ออกจากบ้านหวายทั้งสองหมูุ่
วันที่ ๑๖ มีนาคม พ.ศ.๒๕๖๑ เราออกเดินทาง เวลา ๐๙.๐๐ น. เร็วกว่าทุก ๆ วัน เราเห็นบ้านหนองโง้ง หมู่ที่ ๑๐ ระหว่างนี้น้ำในลำเสียวมีน้อย ถึงแม้ว่าอากาศจะเย็นเราก็เห็นแย้วิ่งไปมาข้าง ๆ คูดินลำน้ำเสียว เนวินชี้มือไปยังทุ่งนาสีเขียวเบื้องหน้าของผมแล้วพูดว่า “คุณครูดูการทำนาปังของชาวบ้าน มิน่าละผมเห็นเครื่องสูบน้ำระหว่างทางที่เราเดินผ่านมา”
“นั่นคงเป็นบ้านเรือนของชาวบ้านบ้านหวาย หมู่ที่ ๑๑ ยิ่งเราเดินออกห่างยิ่งเห็นชัดขึ้นเรื่อย ๆ ส่วนอีกฟากบ้านหนองโง้ง ยิ่งเราเดินเรายิ่งเข้าใกล้ขึ้นเรื่อย ๆ” พอพูดจบเขาก็มองมาที่ผมและยิ้ม คำพูดนี้คงมีสองความหมายซ่อนอยู่เป็นแน่ นั้นคือสิ่งที่ผมคิดขึ้นได้เป็นสิ่งแรกสำหรับคำพูดของนักเดินทางร่างโต ผมกับเจ้าเนเดินต่อไปเรื่อย ๆ ในที่สุดเราก็ได้รู้จักกับผีปู่ตาอีกแห่ง ซึ่งนับเป็นครั้งที่ ๖ ที่เราได้พบและมีตูบตั้งอยู่ติดข้างลำน้ำเสียว เนวินพูดขึ้นว่า “เจออีกแล้วครับคุณครู ตูบผีปู่ตา ถ้ามีลักษณะนี้อยู่ข้างลำน้ำเสียว แสดงว่าบริเวณที่ดินและผืนน้ำต้องอยู่ใต้อาณัติของท่าน”
ถึงบ้านมะแซว หมู่ที่ ๙ ตำบลหวาย ในเวลา ๑๐.๐๐ น. ระหว่างนั้นผมเห็นเด็กใช้บ่วงกำลังวิ่งไล่จับกิ้งก่าอย่างสนุกสนาน ผมขอเก็บภาพเจ้าเหยื่อพวกเขาที่ถูกจับได้ ซึ่งมีจำนวนประมาณ ๑๐ – ๑๒ ตัวในถุงตาข่าย ทุกครั้งที่สามารถจับเจ้ากิ้งก่าได้ พวกเขาส่งเสียงไชโยโห่ร้องฉลองชัยสนั่นฝายที่ไร้ซึ่งเสียงไหลเวียนของน้ำ พวกเราละพวกเขาออกไปและเริ่มออกห่างจากบ้านมะแซวบางช่วงมีการตัดไม้จากข้างคูดินของน้ำลำเสียวไปทำฟืน ผมเริ่มเห็นน้ำในลำน้ำเสียวมีน้ำน้อยหรือบางครั้งถึงกับแห้ง
ส่วนคูดินของลำน้ำเสียวก็เช่นเดียวกัน กล่าวคือ มีรอยกัดเซาะในช่วงน้ำมาของปีที่แล้ว ถัดมาไม่ไกลกันมากนักมีการปลูกอ้อยติดกับลำน้ำเสียว
เวลา ๑๑.๐๐ น. ผมเดินทางมาถึงคลองปลาบู่และเริ่มมองเห็นบ้านปลาบู่ หมู่ที่ ๑๔ ตำบลหนองแสง ลำน้ำเสียวมีต้นไม้ขึ้นรกมาก ข้าง ๆ มีที่นาและมีการเลี้ยงสัตว์ บ้านปลาบู่นี้มีวัดชื่อว่า “วัดบ้านปลาบู่” มีบ้านประมาณ ๑๐๐ หลังคาเรือน
ถัดมาเป็นบ้านบมทุ่ง หมู่ที่ ๑๓ ตำบลหนองแสง พวกเราเห็นชาวบ้านบางส่วนกำลังเผาตอซังข้าว ควันไฟไหม้โขมงกลางทุ่ง ภาพการเผาต่อซังข้าวดังกล่าว ยิ่งทำให้ผมรู้สึกร้อนขึ้นกว่าเก่าเสียอีก เดินต่อไปอีกไม่เพียงอึดใจเดียว ผมเห็นสายน้ำจากคลองกุดแคนที่ไหลลงมากับลำน้ำเสียว ในระยะทางเดินถัด ๆ กันมา มีการปลูกฟักทองและข้าวโพด มีสะพานไม้ฝีมือการสร้างของชาวบ้าน เราพบการเลี้ยงปลาในกระชังแต่ไม่ทราบว่าเป็นปลาอะไร
