บทเรียนจักรวรรดิโรมัน (๒)
# ยุคปฏิวัติเปลี่ยนแปลง
ในปี 133 ก่อน ค.ศ. ชาวโรมันตระกูลสูงชื่อ กรักคุส (Tiberius Gracchus) ที่เคยไปรบที่คาร์เทจได้รับเลือกเป็น “ผู้แทน” (tribune) ของประชาชน เขาได้เสนอกฎหมายปฏิรูปที่ดิน โดยคืนที่ดินที่ถูกคนรวยและขุนศึกศักดินายึดไปให้ประชาชน นับเป็นเรื่องใหญ่ที่ไม่มีใครกล้าคิดกล้าทำมาก่อน แต่เมื่อกฎหมายผ่าน “สภาประชาชน” และวุฒิสภาไม่อาจคัดค้านได้ เขาได้กลายเป็น “ฮีโร่” ของประชาชน
วุฒิสภาโรมันรับไม่ได้ นอกจากจะต้องคืนที่ดินแล้ว ยังอาจจะถูกริดรอนอำนาจอื่นด้วยกฎหมายอื่นที่จะถูกเสนอเข้าสภาประชาชนอีก จึงสร้างข่าวลือและทฤษฎีสมคบคิดว่า กรักคุสอยากตั้งตนเป็นกษัตริย์ ซึ่งเป็นอันตรายต่อสาธารณรัฐ เขาถูกรุมตีจนตายบนถนนกรุงโรมด้วยน้ำมือของวุฒิสมาชิก ที่ประกาศ “ปกป้องสาธารณรัฐ”
แม้ว่า 10 ปีให้หลัง น้องชายของกรักคุสก็พยายามทำเช่นเดียวกัน ก็ถูกฆ่าเช่นเดียวกับพี่ชาย แต่สังคมโรมันได้เปลี่ยนไปไม่เหมือนเดิมแล้ว พร้อมกับความรุนแรงได้เข้าสู่การเมืองโรมัน ที่จะมีความขัดแย้ง การรบราฆ่ากัน สงครามกลางเมืองนับร้อยปีระหว่างคนชั้นสูง (optimates) กับประชาชน (populares) ที่นำไปสู่การยึดอำนาจของผู้ที่จะกลายเป็น “จักรพรรดิ” คือ อำนาจเป็นของผู้ปกครองแต่เพียงผู้เดียว
เป็นความขัดแย้งระหว่างคนชั้นสูง วุฒิสมาชิกอนุรักษ์นิยมกับนักการเมืองสายเลือดใหม่ที่ใช้ประชาชนเป็นเครื่องมือเพื่อประโยชน์ของตนเอง และผู้นำคนแรก ๆ ผู้จุดความขัดแย้งรุนแรง คือ มาริอุส (Gaius Marius) และซุลลา (Lucius Cornelius Sulla) ซึ่งเป็นแม่ทัพ และต่อมาเป็นกงสุล มีอำนาจในสังคมโรมัน
มาริอุส คือคนที่ปฏิรูปกองทัพโรมัน ใช้นกอินทรีเป็นเครื่องหมาย และเกณฑ์คนที่ไม่มีที่ดินมาเป็นทหาร เพราะก่อนนั้นคนที่เป็นทหารคือคนที่มีที่ดินเท่านั้น และได้ที่ดินมากขึ้น ทรัพย์สินมากขึ้นตอบแทนการไปรบ (แต่คนที่ตายในสนามรบก็ถูกผู้ดีมีเงินยึดเอาที่ดินไป)
มาริอุส ปฏิรูปกองทัพโรมันให้เป็นทหารอาชีพ แบ่งเป็นกองพล กองพัน กองร้อย ถูกฝึกให้เดินเร็วและเดินไกล มีอาวุธมาตรฐานเดียวกัน มีดาบ มีดสั้น หอก โล่ใหญ่ นับเป็นกองทัพทหารอาชีพแห่งแรกของโลก เป็นกองทัพที่มีพลังและเชี่ยวชาญการรบมากที่สุด จนสามารถปราบบรรดา “พวกป่าเถื่อน” (Barbarians) ชนเผ่า “เยอรมานิก” ทางเหนือที่รุกลงมาทางใต้ และที่เคยเอาชนะกองทัพโรมันมาตลอด
