กรณีปราสาทพระวิหาร

ทางอีศาน ฉบับที่ ๑๑ ปีที่๑ ประจำเดือนมีนาคม ๒๕๕๖

ศ. สุวิทย์ ธีรศาศวัต ได้เขียนถึง “กรณีประสาทพระวิหาร” ไว้เมื่อ พ.ศ. ๒๕๕๑ ขณะนั้นเหตุการณ์พิพาท ๔.๖ ตร. กม. กำลังปะทุร้อนแรงทหารไทยประมาณ ๒,๕๐๐ นาย ทหารกัมพูชา ๓,๐๐๐ นาย ยกกำลังเข้าเผชิญหน้ากันที่ชายแดนและรัฐบาลกัมพูชาได้นำเรื่องพื้นที่ที่อ้างสิทธิทับซ้อนกันขึ้นฟ้องต่อสหประชาชาติ

โดย ศ. สุวิทย์ ธีรศาศวัต ได้ย้อนเล่าเรื่องราวตั้งแต่ปี พ.ศ. ๒๕๐๕ ความโดยย่อว่า

“คำพิพากษาศาลโลก ๑๕ มิถุนายน ค.ศ. ๑๙๖๒ ศาลโลกได้มีคำพิพากษาด้วยคะแนนเสียง ๙ ต่อ ๓ ว่า

๑. ปราสาทพระวิหารตั้งอยู่ในอาณาเขตภายใต้อธิปไตยของกัมพูชา”

๒. ประเทศไทยมีพันธะที่จะต้องถอนทหารหรือตำรวจผู้เฝ้าหรือดูแล ซึ่งประเทศไทยส่งไปประจำอยู่ที่ปราสาทพระวิหาร หรือในบริเวณใกล้เคียงบนอาณาเขตของกัมพูชา

เหตุผลที่ผู้พิพากษา ๙ ท่านตัดสินให้กัมพูชาชนะคดี สรุปได้ดังนี้

๑. ปราสาทพระวิหารตั้งอยู่ในเขตแดนของกัมพูชา ตามแผนที่ของฝรั่งเศสที่ตีพิมพ์ใน ค.ศ. ๑๙๐๘ ตามสนธิสัญญาไทย – ฝรั่งเศส ค.ศ. ๑๙๐๔ และ ๑๙๐๗ แผนที่นี้เกิดจากการทำงานของคณะกรรมการปักปันเขตแดนไทย – ฝรั่งเศส* รัฐบาลไทยขณะนั้นยังไม่มีเครื่องมือในการทำแผนที่เพียงพอจึงขอร้องให้พนักงานฝ่ายฝรั่งเศสจัดทำแผนที่บริเวณดังกล่าวขึ้น ตามรายงานการประชุมคณะกรรมการปักปันเขตแดนไทย – ฝรั่งเศส เมื่อวันที่ ๒๙ พฤศจิกายน ค.ศ. ๑๙๐๕

๒. แผนที่ฝรั่งเศส ค.ศ. ๑๙๐๘ ทางการฝรั่งเศสให้บริษัทอาซูบาร์แรธ์พิมพ์ ๑๖๐ ชุด ชุดละ ๑๑ แผ่น ทางการฝรั่งเศสส่งให้ทูตไทยที่กรุงปารีส ๕๐ ชุด ทูตได้จัดส่งให้ทูตไทยที่อังกฤษเยอรมนี รัสเซีย สหรัฐฯ และส่งกลับมาถวายกรมพระยาเทววงศ์วโรปการ เสนาบดีว่าการกระทรวงการต่างประเทศไทย เพื่อแจกจ่ายให้ข้าราชการระดับสูงของไทย สมเด็จกรมพระยาดำรงราชานุภาพ เสนาบดีกระทรวงมหาดไทยก็ทรงได้รับ ๓๑ชุด และยังขอบใจทูตฝรั่งเศสและทรงขอเพิ่มอีก ๑๕ ชุด เพื่อส่งให้ข้าราชการระดับสูงที่เกี่ยวข้องกับภูมิภาค ต่อมาใน ค.ศ. ๑๙๐๙ ได้มีการตั้งคณะกรรมการถอดอักษรแผนที่** ซึ่งมีทั้งผู้เชี่ยวชาญฝ่ายฝรั่งเศสและฝ่ายไทย รวมทั้งสมเด็จกรมพระยาดำรงราชานุภาพ และกรมพระยาเทววงศ์วโรปการ ก็อยู่ในคณะกรรมการดังกล่าวด้วย คณะกรรมการชุดนี้ต้องการปรับภาษาที่ใช้ในแผนที่เพื่อให้ใช้ได้ทั้งไทย กัมพูชา ฝ่ายไทยไม่เคยคัดค้านเรื่องเส้นเขตแดนในแผนที่ดังกล่าวเลย