ผมเดินมาถึงถนนทางเข้าสู่บ้านบมทุ่งเวลา ๑๕.๑๐ น. ถัดมาไม่ห่างกันมากนัก คือ จุดที่คลองปลาบู่ไหลลงมารวมกันกับลำน้ำเสียว คลองนี้ไหลมาจากบ้านปลาบู่ ในบริเวณนี้มีชาวบ้านทำนาปังอยู่บ้างแต่ไม่มาก บ้านบมทุ่งแห่งนี้มีวัดประจำหมู่บ้านชื่อว่า “วัดสมณคุตประดิษฐ์” มีพระพุทธรูปองค์ใหญ่ที่สามารถมองเห็นได้ในระยะทางไกล ๆ นอกจากนั้นยังมีพระพุทธรูปเรียงกันเป็นแนวยาว ดูแล้วคล้ายกำแพงวัด แนวพระพุทธรูปเหล่านี้สร้างความประทับใจให้ผู้ที่ผ่านไปมาได้ไม่น้อย หนึ่งในนั้นรวมผมอีกคนด้วย
“เราเห็นถนนใหญ่แล้ว! เรากำลังจะเดินตัดถนนทางหลวงหมายเลข ๔๐๒๐” เนวินเอ่ยขึ้นหลังจากเงียบไปนาน ผมนิ่งเงียบไปพักหนึ่งเช่นกัน จากนั้นผมก็บอกเพื่อนตัวโตของผม “ใช่แล้ว เรากำลังจะเข้าเขตบ้านแดง หมู่ที่ ๑๒ ตำบลหนองแสง และบ้านเรือนที่ตั้งถัดไปจากสะพาน น่าจะเป็นหมู่บ้านดังกล่าว”
“หมู่บ้านแห่งนี้มีวัดชื่อว่าอินทราราม มีพระธาตุตั้งอยู่กลางวัด ชาวบ้านเรียกว่า ‘พระธาตุบ้านแดง’ ถัดมาจะมีสิมบกสวยงามไม่แพ้กัน”
“นอกจากนี้แล้วนะครับ เนวิน หมู่บ้านนี้ลือกันว่ามีต้นตาลสูงใหญ่จำนวน ๕๐ ต้น” ในขณะที่ผมกำลังสาธยาย นักสำรวจร่างยักษ์หยุดนิ่ง คงเป็นอาการที่เขาตะลึงกระมังที่ผมมีข้อมูลเกี่ยวกับบ้านดังกล่าวนี้เยอะกว่า
เดินตามคูดินของลำน้ำเสียวมาอีกระยะหนึ่ง เราพบตูบดอนปู่ตาของชาวบ้าน อยู่ห่างคูดินของลำน้ำเสียวประมาณ ๕๐ เมตร เวลา ๑๖.๓๐ น. เราเดินถึงฝายบ้านแดง จุดที่คลองเสียวน้อยไหลลงมารวมกับลำน้ำเสียวใหญ่สายที่เรากำลังเดินสำรวจอยู่ คลองเสียวน้อยนี้เป็นคลองที่รับน้ำมาจากคลองจอกขวาง ส่วนต้นสายของคลองจอกขวาง คือ “ห้วยจอกขวาง” ที่อยู่ในตัวเมืองอำเภอวาปีปทุม ห้วยดังกล่าวนี้จะปล่อยน้ำให้ไหลลงมาตามคลองจอกขวาง เพื่อมารวมกับลำน้ำเสียวใหญ่ที่ฝายบ้านแดง ดังนั้นฝายบ้านแดงจึงเป็นจุดรับน้ำที่สำคัญในช่วงฤดูน้ำมา
อำเภอ “วาปีปทุม” เป็นอีกอำเภอหนึ่งของจังหวัดมหาสารคามที่ลำน้ำเสียวไหลผ่าน ก่อตั้งเมื่อ พ.ศ.๒๔๒๔ ขณะนั้นพระเจริญราชเดช (ฮึง) เป็นเจ้าเมืองมหาสารคาม มีใบบอกขอตั้งบ้านโพธินาเหลาเป็นเมือง ขอท้าวสุริยวงศ์ (บุญมี) เป็นเจ้าเมือง ขอท้าวมหาพรหม (ย่าง) บุตรพระขัติยวงศา (สีลัง) เป็นอุปฮาด ขอเพียพลคร บุตรของเพียราชโยธาเมืองร้อยเอ็ดเป็นราชวงศ์ ให้ท้าวสุริยวงศ์กับพวกนำใบบอกลงมากราบทูลเฝ้าละอองธุลีพระบาท ณ กรุงเทพฯ
