#บทเรียนชีวิต (บทที่ ๒) ฉบับที่ ๙ ญาติพี่น้อง

#บทเรียนชีวิต(บทที่ ๒)

จากซ้าย กิ๊บกับเอก สองพี่น้องลูกอานาง (อัจฉรา) โดม โมกขพันธุ์ ขวัญ วันระวี ด้านหน้า คนเล็กสุด ผึ้ง อยู่เชียงใหม่ มีลูก 3 คน ยืนติดพี่สาว ชมพู่ อยู่โคราช มีลูกหนึ่งคน

ฉบับที่ ๙ ญาติพี่น้อง

ลูกรัก

ปู่มาเมืองไทยอายุ 8 ขวบ ได้นามสกุล “พงค์พิศ” เมื่อไร อย่างไร พ่อก็ลืมถามปู่ รู้แต่ว่าท่านเป็นต้นตระกูล น้องของปู่ทุกคนพร้อมลูกหลานจึงใช้นามสกุลเดียวกันนี้ เขียนต่างกันบ้าง ไม่เป็นไร ขอให้ใช้ตามที่เขียนในบัตรประชาชนของตนก็แล้วกัน ดั้งเดิมจริงๆ พงค์ ใช้ ค์ ไม่ใช่ ศ์ หรือ ษ์ ไม่ทราบแปลว่าอะไร

ปู่เป็นลูกคนโต มีน้อง 6 คน ชาย 3 หญิง 3 แต่ละคนมีลูกและหลานอีกจำนวนมาก ที่อยากนำมาเล่าให้ฟังก็เพียงบางเรื่องบางประเด็นที่เป็นความทรงจำ และความภูมิใจที่เกิดมาในตระกูลนี้

ปู่ของพ่อเสียชีวิตหนึ่งปีก่อนพ่อเกิด มีอาคนหนึ่งเชื่อว่า พ่อเป็นปู่ (ของพ่อ) มาเกิด อาบอกว่า มีลักษณะทางกายหลายอย่างที่คล้ายกัน โดยเฉพาะแผลเป็นที่หน้าอกใต้ราวนมด้านซ้าย และเวลาพ่ออารมณ์ไม่ดี โกรธ อาบอกว่าเหมือน “องเทียว” มากเลย

อันนี้เป็นความเชื่อส่วนบุคคล ไปว่าอาเขาไม่ได้ รู้แต่ว่า อาเขารักพ่อมาก ไปไหนมาไหนก็ไต่ถามข่าวคราวตลอดด้วยความห่วงใย อาเป็นคนที่เลี้ยงดูแม่ (ย่าของพ่อ) ตอนอายุมาก ตาเริ่มมัวลงจนมองไม่เห็นในที่สุด

ขอเล่าเรื่องย่าของพ่อ ที่คนรู้จักและเรียกกันว่า บาเทียว คือย่าทวดของลูกนั่นแหละ ท่านมาจากเวียดนามกับลูกๆ 3 คน หาบลูกคนเล็กเวลาที่ลูกเดินไม่ไหวเพราะยังเด็กมาก อายุเพียง 4-5 ขวบ ปู่เป็นลูกหัวปีอายุ 8 ขวบ เดินตลอดสองร้อยกิโลเมตร ขณะอยู่ที่นครพนม ย่าทวดก็ได้ลูกสาวลูกชายอีก 4 คน ก่อนจะย้ายไปอยู่ท่าแร่

ย่ามีตำรับยาสมุนไพรแก้โรคพิษสุนัขบ้า ใครถูกหมากัด บ้าหรือไม่บ้าก็จะไปขอยาจากย่าทวด ซึ่งจะจัดหาต้มให้เป็นครั้งๆ ไป เห็นว่าราคาขวดละ 20 บาท พ่อเคยเห็นคนที่ถูกหมาบ้ากัด ไปเอายาจากย่าทวดมากิน เขาต้องมัดไว้กับเสาบ้าน เพราะมีอาการคลุ้มคลั่ง หน้าแดง น้ำลายฟูมปากพักใหญ่แล้วก็นอนหลับไป ตื่นขึ้นมาก็หาย

อาเตวียน น้องชายของปู่ มีลูก 4 คน ภรรยาเสียชีวิต แต่งงานใหม่ ลูกจึงไปอยู่กับย่าเทียว ช่วยงานย่าหาสมุนไพรและช่วยต้มยาจัดยาแก้หมาบ้า หลานๆ จึงรู้จักสูตรเป็นอย่างดี แต่ย่าทวดก็มอบสูตรให้ลูกคนโต (คือปู่ของลูก) ปู่มอบต่อให้น้องสาว คนที่ดูแลย่า เพราะหลานๆ ที่อยู่ด้วยก็มีเหย้าเรือนกันหมดแล้ว

