#บทเรียนชีวิต (บทที่ ๒)
ฉบับที่ ๑๓ ท่าแร่
ลูกรัก
ภาษา คำพูด มีอำนาจ กำหนดภาพลักษณ์ คุณค่า ความหมาย เมื่อได้ยินคำว่า “ท่าแร่” คนมักคิดถึงเนื้อสุนัข เหมือนคนเยอรมันสมัยก่อนที่พูดคำว่า “สาวไทย” (Thai Maedchen) ก็คิดถึงหญิงบริการ เพราะภาพลักษณ์เป็นเช่นนั้น หรือวันนี้คำว่า “หมอนวด” คนยังคิดถึงหญิงบริการในที่ “อาบ อบ นวด” แม้ว่ามีคนนวดแผนโบราณที่ไม่ได้เป็นแบบนั้นทั่วไปในสังคม
ท่าแร่วันนี้ภาพลักษณ์ปลี่ยนแล้ว มีแห่ดาว มีท่องเที่ยวชุมชน มีตึกโคโลเนียล ตึกหิน อาสนวิหารใหญ่สวยงามเป็นเอกลักษณ์ใหม่ ชุมชนคริสต์ใหญ่สุด ภูมิทัศน์สวยงาม ตั้งอยู่ริมหนองหาร ยามเย็นเห็นตะวันตกดินที่ภูพานอาบฟ้าสีทองผ่องอำไพสวยงามยิ่งนัก
ปัญหาหมามาอย่างไร ไม่ได้ต้องการฟื้นฝอยหาตะเข็บ แต่อยากทำความเข้าใจให้ลูกได้บทเรียน เพราะเรื่องการกินเนื้อหมาไม่ได้มีแต่ที่ท่าแร่ ไม่ได้มีแต่ทางเหนือบนดอยที่เขาว่าชาวเขาชอบกินหมาดำ มีในจังหวัดต่างๆ ทั่วไป แต่อาจจะไม่มากหรือเอิกเกริกเท่าที่ท่าแร่
ต่างประเทศอย่างจีน เกาหลี เวียดนาม ฟิลิปปินส์ก็กินหมากันทั้งนั้น ที่เกาหลีมีร้านอาหารในเมืองใหญ่ มีฟาร์มเลี้ยงหมาเพื่อทำอาหารโดยเฉพาะ ที่เมืองจีนและเวียดนาม ตามตลาดเห็นทำกันเกลื่อน แบบโจ๋งครึ้ม เปิดเผย โจ่งแจ้ง บางแห่งยังมีเทศกาลกินหมาอีกต่างหาก
อาจเป็นเพราะจิตสำนึกคนรักสัตว์มีมากขึ้น เพราะคนเหงา หาเพื่อนเป็นคนไม่ได้ ไว้ใจไม่ได้ มักทรยศหักหลัง หลอกหลวง หมาแมวซื่อสัตย์กว่า จึงเป็นทาสหมา ทาสแมว จึงมีกฎหมายห้ามทรมานสัตว์ ห้ามฆ่าสัตว์โดยไม่จำเป็น มีสมาคมระหว่างประเทศที่รณรงค์เรื่องนี้ ท่าแร่กลายเป็นความอัปยศ ขายหน้าประชาคมโลก ทำให้ต้องหาวิธีกำจัดการค้าหมา และการกินเนื้อหมาให้ได้
ความจริงสาเหตุของการกินเนื้อหมามาจากความจำเป็น เช่นเดียวกับที่ยุโรปหลังสงครามที่อดอยากหนัก ก็กินม้า กินหมา กินสัตว์เลี้ยงต่างๆ เพื่อไม่ให้อดตาย เมื่อทุกอย่างคลี่คลายก็เลิกกินกัน แม้จะยังมีการกินเนื้อม้าอยู่
ส่วนการกินเนื้อหมาบ้านเรา ส่วนหนึ่งเพราะเป็นอาหารราคาถูก หาได้ง่าย เพราะมีหมาจรจัดมาก จึงมีการเอาครุถังกะละมังพลาสติกไปแลกหมาตามหมู่บ้าน เอามาทำเนื้อสดเนื้อแห้ง จนกลายเป็นตลาดที่ใครๆ รู้จักและแวะเมื่อผ่าน หรือซื้อไปทำอาหารให้คนจำนวนมาก อย่างค่ายทหารที่สกลนคร ห่างจากท่าแร่เพียง 15 ก.ม.