การปราบเยอรมานิกช่วยให้โรมรอดจากการคุกคามอย่างเด็ดขาด ทำให้มาริอุสได้รับการยกย่องเป็นฮีโร่ของโรม จนได้เป็นกงสุลถึง 7 สมัย ที่ไม่มีใครเป็นมาก่อน ผิดธรรมเนียมปฏิบัติ
การปฏิวัติกองทัพของมาริอุสทำให้ได้กองกำลังอาชีพที่ยิ่งใหญ่ แต่ก็มีผลข้างเคียง การที่นำเอาคนไม่มีที่ดินมาเป็นทหาร พวกเขาจะจงรักภักดีต่อแม่ทัพมากกว่าต่อวุฒิสภา ต่อสาธารณรัฐ เพราะแม่ทัพสามารถให้คุณให้โทษได้มากกว่า สัญญาให้ที่ดิน ทรัพย์สินเงินทองจากการไปรับชนะ แม่ทัพนายพลกลายเป็นผู้มีพระคุณ นำไปสู่ระบบอุปถัมภ์ (patron and client)
ปี 88 ก่อน ค.ศ. ซุลลาแม่ทัพคนหนึ่งนำทหารเข้ายึดกรุงโรม มาริอุสลุกขึ้นสู้ ปกป้องสาธารณรัฐ เกิดสงครามกลางเมือง ซุลลาชนะ เข้ายึดกรุงโรม เป็นครั้งแรกในประวัติศาสตร์ที่ทหารเข้ายึดอำนาจกรุงโรม แต่เมื่อได้อำนาจ ซุลลาไม่เป็นมิตรกับประชาชน เขาเป็นคนชั้นสูง ต้องการจำกัดอำนาจของสมัชชาประชาชน (popular assembly) คืนสถานภาพเดิมให้วุฒิสภา ฟื้นบทบาทหน้าที่เก่า ๆ ของราชการโรมัน กลายเป็นเผด็จการที่มีอำนาจเด็ดขาดในกรุงโรม
ซุลลาปิดป้ายรายชื่อคนตามกำแพง คนที่ “ต่อต้านรัฐ ศัตรูต่อรัฐ” ต้องตาย อ้างว่าคนเหล่านี้เป็นพวกนอกกฎหมาย กฎหมายไม่คุ้มครอง ไม่มีสิทธิเป็นพลเมืองโรมัน ใครฆ่าคนเหล่านี้ถือว่าเป็นมิตรกับรัฐ มีรางวัลเป็นทรัพย์สินตอบแทน
ซุลลาได้สร้างอาณาจักรแห่งความสะพรึงกลัว คนมีศักดิ์สูง นักการเมืองฝ่ายตรงกันข้ามกว่า 9,000 คนถูกฆ่าตาย ส่วนใหญ่หนีไปจนซุลลาตายจึงกลับมา หนึ่งในนั้น คือ จูเลียส ซีซาร์
# วิถีโรมัน
ถ้าเทียบกับวัฒนธรรมกรีกในยุค 500 ปีก่อน ค.ศ. วัฒธนธรรมโรมันถือว่า “เรียบง่าย” อาจจะเรียกว่า “บ้าน ๆ” ไปเลยก็ได้ วัฒนธรรมกรีกเป็นแบบ “ผู้ดี” มี “อารยธรรม” ประชาชนคนทั่วไปมี “การศึกษา” มากกว่าชาวโรมัน แต่คงเป็นเพราะเหตุนี้โรมจึงโดดเด่นในเรื่อง “กฎหมาย” มากกว่ากรีก
