีกเลี่ยงที่จะเป็นคนไม่ว่างตลอดเวลา จงใช้เวลา ๒/๓ เพื่อตัวคุณเอง ใครทำไม่ได้ก็อยู่ในวัฒนธรรมทาส ไม่เป็นอิสระ ไม่ว่าคุณจะมีอาชีพอะไร ต้องถามว่าทำงานหามรุ่งหามค่ำไปเพื่ออะไร เพื่อใคร ถ้าไม่ทำเพื่อตัวคุณเอง เพื่อความสุขความพอใจของคุณ ก็แสดงว่าไม่ใช่ ถ้าทำเพื่อเจ้านาย เพื่อองค์กร คุณก็เป็นทาสของพวกเขา

     ทาสจะทำในสิ่งที่คนอื่นบอก สั่ง ต้องการ ทำตามกฎคนอื่น ของสังคมแบบบอด ๆ ควบคุมชีวิตตนเองไม่ได้ ถ้าบอกว่าเพื่อตัวเองจะได้เงิน คุณก็เป็นทาสของเงิน คุณต้องการเงินเพื่อจะมีมากขึ้น บริโภคมากขึ้น ตามที่สังคมกระตุ้นคุณให้มีสิ่งที่ไม่จำเป็น

     ๘. จงมีชีวิตแบบยอมเสี่ยงบ้าง มีชีวิตดีที่สุดทุกวัน อยู่นอกเขตแดนสบาย (comfort zone) ของตัวเอง แสดงตนอิสระ ไม่ใช่เอาแต่ระแวดระแวงความมั่นคงปลอดภัยไปหมดตามที่ใคร ๆ เขาเตือน คนส่วนใหญ่ไม่อยากเสี่ยง มักขังตัวอยู่ในที่ปลอดภัย เลียนแบบคนอื่น ไม่คิดไม่ทำอะไรใหม่ ไม่ทำอะไรแตกต่าง ไม่เป็นตัวของตัวเอง ทำแตกต่างก็กลัวเขาว่า

     ๙. จงเป็นอภิมนุษย์ เป็นเป้าประสงค์ของตนและของมนุษยชาติที่จะสร้างอภิมนุษย์ เพื่อพัฒนาไปสู่เผ่าพันธุ์อภิมนุษย์ เป้าหมายร่วมที่นำมนุษยชาติไปข้างหน้า ทำเป้าหมายส่วนตัวให้เป็นส่วนหนึ่งของส่วนรวม ทำให้คุณมีคุณค่ามากกว่าเดิม

     ๑๐. ความสุขบนเส้นทางไปสู่เป้าหมาย ความสุขไม่ได้อยู่ที่เป้าหมาย แต่อยู่บนเส้นทางที่เป็นสุขได้ทุกเมื่อทุกย่างก้าว (เหมือนที่ปาสกัลบอก “ขอบฟ้ามิได้อยู่ที่สุดสายตาแต่อยู่ทุกย่างก้าวที่เราเดิน”) อยู่ที่กระบวนการไปสู่เป้าหมาย ไปสู่การเป็นอภิมนุษย์ในทุกขณะ

# บางบทเรียนนิทเช่

     นิทเช่ได้ทำนายไว้ว่า รัฐสังคมนิยมที่ขาดราก ปฏิเสธตัวเอง จะทำให้เกิดการสูญเสีย  รัฐที่รวบอำนาจเป็นองค์อธิปัตย์เบ็ดเสร็จทำให้เกิดปัญหาความรุนแรง  ระหว่างปี 1917-1975 ในประเทศระบอบนี้มีคนเสียชีวิตเพราะอำนาจรัฐประมาณระหว่าง ๕๐-๑๐๐ ล้านคน

     นิทเช่ไม่ใช่นักปรัชญาการเมือง แต่เขามองประวัติศาสตร์ในฐานะที่เป็นส่วนขยายของมนุษย์ไปเป็นมนุษยชาติ  เขาบอกว่า ใครที่พูดว่า “ชาติคือประชาชน” คือการโกหก มีแต่การเล่าเรื่องที่สร้างความหวาดกลัว เพื่อให้สามารถควบคุมประชาชน พร่ำสอนว่า รัฐเท่านั้นช่วยให้ประชาชนรอดให้ได้  ไม่ได้แตกต่างไปจากศาสนาที่สอนว่า พระเจ้าช่วยคนที่ยำเกรงพระองค์เท่านั้นให้รอด “ทุกอย่างที่รัฐพูดเป็นการโกหก ทุกอย่างที่รัฐมีก็ขโมยมา”

     นอกจากสังคมนิยม นิทเช่ยังบอกว่า เทพเจ้าที่มาแทนศาสนาอีกองค์ คือ ทุนนิยม ที่เอาเงินเป็นพระเจ้า กำไรสูงสุด โดยไม่สนใจความเป็นธรรมในการกระจายทรัพยากร โอกาสทางเศรษฐกิจสังคม

