บทวิจารณ์แนวอรรถสาระ~สัจจนิยม~ชาติพันธุ์วรรณนา “ทาง”…หมาเก้าหาง ดั้นเมฆฟ้า (๒)
บทวิจารณ์แนวอรรถสาระ~สัจจนิยม~ชาติพันธุ์วรรณนา “ทาง”…หมาเก้าหาง ดั้นเมฆฟ้า (๒)
อีกหนึ่งตัวอย่าง ที่ดูง่าย ๆ แต่ก็ลึกซึ้ง คือบทกวีที่มีชื่อว่า “เล่นนอก” เป็นบทกวีที่ผู้เขียนชื่นชอบมากเป็นพิเศษอีกบทหนึ่ง
“เล่นนอก” มิได้เป็น “บทคารวาลัย” แต่เป็นบทกวีคำกลอนสั้น กระชับ ที่ ปรีดา ข้าวบ่อ เขียนถึง คุณ “ทองแถม นาถจำนง” เพื่อนร่วมน้ำหมึก น้ำมิตร และสหายร่วมใจ ร่วมอุดมการณ์ ด้วยอารมณ์รักที่จริงใจและจริงจัง ‘อารมณ์รัก’ ในที่นี้คือในฐานะเพื่อนร่วมทุกข์~ร่วมสุข อาจจะ ‘ร่วมสุข’ น้อยบ้างมากบ้างเมื่อหนังสือคลอดออกจากโรงพิมพ์ได้สำเร็จ หรือเมื่อร่วมวง ‘ดื่ม’ แล้วถกสารพันปัญหาด้วยกัน หากอ่านพินิจให้ลึกก็ดูเหมือนทั้งสองสหายจะ ‘ร่วมทุกข์’ ด้วยกันอยู่ค่อนข้างมาก
บทกวี “เล่นนอก” สื่อความหมายของการเป็น ‘เพื่อนร่วมทุกข์’ ที่ลึกซึ้ง เชิดชูความหมายของการเป็น ‘สหาย~กัลยาณมิตร’ ที่ร่วมฝ่าฟัน สร้างสรรค์ ต่อสู้ร่วมกัน เมื่อมีปัญหาแล้วก็ไม่ทอดทิ้งกัน เป็นความลึกซึ้งยวดยิ่งของการเป็น ‘สหายร่วมอุดมการณ์’ ปฏิสัมพันธ์เช่นนี้ เราต่างโหยหา นำพาซึ่งกันและกัน ร่วมประคับประคองกันไป เพื่อดำเนินภารกิจอันมุ่งมั่นให้ได้ไกลแสนไกล จนถึงวินาทีสุดท้ายของชีวิตร่วมกัน การจะชนะหรือไม่ชนะไม่สำคัญนักสำหรับอารมณ์รักระหว่างมิตรร่วมรบ จะบรรลุชัยที่ใฝ่ฝันได้หรือไม่ในเร็ววัน ก็มีความสำคัญไม่แพ้กระบวนการที่ได้ร่วมฝ่าฟันอุปสรรคนานัปการ เคียงบ่าเคียงไหล่กัน จนมาถึงวันนี้ได้…
“เขาชอบแต่งกายมอซอ
แว่บวับลับล่อทั่วทุกหน
ไม่ใช่คนร้ายคนสัปดน
เขาเช่นพลเมืองดีทั่วไป
วันวันวะวุ่นวะวาย
สับส่ายซ้ายขวาคว้าไขว่
หามือถือปัดหยากไย่อยู่ไวไว
กองหนังสือเก่าใหม่พอกพะเนิน
ยามนั่งเขียนอ่านหนังสือ
ค้นรื้อเอกสารนั้นนานเนิ่น
กดแป้นเครื่องคอมฯเพลิดเพลิน
ก้นบุหรี่ล้นเกินจานรอง
ใต้โต๊ะขวดสุราหลายหลาก
เหลือมากเหลือน้อยรอฉลอง
ไม่ขะลำเหล้าในนอกแม้ยาดอง
รินใส่ฝายกถองฉ่ำใจ
นานวันลุกออกจากบ้าน