ผู้ชายโรมันเกิดมาเป็นนักรบ แสวงหาเกียรติยศชื่อเสียงทางการทหาร เมื่อไม่ไปรบก็ไปเที่ยวซ่อง ซึ่งมีทุกมุมถนนที่กรุงโรม ไปดูละครที่ไม่ค่อยมีรสนิยม มีแต่ตลกลามกจกเปรต หรือไม่ก็กินดื่มเฮฮาสนุกสนาน แต่เมื่อโรมันเอาชนะกรีกในศตวรรษที่ 2 ก่อน ค.ศ. สถานการณ์เปลี่ยนไป เหมือนกับที่โฮราคลีอุส กวี นักเขียนแนวเสียดสีสังคมบันทึกไว้ว่า “เชลยกรีกเอาชนะผู้พิชิตโรมันที่หยาบคาย”
พวกโรมันพบว่า กรีกมีวัฒนธรรมสูงกว่าตน ศิลปกรรม ประติมากรรม การละคร การกีฬา กรีฑาต่าง ๆ ปรัชญากรีก เรื่องดี ๆ เหล่านี้ตามทหารโรมันกลับมากรุงโรมด้วย โรมรับวัฒนธรรมกรีกเต็ม ๆ
กรุงโรมเริ่มมีสถาปัตยกรรม ประติมากรรมกรีกตั้งไว้เรียงราย จากบ้านผู้ดีมีเงินไปตามสถานที่สำคัญ แม้การอาบน้ำในที่สาธารณะก็รับมาจากกรีก แต่ทำให้ใหญ่โตขึ้นกว่าเดิม (ดังที่เห็นหลงเหลือในกรุงโรมวันนี้)
ครอบครัวคนรวยให้เชลยกรีกสอนลูกของตน ทั้งชายและหญิง (ต่างจากกรีกซึ่งให้เด็กชายเท่านั้นเล่าเรียน) ให้เรียนภาษากรีก วรรณกรรม ปรัชญา วาทศิลป์ และวิชาการต่าง ๆ คนชั้นสูงจึงรู้ภาษากรีกดี วัฒนธรรมโรมันพัฒนาขึ้น ละเอียดละเมียดละไมมากขึ้น ไม่หยาบกร้านเหมือนเมื่อก่อน
ชาวโรมันไปรบกรีกหรือที่ไหนก็เอาเทพเจ้าเขามาด้วย มาแปลงให้เป็นเทพเจ้าของตน ไม่เรียกซุส แต่จูปิเตอร์ จูโน ผู้พิทักษ์รักษาโรม ภรรยาของจูปิเตอร์ ก็คือเฮราของกรีก มาร์ส คือ อาเรส เทพเจ้าแห่งสงคราม แต่ก็มีเทพเจ้าบางองค์ที่เป็นของโรมันแท้อย่าง Janus สองหน้า เทพแห่งเบื้องต้นและบั้นปลาย จุดกำเนิดและจุดจบ
ความเชื่อ ศาสนา มีส่วนสำคัญในวิถีชีวิตของชาวโรมัน มีพิธีกรรมต่าง ๆ มากมาย การแห่แหน การขับร้องและกิจกรรมต่าง ๆ ตามฤดูกาล (อันเป็นที่มาหลายงานฉลองของชาวคริสต์ในศตวรรษต่อ ๆ มา รวมถึงวันคริสต์มาส) ตำแหน่งผู้นำทางศาสนามีความสำคัญ ผู้คนต่างก็แย่งชิงตำแหน่งนี้ที่เรียกกันว่า Pontifex Maximus (แปลว่า พระผู้ยิ่งใหญ่สุด greatest priest) ซึ่งเริ่มต้นเป็นสามัญชนที่รับหน้าที่นี้
ความจริง มีอีกหลายตำแหน่งผู้นำศาสนา แต่ดูเหมือนว่าตำแหน่งนี้คนต้องการมาก เพราะไปผูกกับการเมือง จนต่อมา จักรวรรดิโรมันเองก็อ้างตนเป็น Pontifex Maximus ควบไปเลย เพื่อให้เห็นความศักดิ์สิทธิ์ของตำแหน่งหน้าที่ของตน (เช่นเดียวกับความเชื่อในยุคกลางของยุโรปจนถึงยุคประชาธิปไตยที่มีลัทธิเทวสิทธิ แนวคิดว่าอำนาจของกษัตริย์มาจากพระเจ้า คล้ายกับความเชื่อเรื่องสมมุติเทพในอุษาคเนย์)
