หมู่บ้าน มีร่างกาย ภูมิปัญญา และจิตวิญญาณ
บทบรรณาธิการ : Editorials
นิตยสาร “ทางอีศาน” ฉบับที่ ๔๗
ปีที่ ๔ ประจำเดือนมีนาคม ๒๕๕๙
ฉบับ: อัตลักษณ์อีสานและการพัฒนาทางวัฒนธรรม
ประเทศไทยมีจำนวนหมู่บ้าน ๗๔,๙๖๕ หมู่บ้าน มี ๗,๒๕๕ ตำบล มี ๘๗๘ อำ เภอ มี ๗๖ จังหวัด โดยมีราษฎรทั้งราชอาณาจักร ๖๕,๑๒๔,๗๑๖ คน (ประกาศของอธิบดีกรมการปกครอง, ๕ มีนาคม ๒๕๕๘)
เขตการปกครอง “หมู่บ้าน” และ “ตำบล” อาจเรียกว่าชุมชนชนบท ประกอบไปด้วยชาวไร่ชาวนาชาวสวนและผู้รับจ้างขายแรงงาน ซึ่งมีประชากรรวมกันมากกว่าชุมชนคนเมืองหลายเท่า
หลังฤดูเก็บเกี่ยว หากปีใดข้าวปลาอาหารพืชพรรณอุดมดี ผลิตผลต่าง ๆ ขายได้ราคา ชาวบ้านร้านตลาดในตัวอำเภอในจังหวัด ไม่ว่าไทย จีน ญวนแขก และฝรั่ง ฯลฯ ก็ต่างหน้าชื่นตาบาน แต่หากตรงกันข้าม “หมู่บ้าน” เกิดประสบภัยแล้งนํ้าท่วม ไม่มีข้าวในนา ยางพาราราคาตก ยุโรปเลิกซื้อมันสำปะหลัง ชีวิตคนเมืองย่อมเหี่ยวแห้งตามไปด้วย
เมื่อ ๒๐ ปีที่แล้ว เมืองไทยของเราประสบวิกฤตเศรษฐกิจ “ต้มยำกุ้ง” “ฟองสบู่แตก” สาเหตุมาจากยุคโลกาภิวัตน์ ประเทศใหญ่ครอบกินประเทศเล็ก คนเมืองนำทรัพยากรของชาติไปเล่นแร่แปรธาตุ ใช้เงินต่อเงิน จนทำให้ประเทศแทบล้มละลาย ซึ่งในครั้งนั้นเราก็ได้ “หมู่บ้าน” รองซับรักษาความทุกข์ร้อนของผู้คนพลเมือง พิสูจน์ตัวตนการดำรงอยู่ของ “หมู่บ้าน” ว่า แม้เกิดเหตุเภทภัยใหญ่หลวงคนในชุมชนก็ยังมีอยู่มีกิน ได้ตั้งสติ และมีโอกาสลุกยืนขึ้นอีกครั้ง
ทั้งนี้เพราะ “หมู่บ้าน” ยังมีผืนดิน แม่นํ้า ป่าไม้ และอากาศบริสุทธิ์
ทั้งนี้เพราะ “หมู่บ้าน” ยังมีครอบครัว เครือญาติมีระบบระเบียบยึดโยงผู้ใหญ่ผู้น้อย ผู้นำผู้ตาม และค่านิยมทางเพศสภาวะที่ทรงคุณธรรม
ทั้งนี้เพราะ “หมู่บ้าน” มีรากเหง้า นิทานตำนาน คำสอนสั่งทางศาสนา ประเพณีฮีตคอง และธรรมนูญชีวิตทุกด้าน ที่คอยกำกับและบ่มเพาะให้คนมีความรู้ ให้คนมีความเป็นผู้ดีมีศีลธรรม
ทั้งนี้เพราะ “หมู่บ้าน” มีศรัทธาในสิ่งศักดิ์สิทธิ์ เชื่อมั่นในอุดมการณ์ของวีรบุรุษทางวัฒนธรรม “…พระอุปคุตคือต้นแบบความไม่ท้อถอยต่ออุปสรรค พระมาลัยคือต้นแบบผู้มีบุญสามารถสัญจรได้ทั่วทั้งโลกมนุษย์สวรรค์นรก พระเวสสันดรคือต้นแบบของการเสียสละ…” (งานวิจัย “ถอดรหัสวัฒนธรรมในผ้า ผะเหวดสำนวนผู้ไทและสำนวนลาวอีสาน” โดย ผศ.ดร.จารุวรรณ ธรรมวัตร และคณะ, มหาวิทยาลัยมหาสารคาม, ๒๕๕๘)
ดังนั้น ท่ามกลางความอ่อนแอในทุกองคาพยพของสังคมไทยปัจจุบันนี้ สังคมเมือง ผู้มีฐานะได้เปรียบทางสังคมต้องหยุดพฤติกรรมคดโกงขูดรีด กอบโกยโภคทรัพย์จาก “หมู่บ้าน” ต้องเลิกดูถูกกดทับทางวัฒนธรรม ทางชาติพันธุ์ และทางอุดมการณ์ ต้องหันกลับมาร่วมสร้างและคืนคงความเข้มแข็งให้ “หมู่บ้าน” เพื่อทุกภาคส่วนจะได้ผลิตองค์ความรู้ใหม่ ๆ และพลังชีวิตจิตใจใหม่ ๆ มาฉุดดึงให้พวกเราสลัดหลุดพ้นจากหล่มโคลนตมอันโสมมได้เสียที
น้อมจิตคารวะ
บรรณาธิการอำนวยการ