สังสันทน์การงานไกลใกล้
เหนือใต้ “ทางอีศาน” ม่วนไป
เขาคือใคร? ชายผมสีดอกเลา”
จะเห็นได้ว่า “เพื่อนร่วมทุกข์ร่วมสุข” ทั้งสองคนนี้รักกันจริงจัง และในบทกวีนี้ ปรีดาก็ ‘ถอดรหัส’ อัตลักษณ์บุคคลของ “ท่าน บ.ก.ทองแถม” ออกมาได้อย่างน่าพิศวง ทุกถ้อยกวีที่ปรีดาบรรยายไว้ คือ “รหัสประจำตัวตน” ของทองแถม นาถจำนง โดยแท้จริง
จากความเป็นเพื่อนร่วมทุกข์ร่วมสุข ‘ร่วมวงน้ำหมึก’ ที่สะท้อนผ่านออกมาทางบทกวีในลักษณะข้างต้นนี้ เราก็จะเห็นว่ามันคือ ‘ตัวตน’ ของ นิตยสาร “ทางอีศาน” ผลผลิตของการร่วมทุกข์ร่วมสุขที่ออกมาแล้ว ชัดเจน จริงแท้ แน่นอน เป็น นิตยสาร “ทางอีศาน” ที่เขาสองคนกับผองเพื่อนร่วมวงและผู้สนับสนุนด้านต่าง ๆ ได้ฝ่าฟันกันมา จนกระทั่งถึงวันนี้ได้
ผู้เขียนมีความประทับใจกับหนังสือชื่อ “ทาง” เพราะว่ามันได้บอก “ทาง” ของปรีดา แล้วมันก็บอก ‘ทิศทาง’ ของ “ทางอีศาน” ที่ได้เคยผ่านทั้งร้อนทั้งหนาวมาแล้วและกำลังจะเดินไปข้างหน้าต่อไปอย่างไม่หยุดยั้ง
ประการสุดท้าย ขอเพิ่มประเด็นสำคัญว่า “ทางอีศาน” (ความเป็นแบบอีสาน) ที่สะท้อนออกในหนังสือรวมบทกวี “ทาง” ของ “ปรีดา ข้าวบ่อ” นั้น บทไหนเป็นบทกวีที่น่าประทับใจที่สุด
ด้วยความชื่นชอบ “บทกวีอีสาน” และเคยศึกษาวรรณคดีท้องถิ่นอีสานมาหลายเรื่อง (เมื่อสมัยเป็นนิสิตอักษรศาสตร์ จุฬาฯ) ผู้เขียนเคยรู้สึกโหยหาจนต้องตั้งคำถามในใจว่า
เหตุใดกวีร่วมสมัย หมายถึงตั้งแต่สมัยเมื่อ ๒๐-๓๐ ปีก่อนเรื่อยมาจนถึงปัจจุบัน ที่เป็นคนอีสานก็มาก จึงไม่ค่อยใช้ภาษาอีสานแต่งบทกวี? เมื่อหลายสิบปีที่ผ่านมานั้น เป็นงานที่หาอ่านยากมากเหมือนต้องงมเข็มในมหาสมุทร ถ้าอยากจะอ่าน ต้องเข้าไปงมหาอ่านในเฟซบุ๊กบ้าง หรือใช้กูเกิ้ลเจาะค้นเข้าไปในเว็บไซต์งานของนักเขียนลาว เพื่อที่จะได้ไปสัมผัสดื่มด่ำอารมณ์ของบทกวีด้วยภาษาลาว ซึ่งละม้าย ‘ภาษาไทดั้งเดิม’ ที่ผู้เขียนชื่นชอบ
เหตุผลที่ชื่นชอบก็เพราะว่า นั่นคือ “ภาษาไท ที่ไม่มี ย” เป็นภาษาไทโบราณ ภาษาไทพื้นบ้านพื้นถิ่น มีความ ‘ใส’ แบบพื้นเพดั้งเดิมของเราเอง