ย่าทวดถึงแก่กรรมเมื่อวันที่ 4 พฤศจิกายน 2517 ตอนนั้นพ่อยังเป็นผู้ช่วยเจ้าอาวาสที่วัด จะไปส่ง “ศีล” ให้ย่าทวดเป็นประจำทุกอาทิตย์ ย่าดีใจมากทุกครั้งที่พ่อไปเยี่ยม ท่านภูมิใจเป็นที่สุดที่มีหลานเป็น “คุณพ่อ”

ก่อนท่านถึงแก่กรรม พ่อต้องไปประชุมที่ศรีลังกา ตอนนั้นย่าป่วยหนัก เป็นอัมพาตครึ่งท่อนล่าง อยู่ในอาการโคม่า ลูกหลานคิดว่าท่านคงคงสิ้นใจระหว่างที่พ่อไปต่างประเทศแน่ แต่ผิดคาด ย่าทวดรอพ่อ 10 วันให้กลับมา

เมื่อพ่อกลับมาถึงบ้านก็ตรงไปหาย่าที่บ้านของอา มีลูกหลานผลัดเปลี่ยนกันมาเฝ้ารอดูใจย่ากันจำนวนมาก พ่อไปคุกเข่าข้างเตียง ย่าทวดหลับตา ยังหายใจอยู่ พ่อพูดที่ข้างหูท่านว่า “บาครับ หลานกลับมาแล้ว ถ้าบาพร้อมที่จะไปหาพระก็ไปเถิด ไม่ต้องห่วงลูกหลานทางนี้” พ่อพูดขาดคำ ย่าทวดก็หายใจเฮือกใหญ่ เฮือกสุดท้าย จากไป

เป็นครั้งแรกที่พ่อเห็นคนจากไปต่อหน้าต่อตาในลักษณะนี้ ญาติพี่น้องรู้ว่า ย่าโปรดปรานหลานคนนี้มาก ไม่น่าเชื่อว่า ท่านรอพ่อถึง 10 วัน พ่อยังคิดถึงท่านทุกเช้าเย็นที่สวดมนต์ เชื่อว่าท่านดูแลเราหลานเหลนทุกคน

ย่าทวดมีบุญที่มีหลานเหลนของย่าได้บวชเป็น “คุณพ่อ” เกือบ 10 คน เป็นอัครสังฆราชหนึ่งองค์ เป็นซิสเตอร์ นักบวช เป็นแพทย์อีกหลายคน อย่างนายแพทย์วีระวัฒน์ สุขสง่าเจริญ หลานย่า ลูกของอาเอิน (น้องสาวของปู่) เป็นศัลยแพทย์ผู้เชี่ยวชาญระบบประสาท ลูกศิษย์คุณหมอรุ่งธรรม ลัดพลี ที่ศิริราช เป็นหมอที่โรงพยาบาลประสาทที่เชียงใหม่ มีคลินิกที่เชียงราย

นายแพทย์เฉลิมศักดิ์ ศรีวรกุล ผู้เชี่ยวชาญด้านกระดูกโรงพยาบาลวชิระ และโรงพยาบาลเอกชนหลายแห่งในกรุงเทพฯ เป็นเหลนของย่า ลูกชายของ ”จุ้ดเตวียน” หลานที่ไปอยู่กับย่า และช่วยกันดูแลย่านานหลายปี

ยังแพทย์หญิงทอปัด พงศ์พิศ ผู้เชี่ยวชาญด้านวิสัญญีที่โรงพยาบาลนครพนม ลูกสาวของ “แดง” ที่เคยอยู่กับย่าเช่นกัน แดงมีลูกสาวอีกคนเป็นทันตแพทย์ อีกคนเป็นเภสัชกร

แล้วก็ลูกขวัญของพ่อ แพทย์หญิงวันระวี ผู้เชี่ยวชาญด้านผ่าตัดผิวหนังจากศิริราช ก่อนนั้นไปเรียนแพทย์โครงการร่วมที่มหาวิทยาลัยน็อตติงแฮมที่อังกฤษ กลับมาต่อที่คณะแพทย์ มศว.ที่องครักษ์ นครนายก กลับไปเรียนปริญญาโทที่ลอนดอน กลับมาเรียนต่อที่ศิริราชด้านศัลยกรรมผิวหนัง

นอกนั้นมีหลานเหลนทำงานด้านสาธารณสุข พยาบาลอีกหลายคน วันหนึ่งที่พ่อจะทำพิพิธภัณฑ์ชุมชน จะทำ “ต้นไม้ครอบครัว” (ผังครอบครัว) คงได้ข้อมูลและรายละเอียดมากกว่านี้ จะเห็นภาพรวมว่า ลูกหลานขององบาเทียวมีใคร ทำอาชีพอะไร