อีกเหตุผลหนึ่ง คือกินเพราะเป็นของแปลก แกล้มเหล้า รถบัส รถทัวร์ รถเก๋ง ทั้งหรูและบุโรทั่ง ต่างก็แวะที่ตลาดท่าแร่เพื่อซื้อเนื้อสดเนื้อแห้งไปทำกิน ไปฝากเพื่อน ที่ข้างถนนก็เคยมีร้านอาหารชื่อว่า Black Dog (หมาดำ) มีรถเก๋งราคาแพงจอดเป็นประจำ มีอาหารเนื้อสุนัขปรุงอร่อยบริการ ต่อมาร้านนี้ปิดไป มีคนบอกว่า เพราะฮ่วงจุ้ยไม่ดี ไปเช่าบ้านเขาครึ่งหนึ่งทำร้านอาหาร อีกครึ่งหนึ่งขายโลงศพ
มีการพูดไปทั่วว่า ท่าแร่มีตลาดหมาเพราะคนท่าแร่กินหมา คนท่าแร่เป็นญวนกินหมา เป็นการสรุปและเหมารวมด้วยข้อมูลที่ผิด เพราะคนท่าแร่ส่วนใหญ่ไม่ได้กินหมา ไม่ได้ยากจนหรืออดอยากขนาดนั้น อาจจะกินเป็นบางคนและบางครั้ง ไม่ได้ต่างจากที่ไหนๆ และคนท่าแร่ก็ไม่ได้เป็นญวนหมด อย่างที่ได้เล่าไปแล้ว
ระหว่างสงครามเวียดนาม คนท่าแร่จำนวนมากไปทำงานที่ค่ายทหารอเมริกันที่นครพนม ซึ่งอยู่ห่างออกไปประมาณ 50 ก.ม. เป็นอาชีพที่สร้างรายได้ให้ไม่น้อย เห็นได้จากบ้านเรือนที่เป็นอิฐเป็นปูนสองชั้นผุดขึ้นมามากมาย เมื่อสงครามเวียดนามจบ ค่ายปิด คนท่าแร่จำนวนมากตกงาน การทำเนื้อสุนัขเริ่มเป็นธุรกิจเติบโต เมื่อมีคนทำได้ดี ก็มีคนทำตาม ออกรถสองแถวไปตระเวนหาแลกหมาไปทั่วภาคอีสาน เลยไปถึงภาคกลางภาคเหนือก็มี กลายเป็นเรื่องเอิกเกริก จนเป็นเรื่องดังที่ได้กล่าวมาแล้ว
ผลิตภัณฑ์ที่ขายดีไม่ใช่มีแต่เนื้อสด ส่วนใหญ่เป็นเนื้อแห้ง ที่ส่งไปขายทั่วประเทศ จนไม่ว่าที่ไหน คนไม่ค่อยกล้าสั่งเนื้อแห้งทอดกัน เพราะกลัวเป็นเนื้อหมา ยกเว้นคนที่ตั้งใจกินจริงๆ
ต่อมาทางราชการเริ่มออกกฎหมาย ทำให้ค้าขายอย่างเปิดเผยไม่ได้ ไม่มีเนื้อหมาขายที่ตลาด มีนอกตลาด ซึ่งยังพอหาซื้อได้ การเข้มงวดกวดขันทำให้การค้าเรื่องนี้ซบเซา แต่ก็ฟื้นคืนมาอย่างเงียบๆ เมื่อมีการส่งสุนัขตัวเป็นๆ ไปขายที่เวียดนาม ได้ราคาดี ทำกันเป็นล่ำเป็นสัน แต่ที่สุดก็ถูกจับ ถูกปราบปราม จนเงียบไป แต่ก็คงเหมือนยาเสพติด ปราบยังไงก็ไม่หมด วันนี้คงไม่ใช่คนท่าแร่แล้วที่ทำ เป็นคนเส้นใหญ่ใกล้ชายแดนที่รู้ทิศทาง