ปฏิทินโรมันจึงเต็มไปด้วยวันฉลองต่าง ๆ ด้วยผู้นำโรมันเห็นความสำคัญของพิธีกรรมเหล่านี้ที่หล่อหลอมรวมผู้คนให้เป็นหนึ่งเดียว จงรักภักดีต่ออำนาจรัฐที่ผูกติดกับอำนาจจากสวรรค์ ทุกอย่างล้วนต้อง “ปรึกษา” และขอฉันทานุมัติจากเทพเจ้า โดยมี “คนกลาง” คือผู้นำศาสนาที่ทำหน้าที่สื่อ (คำว่า pontifex แปลตามตัว คือ ผู้สร้างสะพาน ผู้เชื่อมคนกับเทพเจ้า ต่อมาคำ pontifex maximus นี้ใช้กับพระสันตะปาปาในศาสนาคริสต์ด้วย)
วัฒนธรรมโรมันถือเรื่องผัวเดียวเมียเดียว งานแต่งงานเป็นเรื่องสำคัญ และมักถูกใช้เป็นเครื่องเชื่อมสัมพันธ์อำนาจทางการเมือง งานศพก็มีพิธีรรมใหญ่โต โดยเฉพาะผู้นำที่มีตำแหน่งสูงทางสังคมการเมือง
มีอย่างหนึ่งที่ไม่ได้รับมาจากกรีก คือ การแข่งรถม้า (อย่างในหนังเบนเฮอร์) และการต่อสู้ของนักดาบ (gladiator) ซึ่งมีมา 250 ปีก่อน ค.ศ. ดังที่นำมาเป็นภาพยนตร์เรื่องสปาร์ตาคัส (ที่แสดงโดยเคิร์ก ดัคลาส) ที่โด่งดัง เป็นเรื่องตำนานของนักดาบที่กบฏ แหกด่านออกไปรวมไพร่พลต่อสู้กับโรมัน ถูกไล่ล่าอยู่นานจึงสามารถปราบได้ (เรื่องนี้ถูกสังคมนิยมยุคใหม่นำไปใช้เพื่อเป็นตัวอย่างของการต่อสู้ทางชนชั้น)
# กฎหมายโรมัน
สิ่งที่โดดเด่นที่สุดในอารยธรรมโรมันคือเรื่องกฎหมาย มีกฎหมายที่ละเอียดครอบคลุมแทบทุกส่วนของชีวิต ที่ดิน การค้า การแต่งงาน การมีทายาท สืบทอดทายาท มรดก พินัยกรรม สตรีโรมันรับมรดกและมีกรรมสิทธิในทรัพย์สินได้ มีกฎหมายเกี่ยวกับสัญญาและการบังคับต่าง ๆ เกี่ยวกับหน้าที่ ดอกเบี้ย การล้มละลาย มีกฎหมายห้ามซื้อสิทธิขายเสียงในการเลือกตั้งอีกด้วย แต่มีบันทึกไว้ด้วยว่า ได้ผลน้อย
ประชาชนเป็นคนทำกฎหมายโรมัน สมัชชาประชาชนโดย “ผู้แทน” และผู้เป็นประธานศาลโรมัน การตัดสินของเขาก็มีอำนาจตามกฎหมาย พลเมืองโรมันนำเรื่องไปฟ้องศาลได้ สตรีฟ้องหย่าสามีได้