๓. ใน ค.ศ. ๑๙๓๐ (๒๔๗๓) สมเด็จกรมพระยาดำรงราชานุภาพและคณะได้เสด็จชมปราสาทพระวิหาร ผู้ว่าราชการเมืองกำปงธม ซึ่งเป็นชาวฝรั่งเศส แต่งเครื่องแบบเต็มยศ มารับเสด็จที่ตีนบันไดขึ้นปราสาทพระวิหาร ด้านหลังมีธงชาติฝรั่งเศส มีการฉายพระรูป ซึ่งต่อมาพระองค์ได้ส่งรูปถ่ายดังกล่าวมาให้ผู้ว่าราชการเมืองกำปงธม และขอบใจที่เขาต้อนรับเป็นอย่างดี โดยมิได้ทักท้วงเรื่องฝรั่งเศสปักธงชาติฝรั่งเศสไว้ที่ปราสาทพระวิหาร

๔. แผนที่ซึ่งกรมแผนที่ไทยจัดพิมพ์ขึ้นเองใน ค.ศ. ๑๙๓๗ (๒๔๘๐) ก็ปรากฏว่าปราสาทพระวิหารอยู่ในเขตกัมพูชา

๕. แผนที่ซึ่งคณะผู้แทนไทยเสนอต่อคณะกรรมการประนอม (ซึ่งประกอบด้วยชาติเป็นกลาง ๓ ชาติ ไทย ฝรั่งเศสชาติละ ๓ คน ซึ่งประชุมที่กรุงวอชิงตัน ใน ค.ศ. ๑๙๔๖ เพื่อไกล่เกลี่ยปัญหาดินแดนไทย – ฝรั่งเศส บริเวณแม่น้ำโขง) แผนที่นี้ปราสาทพระวิหารก็อยู่ในเขตกัมพูชา

ศาลพิจารณาหลักฐานคือแผนที่ฝรั่งเศสดังกล่าวรวมทั้งแผนที่ไทยที่กัมพูชาอ้าง ก็ล้วนระบุว่าปราสาทพระวิหารอยู่ในเขตกัมพูชา หากแผนที่ดังกล่าวไม่ถูกต้องทำไมจึงไม่ทักท้วง ปล่อยให้เนิ่นช้ามา ๕๐ กว่าปี ศาลจึงต้องถือว่าได้ให้ความยินยอมโดยการนิ่งเฉยแล้ว ดังภาษิตลาตินที่ว่า “ผู้ที่เงียบเฉยย่อมถือว่ายินยอม*** ถ้าเขามีหน้าที่ที่จะพูดและสามารถจะพูดได้”

ความเห็นแย้งของผู้พิพากษา ส่วนผู้พิพากษาศาลโลกอีก ๓ ท่าน มีความเห็นแย้งด้วยเหตุผลดังนี้

๑. ปัญหาที่ศาลจะต้องวินิจฉัย คือ เส้นเขตแดนไทย – กัมพูชา หลักฐานที่กัมพูชาอ้างคือ แผนที่ฝรั่งเศส ค.ศ. ๑๙๐๘ แต่หลักฐานที่ไทยอ้างคือ เส้นเขตแดนที่ลากตามเส้นสันปันน้ำซึ่งสัญญาไทย – ฝรั่งเศส ค.ศ. ๑๙๐๔ และ ๑๙๐๗ ระบุให้ใช้สันปันน้ำ ถ้าลากเส้นตามสันปันน้ำปราสาทพระวิหารอยู่ในเขตไทย เมื่อมีความขัดแย้งระหว่างแผนที่แนบท้ายสนธิสัญญากับตัวบทของสนธิ
สัญญา อันไหนสำคัญกว่า ? ตามสัญญาแวร์ซายส์ ลงวันที่ ๒๘ มิถุนายน ค.ศ. ๑๙๑๙ ข้อ ๒๙ ระบุไว้ชัดเจนว่า ถ้าตัวบทขัด
กับแผนที่ให้ใช้ตัวบทเป็นหลัก นั่นคือต้องใช้สันปันน้ำตามที่ฝ่ายไทยอ้าง

๒. แผนที่ฝรั่งเศส ค.ศ. ๑๙๐๘ ไม่ได้ลงนามโดยผู้เชี่ยวชาญแผนที่ที่ได้รับมอบหมายอำนาจ ผู้แทนของสองประเทศก็มิได้ลงนามในแผนที่ดังกล่าว และแผนที่ก็มิได้ระบุวันที่ แผนที่นี้ฝรั่งเศสจัดทำและพิมพ์ขึ้นฝ่ายเดียว จึงไม่อาจเอามาเป็นหลักฐานได้