ที่พ่อเขียนเรื่องหมาๆ ยาวเพราะอยากให้ลูกทำความเข้าใจเรื่องนี้ เวลาพ่อแนะนำตัวเอง มักไม่บอกว่ามาจากท่าแร่ ไม่ใช่เพราะเขินอายอะไร แต่เพราะพอพูดว่า ท่าแร่ คนก็จะนึกถึงเนื้อสุนัข ทำให้คนไม่สนใจข้อมูลอื่นๆ เกี่ยวกับพ่อหรือเรื่องที่พ่อจะพูดต่อไป สมาธิเสียทั้งคนพูดและคนฟัง จึงบอกว่ามาจากสกลนคร เท่านั้น แต่ถ้าอยากทราบจริงๆ ก็ตอบได้ ไม่ได้อายอะไรเลย เพียงแต่ต้องมีเวลาพูดยาวๆ เหมือนที่กำลังเขียนนี้
ต้องชมหนูแหม่ม สุริวิภา คนท่าแร่ ที่เคยให้สัมภาษณ์ในทีวี ตอบหน้าตาเฉยว่า เคยกินเนื้อหมา กินตีนหมาด้วย
พ่อเองเคยกินเนื้อหมาที่ปู่ทำโหยยอย่างอร่อยตอนยังเด็ก โตขึ้นไม่ทานอีก เหมือนที่ไม่อยากทานเนื้อจระเข้ เนื้อแมว หรือสัตว์แปลกๆ อย่างหนูที่เขาขายข้างถนนกันหลายจังหวัด เป็นหนูนา หนูทุ่ง ไม่ใช่หนูบ้าน แต่ยังไงพ่อก็ทานไม่ลง เพราะคิดถึงหนูบ้าน คงเหมือนกับคนที่ทานเนื้อหมาไม่ได้ เพราะมีหมาที่บ้าน รักหมา กินไม่ลง
ที่จริง เรื่องนี้เป็นจิตวิทยาธรรมดา เป็นเรื่องอารมณ์ความรู้สึก ดูหนังเรื่อง “เบบ” เรื่องหมูฉลาด บางคนเลิกกินหมูอยู่สองอาทิตย์ ความรู้สึกจางลงก็กลับไปกินแฮม กินข้าวขาหมูเหมือนเดิม
แม้เรียนมาทางปรัชญา พ่อก็เชื่อว่า คนเราอยู่กันด้วยอารมณ์ความรู้สึกมากกว่าด้วยเหตุผล คนสองคนมีอะไรแตกต่างกันมาก ว่ากันตามหลักเหตุผลน่าจะอยู่ร่วมกันไม่ได้ แต่เมื่อปรับอารมณ์ความรู้สึกหรือก้าวข้ามความแตกต่างก็อยู่ด้วยกันได้ (รักถึงไม่มีพรมแดน) อย่างที่ปัสกาลบอก “หัวใจมีเหตุผลที่สมองของเราไม่รู้จัก”
พ่อเข้าใจคนที่เป็นทาสหมา ทาสแมว เขารักของเขา คงอธิบายด้วยเหตุผลไม่ได้ ทำไมไม่รักวัว รักหมู รักไก่ รักปลา มันก็มีชีวิตไม่ได้ต่างจากหมาและแมว แต่เพราะ “ความสัมพันธ์” ทำให้เกิด “ความผูกพัน” หรืออธิบายเป็นปรัชญาของคนพื้นเมืองอเมริกัน (ที่เราชอบเรียกเขาว่าอินเดียนแดง) คือ “คนเรามีจิตวิญญาณ เมื่อสัมพันธ์กับอะไร สิ่งนั้นก็มีจิตวิญญาณด้วย” ความสัมพันธ์พิเศษก็ทำให้มีจิตวิญญาณพิเศษใกล้เคียงกับคนมาก