เหตุที่โหยหาสิ่งนี้ ผูกพันลึกซึ้งเป็นพิเศษกับ ‘ภาษาไท ไม่มี ย’ (ไม่แต่งองค์ทรงเครื่อง ลากเข้าวัด) เพราะเห็นว่า ภาษาไท~ลาวพื้นบ้าน เป็น ‘ภาษาใส’ เหมือนน้ำบริสุทธิ์ ปราศจากสิ่งเจือปนเชิงอำนาจทางวัฒนธรรม และ|หรือ การเมือง ที่มากดทับหรือครอบไว้ หรือถ้าแม้นว่าอาจมีคำภาษาอื่นที่เป็นแบบ ‘บ้าน ๆ’ เจือปนมาบ้าง ก็ยังน่าใช้น่าศึกษากว่า แบบแผนของการประกอบสร้าง ‘ภาษาไทย มี ย’ และลักษณะคำประพันธ์|ฉันทลักษณ์ ที่ถูกลากเข้าวัดโบสถ์อาศรมพราหมณ์ และวัดวาอาราม จนแทบไม่เหลือ ‘ความเป็นไท’
เพราะมีความคิดเช่นนี้จึงโหยหามาก เมื่อโหยหาก็จะมีสายตาพิเศษที่คอยสอดส่ายจับจ้องมองดูว่า กวีปัจจุบันท่านใดบ้างที่ใช้ภาษาอีสาน|ลาว (หรือ ภาษาไทดั้งเดิม) แต่งบทกวี แล้วแต่งได้ถึงไหม? ฝีปากถึงระดับบรมครูรุ่นก่อนไหม? เข้าขั้นวรรณศิลป์หรือไม่? แนวการอ่านบทกวีของผู้เขียน แม้มีแนวหลากหลาย แต่ก็มีความพยายามที่จะหยั่งลึกลงไปตรงจุดหมายเหตุที่ประสงค์จะทะลวงป้อมปราการมายาคตินี้
ปรากฏว่า ในหนังสือรวมบทกวี “ทาง” นี้ มีราวสองสามบทที่คิดว่า “ถึง”
แม้มีน้อยบท แต่มันก็คือ ‘เพชร’ คือบทชื่อว่า “หมาเก้าหาง”
“หมาเก้าหาง” เป็นบทกวีขนาดยาว จึงขอคัดมาเพียงบางท่อน เพื่อนำเสนอให้เห็น “ทาง”…ความเป็น “ทางอีศาน” :
“…ปู่ย่าส่งหมาเก้าหางดั้นเมฆฟ้า ลอบใช้หางจุ่มแนวกล้ายุ้งสวรรค์
นำมาปลูกตามไร่นาสารพัน จึงได้ทันเลี้ยงพี่น้องทั้งป้องปาย
วีรกรรมบรรพหมาอ่าองอาจ เปรี้ยง! สายฟ้าเทวาฟาดปาดหางหาย
โทษขโมยหางแปดเส้นกระเด็นกระจาย เหลือหางเดียวกระดิกดายในวันนี้…”
บทกวีข้างต้น เป็นบทกวีแนว ‘เล่าเรื่อง’ เป็นสิ่งที่เรียกว่า ‘Narrative poetry’ ที่ ‘ถึง’ ทั้งอรรถ สาระ และชั้นเชิงกวี กล่าวคือ อัดแน่นด้วยเนื้อหาเรื่องราว อันเป็น ตำนาน ‘หมาเก้าหาง’ ซึ่งหาอ่านได้ไม่ง่ายนัก เพราะไม่ใช่เรื่องราวของสาระทั่ว ๆ ไป แต่กวีปรีดาได้ทำให้เข้าใจง่ายด้วย ‘คมคำกวี’ ที่เป็นการเล่าเรื่อง [Narration] แบบสั้นกระชับ ใน ‘หกคำแรก’ ทว่าเลิศล้ำด้วยจินตนาการ [Imagination] ใน ‘สามคำหลัง’ ด้วยวรรคที่ว่า
“ปู่ย่า ส่งหมาเก้าหาง ดั้นเมฆฟ้า”