๓. ที่ตั้งปราสาทอยู่บนภูเขา ด้านหน้าผาอยู่ทางกัมพูชาสูงกว่า ๕๐๐ เมตรขึ้นได้ยาก แต่ด้านหน้าและบันไดทางขึ้นอยู่ทางฝ่ายไทยขึ้นง่ายกว่ามาก ถ้ายกปราสาทพระวิหารให้กัมพูชา กัมพูชาก็ขึ้นไม่ได้ ขัดแย้งต่อหลักการใช้เขตแดนธรรมชาติ

ปฏิกิริยาจากฝ่ายไทย จอมพลสฤษดิ์ ธนะรัชต์ นายกรัฐมนตรีไทยออกแถลงการณ์ในวันที่ ๔ กรกฎาคม ๑๙๖๒ ยอมรับคำตัดสิน… แต่อย่างไรก็ตาม ในแถลงการณ์ไทยรักษาเหลี่ยมเอาไว้คือ “ขอสงวนสิทธิอันชอบธรรมของประเทศไทยในเรื่องนี้ไว้ เพื่อสงวนสิทธิที่จะดำเนินการทางกฎหมายที่จำเป็น ซึ่งอาจจะมีขึ้นในภายหน้า ให้ได้กรรมสิทธิ์นี้กลับคืนมาตามโอกาสอันควร”

สรุป ปัญหาปราสาทพระวิหารเป็นกับระเบิดที่จักรวรรดินิยมฝรั่งเศสได้วางเอาไว้ตอนลงนามในสนธิสัญญา ๑๓ กุมภาพันธ์ ค.ศ. ๑๙๐๔ กำหนดให้ใช้สันปันน้ำเป็นเขตแดนไทย – ฝรั่งเศส แต่ตอนทำแผนที่กลับขีดเอาปราสาทพระวิหารไปอยู่ในเขตฝรั่งเศส เมื่อฝ่ายไทยไม่ทักท้วงตลอดเวลา ๕๐ กว่าปีหลังลงนามในสนธิสัญญา ศาลโลกจึงตัดสินให้ปราสาทพระวิหารเป็นของกัมพูชาตามแผนที่ฝรั่งเศส ค.ศ. ๑๙๐๘…”

ประเด็นความขัดแย้งระหว่างไทยกับกัมพูชายืดเยื้อมาตั้งแต่ยุคอาณานิคมและสงครามเย็น จากนั้นเกิดปมพิพาทกันตลอดมา นอกจาก “กรณีปราสาทพระวิหาร” ยังมีพื้นที่ที่อ้างสิทธิทับซ้อนตลอดเส้นเขตแดนทั้งทางบกและทางทะเล

การแก้ไขปัญหาความขัดแย้งระหว่างประเทศหากทั้งสองฝ่ายรับฟังเหตุผลและเคารพในความคิดเห็นที่ถูกต้อง โดยยึดเอาผลประโยชน์ของชาติและประชาชนเป็นตัวตั้งแล้ว เชื่อว่าจะสามารถบรรลุข้อตกลงกันได้ และจะนำพามาซึ่งความผาสุก ความรุ่งเรืองร่วมกันอย่างยั่งยืนสืบไป.

ด้วยจิตคารวะ
บรรณาธิการอำนวยการ

* คณะฝรั่งเศสมี ๒ ชุด ชุดแรกเรียกว่า Bernard Mission (๑๙๐๔) คณะที่ ๒ เรียกว่า Montguers Mission (๑๙๐๗) ส่วนของไทย มีนายพลตรี ม.จ.บวรเดช เป็นข้าหลวงใหญ่ มีพ.ต.หลวงสุรยุทธโยธาหาญ เป็นหัวหน้าการแผนที่และหัวหน้าสำรวจใน ค.ศ. ๑๙๐๗

** คณะกรรมการถอดอักษร ได้รวบรวมผลงานทั้งหมดของคณะกรรมการปักปันเขตแดนไทย – ฝรั่งเศส ทั้ง ๒ ชุด คือชุด ๑๙๐๔ และ ๑๙๐๗ ไว้ด้วยกัน เพื่อจัดทำแผนที่ขนาดกะทัดรัดและเพื่อให้ความหมายถูกต้องตรงกัน

*** ในทางกฎหมายเรียกว่า Estoppel หรือที่นักกฎหมายไทย เรียกว่า กฎหมายปิดปาก

Related Posts

เปิดตัวหนังสือ “มหากาพย์ชนชาติไทฯ”
กำเนิดจักรวาล
จาก “นายผี” ถึง “ทางอีศาน”

Leave a Reply

This site uses Akismet to reduce spam. Learn how your comment data is processed.

WP2Social Auto Publish Powered By : XYZScripts.com