น้ำหมากนาว
“ชัด การชนะ” : เรื่อง / ศิลป์วัตร วิศาลศักดิ์ : ลายเส้น
การทำมาหากินของผู้คน “ทางอีศาน” มักจะใช้ภูมิปัญญาเข้ามาเกี่ยวข้องอยู่ทุกเรื่อง เช่นการทำเครื่องมือจับสัตว์ การปรุงอาหาร การถนอมอาหารไว้กินนาน ๆ รวมถึงการเลือกพืชผักตามธรรมชาติ มาเป็นเครื่องเคียงกับอาหารประเภทต่าง ๆ ล้วนแต่เป็นการใช้ภูมิปัญญาทั้งสิ้น นายแพทย์แผนปัจจุบันเคยรวมกลุ่มศึกษาเรื่องพฤติกรรมการกินอาหารของ “คนทางอีศาน” เช่น การกินลาบ ก้อย ซึ่งมีโปรตีนจากเนื้อสัตว์ล้วน ๆ ถ้าคนกินโปรตีนมากเกินไป จะทำให้เกิดโรคกระดูกผุได้ แต่ “คนทางอีศาน” เขาก็มีวิธีกำจัดโปรตีนให้น้อยลงโดยกินผักที่มีรสฝาดตามท้องถิ่นที่เกิดเองตามธรรมชาติ เช่น ผักเม็ก ผักกระโดน ผักอีเลิด (ชะพลู) สะเดา หรือผักที่มีรสฝาดอื่น ๆ อีกนับไม่ถ้วน ซึ่งนายแพทย์ทั้งหลายสรุปว่าการกินผักที่มีรสฝาด ซึ่งมีสาร “ออกซาเลต” มาก สารตัวนี้จะไปกำจัดโปรตีนให้ลดลง ทำให้ไม่เกิดผลเสียต่อกระดูกได้ คนโบราณทางอีศานยังรู้อีกว่า ถ้ากินผักรสฝาดมาก แต่กินอาหารมีโปรตีนน้อย สารออกซาเลตจะก่อให้เกิดโรคนิ่วได้ นายแพทย์ยุคปัจจุบันจึงยอมรับ และทึ่งในภูมิปัญญาของผู้คน “ทางอีศาน” ที่เขาคิดเขาใช้กันมานานเป็นร้อยเป็นพันปีมาแล้ว
พ่อเฒ่าพัน ผู้มากล้นทางภูมิปัญญา ได้ศึกษาค้นคว้า สอนลูกสอนหลานให้รู้จักคิด รู้จักใช้ภูมิปัญญาที่บรรพบุรุษได้บอกสอนสืบต่อกันมา จนชาวบ้านต่างยอมรับในภูมิรู้ของพ่อเฒ่าพันมาก พ่อเฒ่าพันแกมีลูกเขยชื่อ บักทิดแพง ซึ่งเป็นชาวบ้าน ทำไร่ ทำนา ไม่ได้เล่าเรียนสูงเหมือนคนอื่น แต่มันก็ชอบศึกษาเรื่องภูมิปัญญาชาวบ้าน ตามแนวทางของพ่อเฒ่าพันที่บอกสอนมาหลายเรื่องอย่างต่อเนื่อง จนเกิดผลดีต่อการทำมาหาเลี้ยงชีพได้อย่างราบรื่นเรื่อยมา
“แพงเอ้ย ยามนี้หน่อไม้มีหลาย ไปหาไปสับมาเฮ็ดหน่อไม้ส้ม (หน่อไม้ดอง) ไว้กินแหน่เด้อ ! ”
พ่อเฒ่าพันบอกบักทิดแพง บักทิดแพงก็ไม่รอช้า ไปจัดการหาหน่อไม้ไผ่ตาม หัวไร่ปลายนา มาจัดแจงเพื่อทำหน่อไม้ส้ม (หน่อไม้ดอง)ทันทีตามที่พ่อเฒ่าพันบอก พ่อเฒ่าพันก็ชื่นชมบักทิดแพงยิ่งนัก ที่มันเป็นคนว่าง่าย บอกสอนได้…
“เอามีดฝานหน่อไม้ อย่าให้มันบางหลายเด้อ ให้เห็นเป็นแท่งเป็นต่อนได้เคี้ยวแหน่ มันจั่งแซบ” พ่อเฒ่าพันยํ้า บักทิดแพงก็ทำตามที่พ่อเฒ่าบอก โดยฝานเป็นแว่นบ้าง เป็นแท่ง เป็นท่อนเล็ก ๆ บ้าง ให้พอดีคำและเคี้ยวได้สะดวก
“เออ…แพง…โต๋ ฮู้วิธีเฮ็ดหน่อไม้ส้ม โดยบ่ให้หน่อไม้แหล่ (เขียวคลํ้า) ฮึบ่ ?” พ่อเฒ่าพันตั้งกระทู้ถามบักทิดแพง
“บ่ฮู้…บ่จั๊ก!” บักทิดแพงตอบห้วน ๆ พ่อเฒ่าพันก็ว่าต่อ…
“ถ้าโต๋บ่ฮู้ พ่อสิบอกวิธีเด้อ…มันเป็นภูมิปัญญามาแต่โบ๋ราณ อาหารบางอย่างโดยเฉพาะหน่อไม้ หัวปลีเวลานำมาปรุง หรือประกอบอาหาร มักสิแหล่ ดำ เขียวคลํ้า บ่เป็นต๋าแซบ (ไม่น่ากิน ไม่น่าอร่อย) คนทางอีศานเขาแก้ได้โดยใช้นํ้าหมากนาว ซึ่งถ้าบีบนํ้าหมากนาวใส่นํ้าแช่ไว้ หน่อไม้ หรือหัวปลีสิบ่แหล่เลย…ให้โต๋จื่อจำเอาไว้ แหม่นหยังคือกัน ถ้าบ่อยากให้แหล่ นํ้าหมากนาวซ่อยบ่ให้แหล่ได้เสมอ!”
“แหม่นบ้อ พ่อเฒ่า?” บักทิดแพงแย้งทันที
“อีหลี เซื่อพ่อโลด!” พ่อเฒ่าพันยืนยัน
“ถ้าหำแหล่เด๋? บีบหมากนาวใส่ หำก่ะสิขาวขึ้นตี้!”บักทิดแพงว่า
พ่อเฒ่าพันได้ยินแล้วลมออกหู “บักแพง! บักห่ากิ๋นหัวมึง!”