พ่อขอจบเรื่องนี้ แต่ละศาสนา แต่ละปรัชญา ต่างก็มีคำอธิบายที่หลากหลายแตกต่างกัน ขอให้เราเคารพความแตกต่างนั้น คนกินผัก ไม่กินเนื้อสัตว์ก็ไม่ควรประณามคนกินเนื้อสัตว์ ใครไม่กินเนื้อหมู ไม่กินเนื้อวัว เนื้อหมาแมว ก็ไม่ควรไปตัดสินเขา ถ้าเขาไม่สร้างความเดือดร้อนให้คนอื่น ให้สังคม
ใครไปท่าแร่วันนี้จะพบว่ามีภูมิทัศน์สวยงาม เป็นระเบียบ บ้านเรือนใหญ่น้อย เก่าใหม่ดูดี คนท่าแร่มีฐานะดีไม่ใช่เพราะค้าขายเนื้อสุนัข แต่เพราะอาชีพการงาน การศึกษา ที่พ่อจะเล่าในฉบับต่อไป
แต่ก็อยากบอกลูกว่า เรื่องหมาในเมืองไทยเป็นเรื่องใหญ่ ไม่รู้มีกี่ล้านตัว เฉพาะในกรุงเทพฯ ก็ไม่รู้กี่แสนแล้ว จำนวนมากเป็นหมาจรจัด ถูกนำไปปล่อยวัด ทำให้วัดหลายแห่งมีหมาจำนวนมาก พระท่านก็เมตตาให้อาหาร แม้มีที่พักที่ดูแลหมาจรจัดของราชการและเอกชนคนรักสัตว์หลายแห่ง แต่ก็แก้ปัญหาไม่ได้
ปัญหาใหญ่ คือ โรคพิษสุนัขบ้า และโรคอื่นๆ ที่แพร่กระจายไปโดยหมาจรจัด ส่วนใหญ่ไม่ได้ฉีดวัคซีน ไม่ได้ทำหมัน ไม่ได้ติดชิบ กลายเป็นปัญหาซับซ้อนทุกระดับ คนทะเลาะกันตีกันฆ่ากันเพราะหมาก็มีไม่น้อย มีคนเลี้ยงหมาในเมือง ในหมู่บ้านจัดสรร ปล่อยหมาเห่ากลางวันกลางคืน ไปขี้หน้าบ้านคนอื่น ไล่กัดคน มีคนเลี้ยงหมาพันธุ์ดุ กัดคนในบ้านนอกบ้านบาดเจ็บ ตาย เป็นข่าวอยู่เนืองๆ
หรือว่าต้องให้มีการนำหมาจรจัดไป “ทำเนื้อ” “ส่งออก” จึงจะแก้ปัญหาได้ก็ไม่รู้ เพราะประเทศที่นำเข้าหมาจากเมืองไทยดูไม่มีปัญหาเรื่องหมาจรจัดและโรคพิษสุนัขบ้า ที่เขียนเพียงนี่เพื่อประชดเท่านั้น เพราะยังไม่เห็นพรรคการเมืองไหนแก้ปัญหาหมา แม้แต่ผู้ว่ากทม.ที่อ้างว่าเก่งที่สุดในปฐพีก็ยังไม่เห็นทำอะไรเรื่องนี้
วันนี้ท่าแร่มีภาพลักษณ์ใหม่ที่ดีกว่า คงมากับการส่งเสริมการท่องเที่ยว ซึ่งท่าแร่มีต้นทุนดีๆ หลายอย่างอยู่แล้ว ที่ได้รับการโปรโมตมากคงเป็นเรื่องการแห่ดาว ซึ่งอ้างว่าเป็นที่เดียวในโลก ถ้าทำแบบท่าแร่คงใช่ แต่ที่ไหนๆ ทั่วโลกที่มีชุมชนชาวคริสต์ ในเทศกาลคริสต์มาสก็มีดาวเต็มไปหมด เพียงแต่ไม่มีการแห่แหนเหมือนที่ท่าแร่ ที่แห่ที่บ้านตนไม่พอ ยังไปแห่ที่เมืองสกลนครอีกด้วย เพราะมีวัดมีโรงเรียนเซนต์โยแซฟอีกแห่งหนึ่งที่นั่น