นักกฎหมายโรมันเป็นที่ต้องการสูงมาก เพราะผู้รู้กฎหมายมีน้อย แต่เรื่องราวการฟ้องมีมาก นักกฎหมายต้องเป็นคนมีวาทศิลป์อีกด้วย เพราะในศาลนั้นต้องสู้กันด้วยตรรกะ ด้วยวาทะคมคายเชือดเฉือนกันด้วยเหตุผลและหลักฐาน ด้วยศิลปะการพูดชั้นสูงจึงจะเอาชนะคู่ต่อสู้ หรือป้องกันลูกความได้
กฎหมายโรมันคือรากฐานกฎหมายยุโรปยุคใหม่ บุคคลที่มีชื่อเสียงที่สุดในยุคนั้น คือ Marcus Tullius Cicero ที่ใคร ๆ รู้จักในนาม “ชิเชโร” ผู้มีภูมิหลังธรรมดาสามัญ แต่ได้กลายเป็นนักพูดในที่สาธารณะที่เก่งกาจที่ใคร ๆ อยากฟัง เขากลายเป็นตำนานเล่าขานมาจนถึงทุกวันนี้
ชิเชโรได้รับเลือกให้เป็น “กงสุล” ผู้นำหรือผู้บริหารบ้านเมืองคนหนึ่ง ได้รับนามว่า “บิดาแห่งปิตุภูมิ” (Pater Patriae) ได้รับการยกย่องให้เป็นคนโรมันที่โด่งดังที่สุด แต่กระนั้นเขาก็ไม่สามารถปกป้องโรมให้พ้นจากความเสื่อม โดยวุฒิสภาที่คลายอำนาจเพราะถูกยื้อแย่งไปจากผู้นำทางการเมือง 3 คนที่มีบันทึกไว้
สามคนที่ว่า มี กราสสุส (Marcus Grassus) ผู้ปราบสปาร์ตาคัส ลูกน้องเก่าของเผด็จการซุลลา อีกคนเป็นนายพลแม่ทัพ คือ ปอมเปย์ (Gnaesus Pompey) ซึ่งเป็นเพื่อนของซีซาร์ และคนที่สาม คือ จูเลียส ซีซาร์
ปอมเปย์เป็นแม่ทัพที่เก่งกล้าสามารถ นำทัพไปรุกรานดินแดนต่าง ๆ ทางตะวันออก อาร์มีเนีย ซีเรีย ยูดา และเยรุซาเล็ม เขากลับโรมอย่างฮีโร่
กราสสุส, ปอมเปย์, ซีซาร สามผสานมีอำนาจเหนือโรม วุฒิสมาชิกใดไม่เห็นด้วยถูกกำจัดหมด กราสสุสต้องการบารมีทางทหาร นำทัพไปรบทางตะวันออกบ้าง แต่ไม่เก่งพอจึงแพ้และตายในที่รบ จึงเหลือแต่ปอมเปย์ และซีซาร์ ส่วนอาณาจักรที่ยังเหลือไม่เป็นของโรม และต่อสู้ขัดขืนตลอด คือ โกล (Gaule) ฝรั่งเศสในปัจจุบัน ที่ซึ่งซีซาร์ได้แสดงฝีมือให้ลือเลื่อง แต่ไปทำสงครามใหญ่นี้โดยไม่ได้รับความเห็นชอบจากวุฒิสภา
ซีซาร์ไปทำสงคราม “ผิดกฎหมายโรมัน” แต่เขาก็รบชนะอย่างยิ่งใหญ่ ปราบโกลัวส์ คนเผ่า “ป่าเถื่อน” ที่เก่งกล้าต่อต้านโรมันตลอดมาได้ เขาจึงถูกประณามจากวุฒิสภาที่กลัวว่าจะสูญเสียอำนาจจากคนที่เก่งกาจอย่างซีซาร์ กล่าวหาว่าเขาอยากเป็นกษัตริย์ อยากเป็นเผด็จการ จึงสั่งให้กลับโรมคนเดียว ไม่ให้นำกองทัพกลับด้วย
ซีซาร์ปฏิเสธคำสั่งวุฒิสภา ที่มาของสงครามกลางเมือง และการขึ้นสู่อำนาจเผด็จการของซีซาร์
“เสรี พพ” 16 มิ.ย. 2021