วรรคต่อมาก็เป็นลีลาเล่าเรื่องด้วยท่วงทำนองเดียวกัน คือ
“ลอบใช้หาง จุ่มแนวกล้า ยุ้งสวรรค์”
‘สามคำ~สามวรรค~สามจังหวะ’ เป็นการเล่าเรื่องแบบเรียบง่าย ซึ่งเป็นการใช้จินตนาการสร้าง ‘ฉาก’ ที่แปลกใหม่ อันไม่อาจเห็นได้ด้วย ‘ตาเนื้อ’ หรือสายตาธรรมดา ทว่า ‘ตากวี แบบปรีดา’ สร้างฉากอันตระการนี้ได้สำเร็จด้วยคำเพียงสี่คำ~สองคำประสม คือ ‘แนวกล้า~ยุ้งสวรรค์’
วีรกรรมของ ‘หมาเก้าหาง’ อัน ‘อ่าองอาจ’ ได้รับการเชิดชูว่าเป็น ‘บรรพหมา’ ซึ่งให้ความหมายเชิงนัยประหวัดถึง ‘บรรพชน’ ผู้สร้างคุณูปการให้กับโลก โดยการยกย่องของกวีด้วย ‘คำก่าย’~เสียงสัมผัสพยัญชนะต้น /อ/ คือ อ่า~อง~อาจ แต่กลับถูกลงโทษ
“เปรี้ยง! สายฟ้าเทวาฟาด ปาดหางหาย”
โดย ‘เทวา’ ใช้สายฟ้าฟาด ‘ปาด’ หาง แปดเส้นกระเด็นหาย
“โทษขโมย หางแปดเส้น กระเด็นกระจาย
เหลือหางเดียว กระดิกดาย ในวันนี้…”
จากเก้าเหลือเพียง ‘หางเดียว กระดิกดาย’ ในวันนี้…
(โปรดสังเกตเสน่ห์ของการซ้ำเสียง /ด/ : กระเด็น เดียว ~ กระดิก ดาย)
นี่คือกลวิธีการเล่าเรื่องราวนิทาน อันเป็นทั้ง ‘ทางไท’ ~ ‘ทางอีศาน’ ด้วยคำคมและชั้นเชิงกวีนักเล่าเรื่อง ที่จับรหัสเรื่องราวนิทานสมัยบรมสมกัปป์ได้ จึงเล่าเรื่องคุมประเด็นความอลังการ อันเป็น ‘Grand narration’ ได้หมดจด ด้วยลีลากลอนเพียงสองบท ‘แปดวรรค สี่คำกลอน’ เท่านั้น
แนวกวีบทนี้ทำให้ส่งทอดถึงบทต่อไปด้วย คือบทชื่อว่า “สายแนนชีวิต” เป็นบทที่ถือว่าเป็นการ ‘ถอดรหัสความเป็นอีสาน’ ซึ่งเป็น ‘ทางไท’ แต่อ้อนแต่ออก
“‘น้ำเต้าปุ้ง’ – กำเนิดเลือดเนื้อชีวิต ‘หมาเก้าหาง’ – ดังจิตวิญญาณมั่น
‘กบ’ – จินตนาการสานสัมพันธ์ ‘รวงข้าว’ – นั้นต้นธารวัฒนธรรม…”
“‘น้ำเต้าปุ้ง’ ผุดจากซากควายเขาลู่ ฝูงคนหมู่อาศัยได้อุปถัมภ์
ปู่ลางเซิงขุนคานซีเจาะนำ ได้ป่องเกิดอยู่ก้ำเมืองลุ่มเพียง…”
และก็ยังมีเนื้อหารายละเอียดที่สะท้อน ‘ความเป็นอีสาน’ ต่อไปอีกหลายบทหลายตอน
“สายแนนชีวิต” จัดว่าเป็นบทกวีลักษณะพิเศษ ที่ ปรีดา ข้าวบ่อ สามารถรังสรรค์ได้โดดเด่นที่สุด