ในระหว่างผมเล่าประวัติของอำเภอวาปีปทุม เนวินฟังอย่างไม่กระพริบตา ผมคิดว่าสิ่งที่ผมกำลังเล่านี้ มันคงเป็นเรื่องใหม่และเรื่องที่เขาไม่เคยได้รู้มาก่อนเป็นแน่
เรามองดูทัศนียภาพของฝายและบ้านเรือนของผู้คน พวกเขาคงได้รับผลกระทบในช่วงน้ำมาเอาการ เราเห็นการเลี้ยงเป็ดและไก่ในบริเวณนี้มากมาย ในช่วงที่เราเดินผ่าน เจ้าสัตว์เลี้ยงจำพวกนี้เดินตามพวกเรามาไม่ขาด ไม่กลัวความเป็นคนต่างถิ่นของพวกเราเลย
ผมเอ่ยขึ้นว่า “เนวิน นายเห็นอะไรจากเป็ดและไก่พวกนี้?” เพื่อนนักสำรวจตัวโตตอบกลับมาทันทีว่า “ก็ไม่น่านะครับ มีอะไรผิดปกติหรือครับ?” ผมพูดขึ้นอีกครั้งว่า “เจ้าของของเจ้าสัตว์พวกนี้คงเป็นคนขยันมาก”
มีการพระราชทานสัญญาบัตรให้ท้าวสุริยวงศ์ (บุญมี) เป็นพระพิทักษ์นรากรเจ้าเมือง ให้ยกบ้านโพธิธานาเลาเป็นเมืองวาปีปทุมทำราชการขึ้นกับเมืองมหาสารคาม ส่วนตำแหน่งอื่นก็ได้รับการโปรดเกล้าฯ แต่งตั้งตามที่พระเจริญราชเดช (ฮึง) ขอไป แต่เมื่อขณะเดินทางกลับพร้อมกับสารตรา พระพิทักษ์นรากร (บุญมี) ก็ถึงแก่กรรมลงที่บ้านสำโรง แขวงเมืองพุทไธสง เหลือแต่เพียงอุปฮาดและราชวงศ์ พอกลับไปถึงบ้านได้ ๕ เดือน ราชวงศ์ก็ถึงแก่กรรมไปอีกคน
พระเจริญราชเดช (ฮึง) จึงกราบบังคมขอท้าวโพธิสาร (อุ่น) บุตรอุปฮาดบัวทองเมืองมหาสารคาม เป็นเจ้าเมือง พระราชทานบรรดาศักดิ์ท้าวโพธิสาร (อุ่น) เป็นพระพิทักษ์นรากร เมื่ออายุเพียงแค่ ๒๔ ปี ท่านผู้เคยเป็นมหาดเล็กหลวงในราชสำนัก และเมื่อ พ.ศ.๒๔๑๘ – ๒๔๑๙ ได้อาสาเป็นนายกองลำเลียงในความควบคุมของพระเจริญราชเดช (กวด) ผู้เป็นลุง ลงไปสมทบกับกองทัพพระยามหาอำมาตย์ฯ (ชื่น) เพื่อไปปราบฮ่อที่เวียงจันทน์ พร้อมด้วยกำลังพลของเมืองอื่นมีชัยชนะ
ระหว่างนั้นผมเห็นเจ้าตัวโตทำอาการมึนงงเพิ่มมากกว่าเดิมอีก “จากที่เราเดินทางผ่านมาในหลายที่ นายคงสังเกตเห็นบรรดาสัตว์เลี้ยงจำพวกเป็ดไก่ได้ว่า มันมีนิสัยที่ไม่คุ้นเคยกับพวกคนที่เดินผ่านไปมา ไม่ว่าจะแปลกหน้าหรือไม่แปลกหน้าก็ตาม”
“ก่อนหน้านี้ผมเคยเดินติดกับดักของชาวบ้าน นายรู้ใช่ไหมว่ามันคือกับดักสำหรับอะไร?” ผมถามเนวิน แล้วจากนั้นเขาก็ตอบผมว่า “ผมรู้ครับ มันคือกับดักหมา”
“ใช่! หมา! มันคงชอบขโมยไก่และเป็ดของชาวบ้านที่อยู่ในละแวกดังกล่าว ดังนั้นเจ้าไก่และเป็ดเหล่านี้จึงมีนิสัยไม่คุ้นเคยกับผู้ที่เดินผ่านมาเอาเสียเลย ทั้งนี้เป็นเพราะพวกมันจำต้องเอาตัวรอดจากคมเคี้ยวของเจ้าหมานักล่าด้วยตัวของมันเอง การที่พวกมันถูกล่าอยู่บ่อยครั้งนี้เองที่ทำให้พวกมันไม่ไว้ใจต่อสิ่งใด ๆ ก็ตาม”