ชาวบ้านบอกว่าย่าทวดปรุงยาช่วยชีวิตคนมาก ด้วยบุญบารมีของท่านลูกหลานถึงได้เป็นหมอหลายคน

ส่วนหลานเหลนที่เรียนจบมหาวิทยาลัย ปริญญาตรี โท เอก มีมาก ปริญญาเอกนอกจากพ่อก็มีคุณพ่อพิชาญ ใจเสรี อธิการคณะพระมหาไถ่ ตะวัน แวงโสธร ลูกป้าจิวกับลุงมงคล อาจารย์แนะแนวที่โรงเรียนนานาชาติร่วมฤดี ที่มีนบุรี ยังไม่มีข้อมูลคนอื่น ส่วนทางฝ่าย “คุณแม่คำปุน” หรือย่าของลูก จะพูดถึงต่อไป

ลูกหลานส่วนใหญ่ที่เรียนจบปริญญาตรี-โท มีอาชีพเป็นครูเป็นอาจารย์ในสถาบันการศึกษาของรัฐ เอกชน ทั้งโรงเรียนประถม มัธยม และมหาวิทยาลัย เหมือนลูกหลานคนท่าแร่ส่วนใหญ่ถ้าไม่อาชีพค้าขายก็เป็นครู เป็นอาจารย์ รับราชการ ที่ทำไร่ทำนามีน้อยเพราะบรรพบุรุษไม่มีนา ไม่มีที่ดิน

แต่ตอนหลังๆ นี้ ลูกหลานทำงานในบริษัท ในสถาบันของรัฐหรือเอกชนในกรุงเทพฯ และเมืองใหญ่ มักไม่ค่อยได้กลับไปอยู่ที่ท่าแร่กันแล้ว ลองคิดถึงลูกหลานของปู่กับย่าดู

ในครอบครัวของ “ปู่จำนง-ย่าคำปุน” นอกจากลูก 14 คน ยังมีลูกบุญธรรมอีก 2 คนที่ขอนแก่น และอีกหลายคนที่มาเรียนหนังสือที่เซนต์ยอแซฟ ที่นับถือกันเป็นพ่อแม่ลูกไม่ต่างจากลูกแท้ๆ อย่างอาจารย์ณรงค์ ชิณสาร อดีตผอ.เขตการศึกษา กับพี่ชายประยงค์ อาจารย์วิทยาลัยเกษตรนครพนม และน้องชายวิจิตร อาชีพครู สามคนนี้มาจากนาทม นครพนม มาเรียนหนังสือหลายปี ยังมีอีกหลายคนที่พ่อจำชื่อไม่ได้

ปู่ยามีหลานเหลนนับร้อย แต่อยู่กรุงเทพฯ และต่างจังหวัด อยู่ที่ท่าแร่ไม่มาก ลูกลุงโกกอาจจะหลายคนหน่อย ลูกป้าจุด ป้าจิว ป้าน้อย ไม่ค่อยมีใครอยู่ ลูกของพ่อก็อยู่เบอร์ลินกับกรุงเทพฯ ลูกอาแดง อยู่กทม. ของอาตา ก็อยู่เชียงใหม่ โคราช ที่อยู่กรุงเทพฯ นี่มากหน่อย เวลาทำบุญให้บรรพบุรุษที่กรุงเทพฯ ลูกหลานจึงมากันมาก

รักลูก – พ่อ

เสรี พพ 1 /12/22

จากซ้าย ชมพู่อยู่โคราช มีลูกคนหนึ่ง หมอขวัญ อยู่กทม.มีลูกคนหนึ่ง ผึ้ง น้องของชมพู่ อยู่เชียงใหม่ มีลูก 3 คน (รวมแฝดหนึ่งคู่) ถ่ายที่สวนหลังบ้านในงานปีใหม่ 2533-2534
ในภาพมีอนาคตแพทย์หญิงสองคน เภสัชกรหญิงหนึ่งคน นายแพทย์หนึ่งคน เหลนย่าทวด 1 มกราคม 2534-5
ที่เชียงใหม่ 2537
คุยกับย่า 2515-2516 ตามองไม่เห็นแล้ว แต่เห็นด้วยใจ

หมายเหตุ ภาพเมื่อ 30 ปีก่อน เด็กๆ หลานเหลนในรูปต่างก็โตเป็นหนุ่มเป็นสาว แต่งงานมีครอบครัว มีลูก มีอาชีพการงานแตกต่างกันไป

WP2Social Auto Publish Powered By : XYZScripts.com