ในช่วงต้นของการนำเสนอ ได้ประเมินค่าตามศาสตร์แห่ง ‘วรรณคดีวิจารณ์’
มาในสองบทหลังนี้ ก็ประเมินค่าสูงอีกเช่นกัน ด้วยความชื่นชมในมุมมอง ‘มานุษยวิทยา’ เหตุเพราะในวงการกวีนิพนธ์ไทยร่วมสมัยเรานั้น ‘บทกวีแนวชาติพันธุ์วรรณนา’ หายากหาเย็นเหลือที่จะกล่าว
ทว่า ปรีดา ข้าวบ่อ ทำได้…
เขาสามารถนำเสนอ ‘บทกวีแนวชาติพันธุ์วรรณนา’ ด้วยความทระนงองอาจ ในฐานะ ‘ลูกอีสาน’
ในบทกวีทั้งสองบทข้างต้น ยังมีลักษณะเป็น ‘บทชาติพันธุ์วรรณนาไท~ลาว’ ว่าด้วย ตำนาน ‘ต้นกำเนิดมนุษย์’ (Genesis) ด้วย ในทางทฤษฎีมานุษยวิทยา ถือว่าเป็นต้นทุนทางวัฒนธรรมที่ลึกซึ้งและมีค่าสูง
ในแง่ “ทางกวี” บทกวีแนวชาติพันธุ์ วรรณนา ทั้ง “หมาเก้าหาง” กับ “สายแนนชีวิต” คือสิ่งที่วงการมานุษยวิทยาใฝ่หามากอีกเช่นกัน เพราะในวงการกวีไทยยังมีน้อยมาก
“ทางกวี” แนวนี้ ถ้าจัดจำแนกประเภทวรรณกรรมตาม ‘แนววรรณคดี’ ทางสากล อาจจะเทียบเคียงได้กับสิ่งที่เรียกว่า ‘Ethnopoetics’ ซึ่งค่อนข้างหาได้ยากมากอีกเช่นกันในวงวรรณกรรมไทย
เหตุเพราะสมัยหนึ่งก็ไปฟุ้งกับสายลมแสงแดด อีกสมัยหนึ่งเมื่อถึงยุคบทกวีเพื่อชีวิตก็พุ่งแรงไปเลยในด้าน ‘สังคมสัจจนิยม’ (Social Realism) เน้นไปที่เป้าหมายการเปลี่ยนแปลงสังคมเพื่อโค่นล้มชนชั้นผู้ได้เปรียบในสังคม
ที่ผ่านมาอาจมีบ้าง เช่นที่ “นายผี” (บท “อีศาน”) กับ จิตร ภูมิศักดิ์ (บท “เปิบข้าว”) นำร่องงานกวีไว้บ้างทางด้าน “Ethnopoetics”
หรือทางล้านนา ก็มีบทเพลงเล่าเรื่อง โดย จรัล มโนเพ็ชร เช่น “มะเมี้ยว” และ “อุ๊ยคำ”
แต่แล้วก็… ห่างหายไปนาน จนกระทั่งมาถึง “ทาง” ในวันนี้
‘Ethnopoetics’ ในทางมานุษยวิทยา คือการศึกษาลักษณะและกระบวนการที่ทำให้ถ้อยคำมุขปาฐะกลายเป็นงานศิลปะของชาติพันธ์ุ หรือเป็นศิลปะในวัฒนธรรมเฉพาะพื้นที่บางแห่ง
ศัพท์นี้เกิดขึ้นตามมาจากการเทียบเคียงกับการบัญญัติศัพท์ทางวิชาการร่วมสมัยอื่น ๆ อาทิเช่น พฤกษศาสตร์ชาติพันธ์ุ (Ethnobotany) ดนตรีชาติพันธุ์วิทยา (Ethnomusicology) และประวัติศาสตร์ชาติพันธ์ุ (Ethnohistory)
(พจนานุกรมศัพท์มนุษยวิทยาฉบับราชบัณฑิตยสภา ๒๕๖๑: ๑๓๓)