เมื่อก่อน ตอนที่พ่อยังเด็กไม่ได้ทำอะไรใหญ่โตอย่างวันนี้ ต้นเดือนธันวาคม ใครๆ ก็ไปหาไม้ไผ่ หากาว (ทำจากข้าวเหนียว) หากระดาษแก้วหลากสีมาเตรียมทำดาวเล็กดาวใหญ่ แต่ทำกันบ้านละไม่กี่ดวงแขวนไว้หน้าบ้าน มีดวงเล็กอีกคนละดวงเพื่อนำไปแห่ดาวกัน วันนี้บางบ้านทำเป็นร้อยเป็นพัน มีบ้านหนึ่งบอกว่าเป็น “บ้านดาวหมื่นดวง” คงทำขนาดเล็กจำนวนมากแขวนไว้ประดับประดาสวยงามนอกบ้านในบ้าน กินเนสบุ๊กคงไม่มาบันทึก
เรื่องแห่ดาวนี่พ่อเคยเสนอไปที่ผู้นำชุมชนว่าน่าจะได้พิจารณากันให้ดี ทางราชการให้งบประมาณเทศบาลมาส่งเสริมสนับสนุนเพื่อให้เกิดการท่องเที่ยว แล้วชาวบ้านก็ทำดาวกันยกใหญ่ ทำรถขบวนแห่ประดับดาวและไฟหลากสีอลังการงานสร้างเพื่อการประกวด ลงทุนลงแรงกันมากมาย ใช้งบส่วนตัวทั้งนั้น ถามว่าได้อะไร คงได้ความสะใจ ไปตามแรงเชียร์แรงชม ได้อวดความยิ่งใหญ่ หรือถ้าชนะได้รางวัล ก็เพียงเล็กน้อย ไม่คุ้มกับที่ได้ลงทุนไป มีนักท่องเที่ยวไปงานนี้เท่าไร ทำให้เศรษฐกิจดีจริงหรือ
เหมือนการส่งเสริมการท่องเที่ยวแบบ “ขายวัฒนธรรม” ในจังหวัดต่างๆ อย่างแห่เทียนเข้าพรรษาที่อุบลฯ ออกพรรษาที่สกลนคร บุญบั้งไฟที่ยโสธร ผีตาโขนที่เลย ที่ถูกนำไปใช้จนหมดความหมายดั้งเดิม ที่เลยชาวบ้านไม่เคยนำผีตาโขนมาเป็นของเล่น แต่เป็นพิธีกรรมพื้นบ้าน ที่ทำกันจริงจัง
การแห่ดาวเป็นพิธีกรรมทางศาสนาน่าเป็นห่วงว่า กำลังจะกลายเป็นเพียงความสนุกสนานตระการตาเพื่อการท่องเที่ยว ลืมเรื่องพระเยซูที่ทรงบังเกิดมา ตื่นเต้นกับแสงสีขบวนแห่และได้ขนมจากซานตาครอสมากกว่า
พ่ออาจจะวิพากษ์หนักหน่อย แต่อยากเป็นปากเสียงในฐานะคนท่าแร่และแทนชาวบ้าน ซึ่งเป็นเจ้าของประเพณีวัฒนธรรมที่มีชีวิต ที่กำลังสูญเสียคุณค่าและความหมายเดิม กลายเป็นของทางโลกที่ตายทางธรรม เพราะถูกครอบงำจากอำนาจรัฐ ในนามของ “การพัฒนาการท่องเที่ยว”
รักลูก – พ่อ
เสรี พพ 15/12/22