     รัฐสำหรับนิทเช่จึงเป็นเทพองค์ใหม่ (new idol) ที่จะให้ทุกอย่างแก่คนที่เคารพบูชา ดังที่คาร์ล จุง นักจิตวิทยาที่ได้รับอิทธิพลจากนิทเช่ที่บอกว่า “รัฐเกิดขึ้นมาแทนพระเจ้า คนเป็นทาสรัฐด้วยการกราบไหว้บูชา รัฐเหมือนศาสนจักรที่เรียกร้องให้เชื่อ เสียสละ ให้รัก ศาสนจักร ให้ยำเกรงพระเจ้า รัฐสร้างความสะพึงกลัว (terror)”

     ถ้านิทเช่เกิดมาวันนี้คงไม่แปลกใจที่เทคโนโลยีทำให้เกิด “สังคมก้มหน้า” เพราะเขารู้อยู่แล้วว่า สังคมมีวิธีการทำให้คนเป็นทาส สร้างกรอบกรงด้วยเทคโนโลยี  เขาคงบอกว่า ให้ลดเลิกหมกมุ่นอยู่แต่กับมือถือ กับไอที ให้หาเวลาออกไปดูธรรมชาติ ทุ่งนาป่าเขา ทะเลแม่น้ำ

     ทิ้งสื่อพวกนี้สักระยะหนึ่ง เพื่อให้รู้ว่า เราอยู่เหนือมัน ไม่ใช่มันอยู่เหนือเรา ให้มันรับใช้เรา ไม่ใช่เรารับใช้มัน เป็นทาสมัน

     การวิพากษ์ศาสนามีอยู่ทุกยุคสมัย แต่ที่ดู “รุนแรง” มากที่สุด คือ การวิพากษ์ของมาร์กซ์ ที่ว่าศาสนาเป็นยาเสพติด  ของนิทเช่ ที่ว่าพระเจ้าตายแล้ว  และของฟรอยด์ ที่ว่าศาสนาเป็นโรคประสาทชนิดหนึ่ง

     ในโลกยุคใหม่นี้ นักวิชาการอเทวนิยมและไม่มีศาสนาทั้งหลายประกาศว่า พระเจ้าและศาสนาเป็นสิ่งที่จิตมนุษย์สร้างขึ้นมาเอง เพื่อจะได้ช่วยบรรเทาปัญหาชีวิต เพื่อเป็นเครื่องมือควบคุมทางสังคม หรือด้วยเหตุผลอื่นที่ไม่ใช่เพราะ “ศรัทธา” และความเชื่อดังที่ศาสนิกพยายามอธิบาย

     และดูเหมือนว่า คนจำนวนมากอยู่ภายใต้สังคมที่ไม่มีศาสนา (secularized) จึงเห็นคุณค่าของปรัชญานิทเช่ โดยเฉพาะแนวทางเพื่อไปสู่ “อภิมนุษย์” ซึ่งไม่ได้เหมือนกับบรรดาไลฟ์โค้ชเขาสอนกัน เพราะสิ่งที่นิทเช่พูดนั้นล้ำลึกกว่า ไม่ได้มีจุดมุ่งหมายทางธุรกิจหรือความสำเร็จภายนอก แต่เพราะเป็น “แก่นของความเป็นมนุษย์” เป็นคุณค่าและความหมายของการมีชีวิตจริง ๆ

# ภาษาภาษิตของนิทเช่

     “คนที่เต้นรำถูกหาว่าบ้า เพราะคนที่กล่าวหานั้นไม่ได้ยินเสียงดนตรี” “จะต้องมีดนตรีในตัวเองเพื่อให้โลกเต้นรำ” “คนที่มีความจำเท่านั้น ที่คิดเรื่องอนาคตได้”

     “ใครรบกับมังกรมากไปก็จะกลายเป็นมังกรเสียเอง” “เมื่อรบกับผีร้าย ระวังไม่เป็นผีร้ายเสียเอง ถ้าเธอเพ่งไปในหุบเหวนาน ๆ หุบเหวจะเพ่งกลับมาที่เธอ”

     “ไม่ใช่ความสงสัย แต่ความจริงต่างหากที่ทำให้คนเป็นบ้า” “บางครั้งคนไม่ต้องการได้ยินความจริง เพราะมันทำลายความเพ้อฝันของเขา” 

     “มีชีวิตเป็นทุกข์ เพื่อจะอยู่รอดก็ต้องหาความหมายของความทุกข์นั้น” “งูที่ไม่ลอกคราบจะตาย คนที่ถูกห้ามไม่ให้เปลี่ยนความคิดก็จะคิดไม่เป็น”

     “คนหนุ่มสาวรักอะไรที่สนุกและแปลก ไม่ว่าจริงหรือไม่จริง ผู้ใหญ่ก็รักสิ่งที่น่าสนใจและแปลกเกี่ยวกับความจริง คนที่เติบโตทางความคิดแล้วจะรักความจริง แม้มันเรียบง่ายและน่าเบื่อสำหรับคนทั่วไป เพราะพวกเขาได้พบว่า ความจริงมักจะเปิดเผยให้เห็นปรีชาญาณสูงสุดโดยปลอมตัวมาในความเรียบง่าย”

     “คุณมีทางของคุณ ฉันมีทางของฉัน ส่วนทางที่ถูก ทางที่ใช่ และทางเดียวเดี่ยว ๆ นั้นไม่มี”

เสรี พพ  ๑๑ เมษายน  ๒๐๒๑

WP2Social Auto Publish Powered By : XYZScripts.com